xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมตัว-เตรียมใจ...รับมือกับ“โลกใหม่”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทับทิม พญาไท



เปิดฉากสัปดาห์นี้...ด้วยเหตุเพราะฉากสถานการณ์ระดับโลกยังคงวนไป-วนมาไม่ถึงกับไปไหน ขณะที่สถานการณ์บ้านเราก็คงหนีไม่พ้นไปจากความเป็นห่วง-เป็นใย ที่บรรดาพสกนิกรทั้งหลายทั่วทั้งประเทศมีต่อผู้ที่ถือเป็น “มิ่งขวัญ” ของบ้านเมือง ดังนั้น...คงต้องขออนุญาตเริ่มต้นสัปดาห์นี้ ด้วยการปรับเปลี่ยนบรรยากาศ ชวนไปรับฟังทัศนะ ความคิด-ความเห็นของนักคิด-นักวิชาการรายหนึ่ง ต่อความเป็นไปของโลกในอนาคตเบื้องหน้า อีกไม่ใกล้-ไม่ไกล เผื่อว่าอาจพอได้ข้อคิดสะกิดใจ เอาไว้ใช้เป็นอุทาหรณ์ เป็นแนวทางในการ “เดินหน้าประเทศไทย” ที่แม้ “อนาคตเราไม่รู้-ถึงไม่รู้ก็ต้องเดินไป” อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงและปฏิเสธนั่นแหละทั่น!!!

คือนักคิด-นักวิชาการรายที่ว่านี้...ก็คือศาสตราจารย์-ด็อกเตอร์ทางเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย “Nyenrode Business University” ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่เข้ามาทำการศึกษาและวิจัย เป็นศาสตราจารย์แลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยของจีน “Renmin University” ตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ชื่อว่า “ด็อกเตอร์Haico Ebbers” โดยได้สรุปความคิด-ความเห็นทั้งหลายไว้ในหนังสือเรื่อง “Unravelling Modern China” หรือการปลดปล่อย-การแก้ปมปัญหาของจีนยุคใหม่ อะไรประมาณนั้น และทำให้ผู้สื่อข่าวของ “Global Times” สื่อทางการของจีน อย่าง “นายHu Wei” และ “นายGu Di” ต้องลงทุนเดินทางไปสัมภาษณ์ สอบถามความคิด-ความเห็นกันอีกรอบ จนกลายมาเป็นบทสัมภาษณ์ที่ให้ชื่อเอาไว้ว่า “Emerging market to reshape future global order as the West’s power wanes in the coming years” หรือประมาณว่าการแปลงโฉมระเบียบโลกในอนาคตโดยบรรดาประเทศ “เศรษฐกิจใหม่” ขณะพลังอำนาจตะวันตกกำลังเสื่อมโทรมใกล้จะมาถึงในอีกไม่นาน-ไม่ช้านับจากนี้ อะไรทำนองนั้น...

โดยบทสัมภาษณ์ที่ว่านี้...คงไม่น่าจะถือเป็นแค่การ “โปรปะกันดา” ของฝ่ายจีนล้วนๆ แต่เพียงเท่านั้น เพราะโดยคำพูด-คำจาโดยเหตุผล-ข้ออ้าง ข้อพิสูจน์-ยืนยัน ที่ศาสตราจารย์รายนี้ท่านหยิบยกมาแสดงให้เห็นเป็นฉากๆ ต้องเรียกว่าก่อให้เกิดความ “อึ้ง-ทึ่ง-เสียว” อย่างมิอาจปฏิเสธได้เลย คือมาจากข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่ได้ศึกษา ค้นคว้าและวิจัยมานานนับสิบๆ ปี จนก่อให้เกิด “คำนิยาม” ถึงบรรดาประเทศเศรษฐกิจใหม่ ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนหรือมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของเศรษฐกิจโลก ของระบบและระเบียบต่างๆ ที่ท่านเรียกว่า “NEP-9” หรือ “New Economic Power” ทั้ง 9 รายอันประกอบไปด้วย จีน-อินเดีย-บราซิล-รัสเซีย-แอฟริกาใต้-อินโดนีเซีย-เม็กซิโก-ตุรกี และเกาหลีใต้ โดยไม่ได้มาจากการโมๆ-เมๆ ขึ้นมาเอง แต่มาจากการศึกษา ค้นคว้า การเก็บรวบรวมข้อมูล-สถิติ บนพื้นฐานอันหลากหลาย ไม่ว่าจากจำนวนประชากร จากแนวโน้มทางเศรษฐกิจ จากภูมิรัฐศาสตร์ วัฒนธรรม ไปจนถึงเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เป็นต้น...

