xs
xsm
sm
md
lg

สภาควรเร่งเดินหน้าลงมติกฎหมาย “กัญชา” เพื่อประโยชน์และควบคุมกัญชาอย่างเหมาะสม ไม่ใช่เวทีกลับไปเป็นยาเสพติด/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


วันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ แม้ว่าจะเป็นความคืบหน้าที่สำคัญจาก ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ… ของคณะกรรมาธิการฯ จะได้ถูกลับมาพิจารณาการลงมติรายมาตราที่จะเห็นด้วยหรือแก้ไขตามกลไกลและครรลองของสภาผู้แทนราษฎรที่ควรจะเป็นอีกครั้ง

เพราะเมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับปัจจุบันไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดโดยมติเสียงข้างมากของรัฐสภา จึงเท่ากับเป็นการเปิดทางให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

และเมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรายาเสพติดไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดอีก ประเทศนี้ก็จำเป็นต้องมีกฎหมายออกมาเพื่อใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชาอย่างเหมาะสมต่อไป และถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของสภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ตามคำแถลงของนายศุภชัย ใจสมุทร ที่ได้กล่าวเอาไว้ก่อนเริ่มการพิจารณาอย่างเป็นระบบนั้น กลับทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เพียงแค่ได้ยินแต่ไม่ฟัง เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละพรรคการเมืองต่างอภิปรายไปตามที่ต้องการอภิปราย บ้างก็มีการอภิปรายผิดจากข้อเท็จจริงจากงานวิจัยไปอย่างมากบ้างก็ไม่สนใจจากสิ่งที่นายศุภชัย ใจสมุทร ได้อภิปรายตอบเอาไว้แล้ว

แต่สิ่งที่จับสัญญาณได้อย่างชัดเจนคือ ทุกพรรคการเมืองต้องการให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง “ยกเว้นพรรคภูมิใจไทย” โดยพรรคการเมืองส่วนใหญ่อ้างว่าสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้มีส่วนร่วมกับการปลดล็อกกัญชาด้วย เป็นเรื่องของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแต่เพียงคณะเดียว

ตามมาตรา ๔ แห่ง ประมวลกฎหมายยาเสพติด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือที่เรียกว่า “คณะกรรมการ ป.ป.ส.” ประกอบด้วย

ฝ่ายการเมือง ๖ คน คือ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ข้าราชการระดับสูง ๒๒ คน คือ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเลขาธิการคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา เลขาธิการสานักงานศาลยุติธรรม ผู้อำนวยการสานักงบประมาณ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการปกครองอธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเลขาธิการองค์การอาหารและ และปลัดกรุงเทพมหานคร โดยให้เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นกรรมการและเลขานุการ

นอกจากนั้นยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกิน ๓ คนอีกด้วย[1]

จะเห็นได้ว่าภายใต้โครงสร้างของคณะกรรมการยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ไม่ได้อยู่ในอำนาจของกระทรวงสาธารณสุข แต่เป็นโครงสร้างที่ประกอบไปด้วยนักการเมืองและข้าราชการที่จะต้องพิจารณาเรื่องกัญชาในหลายมิติ ทั้งมิติของสังคม ความมั่นคง สุขภาพ เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม นักเรียนนักศึกษา การคลังการปกครอง กระบวนการยุติธรรม ยาเสพติด และความมั่นคงแห่งรัฐ

แต่การที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.)จะพิจารณาการปลดล็อกกัญชาให้ออกจากยาเสพติดนั้น “จะไม่มีทางทำได้” หากประมวลกฎหมายยาเสพติดได้บัญญัติกำหนดให้คำว่า “เช่น กัญชา” เป็นตัวอย่างของ ยาเสพติดประเภทที่ ๕ เหมือนกับประมวลกฎหมายาเสพติดในอดีต หรือเหมือนกับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษทุกฉบับในอตีตที่ผ่านมา

แต่การประชุมรัฐสภาไม่เพียงแต่จะยกเลิกประมวลกฎหมายยาเสพติดอดีต และยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษอดีตเท่านั้น แต่ได้เห็นชอบประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ที่ไม่มีการบัญญัติ ให้คำว่า “เช่นกัญชา” ไม่ถูกระบุให้เป็นตัวอย่างของยาเสพติดอีกต่อไปอีกด้วย

จากรายงานบันทึกการลงคะแนนเสียงของสมาชิกรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา(ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และส.ว.) เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔พบการลงมติประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ไม่ได้ระบุ “เช่น กัญชา” ให้เป็นตัวอย่างของยาเสพติดประเภทที่ ๕ อีกต่อไปนั้น ที่ประชุมลงคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์

“โดยที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง ๔๖๗ เสียง ไม่มีใครไม่เห็นชอบ และงดออกเสียงจำนวน ๒ เสียง”[2]

