xs
xsm
sm
md
lg

5 ประเด็นถาม-ตอบ จากปัจจุบันสู่อนาคตกัญชาไทย / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

คำถามที่ 1 ทำไมประเทศไทยจึงต้องปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด?
ตอบคำถาที่ 1 มีเหตุผล 5 ประการดังต่อไปนี้

ประการแรก กัญชาเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่ จากงานวิจัยพบว่ากัญชาเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่ โดยนับตั้งแต่สูบบุหรี่มวลแรกคนๆนั้นจะมีโอกาสติดบุหรี่สูงสุดร้อยละ 67.5 นับตั้งแต่ดื่มแอลกอฮอล์จะมีโอกาสติดแอลกอฮอล์สูงสุดร้อยละ22.7 แต่นับตั้งแต่สูบกัญชามวลแรกมีโอกาสติดกัญชาสูงสุดเพียงร้อยละ 8.9[1] แต่บุหรี่และเหล้าสามารถซื้อและขายได้แม้กระทั่งในร้านสะดวกซื้อ

ประการที่สอง กัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ แพทยสภา ยอมรับว่ากัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์แผนปัจจุบันรักษาได้หลายโรค[2]-[3] ในขณะที่กัญชาเป็นสมุนไพรที่ปรากฏอยู่ในตำรับยาแผนไทยของชาติมากถึง 162 ตำรับ ครอบคลุมการรักษาหลายอาการและหลายโรค[4] และยังมีการใช้กัญชาในรูปของน้ำมันกัญชาของหมอพื้นบ้าน[5] ตลอดจนยังมีภูมิปัญญาการสูบเพื่อรักษาโรคอีกด้วย[6]-[8]

ประการที่สาม ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงกัญชาทางการแพทย์ในระบบกระทรวงสาธารณสุข ต้องแอบลักลอบใช้เองอย่างผิดกฎหมาย

ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ได้รายงานผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง ช่วงปี 2563-2564 (ช่วงที่กัญชายังเป็นยาเสพติดแต่ใช้ทางการแพทย์ได้) พบว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับกัญชานอกระบบของกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 94 และมีประชาชนใช้กัญชานอกเหนือข้อบ่งใช้ในโรคต่างๆนอกเหนือการประกาศของกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 84 แต่ผลการศึกษาพบว่าหลังใช้กัญชาโรคที่เป็นมีอาการดีขึ้นถึงดีขึ้นมากถึงร้อยละ 93[9]

ประการที่สี่ กัญชามีบทบาทต่อการส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ได้รายงานผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง ช่วงปี 2563-2564 พบว่าผู้ที่ใช้กัญชาลดและเลิกยาแผนปัจจุบันได้ถึงร้อยละ 58[9] ซึ่งแปลว่าน่าจะมีผู้เสียผลประโยชน์จากยอดขายยาแผนปัจจุบันที่ตกลงด้วย

สอดคล้องกับวารสารห้องสมุดสาธารณะทางด้านวิทยาศาสตร์ PLoSOne ได้เผยแพร่ งานวิจัยในมลรัฐในสหรัฐอเมริกาที่ทำให้กัญชาถูกกฎหมาย (ทั้งทางการแพทย์และนันทนาการ) ในช่วง 22 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539-2562 พบว่า “ยอดขายยาโดยรวมลดลง”

โดยกฎหมายที่ทำให้กัญชาถูกกฎหมายในสหรัฐอเมริกาจะส่งผลทำให้ยอดขายต่อปีของผู้ผลิตยา “ลดลง”ปร ะมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีโดยเฉลี่ย และยังคาดการณ์อีกด้วยว่า 16 มลรัฐที่เหลือที่ยังไม่ได้ทำให้กัญชาถูกกฎหมายหากทำให้กัญชาถูกกฎหมายแล้วจะทำให้ค่าใช้จ่ายยาแผนปัจจุบันต่างๆลดลงไปประมาณร้อยละ 11[10]

