xs
xsm
sm
md
lg

ถามนักการเมืองทำองค์ประชุมสภาล่ม ไม่พิจารณากฎหมายกัญชา กัญชงให้เสร็จ แล้วประชาชนจะได้อะไร? / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ…. ที่คณะกรรมาธิการได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในวาระที่ 2 ที่ดำเนินมาถึงมาตรา 11 จาก 95 ที่ค้างต่อมาจากการประชุมก่อนหน้านั้น ได้ปรากฏว่ามีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ครบองค์ประชุมตั้งแต่เช้า และเป็นผลทำให้ผู้ที่ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องปิดประชุมไปในที่สุด โดยไม่ได้มีโอกาสพิจารณากฎหมายแม้แต่มาตราเดียว

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าให้สัมภาษณ์ความตอนหนึ่งว่า

 “เข้าใจความรู้สึกคับแค้นใจของประชาชนเป็นอย่างดี หลายคนประณามว่ากินเงินเดือนจากภาษีอากรประชาชน แต่ไม่ทำงาน

 แต่ตนมองว่า หากนำเรื่องกฎหมายกัญชาเข้าสู่วาระการประชุม เป็นปัญหา มีข้อถกเถียงกันมากในชั้นการพิจารณา ขณะนี้อยู่ในวาระที่ 2 หมายความว่า ชั้นที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว กำลังเข้าสู่การพิจารณารายมาตรา มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุน และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

 แต่ทุกฝ่ายเห็นด้วยกับกัญชาเพื่อการแพทย์ ไม่ใช่กัญชาเสรี หรือสันทนาการ ในชั้นกรรมาธิการทุกคนต้องการคือกัญชาเพื่อการแพทย์ ไม่มีตัวบทกฎหมายรองรับ ว่าจะควบคุมไม่ให้เสรีได้อย่างไร ที่ผ่านมาพยายามเรียกร้องว่า ต้องไม่ให้เป็นกัญชาเสรี เดิมมี 45 มาตรา เพิ่มเป็น 95 มาตรา ไม่มีบทมาตราใดเลย ที่ไปควบคุมกัญชาเสรี

 เพราะฉะนั้นจึงเป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย และเมื่อกลไกในสภาเสียงข้างมากไม่มีมากพอ องค์ประชุมตอนนี้ใช้แค่ 217 เสียง ดังนั้นหากเสียงข้างมาก ไม่ยอมจะใช้เสียงข้างมากตัวเองผลักดันอย่างจริงจัง องค์ประชุมก็จะไม่ครบ ส่วนฝ่ายเสียงข้างน้อย ยินดีร่วมพิจารณากฎหมาย แต่ภายใต้เงื่อนไขเสียงข้างมาก ต้องเป็นองค์ประชุม

 นายแพทย์ชลน่าน ยอมรับ เสียงข้างน้อยนั้น มีการลาออก มีการย้ายพรรค โดยไม่สนใจพี่น้องประชาชนที่เลือกเขาเข้ามา เพื่อแสวงหาโอกาสว่าจะได้กลับมาเป็นส.ส.ใหม่เท่านั้นเอง สิ่งนี้คือสาเหตุที่ทำให้ "สภาล่ม" ถ้าเป็นแบบนี้ ก็จะเป็นตลอดไป”[1]

คำชี้แจงของนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านดังที่กล่าวมานั้น มีความคาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ดังต่อไปนี้




 ประการแรก ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ…มาจากคณะกรรมาธิการหลายพรรคการเมือง จำนวน 25 คน เป็นสัดส่วนตัวแทนมาจากคณะรัฐมนตรี 5 คน, พรรคพลังประชารัฐ 4 คน, พรรคภูมิใจไทย 3 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 2 คน, พรรคเพื่อไทย 6 คน, พรรคก้าวไกล 2 คน, พรรคเศรษฐกิจไทย 1 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน, พรรคเสรีรวมไทย 1 คน

