ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
น้ำมันกัญชา เป็นสิ่งที่ประชาชนในประเทศไทยได้มีกระแสการใช้ประโยชน์ตั้งแต่ก่อนช่วงปี พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นต้นมา และเนื่องจากในเวลาต่อมามีประชาชนใช้กันมากขึ้น ประกอบกับกระแสการคัดค้านการจดสิทธิบัตรยากัญชาของกลุ่มทุนบริษัทยาต่างชาติ ได้ส่งผลทำให้ประเทศไทยได้ยอมรับให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๖๒ เป็นต้นมา
แม้ในทุกวันนี้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน จะยอมรับ “กัญชาทางการแพทย์” อย่างแน่นอนแล้ว แต่ก็เป็นวาทกรรมสวยหรูเพื่อไม่ให้ฝืนความรู้สึกของประชาชนเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วกัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทยในขณะที่เป็นยาเสพติดผนวกกับรูปแบบแผนของการแพทย์แผนปัจจุบันในประเทศไทย ได้กลายเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ได้อย่างแท้จริง
ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๖๒ จนถึงก่อนวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กัญชายังคงเป็นยาเสพติดให้โทษแต่สามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้แต่ผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง ในการสำรวจปี พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๔ เปิดเผยโดยศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก)ในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดใช้กัญชานอกระบบสาธารณสุข คนส่วนใหญ่ใช้กัญชาใต้ดินหรือผิดกฎหมายใช้ในโรคที่ไม่ได้ประกาศโดยกระทรวงสาธารณสุข แต่กลับทำให้อาการป่วยหลังการใช้กัญชาดีขึ้นเกือบทั้งหมด จนส่งผลทำให้เลิกและลดการใช้ยาแผนปัจจุบันเป็นจำนวนมาก[1]
ในขณะที่นิด้าโพลซึ่งได้รับการยอมรับทางการเมืองว่ามีสถิติผลการสำรวจที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุดโพลหนึ่ง ได้เคยรายงานผลสำรวจความเห็นของประชาชนเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ในหัวข้อ “การปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ ๑๓-๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ จากประชาชนที่มีอายุ๑๕ ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน ๑,๓๑๐ หน่วยตัวอย่างโดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ ๙๗.๐ พบประสบการณ์ในการใช้กัญชาของประชาชนไทยว่า
“ตัวอย่าง ร้อยละ ๖๗.๐๒ ระบุว่า ไม่เคยมีประสบการณ์ใด ๆ เกี่ยวกับกัญชา ขณะที่ร้อยละ ๓๒.๙๘ ระบุว่า เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับกัญชา โดยในจำนวนนี้ ตัวอย่างร้อยละ ๖๐.๖๕ เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับกัญชาในเรื่องการใช้กัญชาเพื่อประกอบอาหารหรือเครื่องดื่ม รองลงมา ร้อยละ ๓๐.๖๕ ระบุว่า การเสพหรือสูบกัญชา ร้อยละ๒๑.๐๖ ระบุว่า การใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค ร้อยละ ๖.๙๔ ระบุว่า การปลูกกัญชา ร้อยละ ๑.๓๙ ระบุว่า การแปรรูปผลิตภัณฑ์กัญชาในเชิงพาณิชย์ และร้อยละ ๐.๒๓ ระบุว่า การค้ากัญชา”[2]
และถ้าจะเทียบให้เห็นภาพของประชากรไทยที่มีออยู่ประมาณ ๖๖.๑๗ ล้านคน[3] เป็นกลุ่มประชากรที่มีอายุมากกกว่า ๑๕ ปีขึ้นไป (ตามกลุ่มอายุการสำรวจของนิด้าโพล) ก็จะมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ ๕๕.๒๖ ล้านคน