เช่นเดียวกับวารสารเศรษฐกิจสุขภาพ Health Economics ฉบับตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ในการสำรวจการจ่ายยาในมลรัฐของสหรัฐอเมริกาหลังได้ดำเนินการให้ “การนันทนาการเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย” พบว่ามี การลดการจ่ายยาต่างๆ ลง คือประชากรใช้ยาแก้อาการซึมเศร้าลดลงไปร้อยละ 11.1, ประชากรใช้ยาแก้วิตกกังวลลดลงไป 12.2, ประชากรลดการใช้ยาแก้ปวดไปร้อยละ 8, ประชากรลดการใช้ยาโรคลมชักไปร้อยละ 9.5, ประชากรลดยาโรคจิตไปร้อยละ 10.7, ประชากรลดการใช้ยานอนหลับไปร้อยละ 10.8[11]

นอกจากนั้นการสำรวจทางระบาดวิทยาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า คนอเมริกันที่บริโภคกัญชามีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน “น้อยกว่า” คนที่ไม่ได้ใช้กัญชา คิดเป็น2.4 เท่า โดยคนที่ไม่เคยใช้กัญชาเลยเปนเบาหวาน ร้อยละ 8.7 ในขณะที่คนที่ใช้กัญชา 1-4 ครั้งต่อเดือน เป็น เบาหวาน ร้อยละ 4.2 และคนที่ใช้กัญชาตั้งแต่ 5 ครั้งต่อเดือนขึ้นไป เป็นเบาหวาน เพียงร้อยละ 3.2[12]

กัญชายังช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งบางชนิด โดยการวิจัยเรื่อง การใช้กัญชากับการโรคมะเร็งทางเดินปัสสาวะ ในประเทศอังกฤษ พบว่าคนที่เคยใช้กัญชาเป็นโรคมะเร็งทางเดินปัสสาวะ (ไตและต่อมลูกหมาก) “น้อยกว่า” คนที่ไม่เคยใช้กัญชาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนี้ มะเร็งต่อมลูกหมาก: คนทไม่เคยใช้กัญชา เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากร้อยละ 4, คนที่เคยใช้กัญชาเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเพียงร้อยละ 2 หรือต่างกัน 2 เท่า; มะเร็งไต: คนที่ไม่เคยใช้กัญชา เป็นมะเร็งไต ร้อยละ 0.16, คนที่เคยใช้กัญชา เป็นเพียง ร้อยละ 0.08 หรือต่างกัน 2 เท่า[13]

ประการที่ห้า กัญชาช่วยลดปัญหายาเสพติดที่รุนแรง หรือก่อปัญหาความรุนแรง(Harm Reduction) เช่น ยาบ้า ยาไอซ์ เหล้า ฯลฯ

กรณีศึกษา ของนายพงษ์พัฒน์ นามูลน้อย (ไก่ เดินวนฟาร์ม) จังหวัดขอนแก่น คือผู้ที่หายจากการติดยาบ้าด้วยการสูบกัญชาและต่อมาเลิกการใช้กัญชากลับมาเป็นพลเมืองดี และทำให้คนอื่นๆที่ติดยาบ้าสามารถเลิกยาบ้าด้วยการสูบกัญชาทดแทนยาบ้า (ทดแทนหมายถึงไม่ได้ใช้ร่วมกัน) และสามารถเลิกได้ทั้งยาบ้าและกัญชาในที่สุด[14]

สอดคล้องกับสถานการณ์จริงในประเทศไทย ในปีงบประมาณ 2562 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการเปิดให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ มีผู้ป่วยซึ่งเสพติด “ยาบ้า”ได้เข้ารับการบำบัดรักษาทั้งสิ้น 206,444 คน[15]

แต่เมื่อกัญชามีการใช้กันอย่างกันอย่างกว้างขวางในปีงบประมาณ 2565 ปรากฏว่ามีผู้ป่วยติดยาบ้าที่ต้องได้รับการบำบัดลดลงเหลือเพียง 100,454 คน[15] ซึ่งแปลว่ามีผู้ป่วยยาบ้าที่เข้ารับการบำบัดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 “ลดลง” จากปีพ.ศ. 2562 จำนวนมากถึง 105,990 คน[15] คือลดยาบ้าไปแล้วกว่าครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ 51.34 และเป็นผลทำให้ยาบ้าราคาตกลงอย่างมากในปัจจุบันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน[16]