ดังนั้นร่างกฎหมายฉบับกรรมาธิการฯ จึงไม่ใช่ร่างเดิมของพรรคภูมิใจไทยในฐานะเสียงข้างมาก แต่มาจากการถกเถียงด้วยข้อมูลและความรู้จนทำให้กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ “เพิ่มการควบคุมมากขึ้นกว่าเดิม” จาก 45 มาตรา มาเป็น 95 มาตรา

 และการควบคุมที่เพิ่มขึ้นมานั้นก็มาจาก “การควบคุมที่เข้มข้นกว่า” กฎหมายการควบคุมยาสูบ การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกฎหมายพืชกระท่อม ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริงจากงานวิจัยแล้วกัญชาเสพติดยากกว่าและมีประโยชน์มากกว่ายาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 ประการที่สอง กรรมาธิการ หรือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร “ทุกคน” และจาก “ทุกพรรคการเมือง” ที่ไม่เห็นด้วยกับเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการ สามารถ“สงวนคำแปรญัตติ” เพื่อแก้ไขได้ทุกมาตรา เมื่อได้สงวนคำแปรญัตติเอาไว้แล้ว ก็สามารถอภิปรายแสดงเหตุผลและให้กรรมาธิการเสียงข้างมากชี้แจง และให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติชี้ขาดอีกครั้ง

ดังนั้นการที่นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวหากรรมาธิการว่า “ไม่มีบทมาตราใดเลย ที่ไปควบคุมกัญชาเสรี” นั้น นอกจากจะไม่เป็นเรื่องจริงแล้ว ยังต้องตั้งคำถามกลับด้วยว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยสงวนคำแปรญัตติคัดค้านแต่ละมาตราแล้วหรือไม่หากคัดค้านและมีข้อเสนอแก้ไขแล้ว ส.ส.คนนั้นต้องมีหน้าที่เสนอการแก้ไขต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ใช่หรือไม่?

 ไหนว่าห่วงสังคม…

ไหนว่าห่วงเยาวชน…

ไหนว่าไม่อยากให้กัญชาเสรี…

แต่ ส.ส. กลับละทิ้งหน้าที่ด้วยการไม่เข้าประชุม หรือไม่กดรายงานตัวในที่ประชุมแล้วจะไปแก้กฎหมายกัญชา กัญชง ให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร? 


 ประการที่สาม
การที่กฎหมายมีความล่าช้ามาเนิ่นนาน ก็ต้องตั้งคำถามต่อไปว่าการมีกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ ดีกว่าไม่มีหรือไม่

โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่กัญชาไม่ได้ระบุให้เป็นยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดแล้ว การมี พ.ร.บ.กัญชา กัญชง มีบทลงโทษรุนแรงกว่าการใช้กฎหมายที่ประยุกต์ใช้อยู่ใน “ปัจจุบัน” อย่างชัดเจน ดีกว่าหรือไม่?

 การไม่มีกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยเห็นประโยชน์การไม่มีกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ ดีกว่ามีกฎหมายจริงหรือไม่

ถ้าเช่นนั้นการอ้างว่าห่วงสถานการณ์ปัจจุบันนั้น เป็นการห่วงประชาชนจริงๆ หรือเป็นห่วงว่าไม่มีประเด็นโจมตีทางการเมืองในการหาเสียงกันแน่?

เพราะถ้าพรรคเพื่อไทยยอมรับว่า การมีกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ดีกว่าสถานการณ์ปัจจุบันจริง ต่อให้จะไม่เห็นด้วยก็สามารถไปเลือกตั้งและกลับมาเป็นรัฐบาลร่างกฎหมายตามที่ตัวเองอยากได้ในวันข้างหน้าหรือแม้แต่จะเอากลับไปเป็นยาเสพติด ก็ยังดีกว่าไม่มีกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชา กัญชง “ในระหว่างนี้” จริงหรือไม่? 