การดำเนินการปลดล็อกกัญชาของสภาผู้แทนราษฎรดังที่กล่าวมานี้ ก็เป็นไปเหมือนกับการปลดล็อกกระท่อมก่อนหน้านั้น ผ่านพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่๘) พ.ศ. ๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ที่ใช้วิธี ไม่ยกตัวอย่างโดยระบุชื่อ “ เช่น กระท่อม” เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ คงเหลือแต่ “เช่น กัญชา” เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ ต่อไป[3]
ความจริงได้เกิด “สุญญากาศพืชกระท่อม” ๑ ปี ๓ เดือน ที่ปราศจากกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติใดๆ มาควบคุมพืชกระท่อมตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ กว่าจะมีกฎหมายมาควบคุมคือคือพระราชบัญญัติ พืชกระท่อม พ.ศ. ๒๕๖๕ลงวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๕

โดยในช่วงเวลาระหว่างนั้นจนถึงปัจจุบันมีการวางขายโดยทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่หน้าโรงเรียนเสียกราดเกลื่อนยิ่งกว่ากัญชา แต่ที่ไม่น่าเชื่อคือกลับไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแสดงความห่วงใย หรือกลายเป็นประเด็นทางการเมืองเหมือนกับที่เกิดขึ้นกับ “กัญชา”ในขณะนี้
ประเด็นที่ต้องถามคือการประชุมร่วมรัฐสภาเกือบเป็นเอกฉันท์ที่ไม่ได้ระบุชื่อตัวอย่าง “เช่น กัญชา” ในประมวลกฎหมายยาเสพติดเกิดขึ้นเพราะอะไร?
เรื่องดังกล่าวนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒ ที่สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารรณาญัตติด่วน คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอย่างเป็นระบบ ซึ่งในการตั้งคณะกรรมาธิการมากถึง ๔๘ คน ซึ่งประกอบไปด้วยหลายพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ซึ่งรวมถึงผู้แทนจากพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย ฯลฯ

ผ่านไปเกือบ ๙ เดือนคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแล้วเสร็จ จึงได้นำเสนอต่อประธานผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๓ และได้นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยบทสรุปผู้บริหารของรายงานได้ระบุถึงข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความว่า

“แนวทางการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ คือ การยกเลิกกัญชา กัญชงและกระท่อมออกจากกฎหมายยาเสพติดให้โทษ แต่เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ให้โทษ ค.ศ. 1961 และพิธีสารแก้ไขฯ ค.ศ. 1972 (Single Convention on Narcotic Drugs, 1961, as Amended by The 1972 Protocol Amending The Single Convention on Narcotic Drugs, 1961) อนุสัญญาว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1971 (Convention on Psychotropic Substances, 1971) และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติด และวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1988 (United Nations Convention against Illicit Trafficking in Narcotic Drugs and Psychotropic Substances, 1988) ที่ประเทศไทยเป็น ภาคีของอนุสัญญาดังกล่าว ยังคงมีการควบคุมการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอยู่ในระดับหนึ่ง แต่การควบคุมนั้นจะไม่ได้ควบคุมในระดับพระราชบัญญัติอาจจะควบคุมในกฎหมายลําดับรอง เช่นประกาศหรือระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขแทน เป็นต้น”[5]

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ “รับทราบ” รายงานฉบับนี้อย่างชัดเจนในผลการศึกษาดังกล่าว

และประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ที่ไม่ได้ระบุชื่อตัวอย่าง เช่น กัญชากระท่อม ให้เป็นยาเสพติดอีกต่อไปซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาก็สอดรับไปกับผลการศึกษาฉบับดังกล่าวนี้

สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขจำนวนมาก และมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดไม่ระบุให้กัญชาทั้งต้นเป็นยาเสพติด ก็เป็นไปตามแนวทางผลการศึกษาของรายงานฉบับดังกล่าวนี้ เพียงแต่รัดกุมและรอบคอบกว่านั้น เพราะทั้งกัญชา กัญชง และกระท่อม ได้ถูกผลักดันออกมาในระดับพระราชบัญญัติเพื่อให้แน่ชัดว่าจะมีกฎหมายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของฝ่ายนิติบัญญัติ

และนี่คือเหตุผลที่พรรคภูมิใจไทยเสนอร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ…. เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕ เพื่อที่จะได้มีกฎหมายให้ประชาชนได้ใช้เพื่อใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชา กัญชง แทนการเป็นยาเสพติดตามที่ได้มีผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯของสภาผู้แทนราษฎรก่อนหน้านี้เช่นกัน

ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านลงมติรับหลักการมากถึงด้วยคะแนน ๓๗๒ เสียง ต่อ ไม่รับหลักการ ๗เสียง (ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล) รับหลักการในวาระที่ ๑ ไปแล้ว
ไม่ว่ากฎหมายจะมีการแปรญัติอย่างไรโดยสภาผู้แทนราษฎร วาระรับหลักการและเหตุผลก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการลงมติที่เกิดขึ้นไปแล้วได้ โดยเหตุผลที่รับหลักการนั้นได้ระบุเอาไว้ในข้อความแรกว่า

“โดยที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ”

คะแนน ๓๗๒ เสียงของสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน รับหลักการเป็นที่ยืนยันว่าพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ.. ที่เห็นชอบลงมติก็ด้วยเหตุเริ่มต้นที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ

สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจึงมีความจำเป็นต้องเดินหน้าเร่งให้มีการลงมติเห็นด้วยและแก้ไขรายมาตราในพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ…. ออกมาโดยเร็วเพื่อให้ประชาชนได้มีกฎหมายสำหรับการใช้ประโยชน์และควบคุมการใช้กัญชาอย่างเหมาะสม

จะเห็นด้วยในมาตราไหน และแก้ไขมาตราไหนก็เป็นไปตามมติของสภาผู้แทนราษฎรตามกลไกและครรลองของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่จะกลับไปเป็นยาเสพติดอีกก็คงไม่สามารถจะทำได้ภายใต้การพิจารณากฎหมาย พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชงฉบับนี้ ที่ประชาชนกำลังรอเพื่อใช้ประโยชน์และการควบคุมกัญชาอยู่

แต่ถ้าสภาผู้แทนราษฎรมีความประสงค์จะทำให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีก ก็จะขัดแย้งกับผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการที่สภาผู้แทนราษฎรได้เคยตั้งเอาไว้เอง

และถ้าเชื่อว่ากัญชาควรกลับไปเป็นยาเสพติอีก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคต่างๆ ก็ควรจะเข้าชื่อกันเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติดให้ระบุกัญชาให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อตัวเองจึงจะถูกต้อง จริงหรือไม่?

และถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดยังไม่กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติด ทุกพรรคการเมือง พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ ที่รุมกินโต๊ะพรรคภูมิใจไทยและต้องการให้กัญชาให้กลับเป็นยาเสพติด ถ้ามีเสียงมากขนาดนี้จนเหลือแต่พรรคภูมิใจไทยเพียงพรรคเดียวที่ไม่เห็นด้วยให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกก็สามารถเข้าชื่อกันเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติดให้ระบุชื่อ กัญชาให้กลับไปเป็นยาเสพติดประเภทที่ ๕ ได้เลย

ถึงเวลานั้นก็จะได้รู้ว่าพรรคการเมืองใดเห็นควรให้ถอนต้นกัญชาออกจากบ้านประชาชนที่ไว้สำหรับพึ่งพาตัวเอง เผาทำลายทิ้งผู้ที่ปลูกกัญชา และจับกุมผู้ป่วยที่ใช้กัญชาใต้ดินเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์มากถึงร้อยละ ๘๔ ที่ไม่สามารถได้รับกัญชาในระบบได้

สุดท้ายนี้ขอนำคำแถลงของนายศุภชัย ใจสมุทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย ที่ได้กล่าวก่อนการพิจารณาวาระที่ ๒ ในวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕เป็นคำแถลงประวัติศาสตร์ ซึ่งเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่อาจไม่รับทราบดังต่อไปนี้

“คำแถลง
ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ
พิจารณาร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. ....
สภาผู้แทนราษฎร
------------------------------------

กราบเรียน ประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ
กระผม นายศุภชัย ใจสมุทร ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. .... สภาผู้แทนราษฎร

ตามที่ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๕ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๕ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เมื่อวันพุธที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๕ ได้ลงมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. .... (นายอนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ เป็นผู้เสนอ) และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์กัญชา กัญชง พ.ศ. .... (นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ กับคณะ เป็นผู้เสนอ) และได้แต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณา โดยกำหนดการแปรญัตติภายใน ๑๕ วัน มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบในวาระที่๑ เพื่อรับหลักการนั้น บัดนี้ร่างกฎหมายของคณะกรรมาธิการได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขเสร็จสิ้นเพื่อให้ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาลงมติรายมาตราแล้ว

ทั้งนี้ร่างของคณะกรรมาธิการฯนั้น เป็นร่างกฎหมายที่ได้มีการพิจารณาโดยเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการ ตามสัดส่วนของสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ๒๕ คน โดยมีองค์ประกอบจากการส่งตัวแทนมาจากคณะรัฐมนตรี ๕ คน, พรรคพลังประชารัฐ ๔ คน, พรรคภูมิใจไทย ๓ คน, พรรคประชาธิปัตย์ ๒ คน, พรรคเพื่อไทย ๖ คน, พรรคก้าวไกล ๒ คน, พรรคเศรษฐกิจไทย ๑ คน, พรรคชาติไทยพัฒนา ๑ คน, พรรคเสรีรวมไทย ๑ คน
เพื่อความรอบคอบรัดกุมของกฎหมายฉบับนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้เปิดกว้างและให้โอกาสกรรมาธิการแต่ละท่านได้เสนอที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการเพื่อมาให้ความเห็นต่อคณะกรรมาธิการเพิ่มเติมโดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น เป็นผลทำให้มีการแต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการมากถึง ๔๑ คน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิของทุกภาคส่วนที่มีความหลากหลายและรอบด้าน

นอกจากนั้นคณะกรรมาธิการยังได้รับฟังข้อเสนอจากหนังสือขององค์กรต่างๆ ให้กรรมาธิการได้รับทราบทุกฉบับ และยังได้เชิญข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์มาให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการ จึงเป็นที่ยืนยันได้ว่าร่างพระราชบัญญัติฯ ที่นำเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรฉบับนี้ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านแล้ว โดยได้พิจารณาเริ่มต้นด้วย ชื่อร่างพระราชบัญญัติ คำปรารภและพิจารณาเรียงลำดับมาตราจนจบร่างพระราชบัญญัติ รวมถึงอัตราค่าธรรมเนียมด้วย