ปรากฏการณ์ที่กัญชามีบทบาทในการลดยาเสพติดที่รุนแรง (Harm Reduction)ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในขณะนี้ ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศที่ปลดล็อกกัญชามาก่อนประเทศไทย ดังปรากฏมาแล้วในงานวิจัยใน แคนนาดา[17],[18] การวิจัยในมลรัฐโคโรลาโด สหรัฐอเมริกา[19] และในเนเธอร์แลนด์[20],[21] เป็นต้น

ด้วยการชั่งน้ำหนักเหตุผลทั้ง 5 ประการข้างต้น จึงต้องปลดล็อกกัญชาไม่ให้เป็นยาเสพติด และต้องนำกฎหมายในรูปแบบอื่นมาบริหารจัดการแทน เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างถูกกฎหมาย และควบคุมอย่างเหมาะสมต่อไป ซึ่งเป็นไปตามรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอย่างเป็นระบบ ซึ่งมาจากตัวแทนทุกพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2563[22]

คำถามที่ 2 ทำไมจึงปลดล็อกกัญชาก่อนจะมี พ.ร.บ.กัญชา กัญชง?
ตอบคำถามที่ 2 มีเหตุผล 2 ประการคือ

ประการแรก ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้บริโภคในทุกผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพรผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์ ยา และยังมีกฎหมายในการควบคุมความปลอดภัยในร้านอาหารด้วย

อีกทั้งยังมีกลไกโดยอาศัยประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในการควบคุมห้ามมิให้สูบกัญชาในพื้นที่สาธารณะ การห้ามใส่ช่อดอกกัญชาในอาหาร การให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุมเพื่อให้ผู้ขายช่อดอกกัญชาต้องขออนุญาตทุกกรณี และต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตัวอย่างเช่น ห้ามจำหน่ายในโรงเรียนและสถานศึกษา ห้ามจำหน่ายในศาสนสถาน ห้ามจำหน่ายให้เด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ห้ามขายช่อดอกกัญชาออนไลน์ การห้ามขายทางอินเตอร์เน็ท ฯลฯ ดังนั้นกัญชาจึงยังไม่เสรีเนื่องด้วยมีกฎหมายควบคุมอยู่ระดับหนึ่งให้ผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอยู่แล้ว

คงเหลือแต่บังคับใช้กฎหมายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่?

ประการที่สอง มีผู้ใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์ เพื่อสุขภาพจำนวนมากที่จำเป็นต้องการได้รับการคุ้มครอง โดยผลสำรวจในนิด้าโพลเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน2565[23] เมื่อผนวกเข้ากับรายงานผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง ช่วงปี 2563-2564[9]

ทำให้เห็นว่ามีผู้ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างผิดกฎหมายนอกระบบการจ่ายยาของกระทรวงสาธารณสุขอยู่จำนวนมากถึง 3.6 ล้านคน และยังมีผู้ที่ลักลอบใช้กัญชาทางการแพทย์ด้วยเพราะไม่อยู่ในข้อบ่งใช้ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขมากถึง 3.22 ล้านคน

คนเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากร และจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองมิให้ถูกจับกุม และทำให้คนเหล่านี้ได้มีโอกาสได้รับการคุ้มครองสามารถปลูกกัญชาเพื่อการพึ่งพาตัวเอง เพื่อมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ค้ากัญชาที่ไม่รับผิดชอบ เช่น การปนเปื้อนสารพิษยาฆ่าแมลงหรือโลหะหนัก การเอาเปรียบราคาไม่สอดคล้องกับคุณภาพ การปนเปื้อนด้วยสารสังเคราะห์เลียนแบบกัญชาที่อันตรายต่อชีวิตและสุขภาพ ฯลฯ

โดยผลสำรวจของนิด้าโพลทำให้คำนวณได้ว่ามีประชากรไทยที่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับกัญชามากถึง 18.22 ล้านคนแล้ว โดยแบ่งเป็นผู้ที่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้กัญชาเพื่อประกอบอาหารและเครื่องดื่มมากถึง 11.05 ล้านคน เคยใช้กัญชาทางการแพทย์ 3.83 ล้านคน เคยสูบกัญชา 5.58 ล้านคน เมื่อเทียบกับผู้ที่ใช้กัญชาที่ต้องได้รับการบำบัดในปีงบประมาณ 2565 เพียงประมาณ 4,894 คน(เทียบกับผู้ที่ติดยาบ้าที่ต้องได้รับการบำบัดในปีงบประมาณ 2565 มากถึง100,454 คน)[9]

