xs
xsm
sm
md
lg

กฎหมายกัญชา “ใกล้หมดหวัง แต่อย่าพึ่งสิ้นหวัง” / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

จากหลักคิดของกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชงพ.ศ…ได้เสนอกฎหมายเข้าสู่วาระที่ 2 ของสภาผู้แทนราษฎรนั้นได้เดินทางมาถึงมาตราที่ 15 จาก 95 มาตรา แต่ก็เป็นไปอย่างกระท่อนแระแท่น เพราะการประชุมสภาล่มซ้ำซากหลายครั้ง

ถึงแม้ว่าการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นไปอย่างล่าช้า ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีนักการเมืองจำนวนมากเกินครึ่งหนึ่ง “ไม่ต้องการให้มีกฎหมายออกมาเพื่อใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชาอย่างเป็นระบบ”

นักการเมืองจำนวนหนึ่งมักอ้างว่า เพราะคณะกรรมาธิการฯร่างกฎหมายออกมาอย่างไม่รอบคอบ ทั้งๆ ที่คณะกรรมาธิการฯก็มาจากตัวแทนทุกพรรคการเมือง

อีกทั้งตามกลไกการพิจารณากฎหมายในวาระที่ 2 นี้ ยังเปิดโอกาสให้คณะกรรมาธิการฯเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยสามารถสงวนคำแปรญัตติทุกมาตราเอาไว้ได้ รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในแต่ละพรรคการเมืองก็สามารถสงวนคำแปรญัตติได้ทุกมาตราเช่นกัน

หลังจากนั้นคำแปรญัตติเหล่านี้ก็จะถูกผู้ที่สงวนคำแปรญัติได้อภิปรายเพื่อโน้มน้าวให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตัดสินใจลงมติว่าจะ “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” ตามเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการฯ หรือจะลงมติให้ “แก้ไข” ตามผู้สงวนคำแปรญัติในแต่ละมาตรา

การไม่เข้าร่วมประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจนองค์ประชุมสภาไม่ครบเพราะไม่ต้องการให้กฎหมายฉบับดังกล่าวออกมาได้ต่างหาก คือกลุ่มนักการเมืองที่ไม่ต้องการให้มีกฎหมายออกมาใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชา จริงหรือไม่?

เพราะถ้าไม่เห็นด้วยกับมาตราต่างๆ ตามเสียงคณะกรรมาธิการฯ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ต้องมีหน้าที่ในการลงมติให้แก้ไขผู้สงวนคำแปรญัตติจริงหรือไม่?

เพราะเมื่อมีอำนาจในการเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือแก้ไขมาตราต่างๆ อยู่ในมือ แต่กลับไม่ทำหน้าที่ แล้วจะไปเรียกร้องเรื่องกัญชากลับใครได้อีก

ไหนว่าหลายพรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกับหลายมาตราใน พ.ร.บ.กัญชา กัญชงพ.ศ…ของคณะกรรมาธิการฯ แล้วทำไมไม่ลงมือลงมติแก้ไขในมาตราต่างๆ และกลับละทิ้งไม่เข้าประชุม และไม่เป็นองค์ประชุมของสภาผู้แทนราษฎร

หรือว่าในความเป็นจริงแล้ว นักการเมืองที่อ้างว่าไม่เห็นด้วยกับกัญชา แต่ความจริงกลับไม่ต้องการให้มีกฎหมายในการใช้ประโยชน์และการควบคุมกัญชา

แน่นอนว่ามีพรรคการเมืองส่วนได้ประกาศแล้วว่า แท้ที่จริงต้องการให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด จึงไม่ต้องการสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ…ของคณะกรรมาธิการฯ ใช่หรือไม่?

และที่ต้องการไม่ให้มีกฎหมายใดๆ มาควบคุมกัญชา เพื่อหวังจะให้กัญชาเสียภาพลักษณ์ต่อสังคมอย่างเต็มที่ เพื่อหวังจะสร้างความชอบธรรมให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดใช่หรือไม่?

คราวนี้ประชาชนก็ต้องกลับมาคิดว่านักการเมืองขัดขวางกฎหมาย ที่หวังให้กัญชาเสียภาพลักษณ์ เพื่อทำให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดนั้น เห็นประโยชน์อย่างแท้จริงของประชาชน หรือเพียงการเห็นประโยชน์ต่อการหาเสียงของพรรคการเมืองโดยไม่สนใจผลกระทบของประชาชนในระหว่างนี้ หรือไม่?

