หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
การประกาศตัวเป็นแคนดิเดตพรรครวมไทยสร้างชาติของพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นั้นไม่ได้นอกเหนือความคาดหมาย เพียงแต่ทำให้เกิดความชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ปรารถนาที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า นั่นหมายความว่า หากความมุ่งหวังของเขาสำเร็จ เขาจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องกันถึง 10 ปี เป็นสถิติที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานที่สุดของประเทศไทย
แต่ความหวังของพล.อ.ประยุทธ์จะเป็นความจริงนั้นหาได้ง่ายไม่
เพราะในขณะนี้โพลที่น่าเชื่อถืออย่างนิด้าโพลบอกว่า พรรคที่มาแรงมากที่สุดในตอนนี้คือ พรรคเพื่อไทย และตัวบุคคลที่มาแรงมากคือ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตรลูกสาวคนสุดท้ายของทักษิณ ที่จะมาสืบสายเลือดนายกรัฐมนตรีคนที่ 4ของครอบครัวชินวัตรและเครือญาติ และถ้าทำสำเร็จอุ๊งอิ๊งจะเป็นพ่อลูกคู่แรกของประเทศไทยที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นตระกูลที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด และเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุด
โอกาสของอุ๊งอิ๊งนั้นต้องนับว่ามีมากกว่าใคร เพราะอย่างไรเสียในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคที่จะได้ส.ส.มากที่สุดนั้นคือ พรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอน เหลือเพียงว่า พรรคเพื่อไทยจะได้ส.ส.หรือรวบรวมส.ส.ได้เกิน 250 คนหรือไม่
แล้วโอกาสที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งของพล.อ.ประยุทธ์เล่ามีไหม ถ้าให้ตอบแบบทันทีก็ต้องบอกว่า ยากมาก เพราะจะเป็นเช่นนั้นได้ พรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้ต้องได้ส.ส.รวมกันทุกพรรคมากกว่า 250 คนและพรรครวมไทยสร้างชาติจะต้องได้ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 ในฝ่ายนี้
ล่าสุดนิด้าโพลบอกว่า ตัวบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี อุ๊งอิ๊ง มาอันดับ 1 ร้อยละ 34 พล.อ.ประยุทธ์ อันดับ 2 ร้อยละ 14.05 ตามมาด้วยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 13.25 ด้านพรรคการเมือง พรรคเพื่อไทย มาที่ 1 ร้อยละ 42.95 ที่2 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 16.60 อันดับ 3 ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองไหน ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ 4 ร้อยละ 6.95
จะเห็นว่าในขั้วการเมืองเดียวกันพรรครวมไทยสร้างชาติดีกว่าอีก 3 พรรคคือ อันดับ 5 ร้อยละ 5.35 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 6 ร้อยละ 5.25 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย และอันดับ 7 ร้อยละ 4.00 ระบุว่าเป็นพรรคพลังประชารัฐ
ทันทีที่พล.อ.ประยุทธ์ประกาศตัวเป็นแคนดิเดตของพรรครวมไทยสร้างชาติ เอกนัฎ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรคประกาศว่า พรรคจะได้ส.ส.อย่างน้อย 100 คน คำถามว่า ส.ส.100 คนของพรรครวมไทยสร้างชาติจะมาจากไหน
ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วพล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตของพรรคพลังประชารัฐ ในครั้งนั้นเป็นการเลือกตั้งภายใต้อำนาจของคสช. และเป็นการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวพรรคพลังประชารัฐได้ส.ส.มาทั้งสิ้น 116 คน
แน่นอนว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคพลังประชารัฐที่ประกาศว่าจะสนับสนุนพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องมีส.ส.ลดลงอย่างแน่นอน เพราะส.ส.หลายคนของพรรคไหลไปอยู่พรรคภูมิใจไทย และส.ส.หลายคนจะตามพล.อ.ประยุทธ์ไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ต้องดูว่าพล.อ.ประวิตรจะมัดใจกลุ่มใหญ่ในพรรคไว้ได้ไหมเช่นกลุ่ม สามมิตร กลุ่มเพชรบูรณ์ กลุ่มกำแพงเพชร บ้านใหญ่สมุทรปราการ และบ้านใหญ่ชลบุรี ถ้ากลุ่มเหล่านี้ยังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ก็ปฏิเสธพรรคนี้ไม่ได้ แม้จะไม่ได้ส.ส.เท่าเดิมแน่ แต่ก็มีจำนวนมากพอที่จะสร้างอำนาจต่อรองเพื่อไปร่วมกับขั้วใดขั้วหนึ่ง
และมีการคาดการณ์กันว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคพลังประชารัฐอาจจะเป็นพรรคเดียวที่ไปได้ทั้งสองขั้ว คือร่วมกับฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน และไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย อยู่ที่ฝั่งไหนจะรวมส.ส.ได้เกิน 250 คนก่อน มีการกล่าวกันว่า พล.อ.ประวิตรมีความมั่นใจมากเพราะเชื่อว่าตัวเองมีส.ว. 60-70 คนอยู่ในมือ
ขณะเดียวกันพรรคภูมิใจไทยซึ่งมีอดีตส.ส.จากต่างพรรคเข้าไปร่วมงานมากที่สุดเคยคาดหวังว่าจะได้ส.ส.อย่างน้อย 120 คน และสนับสนุนให้นายอนุทิน ชาญวีรกุล เป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าถามว่าโอกาสของพรรคไหนที่จะได้ส.ส.ตามเป้าหรือใกล้เคียงกับเป้าหมายมากกว่ากันระหว่างพรรครวมไทยสร้างชาติ 100 คน กับพรรคภูมิใจไทย 120 คน คนที่ติดตามการเมืองก็ต้องตอบว่า พรรคภูมิใจไทย แม้ว่านิด้าโพลของบอกว่า พรรครวมไทยสร้างชาติจะมีความนิยมเหนือกว่าพรรคภูมิใจไทยก็ตาม
ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่และเป็นขั้วการเมืองเดียวกันในฝั่งพรรครวมไทยสร้างชาติ คาดหวังว่าจะต้องได้ส.ส.ไม่น้อยกว่าเดิม คือไม่ต่ำกว่า 52 คน แต่หลายคนเชื่อว่า พรรคประชาธิปัตย์จะต้องได้การเมืองน้อยกว่าเดิมแน่นอน
การประกาศตัวว่าจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติของพล.อ.ประยุทธ์นั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล เพราะมีฐานมวลชนที่ต่างกัน แต่การประกาศตัวของพล.อ.ประยุทธ์นั้นส่งผลสะเทือนต่อพรรคในฝั่งเดียวกันคือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะในพื้นที่กทม.และภาคใต้ เพราะมีฐานเสียงที่ทับซ้อนกัน
ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วนั้นมวลชนฝั่งอนุรักษนิยมในกทม.ต้องลงคะแนนในเชิงยุทธศาสตร์ คือ ทิ้งพรรคประชาธิปัตย์เพื่อลงคะแนนให้พรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ทำให้พรรคพลังประชารัฐได้ส.ส.ในกทม.ถึง 12 คน แต่ในภาพรวมครั้งที่แล้วส.ส.กทม.มีทั้งหมด 30 คน อีก 18 คนเป็นส.ส.พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลฝั่งละ 9 คน นั่นเท่ากับว่าในครั้งที่แล้วคนกทม.เลือกส.ส.ขั้วตรงข้ามกับรัฐบาลถึง 18 คน
และในการเลือกตั้งสมาชิกสภากทม.ล่าสุด คนกทม.เลือกพรรคเพื่อไทยถึง 20 คน และพรรคก้าวไกล 14 คน จากจำนวน 50 คน นั่นเท่ากับแสดงให้เห็นว่า กทม.ไม่ใช่พื้นที่ของฝ่ายอนุรักษนิยมอีกต่อไป
ส่วนภาคใต้ก็แย่งส.ส.กันหนักขึ้นระหว่าง พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งก็น่าจะแบ่งปันเก้าอี้กันไป
ในขณะที่มีการคาดการณ์กันว่า พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ 3 พรรคนี้จะมีส.ส.รวมกัน 100 คนเท่านั้น
ถึงตอนนี้ยังชื่อว่าพรรคเพื่อไทยยังไม่น่าจะแลนด์สไลด์คือ มีส.ส.พรรคเดียวเกิน 250 คน แต่ถ้าถามผมว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล 2 พรรคมีโอกาสไหมที่จะมีส.ส.รวมกันเกิน 250 คน ส่วนตัวผมชื่อว่ามีโอกาสสูงมาก และถ้าออกทางนี้ก็ปิดโอกาสที่พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งทันที
นอกเสียจากส.ว. 250 เสียงหรือเสียงของส.ว.ส่วนใหญ่จะไปโหวตให้ฝ่ายที่มีเสียงส.ส.ข้างน้อยในสภาผู้แทนแล้วมีเสียงสองสภารวมกันเกิน 376 คน พล.อ.ประยุทธ์ก็อาจจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ บนเงื่อนไขที่พรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้ประกาสหนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ถ้าไม่มีเสียงส.ส.เกิน 250 คนก็เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่สามารถบริหารประเทศได้ เพียงแต่จะถืออำนาจยุบสภาไว้ในมือ
เพราะถึงตอนนี้โอกาสที่พรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้ยังจับมือกันเหนียวแน่นและได้เสียงรวมกันเกิน 250 คนนั้น บอกตรงๆ ว่ายังมองไม่เห็นหนทาง
ขณะเดียวกันถ้าพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลมีเสียงสองพรรคเกิน 250 คน แต่พรรคเพื่อไทยไม่เอาพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล ก็ต้องหาพรรคเข้าร่วมเพื่อจะรวบรวมส.ส.ให้เกิน 250 คนก็มีคำถามว่ามีพรรคไหนในฝั่งรัฐบาลปัจจุบันจะเข้าร่วมรัฐบาลกับฝั่งนี้ก็คงเป็นพรรคพลังประชารัฐของพล.อ.ประวิตรที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น อีกพรรคก็ต้องวัดใจพรรคภูมิใจไทยแม้ว่าจะมีคนบอกว่าทักษิณยังแค้นเคืองเนวิน ชิดชอบอยู่ก็ตาม
ล่าสุดเนวินก็ออกจากหลังบ้านมาให้สัมภาษณ์ว่า ไม่มีการแบ่งขั้วการเมืองไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร พร้อมจับมือตั้งรัฐบาลกับทุกพรรค
หากเกิดปรากฏการณ์อย่างนี้คือพรรคพลังประชารัฐไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยขึ้นมาก็ต้องวัดเสียงของส.ว.ว่าจะเทไปข้างไหน ระหว่างเลือกข้างพล.อ.ประวิตรและพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งตอนนี้เชื่อกันว่าส.ว.ฝั่งของพล.อ.ประยุทธ์ยังมีมากกว่า
ถ้าพรรคเพื่อไทยมี 200 เสียง พรรคภูมิใจไทยมี 100 เสียง พรรคพลังประชารัฐมี 40 เสียง ก็เป็น 340 เสียง และหากพล.อ.ประวิตรมีส.ว. 60-70 คนอย่างที่เชื่อกันฝั่งนี้ก็เป็นรัฐบาลทันที และอาจจะมีพรรคประชาชาติที่จะได้หลายที่นั่งใน 3 จังหวัดใต้เข้าร่วมด้วย
หากเป็นเช่นนี้พรรคที่เป็นฝ่ายค้านคือ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคก้าวไกล
ถึงตอนนี้ยังมองไม่เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีในอีกสองปีที่เหลือได้อย่างไร
ติดตามผู้เขียนได้ที่https://www.facebook.com/surawich.verawan