xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตำราของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบาย “การสูบ” เป็นกรรมวิธีทางการแพทย์แผนไทย / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


ความเข้าใจที่ว่า  “การสูบ” ไม่ใช่วิธีการรักษา เป็นได้แต่เพียงเพื่อนันทนาการเท่านั้น น่าจะเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดของประชาชนและแพทย์จำนวนไม่น้อย ทั้งๆที่ ในความเป็นจริงแล้ว “การสูบ” เป็นกรรมวิธีหนึ่งของการแพทย์แผนไทยอย่างแน่นอน
 พระยาทิพจักษุสาตร์ (สุ่น สุนทรเวช), ซึ่งในเวลาต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็นพระยาแพทย์พงศาพิสุทธาธิบดี แพทย์ประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ (เป็นลุงแท้ๆของนายสมัคร สุนทรเวชนายกรัฐมนตรีของไทยคนที่ ๒๕)ได้เขียนตำรา “หมอประจำบ้าน” พิมพ์ครั้งที่๒ พ.ศ. ๒๔๕๘ (๑๐๘ ปีที่แล้ว) ซึ่งเป็นตำราสำหรับพ่อบ้านแม่เรือนในการพึ่งพาตัวเองรักษาปฏิบัติตนและครอบครัวนั้น ได้ระบุว่าแม้แต่ “กัญชา” ก็เป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับการพึ่งพาตัวเองในครัวเรือน และยังสามารถใช้ “สูบ” เพื่อรักษาโรคได้ด้วยความว่า

“Tincture Cannabis Indica ทิงเจอร์ แคนนาบิส อินดิก้า

เป็นยาน้ำสีเขียว ทำจากยอดกันชาโดยใช้แอลกอฮอล์กัด รับประทานได้ ๕ถึง ๑๕ หยด เป็นยาสงบเส้นประสาท แก้ปวด และแก้เนื้อกระตุก แก้ลงท้องและปวดท้อง ใช้ในโรคสมองพิการ คลั่งเพ้อ และโรคบิด ใช้ใบหั่นสูบในการรักษาโรคหืด”[1]

ทั้งนี้ พระคัมภีร์ชวดาร ซึ่งเป็นพระคัมภีร์ที่ถูกบรรจุเอาไว้ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ บันทึกตำรับยาเพื่อการสูบด้วยความว่า

 “ยาสูบแก้ริศดวงในคออันงอกขึ้นมานั้น เอาหอระดาร ๑ ดีปลี ๑ พริกไทย  ๑ลำโพงกาสลัก ๑ หัวหอม ๑ มะเขือขื่น ๑ ตำเอาน้ำชุบกระดาษผึ่งแดดให้แห้ง๓ หน  มวนยาสูบ[2]

นอกจากนั้นยังมีสมุนไพรอื่นๆ ที่ใช้การสูบด้วย ปรากฏหลักฐานในสมุนไพรภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เผยแพร่ในเรื่อง “ปีบ” ความว่า

“ปีบ” มีสรรพคุณในการนำมาใช้ในการรักษาโรคได้หลายชนิด ในตำรายาไทย เช่น

“ราก” บำรุงปอด รักษาวัณโรค อาการหอบหืด

“ดอก” ใช้รักษาอาการหอบหืด ไซนัสอักเสบ เพิ่มการหลั่งน้ำดี(Cholagogue) เพิ่มรสชาติ นำดอกปีบแห้งผสมยาสูบมามวนเป็นบุหรี่สำหรับสูบสูด เพื่อรักษาอาการหอบหืด

“ใบ” ใช้มวนบุหรี่สูบแทนฝิ่น ขยายหลอดลม ใช้รักษาอาการหอบหืดได้เช่นกัน

โดยกำหนดวิธีและปริมาณที่ใช้สำหรับ “แก้หอบหืด” คือ ใช้ดอกแห้ง ๖-๗ ดอกมวนเป็นบุหรี่สูบ”[3]
นอกจากนั้นในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เผยแพร่สรรพคุณของ “ลำโพง” ความตอนหนึ่งว่า