นอกจากจะสะท้อนให้เห็นความจริงที่ว่ากัญชาเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่แล้ว คนไทยมีการใช้กัญชาอยู่แล้วจำนวนมากและมีอันตรายถึงขั้นเสพติดต้องได้รับการบำบัดไม่มากเมื่อเทียบกับผู้ป่วยและผู้ที่ได้รับประโยชน์จากกัญชาหลายล้านคน

ต่อมาได้มีบทพิสูจน์ให้เห็นความจริงแล้วว่า “ถ้ารอ” กฎหมาย พ.ร.บ.กัญชา กัญชงให้เสร็จก่อนแล้วค่อยปลดล็อกกัญชาแล้ว นักการเมืองกลับนำเรื่องกฎหมายมากัญชามาเล่นการเมืองโดยพยายามยืดเยื้อไม่ให้มีกฎหมาย กัญชา กัญชง เพื่อหวังผลทางการเมืองมากกว่าจะคำนึงถึงผลกระทบของผู้ป่วยและประชาชนที่ใช้กัญชาใต้ดินเป็นจำนวนมาก ดังนั้นหากรอกฎหมายแล้วก็จะมีผู้ป่วยต้องเดือดร้อนถูกจับกุม ถูกเอาเปรียบ เสี่ยงรอบด้าน หรือถูกรีดไถต่อไปจนถึงทุกวันนี้ จริงหรือไม่?






คำถามที่ 3 ห่วงเยาวชน จะทำอย่างไรดี?
ตอบคำถามที่ 3 มี 4 ประการดังต่อไปนี้

ประการแรก เมื่อกัญชาเสพติดยากกว่า และมีประโยชน์มากกว่าเหล้าและบุหรี่ จึงต้องมองให้การควบคุมอยู่ในระดับใกล้เคียงกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยาสูบ และกระท่อม ซึ่งนอกจากกฎหมายแล้ว กฎองค์กร กฎของสังคม กฎของครอบครัว ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับเรื่องประโยชน์และโทษของกัญชาอย่างถูกต้องย่อมมีความสำคัญต่อการควบคุมกัญชา ไม่ต่างจากแอลกฮอล์ ยาสูบ

ประการที่สอง แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่มี พ.ร.บ.กัญชา กัญชง แต่เมื่อกัญชา เป็นสมุนไพรควบคุม ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยพ.ศ. 2542 ผู้ได้รับอนุญาตขายช่อดอกกัญชา ห้ามขายในโรงเรียน ห้ามขายให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามขายออนไลน์ ห้ามโฆษณา และยังมีประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ สถาบันอุดมศึกษา ในการห้ามจำหน่ายในสถานศึกษาอยู่แล้ว

ประการที่สาม ต้องช่วยกันผลักดันและเลือกพรรคการเมืองที่สนับสนุน พ.ร.บ.กัญชากัญชง ให้ออกมาบังคับใช้ในอนาคต เพราะมีบทลงโทษในการให้หรือขายกัญชาต่อเยาชนรุนแรงกว่าปัจจุบัน และรุนแรงกว่าการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยาสูบ และกระท่อม

เพราะนอกจาก พ.ร.บ.กัญชา กัญชง จะกำหนดให้ผู้ขายหรือให้กัญชากับเด็กหรือปล่อยให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีใช้กัญชา จะถูกเพิกถอนใบจดแจ้งในการปลูกที่บ้าน และถูกเพิกถอนใบอนุญาตในธุรกิจกัญชาทั้งหมดแล้ว ยังมีบทลงโทษให้จำคุกผู้ที่ขายหรือให้เยาวชนด้วยโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากกระทำความผิดอื่นๆร่วมด้วย ให้เพิ่มบทลงโทษนั้นเป็น 2 เท่าตัวด้วย