แต่ในความเป็นจริง ในเวลานี้กัญชาในภาคประชาชนได้เดินมาไกลมากแล้ว และเชื่อว่า กัญชายากที่จะกลับไปเป็นยาเสพติดแล้ว ยกเว้นว่าพรรคการเมืองเหล่านั้นไม่ได้สนใจความต้องการอันแท้จริงของประชาชนที่ต้องการใช้ประโยชน์และการควบคุมกัญชาอย่างเหมาะสม

ประการแรก แพทย์ส่วนใหญ่ไม่จ่ายกัญชาให้คนไข้ (หรือส่วนใหญ่ต่อต้าน) หรือจ่ายให้กับคนไข้เป็นสัดส่วนที่น้อยมากเทียบกับความต้องการใช้กัญชาทางการแพทย์ทั้งประเทศ [1]

ประการที่สอง ประชาชนส่วนใหญ่หรือ “เกือบทั้งหมด”ใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทั่งช่วงเวลาที่กัญชายังเป็นยาเสพติดก่อนวันที่9 มิถุนายน พ.ศ. 2565 [1]

ประการที่สาม ประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพแม้จะใช้อย่างผิดกฎหมาย และใช้กันอย่างกว้างขวางเกินกว่าข้อบ่งใช้อย่างคับแคบในทางการแพทย์ แต่ผลการสำรวจกลับพบว่าประชาชนที่ใช้มีสุขภาพดีขึ้น และถึงขั้นลดและเลิกการใช้ยาแผนปัจจุบันด้วย[1]

ประการที่สี่ จากงานวิจัยพบว่ากัญชาเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่[2]

ประการที่ห้า กัญชามีส่วนช่วยลดปัญหาการลงแดงยาเสพติดที่รุนแรง (Harm Reduction) และยังเป็นสมุนไพรที่ช่วยเลิกยาเสพติดที่รุนแรงได้ ซึ่งรวมถึง ยาบ้าเฮโรอีน กลุ่มยาฝิ่น และยังรวมถึงการลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย[3]

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 -2565 ที่กัญชาใช้ในทางการแพทย์ ผู้รับเข้าการบำบัดยาเสพติดยาบ้าในประเทศไทยลดลงไปกว่าครึ่งหนึ่ง[4] แต่ยังเกิดปรากฏการณ์นี้มาแล้วในหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์, แคนนาดา, สหรัฐอเมริกา[5]

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าทำไมกัญชาจึงควรถอดออกจากยาเสพติดและใช้กฎหมายอย่างอื่นควบคุมแทน และจะควบคุมแบบยาเสพติดไม่ได้ และจำเป็นต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่ในเรื่องกัญชา ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นไปตามรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอย่างเป็นระบบ ของสภาผู้แทนราษฎรเอง[6]

ในขณะนี้มีส่วนผสมของกัญชา กัญชง หรือสารสกัดใน ผลิตภัณฑ์ อาหาร เครื่องดื่มเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา ฯลฯ ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนต่อองค์การอาหารและยาแล้วเป็นจำนวนมากกว่า 2,400 รายการ

และมีเรื่องที่น่ายินดีกว่านั้นคือเริ่มมีการประสานงานกับวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งเอกชน ที่ต้องการให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชงหรือแม้แต่ช่อดอกเพื่อไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพ และยาในต่างประเทศทั้ง แคนาดา เยอรมนี ออสเตรเลีย ฯลฯ

นอกเหนือไปกว่านั้นคือมีผู้ได้รับเมล็ดปลูกกัญชา กัญชงในครัวเรือน เพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือนอีกจำนวนมาก เชื่อมั่นได้เลยว่าคนที่ได้รับประโยชน์จากพืชชนิดนี้คงไม่ยอมให้ประเทศไทยตกเป็นเมืองขึ้นให้กับสิทธิบัตรยาของหลายประเทศ และคนไทยต้องซื้อหายากัญชาทางการแพทย์หรือเพื่อส่งเสริมสุขภาพในราคาแพง
และคงจะมีคนอีกจำนวนมากที่คงไม่ต้องการให้กัญชาถูกผูกขาดผลประโยชน์เอาไว้เฉพาะแพทย์ หรือบริษัทยากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนได้เรียนรู้การใช้ประโยชน์และการระมัดระวังโทษของกัญชาพอสมควรแล้ว