“มีสรรพคุณเป็น ยารักษาโรคหืด คลายการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ(antispasmodic) anticholinergic activity โดยมีวิธีและปริมาณที่ใช้คือ ใบแห้ง ๑-๓ ใบ มวนบุหรี่สูบ หรือดอกแห้ง ๑ ดอก มวลบุหรี่สูบ”[4]

นอจากนั้น “การสูบ” ยังมีสถานภาพที่ถูกรับรองตามกฎหมาย โดยได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา กำหนดเกณฑ์มาตรฐานและกรรมวิธีการแพทย์แผนไทยของผู้ประกอบวิชาชีพ การแพทย์แผนไทย ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๕๖ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๕ (๑) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๕๖นายกสภาการแพทย์แผนไทย โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสภาการแพทย์แผนไทย ในการประชุมครั้งที่ ๑๑/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๒ความว่า

“๒.๑ ความรู้ ความสามารถ สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยด้านเวชกรรมไทย

สามารถนำความรู้ทางการแพทย์แผนไทย ด้านเวชกรรมไทย เพื่อนำไปใช้ในการตรวจ การวินิจฉัยการบำบัด การรักษาการป้องกันโรคการส่งเสริมและการฟื้นฟูสภาพรวมถึงการผดุงครรภ์ไทย เภสัชกรรมไทย การนวดไทย ทั้งน้ีด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย ได้อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์และสถานภาพ….”[5]
“….๒.๑.๗ มีความรู้ความสามารถในการจัดหาตัวยา และต้ังตำรับยารักษาโรค เพื่อผลิตและปรุงยา ด้วยกรรมวิธีทางการแพทย์แผนไทยสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายได้แก่”…”ยาประสมแล้ว มวนบุหรี่สูบเอาควัน เช่นบุหรี่”…[6]

คำถามคือการสูบเพื่อให้ได้อย่างเหมาะสมตาม “สถานการณ์” และ “สถานภาพ” นั้นมีความหมายอย่างไรกันแน่?
ในตำราการปรุงยาสมุนไพรตามกรรมวิธีทางการแพทย์แผนไทย ๒๘ วิธี (28 Preparation Techniques for Thai Traditional medicine) จัดทำโดยสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ได้ระบุเอาไว้ในกรรมวิธีลำดับที่ ๒๓ เรื่อง “ยาประสมแล้ว มวนบุหรี่สูบเอาควัน เช่น บุหรี่” เรียบเรียงอธิบายความโดยอ.ดร.อรอุษา ธรรมเสริมสร้าง เอาไว้อย่างน่าสนใจความบางตอนว่า
“ยาประสมแล้วมวนเป็นบุหรี่สูบ หมายถึง การนำเครื่องยาผสมกันแล้วเอายามาใส่ใบไม้ ใบตอง หรือกระดาษมวน เป็นบุหรี่จุดไฟ สูบอัดเอาควันคล้ายวิธีสูบบุหรี่
ยาประสมแล้วมวนเป็นบุหรี่สูบ มักอยู่ในรูปบุหรี่ใบตองแห้งซึ่งเป็นรูปแบบบุหรี่ที่ชาวบ้านนิยมทำกันเอง มีทั้งการนำใบตองอ่อนมาตากแห้ง หรือนำใบตองกล้วยที่แห้งคาต้นมาฉีกและตัดให้มีขนาดพอดีกับเส้นยาสูบที่จะสูบแต่ละครั้ง

การทำยาประสมเส้นยาสูบจะใช้สมุนไพรที่มีสรรพคุณนการรักษา ริดสีดวงจมูก ปาก คอ หรืออาการหอบหืด โดยการนำสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคหรืออาการข้างต้นมาเตรียมเป็นเส้นยาสูบ เช่น ดอกปีบสด ใบหนุมานประสานกายสด ใบและก้านบัวหลวงสด ดอกลำโพงสด โดยใช้สูบรักษาเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจ
ถ้าเป็นสมัยก่อนจะใช้ใบตองอ่อนมาตัดให้ได้ขนาดแล้วรีดด้วยเตารีดโบราณเพื่อให้ได้ใบตองมวนสูบที่ยังมีสีเขียวอ่อนของใบตอง มีกลิ่นหอม ใบตองที่ได้จากใบตองอ่อนสีจะสวยกว่าใบตองที่แห้งตามธรรมชาติ”[7]