อย่างไรก็ตามคณะกรรมาธิการได้คำนึงถึงประเด็นความเร่งด่วนในการพิจารณากฎหมายที่ว่า เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๔ ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภายังไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติด ประกอบกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดก็มิได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดอันมีผลตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๕ เป็นต้นไป จึงมีความจำเป็นที่คณะกรรมาธิการจะต้องพิจารณากฎหมายฉบับนี้ให้แล้วเสร็จอย่างเร่งด่วนด้วย

แต่ความเร่งด่วนในการพิจารณากฎหมายของคณะกรรมาธิการก็ได้เป็นไปด้วยความรอบคอบและรับผิดชอบ ด้วยการกำหนดการประชุมสัปดาห์ละ ๒ ครั้งทั้งเช้าและบ่าย แต่ถึงกระนั้นคณะกรรมาธิการก็ยังต้องขยายเวลาการพิจารณากฎหมายจาก ๑๕ วัน เป็นเวลาประมาณ ๓ เดือน เป็นการประชุมมากถึง ๑๙ ครั้ง จึงเป็นผลทำให้การพิจารณากฎหมายแล้วเสร็จ โดยมีการเพิ่มบทบัญญัติการควบคุมกัญชากัญชง จาก ๔๕ มาตราเป็น ๙๕ มาตรา หรือเพิ่มขึ้นมาอีก ๕๐ มาตรา จึงยืนยันได้ว่าแม้คณะกรรมาธิการได้เร่งการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ แต่กระบวนการเป็นไปอย่างรอบคอบแล้ว
กระผมขอยืนยันว่าคณะกรรมาธิการได้ทำงานด้วยความทุ่มเทและเสียสละอย่างยิ่งดังนั้นร่างกฎหมายที่เสนอต่อสภาฉบับนี้จึงไม่ใช่ผลงานจากร่างกฎหมายเดิมของพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดอีกต่อไป แต่ได้เป็นผลงานการร่วมกันร่างและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายจากตัวแทนทุกพรรคการเมืองในคณะกรรมาธิการ

อย่างไรก็ตาม มาตราต่างๆ ที่ผ่านความเห็นชอบของเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการนั้น ได้มีคณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยและรวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางท่านจากพรรคการเมืองต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ก็ได้อาศัยกลไกการสงวนคำแปรญัตติในมาตราต่างๆ เอาไว้แล้วรวมทั้งสิ้น๑๗ คน

ซึ่งหมายความว่าความเห็นที่แตกต่างนี้จะไม่เป็นอุปสรรคต่อท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการลงมติที่จะเห็นชอบรายมาตรากับเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการหรือจะให้แก้ไขรายมาตราตามเสียงข้างน้อยของผู้สงวนคำแปรญัตติก็ได้

แม้ต่อมาในวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๕ สภาผู้แทนราษฎรจะได้ลงมติเสียงข้างมากให้คณะกรรมาธิการกลับไปทบทวนอีกครั้ง ทางคณะกรรมาธิการฯก็น้อมรับในมติดังกล่าวพร้อมกับทำหนังสือสอบถามไปยังพรรคการเมืองต่างๆ ในประเด็นที่ต้องการให้แก้ไขหรือสงวนคำแปรญัตติเพิ่มเติมอีก เป็นผลทำให้มีการประชุมในการทบทวนทั้งสิ้น ๒ ครั้ง รวมเป็นการประชุมทั้งหมด ๒๑ ครั้ง
และเมื่อคณะกรรมาธิการได้รับประเด็นต่างๆ กลับมาทบทวนแล้ว คณะกรรมาธิการก็พบความจริงว่า ประเด็นต่างๆ ที่มีความห่วงใยจากพรรคการเมืองต่างๆ นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นเดิม ที่คณะกรรมาธิการฯได้เคยพิจารณามาแล้วทั้งสิ้น
โดยพบว่าบางประเด็นที่แสดงความห่วงใยของสภาผู้แทนราษฎรเป็นความเข้าใจผิดหรือไม่เข้าใจเจตนารมณ์ที่แท้จริงของคณะกรรมาธิการ บางประเด็นที่มีความห่วงใยได้มีบทบัญญัติในร่างพระราชบัญญัติอยู่แล้ว และบางประเด็นที่พรรคการเมืองอาจไม่เห็นด้วยกับหลักการของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากนั้น ก็เป็นประเด็นที่มีกรรมาธิการเสียงข้างน้อย หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สงวนคำแปรญัตติเอาไว้แล้วทั้งสิ้น

โดยกระบวนการทบทวนกฎหมายอีกครั้งของคณะกรรมาธิการ ก็ไม่ปรากฏว่ามีกรรมาธิการคนใดจะขอแปรญัตติมาตราใดเพิ่มเติมแม้แต่มาตราเดียว จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าร่างเดิมของคณะกรรมาธิการและการสงวนคำแปรญัตติรายมาตราตามกลไกของคณะกรรมาธิการนั้น มีประเด็นครบถ้วนเพียงพอที่จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงมติเห็นชอบหรือการปรับปรุงแก้ไขรายมาตราของสภาผู้แทนราษฎรอย่างแน่นอน

โดยนับตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๕ เป็นต้นมา แม้สังคมทั่วไปจะเข้าใจว่าเกิดสุญญากาศทางกฎหมาย เนื่องด้วยรัฐสภายังไม่ได้เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. .... แต่ในความเป็นจริงแล้วกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลได้ช่วยกันระดมออกกฎหมายนับสิบกว่าฉบับ และประยุกต์ใช้กฎหมายต่างๆเท่าที่มีเพื่อให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสใช้ประโยชน์กัญชา กัญชงมากขึ้น และเพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคและสังคมในเวลาเดียวกัน โดยได้นำเนื้อหาบางส่วนที่สำคัญจากการพิจารณาของเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการที่ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มาประยุกต์ใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชาด้วยอยู่แล้วในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข และประกาศของกระทรวงอื่นๆ ก็ยังไม่สมบูรณ์และยังไม่สามารถควบคุมได้อย่างรอบด้านให้รวมอยู่ในกฎหมายฉบับเดียว และยังไม่มีบทลงโทษที่รุนแรงกับผู้ที่กระทำความผิดได้อย่างเป็นระบบมากเท่ากับ ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. .... ของคณะกรรมาธิการ ฉบับนี้

โดยร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ…. ของคณะกรรมาธิการฉบับนี้ จะทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาโรคและดูแลสุขภาพด้วยการพึ่งพาตัวเองได้ดีขึ้น ควบคู่ไปกับบทบัญญัติการคุ้มครองกลุ่มคนเปราะบางทั้งเด็กและเยาวชนในหลายมิติ มีการกำหนดสถานที่ห้ามขาย มีการควบคุมวิธีการขาย มีการแสดงเจตนารมณ์ของกรรมาธิการแบ่งกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกัญชา กัญชงรายเล็กให้ไม่ต้องมีค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม จากการที่สภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากที่ได้เคยลงมติให้ถอนกฎหมายฉบับนี้เพื่อให้กรรมาธิการไปพิจารณาทบทวนเสียใหม่ก็ดี ตลอดจนการรวบรวมการแถลงข่าวของพรรคการเมืองต่างๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็ดี กระผมและกรรมาธิการพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อห่วงใยทั้งหลายมีความคาดเคลื่อนหรือเข้าใจผิดจากข้อเท็จจริงในหลายประการ รวมถึงยังมีความไม่เข้าใจในเหตุผลและความเป็นมาของเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการ กระผมจึงมีความจำเป็นจะต้องชี้แจงหลักการภาพรวมของกฎหมายดังต่อไปนี้

ประการแรก คณะกรรมาธิการได้พิจารณาจากงานวิจัยแล้วพบว่ากัญชานั้นมีฤทธิ์เสพติดยากกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ และอยู่ในระดับเดียวกับกาแฟ ในขณะที่กัญชาเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการรักษาได้หลายโรค ส่งเสริมสุขภาพลดการใช้ยาในการรักษาหลายโรค และช่วยลดปัญหาความรุนแรงจากยาเสพติดอื่นๆ โดยเฉพาะยาบ้า ซึ่งแตกต่างจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่อย่างสิ้นเชิง

ข้อมูลที่กรรมาธิการพิจารณาประเด็นการเปรียบเทียบกัญชาเสพติดยากกว่าแอลกอฮอล์และบุหรี่ดังที่กล่าวมานี้ ได้เคยมีผู้นำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรมาก่อนเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว โดยคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชาอย่างเป็นระบบ ที่ได้เปิดคลิปวีดีทัศน์ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ได้รับทราบเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ โดยกระผมขอกราบขอบพระคุณท่านประธานอนุกรรมาธิการชุดนั้นที่ได้นำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรคือ นายอนุรักษ์ ปณิธานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดมุกดาหารจากพรรคเพื่อไทยว่า กัญชาเสพติดยากกว่าและมีประโยชน์มากกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เช่นเดียวกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง กระท่อมอย่างเป็นระบบ ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีพลเอกสมชาย วิษณุวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกาญจนบุรี พรรคพลังประชารัฐ ได้เคยเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เอาไว้ว่า ให้ยกเลิกพืชเสพติด ได้แก่ กัญชา กัญชงและกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติด ในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้รับทราบโดยไม่มีผู้ใดให้ความเห็นคัดค้านแต่ประการใด

ต่อมาภายหลังจากรายงานผลการศึกษาฉบับดังกล่าว ในคราวการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๔ ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้ลงมติเสียงข้างมากโดยไม่มีผู้คัดค้านให้ความเห็นชอบประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับปัจจุบัน ที่ไม่ได้มีการระบุให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทใดทั้งสิ้นอีกต่อไป และต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดก็มิได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดเช่นกัน อันมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๕ จนถึงปัจจุบัน

