xs
xsm
sm
md
lg

วิเคราะห์ผลการศึกษาพบคนไทยมี “สติ” และ“ปัญญา”ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ ลดใช้ยาแผนปัจจุบัน และมีอาการไม่พึงประสงค์น้อย / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งที่สำคัญ จัดทำขึ้นเกี่ยวข้องกับกัญชาก็คือ “การศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ ระยะที่สอง (A follow-up Study of Medical cannabis users and providers, Phase 2) โดยรายงานการศึกษาครั้งนี้ได้เผยแพร่โดยศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยได้มีการเผยแพร่ปี พ.ศ. ๒๕๖๕ แต่เป็นการรวบรวมข้อมูลการศึกษาจากการเก็บข้อมูลช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔

คณะผู้วิจัยในครั้งนี้ประกอบไปด้วย ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และ ดร.สาริกา ใสงาม จากสาขาระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์,* นางสาวกนิษฐาไทยกล้า จากสถาบันวิจัยสุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,  ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาร์มี ตาเละ จากคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี

สรุปก็คือผลการศึกษาครั้งกล่าวถึงข้างต้นนี้ ยังคงเป็นการศึกษาจากนักวิชาการที่มีความน่าเชื่อถือจากสถาบันการศึกษาและวิจัยของภาคเหนือและภาคใต้ในประเทศไทยและเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจสถานการณ์การใช้กัญชาและการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย

และสาระสำคัญที่สุดในผลการศึกษาครั้งนี้คือประชาชนที่ใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์คือผู้ที่ใช้แบบผิดกฎหมายและใช้นอกขอบเขตทั้งนอกข้อบ่งใช้ในทางการแพทย์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และเป็นการใช้นอกการจ่ายยาในบริการกระทรวงสาธารณสุข แต่ถึงกระนั้นก็ยังทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีอาการเจ็บป่วยน้อยลงหรือมีสุขภาพดีขึ้น ลดการใช้ยาแผนปัจจุบันลง และส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลข้างเคียงในการใช้กัญชา และมีความเห็นเกินกว่าครึ่งที่เห็นด้วยว่าควรควบคุมกัญชาในระดับเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ซึ่งมีรายละเอียดที่จะกล่าวถึงตังต่อไปนี้

ผลการศึกษาพบว่าผู้ที่ใช้กัญชาส่วนใหญ่เริ่มใช้ครั้งแรกอายุเฉลี่ย ๔๑.๖ ปี มีเหตุผลทางการแพทย์มากถึงร้อยละ ๗๒.๑, เพื่อการเข้าสังคมร้อยละ ๑๐, เพื่อผ่อนคลายร้อยละ ๙, ความอยากรู้อยากเห็นร้อยละ ๗.๘, อื่นๆ (ประกอบอาหาร,เพื่อเจริญอาหาร)ร้อยละ ๑.๑[1]

อย่างไรก็ตามในรอบ ๑๒ เดือนที่ผ่านมาประชาชนกลุ่มสำรวจใช้กัญชา ๑๙๙.๗ วันเพื่อเหตุผลทางการแพทย์มากถึงร้อยละ ๙๘.๑, เพื่อการผ่อนคลายร้อยละ ๑๓.๑, เพื่อการเข้าสังคมร้อยละ ๐.๙ และอื่นๆ (ประกอบอาหาร,เพื่อเจริญอาหาร) ร้อยละ ๑.๘[1]

 ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้กัญชาเป็นครั้งแรกค่อนข้างมีอายุมากเป็นผู้ใหญ่ (ไม่ใช่วัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว) และส่วนใหญ่เริ่มมาใช้เพราะต้องการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

โดยเฉพาะในรอบ ๑ ปีที่ผ่านมา คนไทยมีการใช้ประโยชน์เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้นเกือบทั้งหมดคือประมาณร้อยละ ๙๘.๑ และบางส่วนใช้เพื่อประโยชน์เพื่อการผ่อนคลายประมาณร้อยละ ๑๓.๑ แสดงให้เห็นว่าน่าจะมีประชากรที่ใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และเพื่อการผ่อนคลายทับซ้อนกันอยู่ด้วย

