xs
xsm
sm
md
lg

แปลกแต่จริง! พรรคการเมืองอ้างว่าห่วงสังคม แต่กลับจะคว่ำกฎหมายกัญชาไม่ให้มีกฎหมายมาควบคุม / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

จากกรณีที่ นายแพทย์บัญญัติ เจตนจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดระยองและนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย พรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงข่าวระบุว่านโยบายกัญชาของกระทรวงสาธารณสุขเป็นการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการเต็มรูปแบบ ทำให้กัญชาทางการแพทย์ผิดเพี้ยนไปนั้น[1] น่าจะเป็นคำแถลงที่ไม่ถูกต้อง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

ประการแรก กรณีที่นายแพทย์บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขตัดสินประโยชน์และโทษของกัญชาด้วยความเชื่อตามสื่อโฆษณาชวนเชื่อและหลักฐานวิจัยขั้นต่ำ โดยไม่สนใจตำราแพทย์หรือผลงานวิจัยเชิงประจักษ์ขั้นสูงนั้นไม่เป็นความจริง

เพราะผลการศึกษาของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ตามที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ นั้นเป็นการยืนยันด้วยการรวบรวมงานวิจัยทางคลินิกและการวิเคราะห์อภิมาน (Meta Analysis)ที่มีคุณภาพ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นงานวิจัยที่ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำในต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานสูง สรุปได้ว่ากัญชามีประโยชน์ไม่เพียงทางการแพทย์เท่านั้นแต่ยังมีบทบาทต่อการส่งเสริมสุขภาพด้วย โดยพบว่าช่วยลดอาการปวด ลดความเจ็บปวดเรื้อรังจากโรคมะเร็ง ใช้การสูดดมกัญชาแห้งเพื่อลดอาการปวดและลดความเครียดในผู้ป่วยโรคโครห์น ลำไส้อักเสบ อีกทั้งยังช่วยลดระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานลดอาการวิตกกังวล หรือไม่เพิ่มอาการวิตกกังวลอีกด้วย [2]

โดยเฉพาะอย่ายิ่ง ความน่าสนใจที่ไปไกลกว่านั้นคือ “กัญชา” ยังอยู่ในฐานะสมุนไพร “ส่งเสริมสุขภาพ” ด้วย เพราะงานวิจัยตีพิมพ์ใน BMJ Open ซึ่งวารสารทางการแพทย์ชั้นนำเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕ สำรวจพบว่าผู้ที่ใช้กัญชา “ลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน” ลดลงอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย[3]

ในทางตรงกันข้ามหากต้องการหลักฐานเชิงประจักษ์ “ขั้นสูง” ตามที่นายแพทย์บัญญัติ เจตนจันทร์ แถลงข่าวนั้น โดยต้องให้ผู้ป่วย หรือคนไทยต้องรอเพียงงานวิจัยที่เต็มรูปแบบของฝรั่งหรือแบบสากล แม้จะเป็นเรื่องที่ใช้เป็นรูปแบบหลักของการแพทย์แผนปัจจุบันที่ต้องเคารพ แต่การได้ยาชนิดหนึ่งที่ผ่านงานวิจัยเชิงประจักษ์ขั้นสูงจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๑๗-๒๐ ปี คงมีแต่บริษัทยาข้ามชาติที่มีทุนมหาศาลเท่านั้นที่จะทำได้ รูปแบบดังกล่าวนี้ย่อมมาพร้อมกับค่ายาที่มีค่าสิทธิบัตรยาในราคาแพงอย่างแน่นอน และผูกขาดเฉพาะวงการแพทย์แผนปัจจุบันหรือกลุ่มทุนบริษัทยาเท่านั้น

นายแพทย์บัญญัติ เจตนจันทร์ จึงไม่ควรจะยึดแบบแผนเดียวที่จะเป็นประโยชน์เฉพาะกลุ่มทุนบริษัทยาข้ามชาติเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ประเทศไทยต้องเสียเปรียบเพราะห้ามใช้กัญชาทางการแพทย์มาหลายสิบปี ในขณะที่กลุ่มทุนต่างชาติได้เดินหน้าวิจัยและใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จนมีสิทธิบัตรยาก่อนประเทศไทยจำนวนมากและนานแล้ว

อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลกได้เปิดทางยอมรับการแพทย์ที่ตกทอดมาทางวัฒนธรรมที่บันทึกถ่ายทอดมาจากจากรุ่นสู่รุ่นที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องรอรูปแบบงานวิจัยแบบฝรั่งอย่างเดียวที่ต้องใช้เวลาและทุนมหาศาล

ซึ่งประเทศไทยควรจะต้องภูมิใจที่ประเทศไทยมีมรดกภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยหมอพื้นบ้าน และการใช้สมุนไพรเพื่อพึ่งพาตัวเองในทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยปัจจุบันประเทศไทยได้มีกฎหมายรับรองโดยเฉพาะ และยังมีสภาวิชาชีพการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ และการแพทย์พื้นบ้านกฎหมายดังกล่าวยังได้รับคำชื่นชมความก้าวหน้าในทางสากล จึงไม่ต้องรอ หลักฐานเชิงประจักษ์ “ขั้นสูง” แต่เพียงอย่างเดียว