จากเหตุผลดังที่กล่าวมาข้างต้น คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากจึงเห็นว่าไม่ควรควบคุมช่อดอกกัญชา กัญชงให้เป็นยาเสพติดทั่วไป แต่ควรจะใช้มาตรฐานการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ และพืชกระท่อม ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภามาแล้ว มาเป็นหลักเกณฑ์การควบคุมช่อดอกกัญชาและกัญชงในฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็น การควบคุมการขาย การคุ้มครองเยาวชนและกลุ่มเปราะบาง การควบคุมวิธีการขาย การห้ามเร่ขาย การห้ามขายออนไลน์ การห้ามขายผ่านเครื่องขาย การควบคุมสถานที่ห้ามขาย การห้ามโฆษณา การห้ามมีนเมาขณะขับรถ ฯลฯ

ซึ่งหลักเกณฑ์การควบคุมเหล่านี้เป็นไปตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บุหรี่ และพืชกระท่อม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชงฉบับนี้จากเดิมมี ๔๕ มาตรา แต่เมื่อคณะกรรมาธิการพิจารณานำการควบคุมที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีบทบัญญัติเพิ่มมากขึ้นเป็น ๙๕ มาตรา

ประการที่สอง ผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง ของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ฉบับตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ได้รายงานสถานการณ์ปี พ.ศ. ๒๕๖๔ พบว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับกัญชาในระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้นมีเพียงร้อยละ ๑๖ เท่านั้น ซึ่งแปลว่ามีประชาชนที่ใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์นอกระบบมากถึงร้อยละ ๘๔ เช่น ได้จากญาติตลาดมืด และที่ไม่สามารถระบุที่มาของกัญชาได้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังพบว่าประชาชนผู้ที่ใช้กัญชามีการเปลี่ยนแปลงโรคในทางที่ดีขึ้นถึงดีขึ้นมากจำนวนมากถึงร้อยละ๙๓.๔
ประชาชนที่ใช้ประโยชน์จากกัญชาแม้จะไม่ถูกต้องทางกฎหมายเพียงเพราะแพทย์จำนวนมากพบอุปสรรคขั้นตอนที่ยุ่งยากจากการกำหนดให้เป็นยาเสพติดที่ผ่านมาทำให้แพทย์ส่วนใหญ่ไม่จ่ายยากัญชาให้กับผู้ป่วยได้ครอบคลุมมากพอ จนผลิตภัณฑ์กัญชาจำนวนมากต้องทยอยหมดอายุไป และทำให้ประชาชนกลับต้องไปใช้กัญชานอกระบบและผิดกฎหมายอย่างน่าเห็นใจและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วประชาชนที่ต้องการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคหรือส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสุขภาพไม่ควรถูกลงโทษในฐานะอาชญากร อีกทั้งประชาชนเหล่านี้ยังต้องเสี่ยงกัญชาใต้ดินในหลายมิติ ทั้งในมิติของการปนเปื้อนสารพิษ ยาฆ่าแมลงจากกัญชาที่ไม่ได้คุณภาพ รวมถึงมิติการปนเปื้อนสารสังเคราะห์เลียนแบบกัญชา ซึ่งล้วนเป็นความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนอย่างยิ่ง อีกทั้งยังมีราคาแพงโดยไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพได้ด้วย

จากสภาพข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากจึงเห็นสมควรให้ประชาชนในแต่ละครัวเรือนสามารถปลูกกัญชาจำนวนไม่เกิน ๑๕ ต้นเพื่อการพึ่งพาตัวเองได้ด้วยการจดแจ้ง ในขณะผู้ที่ต้องการปลูกกัญชงเพื่อประโยชน์ของเส้นใยสามารถปลูกได้ ๕ ไร่โดยการจดแจ้งเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดปัญหาอันตรายในมิติต่างๆ จากพ่อค้ากัญชาใต้ดิน และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของคณะกรรมาธิการว่าไม่ต้องการเอื้อประโยชน์หรือผูกขาดให้กับกลุ่มทุนใด ด้วยหลักประกันขั้นต่ำเป็นความมั่นคงทางยาในบ้านขั้นพื้นฐานที่ประชาชนจะสามารถมีกัญชาและกัญชงเพื่อการพึ่งพาตัวเองได้โดยไม่ต้องซื้อหาจากที่ใดทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกับ พระราชบัญญัติ พืชกระท่อม ที่ได้อนุญาตให้มีการให้ปลูกกระท่อมในครัวเรือนได้โดยไม่จำกัดจำนวน แต่กัญชาและกัญชงนั้นมีความแตกต่างกัน เนื่องจากประเทศไทยยังคงต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. ๑๙๖๑ จึงต้องกำหนดการปลูกกัญชาเป็นพืชและสมุนไพรเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือนอย่างจำกัดจำนวน อันเป็นลักษณะ “พืชสวน” หรือที่เรียกว่า Horticultural purposes อันเป็นลักษณะตามมาตรา ๒๘ ข้อ ๒ ในอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. ๑๙๖๑