ในหนังสือเล่มดังกล่าวนี้ยังได้รวบรวมตัวอย่างตำรับยาสำหรับการสูบเอาไว้หลายขนาดได้แก่

ในพระคัมภีร์ชวดาร มีตัวอย่าง ๒ ขนานได้แก่

“ยาสูบแก้ริดสีดวงทวารในคออันงอกขึ้นมานั้น เอาหรดาร ๑ ดีปลี ๑ พริกไทย๑ ลำโพงกาสลัก ๑ หัวหอม ๑ มะเขือขื่น ๑ ตำเอาน้ำชุบกระดาษ ผึ่งแดดให้แห้ง ๓ หน มวนยาสูบ”[7],[8]

“เอาเจตมูลเพลิง พริกไทย ดีปลี กระเทียม ดองดึง เอาเสมอภาค ทำเป็นจุณตากให้แห้ง เอาใบตองตานีมวนยาสูบแก้ริดสีดวงอันบังเกิดในคอนั้นหายดีนัก”[7],[8]
นอกจากนั้นยังมีตัวอย่างยาในคัมภีร์โบราณแพทย์แผนไทยเล่ม ๓ โดยขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร, บิดาของจอมพลถนอม กิตติขจร) ในบทว่าด้วยโรคริดสีดวงและยาแก้ และว่าด้วยโรคหืดและโรคอื่นๆ และยาแก้ ดังนี้

“ยาแก้ริดสีดวงแห้ง เอาข่าตาแดง หัวหอม พริกไทย หรดาลกลีบทอง เมล็ดมะเขือขื่น ลูกกระวาน เอาเสมอภาคบดให้ละเอียด เอากระดาษไทยห่อเป็นชุดแล้วตากให้แห้ง เอาใบรักขาวห่อขั้นนอก ทำเป็นบุหรี่สูบกลืนควันเข้าไป โรคนี้แม้จะเป็นมานานตั้ง ๔, ๕ ปี ก็หายแล”[7],[9]
“ยาริดสีดวงจมูก เอารากเจตมูลเพลิง หัวดองดึง กระเทียม พริกไทย ดีปลี ตำพอแหลกตากให้แห้ง มวนด้วยใบตองกล้วยตานีสูบ”[7],[9]
“ยาแก้ริดสีดวงจมูก เอาการบูร เปลือกหมากสง ตำให้เข้ากันมวนเป็นบุหรี่สูบ”[7],[9]

“ยาแก้ริดสีดวงคอหวะเปื่อยเน่า เอาไคลเปลือกข่อย ยาดำ การบูรตำ ตากแดด มวนด้วยใบยาสูบ”[7],[9]

“ยาแก้ริดสีดวงในคอในจมูก เอาไคลเปลือกกระดังงาบดให้ละเอียดเหลวๆทาสมุดดำตากแดดให้แห้ง มวนด้วยใบตองกล้วยสูบ”[7],[9]

“ยาแก้ริดสีดวงในคอในจมูก มีอาการเหม็นเน่าเหม็นคาวหรือหวะเปื่อยก็ดีเอาใบกรวย ใบหนาด ใบหญ้าลูกเค้า ใบพิกุลที่ร่วง ผิวไม้ไผ่สีสุก ไคลเปลือกข่อย ยาแดงจีน เถาวัลย์เปรียง ทุบแช่น้ำมูตร ตากแดดให้แห้ง ตำให้เข้ากันดีแล้วตากให้แห้ง มวนด้วยสมุดดำสูบ”[7],[9]

“ยาแก้ริดสีดวงในจมูกและคอ ขูดเอาผิวไม้ไผ่สีสุก เปลือกมะเดื่อปล้องการบูร ยาสูบ เอาประสมกันตากให้แห้ง เอาสมุดข่อยอย่างดำมวนสูบ”[7],[9]

“ยาแก้ริดสีดวงในจมูก เอาหัวบุกรอ ๑ หัว หัวอุตพิต ๑ หัว หัวกล้วย ๑ ต้น หัวกระดาดทั้ง ๒ ดอกจันทน์ กานพลู เมล็ดมะนาว เอาสิ่งละเท่าๆ กัน บดให้ละเอียด แล้วทากระดาษตากแดดให้แห้ง แล้วมวนด้วยใบตองแล้ว สูบ”[7],[9]

