xs
xsm
sm
md
lg

ความแรงของพรรคเพื่อไทย อนาคตของรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

การแยกทางระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณนั้น หลายคนอาจจะมองว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างสองพี่น้อง แต่ส่วนตัวผมเชื่อว่า น่าจะเป็นข้อตกลงที่แยกกันทำการเมืองตามสไตล์ของตัวเอง แต่ยังมีสายสัมพันธ์ที่คล้องกันอยู่ ส่วนถ้าจะถามว่าพรรคของ 2 พี่น้องทั้ง 2 พรรคจะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งไหม ผมเชื่อว่าไม่ง่ายที่จะกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้

ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วทั้งสองคนอยู่ร่วมกันในพรรคเดียวมีอำนาจคสช.อยู่ในมือยังได้ส.ส.มาแค่ 116 จากทั้งส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ โดยได้ส.ส.เขต 97 คน แพ้พรรคเพื่อไทยที่ได้ส.ส.เขตไปทั้งหมด 136 คน แต่พรรคเพื่อไทยก็ส่งเพียง 250 เขตจากทั้งหมด 350 เขตเท่านั้นเอง และในครั้งนั้นพรรคเพื่อไทยไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้จะแบ่งเป็น 400 เขต แน่นอนว่าพรรคเพื่อไทยจะต้องส่งครบทุกเขต และระบบเลือกตั้งกลับมาเป็นแบบบัตรสองใบ พรรคไหนที่ได้ส.ส.พื้นที่เยอะก็ยิ่งจะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเยอะ ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่า พรรคเพื่อไทยจะกลับมาเป็นอันดับ 1 ไหม เพราะคำตอบคือ เขาจะมาเป็นอันดับ 1 แน่ๆ ชนิดที่แบเบอร์ 100 %ก็ว่าได้

ส่วนจะแลนด์สไลด์หรือไม่หรือพรรคเพื่อไทยจะได้ส.ส.เกินครึ่งหรือ 250 คนบวกหรือไม่นั้นของฟันธงว่าจะไม่แลนด์สไลด์

ผมลองเอานิด้าโพลมาคิดเล่นๆ นิด้าโพลบอกว่า ภาคเหนือพรรคเพื่อไทยจะได้ 48.70 % ภาคเหนือมีส.ส. 39 คน คิดบัญญัติไตรยางศ์ออกมาจะได้ส.ส.เท่ากับ 19 คน ภาคอีสานจะได้ 54.35 % ภาคอีสานมีส.ส. 132 คน จะได้ส.ส.72 คน ภาคกลางจะได้ 32.57 % ภาคกลางมีส.ส. 109 คน จะได้ 35 คน ภาคใต้จะได้ 14.94 % ภาคใต้มีส.ส. 58 คน จะได้ส.ส. 8 คน ภาคตะวันออกได้ 33.68 % ภาคตะวันออกมีส.ส. 29 คน จะได้ส.ส. 10 คน กทม.ได้ 28.50 % กทม.มีส.ส. 33 คน จะได้ส.ส. 9 คน

ดังนั้นจาก 400 เขตถ้าคิดตามนิด้าโพล พรรคเพื่อไทยจะได้ส.ส.159 คน คิดเป็น 39.75 % ดังนั้นจะได้บัญชีรายชื่อประมาณ 40 คนรวมกันเป็น 199 คน

ที่ผมคำนวณออกมาก็คงเห็นว่าต่อให้นิด้าโพลแม่นมาก พรรคเพื่อไทยก็จะยังไม่แลนด์สไลด์เลย ดังนั้นแม้จะได้เป็นอันดับ 1 เหมือนครั้งที่แล้วพรรคเพื่อไทยก็อาจจะไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ได้

ปัจจัยสำคัญของพรรคเพื่อไทยก็คือ พรรคก้าวไกลที่อยู่ฝั่งที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยเหมือนกันจะได้เท่าไหร่ เราลองเอานิด้าโพลมาคิดคะแนนของพรรคก้าวไกลอีกพรรค เริ่มจากภาคเหนือ นิด้าโพลบอกว่าพรรคก้าวไกลจะได้ 16.40 % ภาคเหนือก็จะได้ส.ส. 6 คน ภาคอีสานได้ 13.60 % จะได้ส.ส. 18 คน ภาคกลาง ได้ 19.98% จะได้ส.ส. 22 คน ภาคใต้ได้ 11.84 % จะได้ 7 คน ภาคตะวันออกได้ 19.29 % จะได้ส.ส.5 คน กทม.ได้ 26.45 % จะได้ส.ส.9 คน