และถ้าผลการสำรวจของนิด้าโพลมีความถูกต้องก็แปลว่าประชากรไทยที่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับกัญชาประมาณ ๑๘.๒๒ ล้านคน
ประชากรไทยประมาณ ๑๑.๐๕ ล้านคนเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับกัญชาในเรื่องการใช้กัญชาเพื่อประกอบอาหารหรือเครื่องดื่ม
ประชากรไทยประมาณ ๕.๕๘ ล้านคนเคยมีประสบการณ์เสพหรือสูบกัญชา
ประชากรไทยประมาณ ๓.๘๔ ล้านคนเคยใช้กัญชารักษาโรค
นิด้าโพลยังได้ถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ ๕ ทำให้การปลูก เสพ สูบ บริโภค สามารถทำได้ถูกกฎหมาย พบว่า
ตัวอย่างการสำรวจร้อยละ ๓๔.๘๑ ระบุว่าเห็นด้วยมาก[2] (คิดเป็นประชากรประมาณ ๑๙.๒๓ ล้านคน), ตัวอย่างร้อยละ ๒๓.๗๔ ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย[2] (คิดเป็นประชากรประมาณ ๑๓.๑๒ ล้านคน) รวมกลุ่มประชากรสำรวจที่ “เห็นด้วยมาก” และ “ค่อนข้างเห็นด้วย” ต่อการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ ๕ทำให้การปลูก เสพ สูบ บริโภค สามารถทำได้ถูกกฎหมายรวมทั้งสิ้นร้อยละ ๕๘.๕๕หรือ ประมาณ ๓๒.๓๕ ล้านคน
ส่วนกลุ่มประชากรสำรวจร้อยละ ๒๔.๘๙ ที่ไม่เห็นด้วยเลย (คิดเป็นประชากรประมาณ ๑๓.๗๕ ล้านคน), และกลุ่มประชากรสำรวจร้อยละ ๑๖.๕๖ ที่ค่อนข้างไม่เห็นด้วย (คิดเป็นประชากรประมาณ ๙.๑๕ ล้านคน) รวมกลุ่มประชากรสำรวจที่ “ไม่เห็นด้วยเลย” และ “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย” ต่อการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ ๕ ทำให้การปลูก เสพ สูบ บริโภค สามารถทำได้ถูกกฎหมายรวมทั้งสิ้นร้อยละ ๔๑.๔๕ หรือ ประมาณ ๒๓ ล้านคน
ผลการสำรวจข้างต้นได้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มประชากรที่เห็นด้วยหรือค่อนข้างเห็นด้วยกับการปลดล็อกกัญชามีประมาณ ๓๒ ล้านคน ในขณะที่กลุ่มประชากรที่ไม่เห็นด้วยหรือค่อนข้างไม่เห็นด้วยมีประมาณ ๒๓ ล้านคน การต่อสู้หรือการปั่นกระแสผ่านสื่อจึงย่อมขยายไปในวงกว้างทั้ง ๒ กลุ่ม และได้ถูกปั่นกระแสกลายเป็นประเด็นทางการเมืองไปแล้ว
เพราะในขณะนี้หลายพรรคการเมืองได้ประกาศแล้วว่าหากเป็นรัฐบาลในสมัยหน้าจะนำกัญชากลับมาเป็นยาเสพติดอีก ซึ่งสวนทางกับพรรคภูมิใจไทยที่เห็นว่ากัญชาเป็นสมุนไพรที่สร้างความมั่นคงทางยา ปลูกเพื่อใช้ในครัวเรือนได้เป็นเรื่องหลัก
ดังนั้นรัฐบาลสมัยหน้าที่จะทำให้กัญชาเป็นยาเสพติดย่อมต้องไม่มีพรรคภูมิใจไทยร่วมรัฐบาล ในขณะที่รัฐบาลที่จะรับต่อนโยบายในการใช้ประโยชน์และการควบคุมกัญชาตาม พ.ร.บ.กัญชา กัญชงโดยไม่กลับไปเป็นยาเสพติดอีกจึงจะมีพรรคภูมิใจไทยร่วมรัฐบาลได้
ยิ่งพรรคใดที่จะเป็นพรรคการเมืองหลักแคมเปญการต่อต้านกัญชาแรงเพียงใด ก็ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่า “รัฐบาลสมัยหน้า” จะมีเสถียรภาพ หรือจัดตั้งรัฐบาลได้จริงหรือไม่ โดยปราศจากพรรคภูมิใจไทย
หรือหากคิดว่าจะต้องมีพรรคภูมิใจไทยในการร่วมรัฐบาลแต่ต้องให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งของพรรคการเมืองที่ต่อต้านกัญชาหรือพรรคภูมิใจไทยที่สนับสนุนกัญชาต้องมากลืนน้ำลายตัวเองทรยศต่อคำประกาศต่อประชาชนเป็นไปได้จริงหรือไม่