ผลการศึกษายังพบด้วยว่า เหตุผลที่ใช้รักษาโรคนั้น ต้องการใช้กัญชาเพื่อเสริมไปกับการรักษาวิธีอื่นร้อยละ ๔๔.๕, รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผลร้อยละ ๒๓.๗, คิดว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาถูกกว่าร้อยละ ๕.๔, แพทย์พื้นบ้านรักษาให้ฟรีร้อยละ ๒.๕, เหตุผลอื่นๆ ร้อยละ ๓๑.๙[1]

สำหรับโรคซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ของการรักษาโรคได้แก่

*อันดับที่ ๑ โรคทางจิตและระบบประสาทร้อยละ ๓๙.๘
ได้แก่ โรคเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล ไบโพลาร์ นอนไม่หลับ นอนหลับผิดปกติ ใกล้หมดประจำเดือน โรคหัวใจอ่อน ๆ โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน[1]

 อันดับที่ ๒ โรคของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกร้อยละ ๓๐.๗
ได้แก่ โรคปวดกล้ามเนื้อ ปวดเข่า ปวดหลัง ปวดประจำเดือน ข้อเข่า ข้อสะโพกเสื่อมออฟฟิศซินโดรม ไมเกรน กล้ามเนื้ออักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง กระตุก หดตัวผิดปกติ อัมพาตครึ่งซีก กระดูกทับเส้นประสาท เส้นเอ็นแขนขาตึง[1]

 อันดับที่ ๓ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ร้อยละ ๑๙.๕
ได้แก่ โรคเบาหวาน ไขมัน ในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เก๊าท์[1]

 อันดับที่ ๔ โรคมะเร็งร้อยละ ๑๘.๓
ได้แก่ มะเร็งเต้านม ต่อมลูกหมาก ต่อมน้ำเหลือง ตับ ปอด ลำไส้ ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ [1]

 อันดับ ๕ โรคอื่นๆ ร้อยละ ๓๐.๒
ได้แก่ เอชไอวี/เอดส์ ก้อนเนื้อและนิ่ว ถุงลมโป่งพอง ภูมิแพ้ หอบ ไซนัส โรคโลหิตจาง หัวใจโต เบื่ออาหาร ปัสสาวะ บ่อยตอนกลางคืน น้ำหนักเกิน แผลกดทับ แผลที่ข้อเท้า ไตอักเสบ ไตวายเรื้อรัง ต้อหิน วุ้นตาเสื่อม ไส้เลื่อน ไวรัสตับอักเสบ ตับแข็ง โรคผิวหนัง ได้แก่ แพ้เหงื่อ งูสวัด สะเก็ดเงิน เริม สิว แผลเป็นจากสิว หนังแข็ง[1]

ถึงแม้วันนี้ประชาชนคนไทย นักการเมือง แพทย์ทั้งหลายไม่มีใครปฏิเสธการใช้กัญชาทางการแพทย์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประโยชน์ที่ได้รับนั้น “คนไทยส่วนใหญ่ ไม่ได้มีโอกาสเข้าถึงประโยชน์ทางการแพทย์” ซึ่งเป็นหัวใจของปัญหาที่แท้จริงของข้อจำกัดทางการแพทย์ กับความต้องการใช้กัญชาทางการแพทย์ของประชาชนไม่สอดคล้องกัน โดยบทพิสูจน์ในเรื่องนี้ได้ปรากฏตามผลการศึกษาดังต่อไปนี้ด้วยว่า

ผู้ที่ได้รับกัญชาผ่านโรงพยาบาลคลินิกกัญชาแผนปัจจุบันในกระทรวงสาธารณสุขที่ให้การรักษาแบบแผนปัจจุบันอยู่เพียงร้อยละ ๐.๙ เท่านั้น, ในขณะที่ผู้ที่ได้รับกัญชาผ่านโรงพยาบาลในระบบสาธารณสุขที่ให้การรักษาแบบแผนไทยอยู่เพียงร้อยละ๔.๗[1]