ประการที่สี่ แม้ว่าจะมีกฎหมายอย่างไร แต่ก็จะมีเด็กและเยาวชนจำนวนหนึ่งที่มีปัญหาในครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม หรืออยากลองอาจจะลักลอบการใช้กัญชาอย่างผิดกฎหมาย ไม่ต่างจากการลักลอบสูบบุหรี่ ลักลอบดื่มสุรา ลักลอบดมกาวลักลอบใช้ยาบ้า และยาเสพติดอื่นๆ

แต่ด้วยกฎธรรมชาติของกัญชาหากใช้เกินขนาดจนต้องเข้าโรงพยาบาล จะเกิดความหวาดกลัวจนเข็ดขยาด และจะส่งผลทำให้ลดจำนวนผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงไปเองเมื่อเวลาผ่านไปในการเรียนรู้เรื่องกัญชานานชึ้น ซึ่งนอกจากกัญชาจะเสพติดยากกว่าเหล้า บุหรี่ ยาบ้า และยาเสพติดอื่นๆแล้ว กัญชายังจะช่วยทำให้ลดปัญหายาเสพติดที่รุนแรงหรือกระตุ้นประสาทของเด็กเยาวชนที่จะก่อปัญหาอาชญากรรมได้ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วตามผลการศึกษาของมลรัฐโคโรลาโด ประเทศสหรัฐอเมริกา[19]

คำถามที่ 4 ทำอย่างไรกับปัญหาการลักลอบการนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศ?
ตอบคำถามที่ 4 มี 2 ประการดังต่อไปนี้

ประการแรก ปัจจุบันมีกฎหมายห้ามนำกัญชาเข้ามาในประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตอยู่แล้ว โดยมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามพระราชบัญญัตกักพืชพ.ศ.2507(ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2565 กำหนดให้ “ส่วนหนึ่งส่วนใดของพืชในสกุลแคนนาบิส (Cannabis L.) เป็นสิ่งต้องห้าม”[24] หน้าที่ในการดำเนินการจึงอยู่ที่กรมศุลากร และกระทรวงการคลังและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ประการที่สอง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…ซึ่งคณะกรรมาธิการได้เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 ได้มีบทลงโทษรุนแรงที่มีการลักลอบนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยหากระทำความผิดจะมีบทลงโทษสูงสุดให้จำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งมีบทลงโทษที่รุนแรงกว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องช่วยกันสนับสนุน พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ… ต่อไปในอนาคต

คำถามที่ 5 พ.ร.บ. กัญชา กัญชง ไม่แล้วเสร็จในวาระของสภาผู้แทนราษฎร ชุดนี้แล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อไป?
ตอบคำถามที่ 5 มี 2 ประการดังต่อไปนี้

ประการแรก
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติเอาไว้ว่า

“บรรดาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบที่ตกไปตามวรรคหนึ่ง ถ้าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปร้องขอต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี พิจารณาต่อไป ถ้ารัฐสภาเห็นชอบด้วยก็ให้รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี พิจารณาต่อไปได้ แต่คณะรัฐมนตรีต้องร้องขอภายใน หกสิบวันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป”[25]

หมายความว่า ถ้า พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….พิจารณาไม่แล้วเสร็จในสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ จะต้องรอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังการเลือกตั้งที่ร้องขอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป ถ้าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบก็ให้พิจารณาต่อไปได้ โดยจะต้องร้องขอภายใน 60 วัน นับแต่วันที่เรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้งทั่วไป

ประการที่สอง เมื่อยังมีโอกาสอยู่ที่ที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จึงย่อมขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงว่า พรรคการเมืองที่สนับสนุน พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….ได้รับการเลือกตั้งเท่าไหร่ หากพรรคการเมืองที่ต่อต้าน พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…มีจำนวนมากกว่า ย่อมมีโอกาสที่กัญชาอาจจะกลับไปเป็นยาเสพติดได้อีก ซึ่งหมายความว่าผู้ปลูกและผู้ป่วยที่ใช้กัญชา กัญชง (ที่แพทย์ไม่ได้จ่าย) ทั้งหมดจะกลายเป็นอาชญากรต้องถูกจับกุมและถูกลงโทษในการ ผลิตหรือครอบครองยาเสพติด

