xs
xsm
sm
md
lg

เวรกรรมเก่าไล่ล่าอังกฤษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์


ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีอังกฤษ
จากอดีตของความเป็นชาตินักไล่ล่าอาณานิคม สร้างเวรกรรมให้กับหลายแผ่นดินทั่วโลกจนได้รับฉายาว่าเป็นจักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่ตกดิน มาวันนี้อังกฤษกลายเป็นดินแดนผู้ดีตกยาก

จากดินแดนกว้างใหญ่ไพศาลตอนนี้อยู่เหลือเพียงปลายเกาะอังกฤษ สมาชิกสหราชอาณาจักรอยากจะขอแยกตัว ผู้นำประเทศคนปัจจุบันมาจากเชื้อสายชาติที่อังกฤษปกครองเป็นอาณานิคมนาน 200 ปี

ผู้นำคนใหม่เลือดเนื้อเชื้อไขชาวชมพูทวีปกำลังเดินตามรอยผู้นำฝรั่งผิวขาว และมีท่าทีว่าจะต้องกลายเป็นแพะรับวิกฤตซึ่งแก้ไขได้ยาก ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ปัญหาความอดอยากยากแค้นที่ไม่เคยประสบมาก่อนหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2

ความภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของอดีตแทบไม่เหลือ กลายเป็นเพียงลูกไล่คู่หูของสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็เป็นอดีตอาณานิคมเช่นกัน

ความลำพองมาเป็นชาติมหาอำนาจทำให้คนอังกฤษส่วนหนึ่งตัดสินใจขอแยกตัวออกจากประชาคมยุโรป โดยหวังว่าจะอยู่รอดได้โดยลำพังไม่ต้องจ่ายเงินสนับสนุนชาติในยุโรป

บัดนี้ความทุกข์ยากลำบากได้เกิดขึ้นกับประชาชนอังกฤษ หลังจากแยกทางกับประชาคมยุโรปต้องเผชิญกับการระบาดหนักของเชื้อโควิด ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นผู้ชราซึ่งเป็นภาระของประเทศด้านการเลี้ยงดูและสวัสดิการ

หลังฟื้นตัวจากโควิดก็เกิดปัญหาด้านชีวิตความเป็นอยู่ การขาดแคลนแรงงาน คนว่างงาน ขาดรายได้ ขาดอาหาร สิ่งของจำเป็นที่เคยได้จากยุโรป ปัญหาด้านภาษีและพิธีการศุลกากรทำให้เกิดปัญหาขาดแคลน

คนอังกฤษไม่สามารถเข้าไปทำงานโดยอิสระในยุโรปเหมือนแต่ก่อน จากปัญหาเพียงไม่กี่อย่างทำให้เกิดปัญหาเพิ่มอีกมากมายทวีคูณเหมือนเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัด วิบัติเกิดซ้ำซ้อน

การเป็นหัวหอกสนับสนุนยูเครนในการทำสงครามกับรัสเซียทำให้อังกฤษต้องทุ่มเท ทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์โดยไม่คำนึงว่าตัวเองจะต้องลำบากเพราะขาดแคลนทรัพยากร

การร่วมคว่ำบาตรเศรษฐกิจรัสเซียเพื่อช่วยเหลือยูเครนทำให้อังกฤษต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างมาก การขาดแคลนพลังงาน นำไปสู่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติราคาแพง อัตราเงินเฟ้อสูงกว่า 10% ค่าครองชีพเพิ่มไม่หยุด

คนอังกฤษต้องลดค่าใช้จ่ายทุกด้านเพื่อนำมาจ่ายค่าไฟฟ้าและก๊าซในบ้าน ทำให้คนหลายล้านคนอยู่ในสภาพชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องอดมื้อกินมื้อ มาตรฐานชีวิตและการครองชีพต่ำลง

รัฐบาลอังกฤษต้องกู้เงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนด้านสวัสดิการ การอยู่ที่นั่นเรียกร้องค่าแรงเพิ่ม ข่าวร้ายสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ คนอังกฤษเสียชีวิตวันละ 300 ถึง 500 คนเพราะรัฐบาลไม่สามารถให้การดูแลด้านสวัสดิการรักษาพยาบาลได้

สภาวะเศรษฐกิจถดถอยเหมือนกับยุโรปทำให้ภาคอุตสาหกรรมขาดพลังงาน ธุรกิจน้อยใหญ่ขาดสายป่านต้องปิดตัวชั่วคราวหรือเลิกกิจการ ทำให้คนว่างงานเพิ่มขึ้น ทั้งยังมีภาระดูแลผู้ลี้ภัยจากยูเครนและทวีปอื่นๆ

ล่าสุดมีการทำโพลสำรวจความคิดเห็นในกลุ่มชาวอังกฤษซึ่งแสดงให้เห็นว่ามากกว่า 2 ใน 3 ของประชาชนต้องการลงคะแนนเสียงเพื่อหวนคืนเข้าเป็นสมาชิกประชาคมยุโรป เพราะที่ผ่านมาทำให้สภาวะโดยรวมย่ำแย่ลง

อังกฤษได้ออกจากสมาชิกประชาคมยุโรปอย่างเป็นทางการวันที่ 31 มกราคม 2020 หลังจากการทำประชามติในปี 2016 โดยผู้ลงคะแนนต้องการออกจากประชาคมยุโรปชนะไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นประชาชนวัยกลางคนขึ้นไปเพื่อหวังจะให้รัฐบาลประหยัดเงินและใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมมากขึ้น

การสำรวจแสดงให้เห็นว่าผู้ต่อต้านการถอนตัวออกจากสมาชิกประชาคมยุโรปได้ลดลงจาก 32% เหลือ 24% เท่านั้น

จำนวน 54% มองว่าการออกจากประชาคมยุโรปเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดและ 56% เชื่อว่าทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ลง ประชาชนครึ่งหนึ่งบอกว่าอิทธิพลของอังกฤษบนเวทีโลกสูญสลายไม่เหลือแล้ว

ส่วนหนึ่งมองว่าการออกจากประชาคมยุโรป ทำให้อังกฤษสูญเสียอำนาจในการควบคุมพรมแดนทำให้มีผู้ลี้ภัยทะลักเข้ามา เมื่อประเมินความสูญเสียด้านตัวเงินเพราะเบร็กซิทแล้วอยู่ที่ประมาณ 3.97 หมื่นล้านดอลลาร์

ประชาชนต้องจ่ายแพงขึ้น 6% สำหรับค่าอาหาร นักการธนาคารมองว่ายังมีการสูญเสียการลงทุนธุรกิจและการค้าโดยรวมอีกด้วย

จะเป็นเพราะกรรมเก่าไล่ล่าหรือไม่ก็แล้วแต่มุมมอง แต่วิกฤตที่เป็นอยู่จะยังไม่สิ้นสุดตราบใดที่อังกฤษยังหาทางออกสำหรับปัญหาขาดแคลนพลังงานไม่ได้

จากความทุกข์ที่เป็นอยู่จะทำให้คนอังกฤษมองตนเองว่าไม่ได้เป็นศูนย์กลางของโลกอีกต่อไปแล้วหรือไม่

ความเป็นชาติมหาอำนาจก็แทบไม่เหลือ จึงต้องเป็นผู้ดีตกยาก และจำใจต้องยอมรับสภาพ ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น