ดังนั้นประชาชนได้รับกัญชาในระบบของกระทรวงสาธารณสุขทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยรวมกันเพียงร้อยละ ๕.๓ เท่านั้น  และแสดงให้เห็นว่าประชาชนได้รับกัญชา “นอกระบบ” ของกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ ๙๔.๗

และนี่คือเหตุผลว่าเหตุใดผลิตภัณฑ์กัญชาจำนวนมากที่ผลิตขึ้นมาโดยภาครัฐ ใช้ไปได้ประมาณครึ่งหนึ่งและต้องทิ้งไปเพราะหมดอายุเป็นจำนวนมากประมาณครึ่งหนึ่ง ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องไปหาใช้กัญชาทางการแพทย์ใต้ดินเป็นส่วนใหญ่

โดยการที่ประชาชนได้รับกัญชา  “นอกระบบ” ของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ได้รับจากเพื่อน ญาติ หรือคนรู้จักมากที่สุดร้อยละ ๓๓.๖, ได้รับจากแพทย์พื้นบ้านทั้งที่มีทะเบียนแพทย์และไม่มีทะเบียนแพทย์ “นอกระบบกระทรวงสาธารณสุข” ร้อยละ๓๒.๓, ได้รับจากผู้ค้าตลาดมืด โซเชียลมีเดีย ซื้อออนไลน์ ซื้อต่อหน้าที่แสวงหาผลกำไร ร้อยละ ๑๙, ปลูกหรือผลิตเองร้อยละ ๑๒, อื่นๆ ร้อยละ ๐.๘[1]

 หรือกล่าวโดยสรุปก็คือประชาชนส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างผิดกฎหมายอย่างชัดเจน

การที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างผิดกฎหมายนั้น ย่อมสุ่มเสี่ยงไม่เพียงแต่การถูกจับกุมหรือถูกดำเนินคดีในฐานะผู้ผลิตครอบครองยาเสพติดหรือเท่านั้น แต่ยังสุ่มเสี่ยงอันตรายต่อการปนเปื้อนสารพิษในกัญชานอกระบบ (เช่น โลหะหนัก ยาฆ่าแมลง)อีกด้วย อีกทั้งผู้บริโภคกัญชาอาจไม่ได้รับการคุ้มครองจากปริมาณสารสำคัญหรือราคาที่เหมาะสมอีกด้วย ตราบใดที่กัญชาเป็นยาเสพติดหรือไม่สามารถปลูกกัญชาเพื่อการพึ่งพาตัวเองได้

คำถามสำคัญที่สุดคือทำไมประชาชนส่วนใหญ่ถึงไม่ได้รับกัญชาในระบบสาธารณสุข นั้นก็ต้องเข้าใจว่า “ผลิตภัณฑ์ที่ใช้” และ “ข้อบ่งใช้” ภายใต้ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข อาจไม่สอดรับกับ “ผลิตภัณฑ์และข้อบ่งใช้ที่ประชาชนต้องการใช้กัญชา” ดังปรากฏตามผลการศึกษาดังกล่าวนี้พบข้อมูลสำคัญที่ว่า

โรคและภาวะที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ซึ่งประกาศโดยกระทรวงสาธารณสุขนั้นไม่ได้ครอบคลุมการใช้ประโยชน์ของประชาชนกัญชาได้มากพอ


โดยประกาศของกระทรวงสาธารณสุข แบ่งการใช้ประโยชน์ของกัญชาออก เป็น ๓กลุ่ม ได้แก่ ก.กลุ่มโรคหรืออาการที่กัญชาเป็นประโยชน์ในการรักษาโดยตรง ข. กลุ่มโรคหรืออาการที่กัญชาน่าจะได้ประโยชน์ และ ค.กลุ่มโรคหรืออาการที่กัญชาอาจจะได้ประโยชน์ในอนาคต แต่กลับปรากฏว่า “กลุ่มโรคหรืออาการที่ประชาชนเลือกใช้ประโยชน์นั้นอยู่นอกเหนือประกาศของกระทรวงสาธารณสุข” ดังนี้