แต่ประเด็นถึงความเป็นไปได้ต่อการมีกฎหมายใช้ประโยชน์และการควบคุมกัญชากัญชง หรือจะทำให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกหรือไม่นั้น สุดท้ายแล้วการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงจะเป็นตัวชี้ขาดด้วยจำนวนบัตรเลือกตั้งของประชาชนต่อพรรคการเมืองต่างๆ ที่จะเป็นตัวกำหนดนโยบายกัญชาในท้ายที่สุดว่าจะเป็นไปอย่างไร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่แทบทุกพรรคการเมืองอ้างว่า “สนับสนุนกัญชาทางการแพทย์” นั้น อาจจะไม่เข้าใจว่าในเวลาที่ผ่านมาก่อนวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ แม้กัญชาเป็นยาเสพติดแต่ก็สามารถมาใช้ในทางการแพทย์ได้ แต่เหตุใดผู้ป่วยจำนวนมากยังคงต้องใช้กัญชาอย่างผิดกฎหมายอยู่?
ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคือนับตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ จนถึงกลางปี ๒๕๖๕ กระทรวงสาธารณสุขแถลงข่าวว่าได้จ่ายยากัญชาดูแลรักษาผู้ป่วยสะสมรวมทั้งสิ้น ๑๔๓,๐๐๐คน[4] แต่นิด้าโพลระบุว่ามีคนเคยใช้กัญชาทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคมากถึง๓.๘๔ ล้านคน[2] การจ่ายยาในระบบของกระทรวงสาธารณสุดจึงคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ ๓.๗๒ ของผู้ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ทั้งหมด
ดังนั้นผู้ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ส่วนใหญ่คือการใช้กัญชาใต้ดินหรือใช้อย่างผิดกฎหมายในช่วงเวลาที่กัญชาเป็นยาเสพติดก่อนวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕
ดังนั้นพรรคการเมืองใดยังคิดนำกัญชากลับเป็นยาเสพติดอีก แต่อ้างว่ายังใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้คือการไม่อยู่บนข้อเท็จจริง และเท่ากับผลักดันให้ผู้ป่วยที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ใต้ดินกว่า ๓.๗ ล้านคนและเข้าไม่ถึงกัญชาในระบบของกระทรวงสาธารณสุข ให้กลายเป็นอาชญากรและต้องนำตัวไปลงโทษจำคุกเพราะครอบครอง เสพ หรือปลูกกัญชา
โดยเป็นที่น่าสังเกตุว่าการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๒ มีประชาชนลงคะแนนเลือกพรรคภูมิใจไทยทั้งประเทศรวม ๓.๗ ล้านเสียงซึ่งเป็นฐานเสียงเดิมนั้น[5]ใกล้เคียงกับผลสำรวจของกลุ่มผู้ที่ใช้กัญชาในการรักษาโรค ๓.๘๔ ล้านคนจากการสำรวจของนิด้าโพลเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลสำรวจของนิด้าโพลเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ [2] ซึ่งคำนวณได้ว่ามีประชากรทั้งที่เคยใช้กัญชาและไม่เคยใช้กัญชาที่เห็นด้วยอย่างยิ่งหรือค่อนข้างเห็นด้วยกับนโยบายปลดล็อกกัญชารวมกันกว่า ๓๒ ล้านคน ดังนั้นหากคิดเฉพาะผู้ที่อายุ ๑๘ ปีขึ้นไปซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็จะเหลือประมาณ ๓๑.๓๗ล้านคนจะลงคะแนนในการเลือกตั้งอย่างไรเพื่อตัดสินใจอนาคคตของกัญชาและของประชาชน
แม้ในสถานการณ์ที่ยังไม่มีพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ.ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้นำเสนอเป็นวารที่ ๒ ของสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่แล้วเสร็จ หรืออาจถูกฝ่ายการเมืองอภิปรายจนยืดเยื้อและมีความเสี่ยงที่จะยังไม่แล้วเสร็จในสภาผู้แทนราษฎรในขณะนี้ แต่ก็มีเรื่องที่น่าพิจารณาดังต่อไปนี้