แต่ถ้าพรรคการเมืองที่สนับสนุน พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….ได้รับการเลือกตั้งจำนวนมาก และมีอำนาจต่อรองมากพอในรัฐบาลชุดใหม่ พ.ร.บ. กัญชา กัญชงพ.ศ…ย่อมมีโอกาสที่ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. จะได้รับการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรต่อไปได้

ดังนั้นแม้ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…..จะใกล้หมดหวังด้วยเพราะไม่สามารถพิจารณาแล้วเสร็จในวาระของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ แต่ยังไม่สิ้นหวังด้วยเพราะยังมีโอกาสจากการตื่นรู้ของประชาชน ที่จะต้องมาเลือกสิทธิของประชาชนและอนาคตกัญชา กัญชง ในการเลือกตั้งที่กำลังมากถึงนี้

เพราะการตัดสินใจด้วยการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้นที่จะกำหนดอนาคตกัญชาได้

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
ในฐานะโฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจกระทรวงสาธารณสุข
9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

อ้างอิง
[1] Catalina Lopez-Quintero, et al, Probability and predictors of transition from first use to dependence on nicotine, alcohol, cannabis, and cocaine: Results of the National Epidemiologic Survey on Alcohol and Related Conditions (NESARC),Drug and Alcohol dependence, Volume 115, Issues 1-2, May 2011, Pages 120-130
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3069146/

[2] คณะอนุกรรมการพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์แพทยสภา, คำแนะนำสำหรับแพทย์ การใช้กัญชาทางการแพทย์, ฉบับที่ 1, ตุลาคม2562
https://tmc.or.th/pdf/fact/guideline_cannabis_101062.pdf

[3] Tom P Freeman, Medicinal use of cannabis based products and cannabinoids, BMJ 2019; Published 04 April 2019), doi: https://doi.org/10.1136/bmj.l1141
https://www.bmj.com/content/365/bmj.l1141

[4] กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, ชุดตำราภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ฉบับอนุรักษ์ ตำรับยาแผนไทยของชาติที่เข้าต้วยากัญชา, 2564, 454 หน้า, ISBN 978-616-11-4755-6
https://www.dtam.moph.go.th/E-Book/ptmk/ptmk-ganja/index.html

[5] จักราวุธ เผือกคง, กัญชาทางการแพทย์แผนไทย,
http://164.115.41.179/tm/sites/default/files/6.%20หลักการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทย.pdf

[6] พระยาทิพจักษุสาตร์ (สุ่น สุนทรเวช), แพทย์ประจำบ้าน, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2458 หน้า 172

[7] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสภาการแพทย์แผนไทย เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานและกรรมวิธกีารแพทย์แผนไทยผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ตามพระราชบัญญัตวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556, วันที่ 15 กรกฎาคม 2563, เล่ม 137 ตอนพิเศษ 162 ง, หน้า 27, ท้ายประกาศหน้า 12 และ 19 จาก 42 หน้า
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/162/T_0027.PDF

[8] ธเนศพล พันธ์เพ็ง, สุกก์สลิล บูรณะทรัพย์ขจร, สุวีรวรรณ ลิ้มสุวรรณ, การปรุงยาสมุนไพร ตามกรรมวิธีทางการแพทย์แผนไทย 28 วิธี, สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2564-กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, 2564, 268 หน้า ISBN: 978-616-8201-17-6, (กรรมวิธีที่ 23 ยาประสมแล้วมวนบุหรี่สูบเอาควัน เช่น บุหรี่ โดย อรอุษา ธรรมเสริมสร้าง, หน้า 163-169

[9] สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ. การศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง. ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก). 2565

[10] Ziemowit BednarekI, et al., U.S. cannabis laws projected to cost generic and brand pharmaceutical firms billions, plos one, Published: August 31, 2022
https://journals.plos.org/plosone/article/file?id=10.1371/journal.pone.0272492&type=printable

[11] Shyam Raman, Ashley C. Bradford, Health Economics, Recreational cannabis legalizations associated with reductions in prescription drug utilization among Medicaid enrollees First published: 15 April 2022 https://doi.org/10.1002/hec.4519
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/hec.4519

[12] Rajavashisth TB, Shaheen M, Norris KC, Pan D, Sinha SK, Ortega J, Friedman TC. Decreased prevalence of diabetes in marijuana users: cross-sectional data from the National Health and Nutrition Examination Survey (NHANES) III. BMJ Open. 2012 Feb 24;2:e000494. doi: 10.1136/bmjopen-2011-000494.