จนกระทั่ง “ตกผลึก” กลายมาเป็นการมองเห็น “ความเปลี่ยนแปลง” ในลักษณะที่ว่า หรือความเปลี่ยนแปลงที่ได้ดำเนินมาตั้งแต่ทศวรรษที่แล้ว ผ่านบทบาทของ “ตลาดเศรษฐกิจ” ที่ก่อรูป-ก่อร่างขึ้นมาใหม่ หรือของประเทศเศรษฐกิจใหม่ อันเป็นความเปลี่ยนแปลงในรอบ 300 ปี ที่บรรดาโลกตะวันตก หรือประเทศตะวันตกไม่อาจ “ครอบงำ” ได้อีกต่อไป ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจ-การเมือง ต่อสิ่งที่อุบัติขึ้นมาเหมือนเดิมๆ ได้อีกแล้ว เพราะโดยข้อมูล ข้อเท็จจริงอย่างน้อยก็ 2 ประการ ที่สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เช่น 1. แนวโน้มที่ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า (ค.ศ. 2050) จำนวน 8 ใน 10 ของประเทศที่มี “ขนาดเศรษฐกิจ” ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก จะมาจากบรรดาประเทศ “เศรษฐกิจใหม่” ในทุกวันนี้ อันเห็นได้จากภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของบรรดาประเทศเหล่านี้ ที่สูงไปกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวของบรรดาประเทศตะวันตกทั้งหลาย และ 2. ภายในปี ค.ศ. 2030 เป็นต้นไป ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ของ “ชนชั้นกลาง” ในโลกใบนี้จะกองรวมอยู่ในทวีปเอเชีย และกลายเป็นพลังการซื้อ การบริโภค อันมิอาจปฏิเสธ...

โดยสิ่งที่น่าสนใจเอามากๆ หรืออาจถือเป็น “หัวใจ” ในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ถึงแนวโน้มในความเปลี่ยนแปลงระดับโลกก็คือว่า...บรรดาประเทศเศรษฐกิจใหม่ หรือ “ตลาดใหม่” เหล่านี้ ได้ก่อรูป-ก่อร่างขึ้นมาจาก “ความแตกต่างทางเศรษฐกิจ” แบบเท่าที่เคยเป็นมา หรือต้องการจะให้เป็นไป ตามแนวคิดพื้นฐานของบรรดาประเทศตะวันตก หรือโลกตะวันตกทั้งหลายที่ออกจะหนักไปทาง “เสรีนิยม” ล้วนๆ หรือมุ่งหมายที่จะเห็นความเติบโตของ “ตลาด” ไปพร้อมๆ กับการลดทอนบทบาทของ “รัฐ” ลงไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ต่างไปจากบรรดาประเทศเศรษฐกิจใหม่ไม่ว่าจีน-อินเดีย-ตุรกี-หรืออินโดนีเซีย ที่ยังคงความต้องการที่จะให้ “รัฐ” เข้าไปมีบทบาทในการแทรกแซง แต่ละสิ่ง แต่ละอย่าง โดยเฉพาะในช่วงที่ “ตลาด” ประสบความล้มเหลว อันอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมภายในแต่ละประเทศ หรือทำให้เกิดสภาวะแบบที่ “ตลาดและรัฐบาล” จำต้องร่วมมือแก้ปัญหาต่างๆ ควบคู่กันไป แทนที่จะเป็นตลาดกับรัฐบาลกลายเป็นผู้ต้องเผชิญหน้ากันและกัน...