ประการแรก ผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง รายงานโดยศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติดสำรวจพบว่า มีประชาชนที่ส่วนใหญ่จะใช้กัญชาอย่างผิดกฎหมายหรือใช้ในโรคที่กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ประกาศ แต่มีผู้ป่วยที่มีอาการหลังใช้กัญชาแล้วอาการของโรคต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นดีขึ้นหรือดีขึ้นรวมกันมากถึงร้อยละ ๙๓ โดยในจำนวนนี้มีอาการดีขึ้นร้อยละ ๕๔.๘ มีอาการดีขึ้นมากร้อยละ ๓๘.๖[1]
ประการที่สอง ผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง รายงานโดยศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติดสำรวจพบว่าสามารถเลิกยาแผนปัจจุบันได้ร้อยละ ๓๑.๗ ลดยาแผนปัจจุบันได้ร้อยละ ๒๖.๓ รวมทั้งลดหรือเลิกยาแผนปัจจุบันรวมกันมากถึงร้อยละ ๕๘[1]
สำหรับกรณีการใช้ยาและลดหรือเลิกการใช้ยาแผนปัจจุบันนี้เป็นไปตามผลการศึกษาในต่างประเทศในปี ๒๕๖๕ ดังต่อไปนี้
วารสารห้องสมุดสาธารณะทางด้านวิทยาศาสตร์ PLoSOne ได้เผยแพร่ บทความวิจัยในเรื่องผลกระทบของการให้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในสหรัฐอเมริกาต่อกลุ่มธุรกิจยา โดยเผยแพร่เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ โดยเป็นวิจัยในมลรัฐในสหรัฐอเมริกาที่ทำให้กัญชาถูกกฎหมาย (ทั้งทางการแพทย์และนันทนาการ) ในช่วง๒๒ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ - ๒๕๖๒ พบว่า “ยอดขายยาโดยรวมลดลง”
โดยกฎหมายที่ทำให้กัญชาถูกกฎหมายในสหรัฐอเมริกาจะส่งผลทำให้ยอดขายต่อปีของผู้ผลิตยา “ลดลง” ประมาณ ๓ พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีโดยเฉลี่ย และยังคาดการณ์อีกด้วยว่า ๑๖ มลรัฐที่เหลือที่ยังไม่ได้ทำให้กัญชาถูกกฎหมายหากทำให้กัญชาถูกกฎหมายแล้วจะทำให้ค่าใช้จ่ายยาแผนปัจจุบันต่างๆ ลดลงไปประมาณร้อยละ ๑๑[6]
เช่นเดียวกับวารสารเศรษฐกิจสุขภาพ Health Economics ฉบับตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ในการสำรวจการจ่ายยาในมลรัฐของสหรัฐอเมริกาหลังได้ดำเนินการให้ “การนันทนาการเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย” พบว่ามี การลดการจ่ายยาต่างๆ ลง คือประชากรใช้ยาแก้อาการซึมเศร้าลดลงไปร้อยละ ๑๑.๑, ประชากรใช้ยาแก้วิตกกังวลลดลงไป ๑๒.๒, ประชากรลดการใช้ยาแก้ปวดไปร้อยละ ๘, ประชากรลดการใช้ยาโรคลมชักไปร้อยละ ๙.๕, ประชากรลดยาโรคจิตไปร้อยละ ๑๐.๗, ประชากรลดการใช้ยานอนหลับไปร้อยละ ๑๐.๘[7]
ประการที่สาม ผู้รับเข้าบำบัด “ยาบ้า” ในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยการใช้กัญชาสามารถถอนอาการลงแดงจากยาบ้าได้ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “Harm Reduction”
ก่อนหน้านี้เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๖๒ คุณไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วย รองนายกรัฐมนตรี ได้เคยโพสต์เฟซบุ๊ก “Paisal Puechmongkol “ ระบุว่า “กัญชามายาบ้าหมด ประเทศไทยจะหายจนประชาชนจะหายป่วย”[8]
ในเวลานั้นหลายคนที่ยังไม่เข้าใจก็กลับมองเรื่องการโพสต์นี้ว่าเป็นเรื่องมุกตลกขำขัน หรือเป็นไปไม่ได้ แต่ความจริงแล้วหลักคิดนี้เป็นกลยุทธ์ในการลดปัญหายาเสพติดในหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว
โดยเฉพาะกรณีศึกษาในประเทศไทย ที่จังหวัดขอนแก่น ของนายพงษ์พัฒน์ นามูลน้อย (ไก่ เดินวนฟาร์ม) ผู้ที่หายจากการติดยาบ้าด้วยการสูบกัญชาและเลิกการใช้กัญชากลับมาเป็นพลเมืองดี และทำให้คนอื่นๆ ที่ติดยาบ้าสามารถเลิกยาบ้าด้วยการสูบกัญชาทดแทนยาบ้า (ทดแทนหมายถึงไม่ได้ใช้ร่วมกัน) และสามารถเลิกได้ทั้งยาบ้าและกัญชาในที่สุด[9]
กรณีศึกษาในประเทศไทยนี้ สะท้อนให้เห็นถึงหลักคิดของ กัญชาที่ใช้เป็นยาอ่อนสามารถนำมาสู่การลดเลิกยาเสพติดที่มีความรุนแรงหรือเพื่อลดปัญหายาเสพติดรุนแรงแบบสมัครใจได้ดีกว่า เช่น ยาบ้า ยาไอซ์ ยาอี เฮโรอีน แอลกอฮอล์ บุหรี่ ฯลฯซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศ เช่น แคนนาดา เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา[10]
ตัวอย่างเช่น ผลการศึกษาวารสารสาธารณสุขของอเมริกัน ชื่อ American Journal of Public Health (AJPH) ได้เผยแพร่งานวิจัยเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม ๒๕๖๔ในการศึกษาที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนนาดาระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙-๒๕๖๑ พบว่าร้อยละ ๒๕ ของผู้ที่ใช้กัญชานั้นเพื่อลดยาที่อันตรายหรือรุนแรงอย่างอื่นที่เรียกว่า “Harm Reduction” (เช่น เฮโรอิน, ฝิ่น, โคเคน, ยาบ้า, หรือแอลกอฮอล์) และพบเหตุผลที่มากที่สุดคือใช้กัญชาเพื่อทดแทนยาเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทถึงร้อยละ ๕๐ และการทดแทนกลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์ที่ผิดกฎหมายอีกร้อยละ ๓๑[11]
หัวหน้าคณะวิจัยชาวแคนนาดาคนเดียวกันนี้ ได้วิจัยต่อเนื่อง และ ได้ทำงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารกัญชาและสารสกัดจากกัญชาในปีต่อมาชื่อ Cannabis and Cannabinoid Research [8]เผยแพร่เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ในการศึกษาเรื่องกัญชาแบบไปข้างหน้า (Cohort Study) ในการเฝ้าสังเกตการณ์กลุ่มประชากร ๕,๗๐๖ คน พบว่าการใช้กัญชาได้ประสบความสำเร็จในการทดแทนกลุ่มประชากรที่ใช้ยาที่รุนแรง โดยเฉพาะ “ยาบ้า” (Metamphetamine) และทำให้ต้องมองกัญชาเป็น “ยุทธศาสตร์” ที่จะนำมาใช้เพื่อลดปัญหาผู้ที่ใช้ยาเสพติดมากขึ้น[12]
สำหรับประเทศไทยปีงบประมาณ ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการเปิดให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ มีผู้ป่วยซึ่งเสพติด “ยาบ้า” ได้เข้ารับการบำบัดรักษาทั้งสิ้น ๒๐๖,๔๔๔คน แต่เมื่อกัญชามีการใช้กันอย่างกันอย่างกว้างขวางในปี ๒๕๖๕ ปรากฏว่ามีผู้ป่วยติดยาบ้าลดลงเหลือเพียง ๑๐๐,๔๕๔ คน[12] ซึ่งแปลว่ามีผู้ป่วยยาบ้าที่เข้ารับการบำบัดในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ “ลดลง” จากปี พ.ศ. ๒๕๖๒ จำนวนมากถึง๑๐๕,๙๙๐ คน คือลดยาบ้าไปแล้วครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ ๕๑.๓๔[13]
และนี่คือหนึ่งในสาเหตุที่ราคายาบ้าซึ่งมีกำลังการผลิตมากขึ้น ต้นทุนถูกลง การขนส่งสะดวกขึ้น[14] แต่การที่ผู้ที่เสพยาบ้าต้องเข้ารับการบำบัดลดลงอย่างมากถึงครึ่งหนึ่งนั้น[13] สะท้อนให้เห็นว่าคนเสพยาบ้าลดลงด้วยอย่างแน่นอน จึงเป็นผลทำให้ยาบ้าซึ่งเคยมีราคาขายเม็ดละ ๑๐๐-๓๐๐ บาท ปัจจุบันมีราคาเพียง ๑๐-๓๐บาทเท่านั้น
