หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
ในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่แนวโน้มว่า พรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคอันดับ 1 ค่อนข้างแน่ แม้ว่าอาจจะไม่แลนด์สไลด์ตามที่ทักษิณออกมาส่งเสียงคำรามเพื่อข่มขวัญฝ่ายตรงข้าม แต่มีแนวโน้มว่า พรรคเพื่อไทยอาจจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้เพราะสามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้เกิน 250 เสียง แล้วบีบไม่ให้ส.ว.ใช้เสียงข้างมากในรัฐสภาตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะแม้จะดึงดันตั้งรัฐบาลด้วยเสียงทั้งหมดของ 250 ส.ว.แล้วใช้เสียงส.ส.เพียง 126 เสียง แต่เมื่อมีเสียงในสภาผู้แทนน้อยกว่าแต่ก็ไม่สามารถบริหารประเทศได้
โอกาสที่จะเกิดสถานการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นได้เช่นว่า พรรคเพื่อไทยมีเสียง 200 เสียง และพรรคก้าวไกลมีเสียงเกิน 50 เสียง ทำให้ทั้งสองพรรคมีเสียงเกิน 250 เสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ความอลเวงก็จะเกิดขึ้นทันที
สุดท้ายแล้วอาจจะมีหลายพรรคต้องยอมรับเงื่อนไขเพื่อจะเป็นรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย อาจจะเป็นไปได้ทั้งพรรคพลังประชารัฐของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคภูมิใจไทย หรือพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคของสุดารัตน์ ฯลฯ แต่เชื่อเถอะว่าไม่มีพรรคก้าวไกลเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแน่ไม่ว่าฝ่ายไหนจะได้จัดตั้งรัฐบาลก็ตาม อย่างไรก็ตามแม้จะรวบรวมได้เสียงส.ส.เกิน 250 คน ก็ต้องการเสียงสองสภาเกิน 376 เสียงซึ่งเป็นกึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส.และส.ว.รวมกัน 750 คนอยู่ดี ตรงนี้แหละที่มีคำถามว่าจะทำอย่างไร
ถ้าพรรคเพื่อไทยรวบรวมเสียงส.ส.ได้ถึง 376 คนก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้ารวบรวมเสียงส.ส.ได้เกิน 250 คนแต่ไม่ถึง 376 คน แต่ต้องการเสียงส.ว.ช่วยสนับสนุนก็มีคำถามว่าจะมีส.ว.ช่วยยกมือสนับสนุนไหม เพราะแม้ 250 ส.ว.ไปยกมือช่วยอีกฝั่งก็เป็นได้แค่รัฐบาลเสียงข้างน้อย ดังนั้นถ้าเกิดสถานการณ์นั้นจริงก็วัดใจว่า 250 ส.ว.จะทำอย่างไร
ในกรณีที่พรรคพลังประชารัฐของพล.อ.ประวิตรไปร่วมฝั่งนี้ ก็จะเกิดการวัดว่าใน 250 ส.ว.นั้นจะมีส.ว.ของพล.อ.ประวิตรเท่าไหร่ แล้วมีส.ว.ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเท่าไหร่กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์อยู่อีกฝั่ง ถ้าเป็นการแข่งขันกันระหว่างฝั่งหนึ่งคือพรรคเพื่อไทยที่รวบรวมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรได้เกิน 250 คน กับอีกฝั่งที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์หรืออาจจะเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกุล แต่มีเสียงในสภาผู้แทนไม่ถึง 250 คน
ก็จะเป็นการวัดใจว่า 250 ส.ว.จะเทไปทางฝั่งเพื่อไทยเพื่อให้ได้เสียงสองสภาเกิน 376 เสียงหรือเทให้อีกฝั่งเพื่อเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย
อย่างไรก็ตามพรรคที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเข้ามาเป็นตัวเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภาได้นั้นจะต้องมีส.ส.ตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป ก็เกิดคำถามว่า พรรครวมไทยสร้างชาติที่จะเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์นั้นจะได้เสียงถึง 25 เสียงไหม แต่เสียงของพรรคภูมิใจไทยที่เสนอนายอนุทินนั้นไม่น่าจะมีปัญหาเพราะอย่างไรก็ได้เสียงเกิน 25 คนแน่ๆ
ผมจำลองเหตุการณ์ให้เห็นว่า หลังการเลือกตั้งที่ 250 ส.ว.ยังมีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้งนั้นอาจจะนำมาสู่ความวุ่นวายได้ถ้าพรรคเพื่อไทยสามารถรวบรวมเสียงในสภาได้เกิน 250 เสียงแต่ไม่ถึง 376 เสียง แต่ในกรณีนี้อีกฝั่งหนึ่งคือพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันสามารถรวบรวมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรได้เกิน 250 เสียงปัญหานี้ก็จะไม่เกิดพราะอย่างไรเสีย ส.ว.ส่วนใหญ่ก็พร้อมจะยกมือให้ฝั่งนี้อยู่แล้ว
ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือ พรรคร่วมรัฐบาลขณะนี้ต้องจับมือกันให้เหนียวแน่นและรวบรวมเสียงส.ส.ให้ได้เกิน 250 เสียง แต่ถามว่ามีความเป็นไปได้ไหมก็ต้องตอบว่า มีแต่โอกาสนั้นน้อยมาก เพราะ ณ เวลานี้ต่างเชื่อกันว่า พรรคเพื่อไทยได้ส.ส.ถึง 200 เสียงบวกลบ และพรรคก้าวไกลจะได้ส.ส.เกิน 50 คนดังนั้นพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลรวมกันก็จะเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทน
ลองคิดตามนะครับว่า หากเป็นอย่างนั้นจะเกิดสถานการณ์อย่างที่ผมกล่าวมาไหม
สถานการณ์อีกอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นคือ ถ้าฝั่งเพื่อไทยรวบรวมเสียงในสภาผู้แทนได้เกิน 250 คนแต่ไม่ถึง 376 คน ถ้า 250 ส.ว.งดออกเสียงจะทำอย่างไรเพราะทำให้ไม่มีโอกาสที่จะได้เสียงกิน 376 เสียงซึ่งเป็นกึ่งหนึ่งของสองสภาเลย การเลือกนายกรัฐมนตรีก็จะถึงทางตันไม่สามารถสรรหานายกรัฐมนตรีได้ รัฐบาลรักษาการก็บริหารประเทศต่อไป
หากเป็นเช่นนั้นอาจทำให้ไปใช้อีกช่องทางคือ การเลือกนายกรัฐมนตรีจากคนนอกบัญชีของพรรคการเมืองตามมาตรา 272 วรรค 2 คือใช้เสียงสองสภารวมกัน 376 เสียงของยกเว้น แต่ที่ยากคือต้องใช้มติสองในสามของสองสภาคือ 500 คนเห็นด้วยก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีก เพราะถ้าพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลถือเสียงในสภาผู้แทนเกิน 250 เสียง อีกฝ่ายก็จะมีเสียงไม่ถึง 500 เสียง ช่องทางนี้ก็อาจจะไม่ง่ายดังที่คิด
ดังนั้นจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผูกสมการในการเลือกนายกรัฐมนตรีเอาไว้แบบอลเวงจนยากที่จะฝ่าไปได้ นอกจากฝ่ายค้านปัจจุบันจะรวบรวมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรได้ 376 เสียงขึ้นไปเพื่อหักด่านส.ว.ซึ่งเป็นไปได้ยาก แต่พรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันนั้นง่ายกว่าเพียงจับมือกันให้แน่นแล้วรวบรวมเสียงให้ได้ส.ส.เกิน 250 คนก็จัดตั้งรัฐบาลได้ทันที เพราะ 250 ส.ว.ก็พร้อมจะยกมือให้อยู่แล้ว หรือแม้ว่าอาจจะมีส.ว.พยศก็ต้องการใช้เสียงส.ว.เพียงครึ่งหนึ่งขึ้นไปคือเกิน 125 คนก็พอแล้ว