ประการที่สาม การที่ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง ไม่กำหนดให้การปลูกในครัวเรือนใช้วิธีการจดแจ้งแต่มิให้ขายนั้น ก็เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับครัวเรือนที่ต้องการใช้กัญชา กัญชงเพื่อพึ่งพาตัวเอง แต่ก็มิได้ห้ามประชาชนปลูกเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าแต่ประการใด
โดยประชาชน นิติบุคคล หรือวิสาหกิจชุมชน ที่ต้องการปลูกกัญชาจะต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น แต่ต้องขออนุญาตด้วยเพราะต้องทำตามหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องด้วยผู้ที่ทำธุรกิจกัญชาหรือกัญชงจะต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมาธิการได้กำหนดให้การขออนุญาตปลูก กัญชา กัญชงเพื่อการค้า ไม่เกิน ๕ ไร่เป็นผู้ขออนุญาตรายเล็ก โดยคณะกรรมาธิการและองค์การอาหารและยาในฐานะผู้อนุญาตตามกฎหมายได้แสดงเจตนารมณ์เอาไว้ในที่ประชุมว่าจะไม่เก็บค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้นกับผู้ปลูกกัญชา กัญชงเพื่อการค้าไม่เกิน ๕ ไร่(ในขณะที่ค่าธรรมเนียมผู้ประกอบการรายกลางและรายใหญ่จะมีค่าธรรมเนียมสูงสุดไม่เกิน ๕ หมื่นบาท) อีกทั้งกำหนดเอาไว้ว่ากฎกระทรวงจะต้องไม่มีผลเป็นการกีดกันหรือผูกขาดทางการค้าด้วย

จากเหตุผลดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนารมณ์ว่าคณะกรรมาธิการต้องการให้ประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการรายเล็กได้มีโอกาสเข้าถึงการค้ากัญชา กัญชงได้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในประเทศเป็นสำคัญ
ประการที่สี่ กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดห้ามสูบกัญชาในที่สาธารณะ วัด สถานพยาบาล ร้านขายยา สถานที่ราชการ โรงเรียน ปั๊มน้ำมัน สวนสาธารณะ สวนสัตว์ร้านอาหาร ยานพาหนะ และสถานที่อื่นใดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ และห้ามโฆษณาอุปกรณ์การสูบกัญชา ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชนทั่วไปไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการสูบกัญชา
อย่างไรก็ตามการสูบแม้จะมีผลเสียต่อสุขภาพในระบบทางเดินหายใจ แต่ก็มีประชาชนจำนวนหนึ่งมีความจำเป็นต้องใช้การสูบเพื่อรักษาโรค หรือเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต อันเนื่องด้วยมีฤทธิ์อ่อนกว่า และออกฤทธิ์เร็วกว่า และตกค้างน้อยกว่าการรับประทาน อีกทั้งในบางประเทศยังกำหนดการสูบกัญชาในปริมาณและสถานที่กฎหมายกำหนดเป็นยุทธวิธีหนึ่งในการทดแทนเพื่อลดหรือถอนยาเสพติดที่รุนแรงด้วยความสมัครใจ รวมไปถึงการลดอาชญากรรมจากยาเสพติดที่รุนแรงด้วย เช่น ยาบ้า แอลกอฮอล์ ฝิ่น ฯลฯ
ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้ยังได้สร้างกลไกการพิจารณาพื้นที่การสูบกัญชา ที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเพื่อกำหนดมาตรฐานให้มีความปลอดภัยต่อผู้ที่สูบและผู้ที่ไม่สูบกัญชา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะประกาศกำหนดได้จะต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการกัญชา กัญชงเสียก่อน โดยหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการจะต้องออกมาในรูปของกฎกระทรวงซึ่งนอกจากจะต้องผ่านการประชาพิจารณ์จากประชาชนก่อนแล้ว ยังจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนอีกด้วย จึงเชื่อได้ว่าจะเป็นกลไกที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มีความรัดกุมรอบคอบและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างรอบด้าน

ประการที่ห้า การคุ้มครองเยาวชน สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร เป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการให้ความสำคัญอย่างที่สุด แม้จะมีลักษณะการควบคุมเหมือนแอลกอฮอล์ บุหรี่ และกระท่อม แต่หากมีผู้กระทำความผิดในการขายหรือให้กับเยาวชน นอกจากจะได้รับโทษจำคุกตามกฎหมายแล้ว ยังจะถูกเพิกถอนการจดแจ้งหรือเพิกถอนการอนุญาตด้วย และหากกระทำความผิดมาตราอื่นแล้วมากระทำความผิดต่อเด็กเยาวชนอีก บทลงโทษที่มีความผิดฐานอื่นจะเพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่าด้วย

ประการที่หก เนื่องด้วยการควบคุมกัญชา กัญชงในฐานะเป็นพืชสมุนไพร ได้มีกฎหมายกำกับอยู่แล้วหลายฉบับ ทั้งกฎหมายว่าด้วยเรื่องอาหาร กฎหมายว่าด้วยเรื่องผลิตภัณฑ์สมุนไพร กฎหมายว่าด้วยเรื่องยา กฎหมายว่าด้วยเรื่องเครื่องสำอางกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขเพื่อการควบคุมร้านอาหาร อีกทั้งยังมีกฎระเบียบและวินัยขององค์กรต่างๆอยู่แล้วคล้ายกับการควบคุมแอลกอฮอล์ และบุหรี่ จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีบทบัญญัติซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นๆ