ดังนั้นคิดตามนิด้าโพล ใน400 เขต ก้าวไกลจะได้ส.ส. 67 คน คิดเป็น 16.75 % ดังนั้นจะได้บัญชีรายชื่อประมาณ 17 คนรวมได้ 84 คน

นี่เป็นการคิดบัญชีรายชื่อตามเปอร์เซ็นต์แต่ละภาคตามคะแนนของนิด้าโพลเท่านั้นไม่ได้หมายความว่าแต่ละภาคจะได้ส.ส.ตามนั้น เช่นในภาคใต้พรรคเพื่อไทยไม่เคยได้ส.ส.เลย ในครั้งนี้คะแนนรวมทั้งภาคได้มาแค่ 14.94 % คะแนนรวมมาจากทุกจังหวัดดังนั้นเมื่อเฉลี่ยไปแต่ละจังหวัดก็อาจจะไม่พอทำให้ได้ส.ส.ในแต่ละจังหวัดเลยสักคนก็ได้ พรรคก้าวไกลซึ่งมีเพียง 11.84 %ในภาคใต้ก็เป็นคะแนนทั้งภาคในรายจังหวัดก็อาจจะไม่ได้สักคนเช่นเดียวกัน

หากเป็นไปตามนี้พรรคเพื่อไทยบวกกับพรรคก้าวไกลจะมีส.ส.รวมกัน 283 คน เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส. 500 คน จำนวนนี้แหละเป็นจำนวนที่ทักษิณเจ้าของพรรคเพื่อไทยโดยพฤตินัยต้องการหากไม่สามารถแลนด์สไลด์ในพรรคเดียว เพราะจะบีบส.ว. 250 เสียงว่าหากส.ว. 250 เสียงไปโหวตให้พรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันให้มีเสียง 2 สภาเกิน 375 เสียงกลับมาเป็นรัฐบาลอีกก็จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถบริหารประเทศได้ เพราะเมื่อโหวตในสภาผู้แทนราษฎรจะแพ้เสียงของฝ่ายค้าน

ถ้าขั้วรัฐบาลเดิมยึดตามนี้โดยใช้เสียง 250 ส.ว.ลากไปเพื่อเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย แม้จะไม่รอดในสภาผู้แทนแต่คนเป็นนายกรัฐมนตรีก็ถืออำนาจยุบสภาไว้ในมือ แต่ถึงยุบสภาไปผลเลือกตั้งใหม่ก็อาจกลับมาเหมือนเดิมหรืออาจจะแพ้มากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป

แต่เชื่อกันว่า ทักษิณไม่น่าจะรวมกับพรรคก้าวไกล เพราะพรรคนี้เป็นพรรคที่แสดงออกถึงการท้าทายต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีการอภิปรายในสภาโจมตีการใช้งบประมาณของสำนักงานพระมหากษัตริย์ และสนับสนุนม็อบที่เคลื่อนไหวให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง แต่ทักษิณจะใช้สถานการณ์นี้บีบให้พรรคอีกฝั่งเข้าร่วมซี่งดีกว่าจะเป็นพรรครัฐบาลเสียงข้างน้อย

ถ้าไม่อยากให้พรรคเพื่อไทยรวมกับพรรคก้าวไกลแล้วเป็นเสียงข้างมากในภาผู้แทนก็ต้องยอมรับเงื่อนไขของทักษิณ ดีกว่าอีกฝั่งใช้เสียงของส.ว. 250 เสียงเพื่ออุ้มเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย

ดังนั้นก็อาจจะเป็นไปได้ว่า พรรคพลังประชารัฐของพล.อ.ประวิตร ที่มีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่ากลับมาร่วมพรรคก็อาจจะไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย และพรรคที่ไม่อยากเป็นฝ่ายค้านเพราะเป็นฝ่ายค้านแล้วอดอยากอย่างพรรคภูมิใจไทยกับพรรคชาติไทยพัฒนาอาจจะไปร่วมด้วย