และถ้ามองการบำบัดสารเสพติดหรือสารออกฤทธิ์ทางจิตประสาทโดยรวม อันได้แก่ ยาบ้า เฮโรอีน กัญชา ฝิ่น ยาไอซ์ สารระเหย กระท่อม ฯลฯ พบว่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๒ นั้นมีประชากรที่เข้ารับการบำบัดทั้งส้ิน ๒๖๔,๑๗๗ คน แต่เมื่อสิ้นปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ปรากฏว่ามีผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดทุกประเภทเหลือเพียง๑๒๖,๐๑๔ คน หรือลดลงไปเมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๒ มากถึง ๑๓๘,๑๖๓ คน หรือลดลงไปกว่าครึ่งหนึ่งเช่นกัน คิดเป็นร้อยละ ๕๒.๒๓ คน
แต่สำหรับผู้ที่พยายามไม่ยอมรับผลดังกล่าวนี้มักจะกล่าวอ้างว่าเพราะเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๔ การใช้ยาบ้าลดลงเพราะผลกระทบของโรคโควิด-๑๙ แต่ในความเป็นจริงในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ นั้นโรคโควิด-๑๙ ในประเทศไทย เป็นโรคที่คนไทยส่วนใหญ่รับมือได้แล้ว สามารถรักษาตัวเองให้หายได้โดยไม่ต้องปิดสถานประกอบการที่ใดเลย สามารถมาทำงานค้าขายเป็นปกติ ตัวเลขผู้บำบัดยาเสพติดในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ จึงย่อมไม่น่าจะเกี่ยวกับอิทธิพลจากการระบาดของโรคโควิด-๑๙ แล้ว
สำหรับพิษเฉียบพลันของผู้ที่ใช้กัญชามือใหม่ที่เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยจาก ๒๐ กว่าคนเป็น ๖๙ คนโดยการเทียบจากเดือนสิงหาคมปี พ.ศ. ๒๕๖๓ กับปี พ.ศ. ๒๕๖๔[15] พบว่ายังมาจากประวัติโดยส่วนใหญ่ไม่ใช่มาจากการตรวจหาสาร THC ว่าพิสูจน์ได้ว่าเป็นผลมาจากกัญชาจริงๆ หรือไม่ ซึ่งอาจมีปัจจัยเบี่ยงเบนจากผู้ที่ใช้สารเสพติดอย่างอื่นให้ข้อมูลอันเป็นเท็จว่าใช้กัญชาเพราะเห็นว่ากัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายแล้ว จึงจะไม่ถูกเสี่ยงบังคับบำบัดหรือถูกติดตามผลให้ยุ่งยากจากคดีต่อเนื่อง
คำว่าพิษเฉียบพลันแม้จะฟังดูน่ากลัว แต่เมื่อพิจารณาอาการของพิษเฉียบพลันจากกัญชาตามที่มีการรายงานนั้น ได้แก่ หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ความดันโลหิตสูง(เช่นเพราะตกใจ) มึนศีรษะ ง่วงซึม อาเจียน คลื่นไส้ ฯลฯ[15] ซึ่งความจริงแล้วอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้ และเป็นอาการธรรมดาสำหรับผู้ที่ใช้กัญชาเกินขนาดสำหรับตัวเอง โดยอาการเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นอาการชั่วคราวซึ่งสามารถหายเองได้ที่บ้านยกเว้นคนที่ตื่นตระหนกในครั้งแรกๆอาจจะคิดว่าต้องใช้บริการโรงพยาบาลเท่านั้นและก็ยังไม่พบว่าใครที่ใช้กัญชาอย่างเดียวจะเกิดอาการพิษเฉียบพลันจนเสียชีวิตเช่นกัน
แต่ “กฎกัญชา” ซึ่งเป็นธรรมชาติของพืชชนิดนี้ได้ทำให้ผู้ที่ใช้กัญชาเกินขนาดได้รับผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ดังที่กล่าวข้างต้น ส่งผลทำให้หลายคนลดขนาดการบริโภคลง หรือเลิกการใช้กัญชาไปก็มีมากด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้นคนส่วนใหญ่ที่ใช้กัญชาที่มีผลข้างเคียงดังกล่าวนั้นมีสัดส่วนที่น้อยมากเทียบกับคนที่ไม่มีผลข้างเคียงดังกล่าว ปรากฏตามผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง ในการสำรวจปี พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๔ เปิดเผยโดยศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก)ในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ที่ระบุว่าผู้ที่ใช้กัญชาส่วนใหญ่หรือร้อยละ ๘๖.๔ ไม่เคยได้รับผลกระทบใดๆ จากกัญชา, เคยมีอาการเมาร้อยละ ๙.๓, อาการแพ้ร้อยละ ๒[1]