 ประการที่สี่
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว แถลงข่าวว่าทุกฝ่ายเห็นด้วยกับกัญชาเพื่อการแพทย์ แต่คนที่อ้างเช่นนั้น กลับไม่เห็นความทุกข์ยากประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ คือผู้ที่ใช้อย่างผิดกฎหมาย ด้วยแพทย์จำนวนหนึ่งมีอคติและผลประโยชน์ทับซ้อนต่อต้านการใช้กัญชงการแพทย์ มีการกำหนดข้อบ่งใช้อย่างคับแคบ และเป็นผลทำให้ประชาชนไม่สามาถเข้าถึงการใช้กัญชาทางการแพทย์ได้จริง

 ผู้ที่ได้รับกัญชาผ่านโรงพยาบาลคลินิกกัญชาในกระทรวงสาธารณสุขที่ให้การรักษาแบบแผนปัจจุบันอยู่เพียงร้อยละ 0.9 เท่านั้น, ในขณะที่ผู้ที่ได้รับกัญชาผ่านโรงพยาบาลในระบบสาธารณสุขที่ให้การรักษาแบบแผนไทยอยู่เพียงร้อยละ 4.7[2]









ดังนั้นประชาชนได้รับกัญชาในระบบของกระทรวงสาธารณสุขทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยรวมกันเพียงร้อยละ 5.3 เท่านั้น และแสดงให้เห็นว่าประชาชนได้รับกัญชา “นอกระบบ” กระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 94.7[2]
โดยการที่ประชาชนได้รับกัญชา “นอกระบบ” ของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ได้รับจากเพื่อน ญาติ หรือคนรู้จักมากที่สุดร้อยละ 33.6, ได้รับจากแพทย์พื้นบ้านทั้งที่มีทะเบียนแพทย์และไม่มีทะเบียนแพทย์ “นอกระบบกระทรวงสาธารณสุข” ร้อยละ32.3, ได้รับจากผู้ค้าตลาดมืด โซเชียลมีเดีย ซื้อออนไลน์ ซื้อต่อหน้าผู้ที่แสวงหาผลกำไร ร้อยละ 19, ปลูกหรือผลิตเองร้อยละ 12, อื่นๆ ร้อยละ 0.8[2]

ขอย้ำว่าตัวเลขข้างต้นคือการสำรวจในขณะที่กัญชายังเป็นยาเสพติดให้โทษและใช้ทางการแพทย์ได้ ยังมีการใช้นอกระบบมากขนาดนี้ ด้วยเหตุผลนี้การเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดจึงไม่สามารถแก้ปัญหาจากสภาพข้อเท็จจริงได้เลย

หรือกล่าวโดยสรุปก็คือประชาชนส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างผิดกฎหมายอย่างชัดเจน 


การที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างผิดกฎหมายนั้น ย่อมสุ่มเสี่ยงไม่เพียงแต่การถูกจับกุมหรือถูกดำเนินคดีในฐานะผู้ผลิตครอบครองยาเสพติดหรือเท่านั้น แต่ยังสุ่มเสี่ยงอันตรายต่อการปนเปื้อนสารพิษในกัญชานอกระบบ (เช่น โลหะหนัก ยาฆ่าแมลง) อีกด้วย อีกทั้งผู้บริโภคกัญชาอาจไม่ได้รับการคุ้มครองจากปริมาณสารสำคัญหรือราคาที่เหมาะสมอีกด้วย ตราบใดที่กัญชาเป็นยาเสพติดหรือไม่สามารถให้ประชาชนปลูกกัญชาเพื่อการพึ่งพาตัวเองได้

 ผลการสำรวจพบว่าการที่ประชาชนใช้อย่างผิดกฎหมาย เพราะโรคที่ประชาชนใช้กัญชานั้นไม่เข้าเกณฑ์ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 84[2]


แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่จะใช้กัญชานอกระบบของกระทรวงสาธารณสุข และใช้ในโรคที่ไม่ได้ประกาศโดยกระทรวงสาธารณสุข หรือใช้ในรูปแบบที่แพทย์ไม่ได้สั่งทำให้ต้องไปใช้กัญชาใต้ดิน หรือใช้กัญชาอย่างผิดกฎหมายแต่อย่างน้อยก็ยังมีข่าวดีอยู่ 2 ประเด็นสำคัญ