และเมื่อพิจารณากฎหมายที่มีการบูรณาการหลายฉบับดังที่กล่าวมาข้างต้น การดำเนินการของประเทศไทยแม้จะไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดแล้ว แต่ก็ยังมีกระบวนการควบคุมทั้งการจดแจ้งและการอนุญาตเป็นไปตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. ๑๙๖๑ ต่อไป
สุดท้ายนี้คณะกรรมาธิการได้พิจารณากฎหมายที่มีกระบวนการควบคุมและรายงานต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศเทียบเคียงกับประเทศอื่น ๆ ที่มีการใช้ประโยชน์จากกัญชาและกัญชงแล้ว พบว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ได้เปิดโอกาสในการเข้าถึงกัญชาในครัวเรือน เปิดโอกาสให้เกิดเสรีทางการแพทย์ในทุกสาขาอย่างแท้จริง รวมทั้งการเปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยมีโอกาสดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาและกัญชงมากขึ้น เพื่อทำให้กัญชาและกัญชงนั้นจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง

คณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้กำหนดให้กัญชาและกัญชงเป็นยาเสพติดให้โทษ จึงสามารถใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ วิจัยและอุตสาหกรรม แต่มีข้อจำกัดบางประการที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ดูแลสุขภาพ การป้องกันและบำบัดโรค การรักษาผู้ป่วย การศึกษาวิจัยหรือการพัฒนานวัตกรรม

ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการดูแลสุขภาพของตนและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง หรือสารสกัด จึงควรสนับสนุนการนำกัญชา กัญชง หรือสารสกัด มาใช้ในการศึกษาวิจัย การใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ สุขภาพ ตลอดจนเปิดโอกาสให้มีการเพาะปลูก ผลิต ขาย นำเข้า ส่งออก กัญชาหรือกัญชง เพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ ของประเทศ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชนมิให้มีการบริโภคกัญชา กัญชง หรือสารสกัดอย่างไม่เหมาะสม จึงสมควรกำหนดมาตรการกำกับดูแลและควบคุมการขาย การโฆษณา และการบริโภค

นอกจากนั้นคณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วได้เพิ่มข้อสังเกตและบันทึกเจตนารมณ์เอาไว้ด้วยว่า หน่วยงานของรัฐควรส่งเสริมและสนับสนุนการนำกัญชา กัญชง และสารสกัดมาใช้ประโยชน์ เช่น เร่งรัดการออกกฎหมายลำดับรองเพื่อให้ดำเนินการบรรลุตามวัตถุประสงค์ได้อย่างรวดเร็ว และมีขั้นตอนการดำเนินงานที่ไม่เป็นภาระแก่ประชาชน จัดสรรงบประมาณและบุคลากรอย่างเพียงพอ ส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถสร้างรายได้ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจและการใช้ประโยชน์จากกัญชาและกัญชง ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้แก่ประชาชน เป็นต้น

บัดนี้ กระผมได้นำเสนอภาพรวมรายงานดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดนำเสนอที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาให้ความเห็นชอบหรือแก้ไขรายมาตราเพื่อให้ประชาชนได้มีกฎหมายในการใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชา กัญชงต่อไป”

สุดท้ายนี้ขอขอบพระคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน ที่ได้ยอมเปิดใจในการเริ่มพิจารณารายมาตรา ลงมติเห็นชอบหรือแก้ไขพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชงพ.ศ… ของคณะกรรมาธิการ เพื่อให้ประชาชนได้มีกฎหมายในการใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชา กัญชงอย่างเหมาะสมต่อไป

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข
๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕

อ้างอิง
[1] ราชกิจจานุเบกษา, ประมวลกฎหมายยาเสพติด, ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ตอนที่ ๗๓ ก, มาตรา ๔ หน้า ๑๔-๑๕
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/073/T_0001.PDF

[2] บันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ ๔ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันอังคารที่ ๒๔ สิงหาคมพุทธศักราช ๒๕๖๔ หน้า ๗
https://msbis.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_report/main_warehouse_dll_x.php?aid=10018&mid=4334

[3] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๘), ๒๖ พฤษภาคมพ.ศ. ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนที่ ๓๕ ก, หน้า ๑-๓
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/035/T_0001.PDF

[4] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ พืชกระท่อม พ.ศ. ๒๕๖๕, ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนที่ ๕๒ ก, หน้า ๑-๑๔
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/A/052/T_0001.PDF

[5] ราชกิจจานุเบกษา, รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก่ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอย่างเป็นระบบสภาผู้แทนราษฎร, กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สํานักกรรมาธิการ ๓สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๓
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/20.500.13072/570273/hrCR225631125.pdf?sequence=1

[6] บันทึกการออกเสียลงคะแนนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๕ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๕ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันพุธที่ ๘มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๔

[7] บันทึกการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๕ ปีที่ ๔ ครั้งที่๕ (สมัยสามัญประจาปีครั้งที่หนึ่ง) วันพุธที่ ๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕, ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรอาคารรัฐสภา, หน้า ๒-๓
https://msbis.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_report/


กำลังโหลดความคิดเห็น