[13] Huang J, Huang D, Ruan X, Huang J, Xu D, Heavey S, Olivier J, Na R. Association between cannabis use with urological cancers: A population-based cohort study and a Mendelian randomization study in the UK biobank. Cancer Med. 2022 Aug 17. doi: 10.1002/cam4.5132. PMID: 35975633.

[14] ผู้จัดการออนไลน์, เปิดอก “ไก่ ขอนแก่น” หนุ่มวัย ๓๓ ปีเลิกยาบ้าได้เด็ดขาดเพราะกัญชา, Todayline, 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565, เวลา 14.06 น.
https://today.line.me/th/v2/article/mW30nJW

[15] ฐานข้อมูลการบำบัดรักษายาเสพติดทั่วประเทศของกระทรวงสาธารณสุข, 27 ธันวาคม 2565

[16] เดลินิวส์ออนไลน์, ป.ป.ส. เฉลยสาเหตุทำไม ‘ยาบ้า’ ราคาถูก พบลักลอบผ่านบริษัทขนส่งปรับ ๕ หมื่น, ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕
https://www.dailynews.co.th/news/1684530/

[17] Janice Mok, et al, Use of Cannabis for Harm Reduction Among People at High Risk for Overdose in Vancouver, Canada (2016–2018), American Journal of Public Health (AJPH) May 2021,
https://ajph.aphapublications.org/doi/abs/10.2105/AJPH.2021.306168?journalCode=ajph

[18] Janice Mok, et al., Use of Cannabis as a Harm Reduction Strategy Among People Who Use Drugs: A Cohort Study, Cannabis and Cannabinoid Research, Published Online 31 May 2022
https://doi.org/10.1089/can.2021.0229
https://www.liebertpub.com/doi/10.1089/can.2021.0229

[19] Jack K. Reed, Impacts of Marijuana Legalization in Colorado, A Report Pursuant to C.R.S. 24-33.4-516, July 2021
https://cdpsdocs.state.co.us/ors/docs/reports/2021-SB13-283_Rpt.pdf

[20] ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ, เปรียบเทียบสถานะสารเสพติด (กัญชา) ที่ต่างกันสุดขั้วในเนเธอร์แลนด์และสิงคโปร์…….แล้วไทยควรเลือกทางไหน?, เว็บไซต์ศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด, 30 กรกฎาคม 2564 : 9:32:15 น.
https://cads.in.th/cads/content?id=295

[21] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, กัญชา” กับ “เนเธอร์แลนด์โมเดล” ลดปัญหาอาชญากรรม “เรือนจำร้าง”จนต้องนำเข้านักโทษจากต่างประเทศ!?, ผู้จัดการออนไลน์, เผยแพร่: 1 ก.ค. 2565 17:15 ปรับปรุง: 1 ก.ค. 2565 17:15 น.
https://mgronline.com/daily/detail/9650000062568

[22] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร, 21 กันยายน 2563
http://edoc.parliament.go.th/getfile.aspx?id=730795&file=กัญชา+กัญชง+(สมชาย).pdf&download=1

[23] นิด้าโพล, การปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด, เว็บไซต์นิด้าโพล, 19 มิถุนายน 2565
https://nidapoll.nida.ac.th/survey_detail?survey_id=579

[24] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืช จากแหล่ง ที่กำหนดเป็น สิ่งต้องห้าม ข้อยกเว้น และเงื่อนไข ตามพระราชบัญญัตกักพืชพ.ศ. ๒๕๐๗ (ฉบับที่ ๑๑), ลงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๑๒๗ ง, หน้า ๘
https://www.doa.go.th/ard/wp-content/uploads/2022/06/ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์-เรื่อง-กำหนดพ.pdf

[25] ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐, ลงวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๔๐ ก, หน้า ๔๓
https://cdc.parliament.go.th/draftconstitution2/ewt_dl_link.php?nid=1038&filename=index


กำลังโหลดความคิดเห็น