มีคนบอกเหมือนกันว่าทักษิณกับพรรคภูมิใจไทยนั้นยากที่จะร่วมกันได้เพราะทักษิณยังผูกใจเจ็บเนวิน ชิดชอบ แต่ผมคิดว่าเมื่อถึงเวลาก็จะอธิบายความหมายไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรในทางการเมืองได้
 
นั่นหมายความว่า อาจจะเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทย และพรรคเล็กในปีกนี้อีกจำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า นายกรัฐมนตรีจะมาจากพรรคเพื่อไทยที่อาจจะเสนอแพทองธาร ชินวัตร หรือเศรษฐา ทวีสิน ขึ้นอยู่กับการต่อรองและเงื่อนไขพิเศษนายกรัฐมนตรีอาจมาจากพรรคพลังประชารัฐซึ่งหมายถึงพล.อ.ประวิตรก็ได้ ถ้าพรรคนี้มีเสียงถึง 25 เสียง

อย่าลืมว่าเงื่อนไขสำคัญที่สุดของการสู้เพื่อให้ได้อำนาจทางการเมืองครั้งนี้ของทักษิณ คือการได้กลับบ้านมาเลี้ยงหลาน ดังนั้นอาจจะมีบางอย่างที่ทำให้เขาต้องจำนนแม้พรรคของเขาจะได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากที่สุดก็ตาม

แต่ถ้าคนของพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลเสียเอง ไม่ว่าจะเป็นแพทองธารหรือเศรษฐา ทักษิณก็จะต้องทบทวนบทเรียนว่า อะไรที่เขาทำให้มวลชนอีกฝั่งออกมาต่อต้านและทำให้เขาและน้องสาวต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก หรือถ้าทักษิณหักดิบรวมกับพรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาลก็เชื่อเถอะว่าจะอยู่ได้ไม่นาน

ถ้าอย่างนี้พรรคไหนจะเป็นพรรคฝ่ายค้านก็ตอบได้ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ และพรรครวมไทยสร้างชาติของพล.อ.ประยุทธ์ พรรคที่จะเป็นแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านคือ พรรคก้าวไกล มีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน เพราะพรรคก้าวไกลน่าจะได้รับเลือกมามากที่สุดในฝ่ายนี้

การเลือกตั้งครั้งหน้าน่าจะยังสามารถทัดทานเสียงของคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลเอาไว้ได้แม้จะมีเสียงของโหวตเตอร์ใหม่เพิ่มมาอีกประมาณ 8 แสนเสียง แต่ยังไม่น่าจะมากพอที่จะทำให้พรรคก้าวไกลก้าวมาเป็นพรรคอันดับ 1 ได้ การเปลี่ยนแปลงที่จะท้าทายสังคมไทยก็อาจจะยังไม่เกิดขึ้น นอกจากถึงวันที่คนรุ่นเบบี้บูมและเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ และเจนวาย ตอนต้นนั่นคือคนที่อายุ 40 ขึ้นไปในปัจจุบัน ล้มหายตายจากไปหมดสิ้นเสียก่อน

แต่มวลชนของก้าวไกลจะน่ากลัวเมื่อวันที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสนกนกกุล พ้นโทษแบนทางการเมือง ซึ่งโทษ 10 ปีของพวกเขาทั้งสองนั้นผ่านมาแล้วเกือบ 4 ปี เหลืออีกเพียง 6 ปี พวกเขาก็จะกลับมาเขย่าขวัญการเมืองอีก ดังนั้น ณ เวลานี้ยังไม่ถึงเวลาของพรรคก้าวไกล

นี่เป็นสมการการเมืองในครั้งหน้าที่ผมคิดจากฐานของนิด้าโพล ซึ่งผลอาจจะแปรผันได้เพียงแต่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลพลาดเป้าไปสักพรรคละ 10-20 เสียงจากการสำรวจของโพล ขั้วรัฐบาลปัจจุบันก็อาจจะพลิกกลับมาเป็นเสียงข้างมากคือรวมกันเกิน 250 คนได้ ดังนั้นต้องบอกว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าอาจจะยังสูสีและอยู่เหนือการคาดการณ์

แต่ถ้าให้ฟันธงว่าโอกาสฝ่ายไหนมากกว่ากันวันนี้ต้องยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยของทักษิณนั้นมาแรงมาก

ติดตามผู้เขียนได้ที่https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น