แต่ข้อสำคัญจำนวนที่เกิดขึ้นที่เรียกว่าพิษเฉียบพลันในประเทศไทย ก็ยังเทียบน้ำหนักไม่ได้ต่อจำนวนประชากรที่ใช้กัญชาและได้รับประโยชน์ทางการแพทย์เกือบทั้งหมด ลดหรือเลิกการใช้ยาแผนปัจจุบันไปกว่าครึ่งหนึ่ง ลดปัญหายาเสพติดโดยรวมในประเทศไทยดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
ข้อสำคัญคือปัญหากัญชาสังเคราะห์ทางเคมี เลียนแบบกัญชาธรรมชาติด้วยราคาที่ถูกกว่า ได้ส่งผลเสียอย่างยิ่งต่อสุขภาพของคนไทย โดย รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เผยแพร่ข้อมูลอันตรายที่เกิดขึ้นจาก กัญชาสังเคราะห์ หรือสารกัญชาที่มนุษย์สร้างขึ้น นอกจากจะได้ผลประโยชน์ทางการแพทย์น้อยแล้ว ยังก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้ด้วย[16]
มิพักต้องพูดถึงยาฆ่าหญ้าไปฉีดใส่กัญชาธรรมชาติแล้วเป็นผลทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง[16]
กัญชาสังเคราะห์ และสารพิษปนเปื้อนกัญชาใต้ดิน อาจจะทำให้เกิดพิษเฉียบพลันได้อันตรายเสียยิ่งกว่ากัญชาธรรมชาติที่ปราศจากสารพิษปนเปื้อน ดังนั้นหลักประกันซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนที่จะรอดพ้นจากกัญชาสังเคราะห์ หรือสารพิษจากกัญชาใต้ดิน ก็คือการเปิดโอกาสให้พ่อบ้านแม่เรือนมีกัญชาเป็นสมุนไพรประจำบ้านเพื่อการพึ่งพาตัวเอง
ส่วนถ้าห่วงปัญหาเด็กและเยาวชน และต้องการบทลงโทษที่แรงกว่าในปัจจุบัน ก็ควรจะช่วยกันเรียกร้องบทลงโทษรุนแรงด้วยการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาหยุดเล่นการเมือง ถ่วงเวลา แล้วหันมาร่วมแรงร่วมใจในการเร่งรัดให้ ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง ให้เร็วที่สุด
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข
๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕
อ้างอิง
[1] สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ. การศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง. ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก). ๒๕๖๕
[2] นิด้าโพล, การปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด, เว็บไซต์นิด้าโพล, ๑๙มิถุนายน ๒๕๖๕
https://nidapoll.nida.ac.th/survey_detail?survey_id=579
[3] สำนักงานสถิติแห่งชาติ, จำนวนประชากรจากการทะเบียน จำแนกตามอายุ เพศภาคและจังหวัด พ.ศ.๒๕๖๔, เว็บไซต์สำนักงานสถิติแห่งชาติ
http://statbbi.nso.go.th/staticreport/Page/sector/TH/report/sector_01_11101_TH_.xlsx
[4] รัฐบาลไทย, สธ.แจงนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ดำเนินการภายใต้กรอบอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษแห่งสหประชาชาติ, ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๕
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/57044
[5] ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง, เรื่องผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ, ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒, เว็บไซต์ข่าวสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20190508184334.pdf