หรือพูดง่ายๆ ว่า...เป็นความแตกต่างระหว่างทุนนิยมที่ต้องมีรัฐกำกับกับทุนนิยมที่ถูกขับเคลื่อนบรรดาบรรษัทข้ามชาติทั้งหลาย หรือจะเรียกว่า “ทุนนิยมเผด็จการ” ก็แล้วแต่กับ “ทุนนิยมเสรี” ที่ทำให้กระแสโลกาภิวัตน์นำไปสู่การ “ลอดรัฐ-ข้ามรัฐ” หรือการลดทอนอำนาจต่างๆ ของ “รัฐชาติ” จนเกิดแรงเสียดสี เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย ในแต่ละประเทศแต่ละสังคมมาโดยตลอดนั่นเอง จนทำให้บรรดาประเทศเศรษฐกิจใหม่เหล่านี้ ต่างเกิดความไม่เชื่อถือ ไม่เชื่อมั่นต่อ “ฉันทามติวอชิงตัน” (Washington Consensus) อีกต่อไปแล้ว และเริ่มเห็นพ้องต้องกัน ว่า “ฉันทามติปักกิ่ง” (Beijing Consensus) น่าจะเข้าท่ากว่า หรือน่าจะช่วยให้เกิดความอยู่รอดปลอดภัยได้ดีกว่า โดยเฉพาะใน “ช่วงเวลาที่จำเป็น” เพื่อลดความล้มเหลวของเศรษฐกิจทั่วทั้งระบบ และนั่นเองที่ทำให้เกิดความขัดแย้งแตกต่างระหว่างประเทศเศรษฐกิจใหม่บางประเทศกับองค์กรทางเศรษฐกิจระดับโลก เช่น “องค์การการค้าโลก” หรือ “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” (IMF) ที่ต่างมุ่งเดินไปตามแนวคิด “เสรีนิยม” แบบสุดๆ หรือทำให้หนีไม่พ้นต้องนำไปสู่การปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงกฎ-ระเบียบบางประการ โดยที่การปรับปรุง-เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ย่อมต้องก่อให้เกิดความไม่สบายกาย-สบายใจต่อโลกตะวันตก หรือประเทศตะวันตกอยู่แล้วแน่ๆ แต่ท้ายที่สุดแล้ว...ก็คงต้องปรับปรุง-เปลี่ยนแปลงไปตามเสียงส่วนใหญ่ หรือตามพลังอำนาจที่กำลังก่อรูป-ก่อร่างขึ้นมาใหม่นั่นแล...

ส่วน “ข้อดี-ข้อเสีย” ระหว่างการเป็นทุนนิยมที่มีรัฐกำกับหรือทุนนิยมเสรีแบบสุดๆ อะไรจะดีกว่า เหมาะกว่า สำหรับแต่ละประเทศนั้น ดูเหมือนว่าศาสตราจารย์ชาวดัตช์ อย่าง “นายHaico Ebbers” ท่านออกจะเอียงๆ มาทาง “ฉันทามติปักกิ่ง” อยู่พอสมควร คือมองเห็นว่ามันไม่ใช่แค่ช่วยให้เกิดหลักประกันต่อ “แรงงาน” หรือ “สภาพสิ่งแวดล้อม” แต่เพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิตที่เป็นสิ่งสำคัญต่ออนาคตเบื้องหน้า คือแทนที่มุ่งแต่จะเติบโตทาง “GDP” ล้วนๆ แต่ยังต้องพยายามสร้างหลักประกัน สร้างความมั่นใจไว้ด้วยว่า การเติบโตนั้นๆเป็นไปในทางสร้างสรรค์ ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างสังคม ต่อสภาวะสิ่งแวดล้อม ฯลฯ แบบที่พวกทุนนิยมเสรีทั้งหลายเคยทำให้โลกทั้งโลก “เละตุ้มเป๊ะ” กันมาโดยตลอด หรือแบบที่อาเฮีย “สนธิ ลิ้มฯ” ท่านเคยเตือนๆ เอาไว้ทางทีวี ว่าไม่ว่า “ประชาธิปไตย” หรือ “เผด็จการ” ก็เถอะต้องหาทาง “ควบคุมทุนนิยม” ในประเทศตัวเองเอาไว้ให้ดี เพราะแม้แต่โลกตะวันตกทุกวันนี้ชักไม่เอาด้วย-ไม่เห็นควรด้วยกับโลกาภิวัตน์ภายใต้ทุนนิยมเสรียิ่งเข้าไปทุกที จนเริ่มเกิดการป้องกัน กีดกันทางการค้า อันยิ่งทำให้กฎ-ระเบียบแบบเดิมๆ ยิ่งสับสน ปั่นป่วน หนักขึ้นไปใหญ่...

บรรดา “ความเปลี่ยนแปลง” ทั้งหลาย...จึงเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ แม้อาจไม่ได้ถึงกับเปลี่ยนในระดับ “พลิกฟ้า-คว่ำดิน” อันเนื่องมาจากบรรดาประเทศเศรษฐกิจใหม่เหล่านี้ ยังคงได้รับประโยชน์จากโลกาภิวัตน์มิใช่น้อย แต่ความเปลี่ยนแปลงที่ว่า ยังไงๆ...ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อความเป็นไปทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม-วัฒนธรรมประเพณี และค่านิยมของแต่ละชาติ แต่ละประเทศ อย่างมิอาจปฏิเสธได้ การเตรียมตัว-เตรียมใจ เตรียมปรับสภาพ ปรับกระบวนท่า ในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จึงอาจถือเป็น “วาระแห่งชาติ” ของทุกๆ ประเทศ ทุกๆ ชาติ เอาเลยก็ว่าได้!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น