 ก. ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ได้ประโยชน์ เนื่องจากมีหลักฐานทางวิชาการที่มีคุณภาพสนับสนุนชัดเจน ได้แก่

๑. ภาวะคลื่นไส้อาเจียน จากเคมีบำบัด (chemotherapy induced nausea and vomiting),

๒. โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา (intractable epilepsy),

๓. ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง (spasticity) ในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง(multiple sclerosis),

๔. ภาวะปวดประสาท (neuropathic pain)

ปรากฏว่าในกลุ่มโรคหรืออาการซึ่งผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ได้ประโยชน์ประชาชนได้รับกัญชาจากโรคเหล่านี้เพียงร้อยละ ๑ เท่านั้น[1] ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ที่ใช้กัญชาน้อยที่สุด

 ข. ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์น่าจะได้ประโยชน์ (ในการควบคุมอาการ) มีหลักฐานทางวิชาการที่มีคุณภาพสนับสนุนมีจำนวนจำกัดซึ่ง ต้องการข้อมูลการศึกษาวิจัยเพื่อสนับสนุนต่อไป ได้แก่

๑. ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (palliative care)

๒. ผู้ป่วยมะเร็งระยะ สุดท้าย (end-state cancer)

๓. โรคพาร์กินสัน

๔. โรคอัลไซเมอร์,

๕. โรควิตกกังวลไปทั่ว (generalized anxiety disorders)

๖. โรคปลอกประสาทอักเสบ (demyelinating diseases) อื่น อาทิ neuromyelitis optica และ autoimmune encephalitis

ปรากฏว่าในกลุ่มโรคหรืออาการซึ่งผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่น่าจะได้ประโยชน์ ประชาชนได้รับไปเพียงร้อยละ ๓.๘ เท่านั้น[1]

 ค. ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์อาจได้ประโยชน์ (ในอนาคต)
ยังต้องมีการศึกษาวิจัยในมนุษย์ต่อไป ได้แก่ โรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ

ปรากฏว่าในกลุ่มโรคหรืออาการซึ่งผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่น่าจะได้ประโยชน์ ประชาชนได้รับไปเพียงร้อยละ ๑๘.๓ เท่านั้น[1]

 ง. โรคอื่น ๆ (ซึ่งไม่อยู่ในประกาศของกระทรวงสาธารณสุข)
ได้แก่ เบาหวาน แพ้เหงื่อตัวเองแพ้ความร้อน งูสวัด ก้อนเนื้อที่กระเพาะปัสสาวะ AIDS สะเก็ดเงิน ภูมิแพ้ก้อนเนื้อที่ต่อมลูกหมาก นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ อัมพาตครึ่งซีก เก๊าท์ ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจอ่อนๆ โรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ โรคปอด ไขมันในเส้นเลือด ปวดเข่าสาเหตุจากรถชน HIV,TB กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง ไบโพล่าร์ ปวดประจำเดือนเรื้อรัง ก้อนที่เต้านม โรคเลือดจาง เลือดคลั่งในสมอง (จากอุบัติเหตุ) กล้ามเนื้อกระตุก ริดสีดวง ใกล้หมดประจำเดือน ต่อมลูกหมากโต หัวใจโต เส้นเอ็นแขนขาตึง แพ้ภูมิตนเอง เบื่ออาหาร ความดันโลหิตสูง วุ้นตาเสื่อม ความดันโลหิตต่ำ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน น้ำหนักเกิน โรคเริม วัยทอง โรคหัวใจ ภูมิแพ้อากาศไซนัส ไขมันสูง ต้อหิน โรคหอบ แผลกดทับ แผลที่ข้อเท้า ไตอักเสบ โรคหลอดเลือดสมอง ไตวายเรื้อรัง สิว แผลเป็นจากสิว หนังแข็ง เส้นเลือดในสมองแตก ไขมันเกาะตับ ไส้เลื่อน โรคหัวใจ ไวรัสตับอักเสบ ทานข้าวไม่ได้ ไตบวม เส้นเลือดในสมองตีบก้อนเนื้อในมดลูก ตับแข็ง ปวดประจำเดือน หลอดเลือดสมองอุดตัน กล้ามเนื้ออ่อนแรง หลงลืม ฯลฯ

สำหรับโรคอื่นๆ ที่ไม่เข้าเกณฑ์ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ดังตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นมีการใช้มากถึงร้อยละ ๘๔[1]

นอกจากนั้นเมื่อพิจารณาการใช้งานของประชาชนพบว่า มีการใช้น้ำมันสกัดกินหรือหยดใต้ลิ้นมากที่สุดเป็นอันดับแรกถึงร้อยละ ๕๓.๑, รองลงมาอันดับที่สอง คือการใช้ในรูปของ ช่อดอก ใบ ต้น รากสด ต้นกล้า คิดเป็นร้อยละ ๓๑.๕, ใช้ในรูปของตำรับยาแผนไทยคิดเป็นร้อยละ ๒๑.๗, ใช้ในรูปของน้ำมัน ครีม สเปรย์ สบู่ภายนอกคิดเป็นร้อยละ ๓, และอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ ๕.๔[1]

หรือหากพิจารณาอีกมิติหนึ่งคือ “ลักษณะการใช้กัญชาทางการแพทย์” พบว่า มีการใช้แบบ กิน หยด ผสม หรือใส่แคปซูลมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ ๖๖.๔, ต้ม/ชงเป็นชาคิดเป็นร้อยละ ๒๓.๗, พ่น ทา อาบ นวดภายนอก คิดเป็นร้อยละ ๑๑.๖ และเป็นการสูบมวน หรือบ้อง คิดเป็นร้อยละ ๙.๘[1]

แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่จะใช้กัญชานอกระบบของกระทรวงสาธารณสุข และใช้ในโรคที่ไม่ได้ประกาศโดยกระทรวงสาธารณสุข หรือใช้ในรูปแบบที่แพทย์ไม่ได้สั่งทำให้ต้องไปใช้กัญชาใต้ดิน หรือใช้กัญชาอย่างผิดกฎหมายแต่อย่างน้อยก็ยังมีข่าวดีอยู่ ๒ ประการสำคัญ

 ประการแรก ผู้ป่วยใช้กัญชาทางการแพทย์นั้นประชาชนกลับรู้สึกได้ว่าหลังใช้กัญชาแล้วอาการของโรคต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นดีขึ้นหรือดีขึ้นรวมกันมากถึงร้อยละ ๙๓[1]

โดยผู้ที่ใช้กัญชามีอาการดีขึ้นหลังใช้กัญชาร้อยละ ๕๔.๘, มีอาการดีขึ้นมากร้อยละ๓๘.๖, เหมือนเดิมร้อยละ ๖.๗ และส่วนใหญ่ใช้ปริมาณเท่าเดิมเท่าที่เคยใช้ร้อยละ๘๗.๘, ใช้เพิ่มขึ้นถึงเพิ่มขึ้นมากร้อยละ ๖.๓, ใช้น้อยลงถึงน้อยลงมากร้อยละ ๕.๙[1] ซึ่งมีความหมายว่าอาการของผู้ป่วยที่ดีขึ้นนั้นไม่ได้ใช้กัญชาปริมาณกัญชาเพิ่มากขึ้นแต่ประการใด

 ประการที่สอง ผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง รายงานโดยศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติดสำรวจพบว่าสามารถเลิกยาแผนปัจจุบันได้ร้อยละ ๓๑.๗ ลดยาแผนปัจจุบันได้ร้อยละ ๒๖.๓ รวมทั้งลดหรือเลิกยาแผนปัจจุบันรวมกันมากถึงร้อยละ ๕๘[1]

สำหรับกรณีการใช้ยาและลดหรือเลิกการใช้ยาแผนปัจจุบันนี้เป็นไปตามผลการศึกษาในต่างประเทศในปี ๒๕๖๕ ดังต่อไปนี้

วารสารห้องสมุดสาธารณะทางด้านวิทยาศาสตร์ PLoSOne ได้เผยแพร่ บทความวิจัยในเรื่องผลกระทบของการให้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในสหรัฐอเมริกาต่อกลุ่มธุรกิจยา โดยเผยแพร่เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ โดยเป็นวิจัยในมลรัฐในสหรัฐอเมริกาที่ทำให้กัญชาถูกกฎหมาย (ทั้งทางการแพทย์และนันทนาการ) ในช่วง๒๒ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ - ๒๕๖๒ พบว่า “ยอดขายยาโดยรวมลดลง”

โดยกฎหมายที่ทำให้กัญชาถูกกฎหมายในสหรัฐอเมริกาจะส่งผลทำให้ยอดขายต่อปีของผู้ผลิตยา “ลดลง” ประมาณ ๓ พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีโดยเฉลี่ย และยังคาดการณ์อีกด้วยว่า ๑๖ มลรัฐที่เหลือที่ยังไม่ได้ทำให้กัญชาถูกกฎหมายหากทำให้กัญชาถูกกฎหมายแล้วจะทำให้ค่าใช้จ่ายยาแผนปัจจุบันต่างๆ ลดลงไปประมาณร้อยละ ๑๑[2]

เช่นเดียวกับวารสารเศรษฐกิจสุขภาพ Health Economics ฉบับตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ในการสำรวจการจ่ายยาในมลรัฐของสหรัฐอเมริกาหลังได้ดำเนินการให้ “การนันทนาการเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย” พบว่ามี การลดการจ่ายยาต่างๆ ลง คือประชากรใช้ยาแก้อาการซึมเศร้าลดลงไปร้อยละ ๑๑.๑, ประชากรใช้ยาแก้วิตกกังวลลดลงไป ๑๒.๒, ประชากรลดการใช้ยาแก้ปวดไปร้อยละ ๘, ประชากรลดการใช้ยาโรคลมชักไปร้อยละ ๙.๕, ประชากรลดยาโรคจิตไปร้อยละ ๑๐.๗, ประชากรลดการใช้ยานอนหลับไปร้อยละ ๑๐.๘[3]

นอกจากนั้น ผลการศึกษายังพบด้วยว่าผู้ที่ใช้กัญชาส่วนใหญ่หรือร้อยละ ๘๖.๔ ไม่เคยได้รับผลกระทบใดๆ จากกัญชา, เคยมีอาการเมาร้อยละ ๙.๓, อาการแพ้ร้อยละ๒[1]

สำหรับผลการศึกษาในหลายประเทศพบว่าการเปิดการใช้กัญชาระยะแรกนั้นแม้อาจจะมีประชาชนบางส่วนที่เพิ่งเริ่มหัดใช้ หรือแม้แต่อยากลองใช้ได้บริโภคกัญชาเกินขนาด แต่เมื่อเวลาผ่านไปสัดส่วนจะค่อยๆทยอยลดลงไป จากการปรับตัวของผู้ใช้เอง (เช่น ลดปริมาณลง เลิกใช้ หรือใช้อย่างเหมาะสมกับตัวเองมากขึ้น) และปัญหาการเข้าด้วยอาการข้างเคียงส่วนใหญ่สามารถหายเองได้ด้วยการให้ความรู้กับประชาชน

ซึ่งเมื่อเทียบประโยชน์ของประชาชนและผลข้างเคียงแล้ว ยังทำให้เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ใช้อย่างมีสติและปัญญา และมีวุฒิภาวะในการใช้อย่างเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพตัวเองแล้ว

นอกจากนั้น ผลการศึกษายังพบอีกด้วยว่าประชาชนต้องมีค่าใช้จ่ายในการซื้อหากัญชาต่อเดือนเป็นจำนวนเงินเฉลี่ยมาถึง ๑,๐๑๕.๗๕ บาทต่อเดือน[1]

ดังนั้นหากประชาชนจะสามารถปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพโดยรวมแล้วย่อมจะทำให้ไม่เพียงแต่การได้สุขภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม ลดความเสี่ยงจากสารปนเปื้อนจากผู้ค้ากัญชานอกระบบที่ไม่รับผิดชอบ ลดความเสี่ยงที่จะพบกับสารสังเคราะห์เลียนแบบกัญชาซึ่งเป็นอันตราย และลดความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีความแล้ว ยังจะช่วยทำให้ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนในความต้องการใช้ประโยชน์จากกัญชาอีกด้วย

สุดท้ายคือข้อห่วงใยต่อกลุ่มประชากรเปราะบาง ทั้ง เยาวชน สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร แม้ในข้อเท็จจริงจะเป็นที่ทราบว่ากัญชาเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่[4] หรืออัตราความเสี่ยงในการเสพติดอยู่ในระดับใกล้เคียงกับกาแฟ ในขณะที่กัญชายังมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าเหล้าและบุหรี่

แต่ในความจริงแล้วร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ…..ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่กำลังพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรนั้น มีบทลงโทษต่อผู้กระทำความผิดในเรื่องกลุ่มเปราะบางรุนแรงกว่า เหล้า บุหรี่ และกระท่อม ดังนั้นหากอยากจะเห็นความปรารถนาดีต่อผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ต้องใช้กัญชานอกระบบและผิดกฎหมาย และมีบทลงโทษต่อผู้กระทำความผิดต่อเด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ก็ควรจะต้องให้สภาผู้แทนราษฎร เร่งพิจารณา แก้ไข และให้ความเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ…..ในวาระที่ ๒ ให้เร็วที่สุด ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้จะหมดวาระหรือยุบสภาไปเสียก่อน

 และความจริงที่เห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งที่พยายามไม่ให้มีกฎหมายกัญชา กัญชงออกมาเพื่อใช้ประโยชน์และการควบคุม เมื่อไม่สามารถชนะเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรที่ลงมติเห็นชอบตามเหตุผล อธิบาย หรือโต้แย้ง ของเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการฯแล้ว ก็กลับใช้วิธีไม่มาประชุม หรือไม่กดรายงานตัวในการประชุม หรือละทิ้งการประชุมกลางคัน เพื่อทำให้องค์ประชุมไม่ครบ การกระทำเช่นนี้ ถือได้ว่าไม่มีความรับผิดชอบต่อการทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร จริงหรือไม่?

 แล้วคนเหล่านี้ยังจะมาอ้างว่าห่วงใยเยาวชน ด้วยการไม่ช่วยกันพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้กฎหมายออกมาเพื่อการคุ้มครองเยาวชนที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร?

 คนที่ไม่พร้อมทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่สมควรให้ประชาชนเลือกเข้ามาทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกในสมัยหน้า จริงหรือไม่?


ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข
๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๖

อ้างอิง:
[1] สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ. การศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง. ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก). ๒๕๖๕

[2] Ziemowit BednarekI, et al., U.S. cannabis laws projected to cost generic and brand pharmaceutical firms billions, plos one, Published: August 31, 2022
https://journals.plos.org/plosone/article/file?id=10.1371/journal.pone.0272492&type=printable

[3] Shyam Raman, Ashley C. Bradford, Health Economics, Recreational cannabis legalizations associated with reductions in prescription drug utilization among Medicaid enrollees First published: 15 April 2022 https://

[4] Catalina Lopez-Quintero, et al, Probability and predictors of transition from first use to dependence on nicotine, alcohol, cannabis, and cocaine: Results of the National Epidemiologic Survey on Alcohol and Related Conditions (NESARC),Drug and Alcohol dependence, Volume 115, Issues 1-2, May 2011, Pages 120-130
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3069146/




กำลังโหลดความคิดเห็น