“ยาแก้ริดสีดวงในจมูก เอารากก้างปลาแดง รากพุงดอ รากส้มป่อย เอาสิ่งละ๒ สลึง ตำให้แหลก เอากระดาษฟางชุบสุราแล้วตากให้แห้ง เอามวนยาผงนั้นจุดไฟสูบเหมือนบุหรี่”[7],[9]

“ยาแก้หืด เอาดอกลำโพง ใบมะฝ่อ หั่นให้เป็นฝอย เอาเท่าๆ กัน เอาเลือดแรดละลายกับน้ำตาลโตนด เคล้าดอกลำโพงกับใบมะฝ่อนั้นตากแดดไว้ให้แห้งเอายาเส้นประสมเล็กน้อย เอาการบูรประสมลงเล็กน้อย มวนด้วยใบตองแห้งสูบเหมือนบุหรี่ทุกวัน”[7],[9]

จึงเป็นที่ชัดเจนว่าการสูบยาเป็นกรรมวิธีหนึ่งของการแพทย์แผนไทย มีการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ เพราะเป็นรูปแบบหนึ่งที่ใช้ควันและไอระเหยจากยาสมุนไพรและวัสดุที่ใช้มวนบุหรี่ โดยผ่านการสูดหรือสูบควันเพื่อการรักษาและบรรเทาอาการโรคเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ

แม้ว่าการสูบตามกรรมวิธีการแพทย์แผนไทยจะได้ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่ต้องมีความระมัดระวังประการหนึ่งคือ “มลพิษ” จากการปนเปื้อนสารพิษในสมุนไพรยุคปัจจุบัน ทั้งโลหะหนัก ยาฆ่าวัชพืช ยาฆ่าแมลงล้วนแล้วแต่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และถึงแม้ปัญหาการเผาไหม้จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพในบางมิติ แต่การสูบสำหรับในบางสถานการณ์ก็มีความจำเป็นสำหรับผู้ป่วยบางคนด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างหนึ่งของโรคระบบทางเดินหายใจที่น่าสนใจคือ “โรคมะเร็งปอด” ซึ่งเภสัชกรหญิง ดร.สุรางค์ ลีลาวัฒน์ จากวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตและคณะ ได้วิจัยโรคมะเร็งปอดพบว่าสารสกัดที่ทำให้มึนเมาจาก“กัญชา” ที่เรียกว่าสารเดลต้าไนน์ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) และสารที่กลายสภาพของสาร THC ที่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนกลายเป็นสารแคนนาบินอล (CBN) สามารถยับยั้งมะเร็งปอดของมนุษย์ได้ทั้งในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลองเป็นผลสำเร็จ ซึ่งได้ถูกตีพิมพ์และเผยแพร่ในเว็บไซต์เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ ในวารสาร Asian Pacific Journal of Tropical Biomedicine ซึ่งแน่นอนว่างานวิจัยชิ้นนี้ได้ใช้วิธี “ฉีดสารสกัด” บริสุทธิ์ไปที่เนื้องอกมะเร็งปอดโดยตรงที่อยู่บนผิวของหนูทดลอง[10]

ตัวอย่างงานวิจัยที่ก้าวหน้าข้างต้นแม้จะต้องยังใช้เวลาวิจัยในมนุษย์อีกหลายปี แต่เชื่อว่าก็จะมีผู้ป่วยมะเร็งปอดจำนวนหนึ่งคงไม่รองานวิจัยเพื่อให้ได้หลักฐานเชิงประจักษ์ และต้องการที่จะใช้สารสกัดจากกัญชาเหล่านี้โดยเร็วที่สุดเพื่อรักษาชีวิตตัวเอง ในสถานการณ์ที่แพทย์ยังไม่สามารถสั่งจ่ายกัญชาเพื่อรักษามะเร็งปอดได้
และมีคำถามต่อมาว่าหากผู้ป่วยมะเร็งปอดซึ่งเป็นชาวบ้านเหล่านั้นจะนำสารสกัดเข้าสู่ร่างกายอย่างไร ถ้าไม่ใช้วิธีการสูบเพื่อให้เข้าถึงระบบทางเดินหายใจ เ
พราะแพทย์ก็คงไม่สามารถฉีดสารสกัดไปยังเนื้องอกในปอดของผู้ป่วยได้ในเวลาที่งานวิจัยในมนุษย์ยังไม่แล้วเสร็จ และคงไม่มีแพทย์แผนปัจจุบันคนใดที่รักษามะเร็งจะยอมสั่งจ่ายกัญชาเพื่อให้ผู้ป่วยสูบด้วยจริงหรือไม่?