 ประเด็นแรก ผู้ป่วยใช้กัญชาทางการแพทย์นั้นประชาชนกลับรู้สึกได้ว่าหลังใช้กัญชาแล้วอาการของโรคต่างๆ ดีขึ้นหรือดีขึ้นรวมกันมากถึงร้อยละ 93[2]

โดยผู้ที่ใช้กัญชามีอาการดีขึ้นหลังใช้กัญชาร้อยละ 54.8, มีอาการดีขึ้นมากร้อยละ38.6, เหมือนเดิมร้อยละ 6.7 และส่วนใหญ่ใช้ปริมาณเท่าเดิมเท่าที่เคยใช้ร้อยละ87.8, ใช้เพิ่มขึ้นถึงเพิ่มขึ้นมากร้อยละ 6.3 ใช้น้อยลงถึงน้อยลงมากร้อยละ 5.9[2] ซึ่งมีความหมายว่าอาการของผู้ป่วยที่ดีขึ้นนั้นไม่ได้ใช้กัญชาในปริมาณกัญชาเพิ่มากขึ้นแต่ประการใด

 ประเด็นที่สอง ผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง รายงานโดยศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติดสำรวจพบว่าสามารถเลิกยาแผนปัจจุบันได้ร้อยละ 31.7 ลดยาแผนปัจจุบันได้ร้อยละ 26.3 รวมทั้งลดหรือเลิกยาแผนปัจจุบันรวมกันมากถึงร้อยละ 58[2]

 ประการที่ห้า
การเข้าประชุมแสดงตนของ ส.ส. ว่าเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียง นั้นแสดงว่า ส.ส.เหล่านั้นแม้จะมีความเห็นแตกต่างกัน แต่ก็ยังถือว่าได้ทำหน้าที่ตัวแทนปวงชนชาวไทย เพราะได้เงินเดือนจากภาษีประชาชน

แต่คนที่ไม่มาประชุม ไม่แสดงตน เพื่อทำให้ประชุมล่ม เพื่อทำให้กฎหมายไม่คืบหน้า คนเหล่านี้นอกจากจะเป็นตัวถ่วงที่ทำให้ไม่มีกฎหมายใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชาให้ดีกว่าสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ยังสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าอาหาร และทำงานไม่คุ้มกับภาษีของประชาชนอีกด้วย

แม้สำหรับบางคนอาจเข้าใจได้ว่าเป็นประธานที่ประชุม เป็นรัฐมนตรี หรือติดภารกิจอันจำเป็นเร่งด่วน แต่ความจริงมีบางพรรคการเมืองเจตนารวมหัวกันตั้งใจทำให้สภาผู้แทนราษฎรไม่ครบองค์ประชุม นอกจากนั้น ส.ส.หลายคนอยู่ในที่ประชุม แต่ตั้งใจไม่กดรายงานตัวในที่ประชุม คนเหล่านี้คือ ส.ส.ที่ไม่พร้อมทำหน้าที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยในการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ประชาชนก็ไม่ควรให้คนเหล่านี้ได้กลับมาเป็น ส.ส.ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้จริงหรือไม่

 ประการที่หก จากการสำรวจองค์ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ครบองค์ประชุมเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 พบว่า

 อันดับ 1 พรรคเพื่อไทย มี ส.ส. ที่ไม่ลงมติ, ลาประชุม,ขาดประชุมมากที่สุด 86 คนจาก ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย 121 คน คิดเป็นสัดส่วนของพรรคร้อยละ 71.07

อันดับ 2 พรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส. ที่ไม่ลงมติ, ลาประชุม,ขาดประชุม 35 คน จากส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ 79 คน คิดเป็นร้อยละ 44.30

อันดับ 3 พรรคประชาธิปัตย์ มี ส.ส. ที่ไม่ลงมติ, ลาประชุม,ขาดประชุม 32 คนจากส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ 50 คน คิดเป็นร้อยละ 64