[6] Ziemowit BednarekI, et al., U.S. cannabis laws projected to cost generic and brand pharmaceutical firms billions, plos one, Published: August 31, 2022
https://journals.plos.org/plosone/article/file?id=10.1371/journal.pone.0272492&type=printable
[7] Shyam Raman, Ashley C. Bradford, Health Economics, Recreational cannabis legalizations associated with reductions in prescription drug utilization among Medicaid enrollees First published: 15 April 2022 https://doi.org/10.1002/hec.4519
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/hec.4519
[8] ผู้จัดการออนไลน์, “ไพศาล”เชื่อกัญชามายาบ้าหมด ประเทศจะหายจน- ปชช.จะหายป่วย, ผู้จัดการออนไลน์, ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕
https://mgronline.com/uptodate/detail/9620000111297
[9] ผู้จัดการออนไลน์, เปิดอก “ไก่ ขอนแก่น” หนุ่มวัย ๓๓ ปีเลิกยาบ้าได้เด็ดขาดเพราะกัญชา, Todayline, ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕, เวลา ๑๔.๐๖ น.
https://today.line.me/th/v2/article/mW30nJW
[10] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, หลักคิด“Harm Reduction” ทำไม “กัญชา” จะมาช่วยลดยาบ้า เหล้าและบุหรี่ได้?, ผู้จัดการออนไลน์, ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๕
https://mgronline.com/daily/detail/9650000103228
[11] Janice Mok, et al, Use of Cannabis for Harm Reduction Among People at High Risk for Overdose in Vancouver, Canada (2016–2018), American Journal of Public Health (AJPH) May 2021,
https://ajph.aphapublications.org/doi/abs/10.2105/AJPH.2021.306168?journalCode=ajph
[12] Janice Mok, et al., Use of Cannabis as a Harm Reduction Strategy Among People Who Use Drugs: A Cohort Study, Cannabis and Cannabinoid Research, Published Online 31 May 2022
https://doi.org/10.1089/can.2021.0229
https://www.liebertpub.com/doi/10.1089/can.2021.0229
[13] ฐานข้อมูลการบำบัดรักษายาเสพติดทั่วประเทศของกระทรวงสาธารณสุข, ๒๗ธันวาคม ๒๕๖๕
[14] เดลินิวส์ออนไลน์, ป.ป.ส. เฉลยสาเหตุทำไม ‘ยาบ้า’ ราคาถูก พบลักลอบผ่านบริษัทขนส่งปรับ ๕ หมื่น, ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕
https://www.dailynews.co.th/news/1684530/
[15] ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล, ข้อมูลผู้เจ็บป่วยที่มีประวัติสัมผัสกัญชา และปรึกษามายังศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี (เดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๕), ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕
https://www.rama.mahidol.ac.th/poisoncenter/sites/default/files/public/กรณีผู้ป่วยสัมผัสกัญชาศูนยย์พิษวิทยา%20มิย%20ถึง%20สค%2065%2022Dec2022.pdf
[16] รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์, “หมอปัตพงษ์” เตือนประชาชนระวังอันตรายจากกัญชาสังเคราะห์, ผู้จัดการออนไลน์, ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕
https://mgronline.com/qol/detail/9650000122714