อย่างน้อยการสูบก็เป็นหนึ่งในกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย ที่อาจจะเป็นทางเลือกในยามที่หมดหวังก็ได้จริงหรือไม่? คำถามมีอยู่ว่าแทนที่จะปล่อยให้ผู้ป่วยลักลอบไปสูบเองอย่างไม่มีความรู้และมีความเสี่ยง สู้เราสอนให้ประชาชนกลุ่มนี้ได้รู้จักการสูบอย่างปลอดภัย และการสูบอย่างถูกวิธีน่าจะดีกว่าหรือไม่?

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจกระทรวงสาธารณสุข
๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๖

อ้างอิง
[1] พระยาทิพจักษุสาตร์ (สุ่น สุนทรเวช), แพทย์ประจำบ้าน, พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๕๘ หน้า ๑๗๒

[2] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรม หายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, ๑,๐๒๕ หน้า องค์การค้าของสกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๔, จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม, ISBN: ๙๗๘-๙๗๔-๐๑-๙๗๔๒-๓, หน้า ๕๖๕

[3] สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ปีบ”
http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_08_2.htm

[4] สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ลำโพงดอกขาว”
http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_08_11.htm

[5] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสภาการแพทย์แผนไทย เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานและกรรมวิธกีารแพทย์แผนไทยผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ตามพระราชบัญญัตวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๕๖, วันที่ ๑๕กรกฎาคม ๒๕๖๓, เล่ม ๑๓๗ ตอนพิเศษ ๑๖๒ ง, หน้า ๒๗, ท้ายประกาศหน้า๑๒ จาก ๔๒
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/162/T_0027.PDF

[6] เรื่องเดียวกัน, ท้ายประกาศหน้า ๑๙ จาก ๔๒
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/162/T_0027.PDF

[7] ธเนศพล พันธ์เพ็ง, สุกก์สลิล บูรณะทรัพย์ขจร, สุวีรวรรณ ลิ้มสุวรรณ, การปรุงยาสมุนไพร ตามกรรมวิธีทางการแพทย์แผนไทย ๒๘ วิธี, สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลพ.ศ. ๒๕๖๔-กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล, ๒๕๖๔, ๒๖๘ หน้า ISBN: 978-616-8201-17-6, (กรรมวิธีที่ ๒๓ ยาประสมแล้วมวนบุหรี่สูบเอาควัน เช่น บุหรี่ โดย อรอุษาธรรมเสริมสร้าง, หน้า ๑๖๓-๑๖๙

[8] มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์แผนไทยเดิมฯ และโรงเรียนอายุรเวทธำรงสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์, ตำราการแพทย์ไทยเดิม (แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับอนุรักษ์) เล่มที่ ๑ ฉบับชำระ พ.ศ. ๒๕๕๐. กรุงเทพฯ โรงเพิมพ์ศุภวนิชการพิมพ์; ๒๕๕๐

[9] ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) คัมภีร์แพทย์แผนโบราณ เล่ม ๓, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักพิมพ์ทำเนียบนายกรัฐมนตรี; ๒๕๑๔

[10] Surang Leelawat, et al., Anticancer activity of Δ9-tetrahydrocannabinol and cannabinol in vitro and in human lung cancer xenograft, Asian Pacific Journal of Tropical Biomedicine, Date of Web Publication 23 July 2022, Volume 12, Issue 8, Page: 323-332
https://www.apjtb.org/article.asp?issn=2221-1691;year=2022;volume=12;issue=8;spage=323;epage=332;aulast=Leelawat


กำลังโหลดความคิดเห็น