อันดับ 4 พรรคก้าวไกล มี ส.ส. ที่ไม่ลงมติ, ลาประชุม,ขาดประชุม 23 คน จากส.ส.ของพรรคก้าวไกล 44 คน คิดเป็นร้อยละ 52.27

อันดับ 5 พรรคภูมิใจไทย มี ส.ส. ที่ไม่ลงมติ, ลาประชุม,ขาดประชุม 8 คน จากส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย 62 คน คิดเป็นร้อยละ 12.9

อันดับ 6 พรรคเศรษฐกิจไทย มี ส.ส. ที่ไม่ลงมติ, ลาประชุม,ขาดประชุม 7 คนจากส.ส.ของพรรคเศรษฐกิจไทย 10 คน คิดเป็นร้อยละ 70

อันดับ 7 พรรคประชาชาติ มี ส.ส. ที่ไม่ลงมติ, ลาประชุม,ขาดประชุม 6 คนจากส.ส.ของพรรคประชาชาติ 7 คน คิดเป็นร้อยละ 85.7

อันดับ 8 พรรคชาติไทยพัฒนา มี ส.ส. ที่ไม่ลงมติ, ลาประชุม,ขาดประชุม 6 คน จากส.ส.ของพรรคชาติไทยพัฒนา 12 คน คิดเป็นร้อยละ 50

อันดับ 9 พรรคเพื่อชาติ มี ส.ส. ที่ไม่ลงมติ, ลาประชุม,ขาดประชุม 5 คนจาก ส.ส.ของพรรคเพื่อชาติ 6 คน คิดเป็นร้อยละ 83.33

อันดับ 10 พรรคเศรษฐกิจใหม่ มี ส.ส. ที่ไม่ลงมติ, ลาประชุม,ขาดประชุม 2 คนจากส.ส.ของพรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 คน คิดเป็นร้อยละ 33.33

อันดับ 11 พรรคพลังท้องถิ่นไทย มี ส.ส. ที่ไม่ลงมติ, ลาประชุม,ขาดประชุม 2 คนจากส.ส.ของพรรคท้องถิ่นไทย 5 คน คิดเป็นร้อยละ 40

อันดับที่ 12 พรรครวมพลัง มี ส.ส. ที่ไม่ลงมติ, ลาประชุม,ขาดประชุม 2 คนจากส.ส.ของพรรคเศรษฐกิจใหม่ 4 คน คิดเป็นร้อยละ 50

อันดับที่ 13 พรรคชาติพัฒนากล้า มี ส.ส. ที่ไม่ลงมติ, ลาประชุม,ขาดประชุม 3 คนจาก ส.ส.ของพรรคชาติพัฒนากล้า 3 คน คิดเป็นร้อยละ 100

อันดับที่ 14 พรรคอื่นๆ ได้แก่ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พรรคไทยศรีวิไลซ์, พรรคประชาธิปไตยใหม่ และ พรรคพลังธรรมใหม่ มี ส.ส. แต่ละพรรคที่ไม่ลงมติ, ลาประชุม,ขาดประชุม 1 คนจาก ส.ส.แต่ละพรรค 1 คน คิดเป็นร้อยละ 100

 จึงเรียนมาเพื่อแจ้งต่อประชาชน ตามบัญชีรายชื่อที่ได้แนบมาพร้อมกับบทความนี้เพื่อเรียกร้องให้ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ทำหน้าที่ของตัวเองให้คุ้มค่าต่อภาษีประชาชน เพียงด้วยการเข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ครบองค์ประชุมและดำเนินการพิจารณาเห็นชอบ แก้ไข ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุดต่อไป

ด้วยจิตคารวะ
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข 

อ้างอิง
[1] คมชัดลึก, "นพ.ชลน่าน"ชี้ ส.ส.แห่ย้ายพรรค เป็นเหตุสภาล่ม หวั่นซ้ำซากตลอดไป, 18 มกราคม 2566
https://www.komchadluek.net/news/politics/541185

[2] สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ. การศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง. ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก). ๒๕๖๕


กำลังโหลดความคิดเห็น