ส่วนผลกระทบต่อเยาวชนนั้น ก็เป็นที่ชัดเจนว่าร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. ของคณะกรรมาธิการฯ (ซึ่งมาจากตัวแทนแทบทุกพรรคการเมือง) ได้กำหนดโทษและมาตรการควบคุมไม่ได้ด้อยไปกว่าการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และกระท่อม

ทั้งๆ ที่กัญชามีประโยชน์มากกว่าเหล้าและบุหรี่ จริงหรือไม่?

คำถามสำคัญที่ตามมา คือคนที่คัดค้านจำนวนหนึ่งคือคนที่ไม่รู้ และไม่เคยใช้กัญชาอีกส่วนหนึ่งคือนักการเมืองที่เล่นการเมืองกันโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน เห็นประโยชน์ของพรรคการเมืองและการเลือกตั้งเหนือผลประโยชน์ของประชาชน

แต่อีกส่วนที่สำคัญและลืมไม่ได้คือผู้ที่เสียผลประโยชน์จากกัญชา ที่ทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ทำให้ประชาชนหายหรือบรรเทาจากการเจ็บป่วยได้ ทำให้ประชาขนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ทำให้ประชาชนนอนหลับและคุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดหรือเลิกการใช้ยาแผนปัจจุบันได้ ลดการไปหาหมอได้ ลดหรือเลิกยาบ้าได้ มีจริงหรือไม่?

การที่มีกลุ่มคนซึ่งคอยขัดขวางกัญชา ก็ให้ประชาชนได้นึกถึงคุณไพศาล พืชมงคล ได้เคยกล่าวเอาไว้ เป็นความจริงหรือไม่ที่ว่า

“กัญชามา ยาบ้าหมด ประเทศจะหายจน ประชาชนจะหายป่วย คนเฮงซวยจะขัดขวาง”

ดังนั้นประชาชนแม้จะใกล้หมดหวังกับสภาผู้แทนราษฎรในชุดนี้ แต่ก็อย่าก็อย่างถึงขั้นหมดหวัง เพราะตราบใดยังไม่หมดเวลา ประชาชนก็ช่วยกันผลักดันและกดดันให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาเห็นชอบหรือแก้ไขกฎหมายตามครรลองของสภาผู้แทนราษฎรที่พึงจะกระทำก่อนหมดวาระ

ถึงแม้วันหนึ่งจะหมดหวัง แต่ก็อย่าพึ่งสิ้นหวังเพราะเสียงของประชาชนในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนั้น ประชาชนย่อมกำหนดที่มาของสภาผู้แทนราษฎร ที่จะกำหนดอนาคตกัญชาไทยต่อไปอย่างแน่นอน

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
ในฐานะโฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจกระทรวงสาธารณสุข

อ้างอิง
[1] สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ. การศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง. ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก). 2565

[2] Catalina Lopez-Quintero, et al, Probability and predictors of transition from first use to dependence on nicotine, alcohol, cannabis, and cocaine: Results of the National Epidemiologic Survey on Alcohol and Related Conditions (NESARC),Drug and Alcohol dependence, Volume 115, Issues 1-2, May 2011, Pages 120-130
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3069146/

[3] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, ส่อเค้ากำลังจะเป็นจริง “กัญชามา ยาบ้าหมด! ประเทศไทยจะหายจน ประชาชนจะหายป่วย”, ผู้จัดการออไลน์, 5 มกราคม 2566
https://mgronline.com/goodhealth/detail/9660000001303

[4] ฐานข้อมูลการบำบัดรักษายาเสพติดทั่วประเทศของกระทรวงสาธารณสุข, ๒๗ธันวาคม ๒๕๖๕

[5] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, หลักคิด“Harm Reduction” ทำไม “กัญชา” จะมาช่วยลดยาบ้า เหล้าและบุหรี่ได้?, ผู้จัดการออนไลน์, ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๕
https://mgronline.com/daily/detail/9650000103228

[6] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร, 21 กันยายน 2563
http://edoc.parliament.go.th/getfile.aspx?id=730795&file=กัญชา+กัญชง+(สมชาย).pdf&download=1


กำลังโหลดความคิดเห็น