การเลือกตั้งครั้งหน้าจึงเป็นการเลือกตั้งที่ยากจะคาดเดาสถานการณ์มาก ผมคาดนะครับว่า พรรคเพื่อไทยนั้นอาจได้เสียงถึง 200 เสียงบวกลบ พรรคภูมิใจไทยได้ 100 เสียงบวกลบ พรรคก้าวไกลได้ 70 เสียงบวกลบ พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ 3 พรรคนี้ได้รวมกัน 100 เสียงบวกลบ ที่เหลืออีก 30 เสียงบวกลบก็เป็นพรรคการเมืองอื่นเช่น พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคไทยสร้างไทย พรรคสร้างอนาคตไทย พรรคประชาชาติ ฯลฯ
ตอนนี้มีข่าวว่าบางพรรคอาจจะควบรวมกันเพื่อสู้กับเสียงที่พอจะเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้คือต้องมี 25 เสียงขึ้นไป ผมคิดว่านี่เป็นทางออกที่ถูกต้องของพรรคเล็ก เพราะไม่มีโอกาสเลยที่จะได้รับเลือกเข้ามาถึง 25 เสียงหากต่างคนต่างแข่งขันกันเอง ที่ตลกก็คือ กรณีของพรรคไทยสร้างชาติและพรรคสร้างอนาคตไทยที่มีข่าวว่าจะรวมกันยังถกเถียงกันว่าใครจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ทั้งที่เสนอได้ 3 ชื่อ ใครจะขึ้นก่อนขึ้นหลังก็มีผลเหมือนกัน
ถ้าปรากฏผลตามนี้ก็จะเกิดสถานการณ์ตามที่ผมร่ายมาข้างต้นที่จะนำไปสู่ทางตันเพราะฝ่ายของพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันยากที่จะรวมกันได้เกิน 250 เสียง และพรรคฝั่งฝ่ายค้านปัจจุบันก็ยากที่จะได้เสียงถึง 376 เสียง
และหาก 250 ส.ว.ดึงดันไปยกมือให้พรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย นอกจากจะไม่สามารถบริหารประเทศได้ก็อาจจะเกิดความวุ่นวายขึ้นได้ เพราะเท่ากับฝืนมติของประชาชนที่เสียงส่วนใหญ่เลือกส.ส.จากอีกฝั่งหนึ่งกอาจจะเกิดการชุมนุมบนถนนตามมา
แต่การเมืองไทยก็มีปาฏิหาริย์หรือเกิดสิ่งที่ยากจะคาดเดาเสมอถึงเวลานั้นก็อาจจะหาทางออกได้ เพราะถึงเวลานักการเมืองที่มองเห็นว่าขัดแย้งเป็นศัตรูกันก็อาจจะหันมาจับมือกันถ้าการแบ่งสรรปันส่วนอำนาจลงตัว
อีกช่องหนึ่งที่มีทางเป็นไปได้และเป็นทางออกที่ง่ายที่สุดคือมีอำนาจพิเศษชี้ลงมาว่าให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วทุกพรรคไม่มีเงื่อนไขยกเว้นพรรคก้าวไกล ขณะเดียวกัน 250 ส.ว.ก็คงพร้อมจะยกมือสนับสนุนแน่นอนถ้าเกิดปรากฏการณ์ที่กล่าวมา
หรืออาจมีเหตุที่ไม่คาดฝันให้การเลือกตั้งยื้อออกไปจนอำนาจส.ว.ที่มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วยครบ 5 ปีตามบทเฉพาะกาลถึงตอนนั้นก็จะเป็นไปตามครรลองของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ทางนี้ก็ยากเพราะส.ว.จะครบ 5 ปีในเดือนพฤษภาคม 2567 ยังมีเวลาอีกนานเกินไป
อย่างไรก็ตามถึงวันนี้ก็เริ่มมีคำถามว่า จะมีเลือกตั้งไหม แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดช่วงเวลาไว้แล้ว แต่ ณ สถานการณ์ตอนนี้อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan