xs
xsm
sm
md
lg

ความอยากหรือตัณหา : เหตุให้เกิดทุกข์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง



ตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธศาสนา ตัณหาหรือความอยากเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์มีอยู่ 3 ประการคือ

1. ความอยากมีหรือกามตัณหา

2. ความอยากเป็นหรือภวตัณหา

3. ความไม่อยากมี ความไม่อยากเป็นหรือวิภวตัณหา

โดยนัยแห่งคำสอนข้อนี้เห็นได้ชัดเจนว่า ความอยากมิใช่ตัวทุกข์ แต่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ ความอยากมีจะเป็นทุกข์ต่อเมื่ออยากมีแล้วไม่มี หรือมีไม่ได้ ความอยากเป็นจะเป็นทุกข์ต่อเมื่ออยากเป็นแล้วไม่ได้เป็น หรือเป็นไม่ได้ และความไม่อยากมี ไม่อยากเป็นจะเป็นทุกข์ต่อเมื่อไม่อยากมีต่อจำเป็นต้องมีหรือจำใจต้องมี ไม่อยากเป็นแต่จำเป็นต้องเป็นหรือมีเหตุให้ต้องเป็น

ในโลกแห่งความเป็นจริงของโลกียชนคือ คนที่มีกิเลสทุกคนมีความอยาก 3 ประการนี้ ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการควบคุมให้อยู่ในกรอบแห่งคุณธรรมคือ สันโดษ 3 ประการคือ

1. ยถาลาภสันโดษได้แก่ ยินดีตามที่ได้ ยินดีตามที่พึงได้คือ ตนได้สิ่งใดมา ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ถ้าตนได้มาโดยชอบธรรมก็ยินดีในสิ่งนั้น ไม่เดือดร้อนกระวนกระวายเพราะสิ่งที่ตนไม่ได้ ไม่ปรารถนาในสิ่งที่ตนไม่พึงได้โดยไม่ชอบธรรม

2. ยถาพลสันโดษได้แก่ ยินดีตามกำลังหรือยินดีแต่พอกำลังกาย และวิสัยแห่งการใช้ของตนไม่อยากได้เกินกำลัง

3. ยถาสารุปปสันโดษได้แก่ ยินดีตามความเหมาะสมตามสถานะของตน

ในโลกของปุถุชนคนมีกิเลส ทุกคนมีความอยากแต่ความอยากจะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ หรือไม่มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับว่าใครจะควบคุมความอยากให้อยู่ในกรอบแห่งคุณธรรมคือ สันโดษ 3 ประการดังกล่าวแล้วได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าควบคุมได้มาก ความทุกข์ก็น้อย ถ้าควบคุมได้น้อย ความทุกข์ก็มาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. การศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาตามนัยแห่งคำสอนของพุทธ ซึ่งมีอยู่ 3 ประการคือ

1.1 สีลสิกขาคือ ศึกษาเกี่ยวกับศีล

1.2 สมาธิสิกขาคือ ศึกษาเรื่องสมาธิ

1.3 ปัญญาสิกขาคือ ศึกษาเรื่องปัญญา

2. การอบรมปลูกฝังคุณธรรม และจริยธรรม

ถ้าผู้ใดได้ศึกษาและได้รับการอบรมดังกล่าวแล้ว ก็จะควบคุมความอยากให้อยู่ในกรอบแห่งคุณธรรมได้

ส่วนการศึกษาและการอบรมในทางโลก โดยเฉพาะศึกษาในสาขาวิชาเพื่อให้จบออกมาหาอาชีพ และสร้างรายได้ด้วยแล้ว นอกจากจะทำให้ความอยากลดลงแล้ว ยังเพิ่มความอยากให้มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่มีโอกาสในการแสวงหาเช่น ข้าราชการการเมือง และข้าราชการประจำที่มีตำแหน่งซึ่งเอื้อให้เกิดการแสวงหาประโยชน์ ทั้งในรูปของตามน้ำและทวนน้ำ ดังที่ปรากฏให้เห็นอย่างดาษดื่น ทั้งในส่วนของข้าราชการประจำ และข้าราชการการเมืองของประเทศในขณะนี้

ทำไมคน 2 ประเภทดังกล่าวข้างต้น จึงแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบขัดต่อหลักคุณธรรม และจริยธรรม รวมไปถึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายด้วย และจะมีแนวทางแก้ไขและป้องกันอย่างไร?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เขียนเห็นว่าประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศมีส่วนสำคัญอย่างมากในการป้องกัน ส่วนการแก้ไขนั้นจะต้องอาศัยผู้มีอำนาจรัฐที่ซื่อสัตย์ และซื่อตรงดำเนินการปราบปรามการทุจริตคดโกงอย่างจริงจัง

ส่วนประชาชนสามารถป้องกันปัญหานี้ได้ โดยการสอนลูกสอนหลานให้มีความรู้ ความเข้าใจหลักแห่งคุณธรรมและจริยธรรม โดยการปลูกฝังจนกลายเป็นอุปนิสัยเพื่อให้เด็กโตขึ้นเป็นคนดีของสังคม แต่ที่ป้องกันได้ค่อนข้างแน่นอนคือ จะต้องไม่เลือกคนที่ควบคุมความอยากไม่ได้เข้าสู่วงการเมือง และเป็นหูเป็นตาให้กับฝ่ายบ้านเมืองในการตรวจสอบนักการเมือง และข้าราชการโกงแล้วร่วมมือกับภาครัฐกำจัดคนโกง เฉกเช่นที่คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ทำอยู่ในขณะนี้ ถ้าประชาชนทุกคนหรือส่วนใหญ่ทำเช่นนี้ได้ เชื่อได้ว่าคนโกงลดลงแน่นอน

ส่วนจะลดลงได้มากน้อยแค่ไหน จะต้องอาศัยเวลาและการกระทำอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยกฎหมายและคุณธรรม จริยธรรมควบคู่กันไป


กำลังโหลดความคิดเห็น