ประการที่สอง กรณีที่นายแพทย์บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่สนใจที่จะนำผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและปราศจากสารปนเปื้อนมาให้ผู้ป่วยใช้ แต่เน้นปลูกกันเอง รักษาตัวเอง ซึ่งจะมีสารปนเปื้อน โลหะหนักต่างๆ ที่เป็นอันตรายนั้น ก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน

กระทรวงสาธารณสุขได้พยายามอย่างยิ่งที่จะใช้กัญชาทางการแพทย์มาโดยตลอดผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ได้ถูกผลิตขึ้นมาจากหลายหน่วยงาน ดังเช่น โรงงานขององค์การเภสัชกรรม โรงงานเภสัชกรรมทหาร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์โรงงานของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงงานของมหาวิทยาลัย และโรงงานยาของโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย อีกทั้งยังได้ตั้งคลินิกกัญชาเพื่อส่งเสริมช่องทางการเข้าถึงกัญชามากขึ้น การกล่าวหาว่าไม่มีความสนใจในผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพจึงเป็นเรื่องเท็จ

แต่ด้วยรูปแบบที่ยึดหลักฐานเชิงประจักษ์ “ขั้นสูง” ของการแพทย์แผนปัจจุบันต่างหาก ที่ตั้งเงื่อนไขการจ่ายกัญชาที่มีความยุ่งยากและสลับซับซ้อน อีกทั้งยังติดเงื่อนไขที่ว่ากัญชาเป็นยาเสพติด ได้ทำให้แพทย์จ่ายยากัญชาได้น้อยมากไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และทำให้ประชาชนต้องหันไปใช้กัญชาใต้ดินเป็นจำนวนมาก

 โดยมีหลักฐานปรากฏใน ผลการศึกษาของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด(ศศก.)ในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ พบว่าประชาชนที่ได้รับกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ สามารถรับกัญชาจากแพทย์แผนปัจจุบันในกระทรวงสาธารณสุขเพียงร้อยละ ๐.๙ เท่านั้น

ในขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับกัญชาจากแพทย์แผนไทยในกระทรวงสาธารณสุขเพียงร้อยละ ๔.๗ ส่วนที่ได้รับกัญชาจากแพทย์พื้นบ้านทั้งที่มีทะเบียนและไม่มีทะเบียนนอกระบบกระทรวงสาธารณสุขร้อยละ ๓๒.๓ [4] สะท้อนให้เห็นว่าการรอหลักฐานเชิงประจักษ์ “ขั้นสูง” ในรูปแบบของการแพทย์แผนปัจจุบันไม่สามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาได้จริง 
ยิ่งไปกว่านั้นตัวเลขที่ได้รับกัญชาในระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้นมีเพียงร้อยละ ๑๖ เท่านั้น ซึ่งแปลว่ามีประชาชนใช้ประโยชน์กัญชทางการแพทย์นอกระบบมากถึงร้อยละ ๘๔ เช่น ได้จากญาติ ตลาดมืด และที่ไม่สามารถระบุที่มาของกัญชาได้[4]

ถึงแม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์จะใช้อย่างผิดกฎหมาย แต่ผลสำรวจก็ได้พบว่าหลังใช้กัญชาประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงโรคในทางที่ดีขึ้นถึงดีขึ้นมากจำนวนมากถึงร้อยละ ๙๓.๔[4] และส่วนใหญ่ใช้ปริมาณเท่าเดิมจากที่เคยใช้ครั้งแรกโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณ

เราจึงไม่ควรเอาประชาชนผู้ที่ได้ประโยชน์จากกัญชาจำนวนมากมาเป็นอาชญากรหรือเป็นนักโทษเพียงเพราะการใช้ไม่สอดคล้องกับรูปแบบการผูกขาดทางการแพทย์ในรูปแบบการวิจัยเชิงประจักษ์ “ขั้นสูง” ของสากลแต่เพียงอย่างเดียว จริงหรือไม่?

จากหลักฐานความจริงข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีการใช้กัญชาใต้ดินเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์จำนวนมากอยู่แล้ว และผู้บริโภคจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองเพื่อลดความเสี่ยงจากกัญชาในตลาดมืดที่อาจปนเปื้อนสารพิษจากการปลูกที่ไม่มีการตรวจสอบและไม่รับผิดชอบ หรือเสี่ยงจากสารสังเคราะห์กัญชาที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพเช่นกัน การปลูกเพื่อสุขภาพด้วยการพึ่งพาตัวเอง จึงเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงจากกัญชาใต้ดินเหล่านี้

การไม่ยอมรับความจริงและยังยืนยันที่จะผูกขาดทางการแพทย์ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ขั้นสูงต่างหาก กลับจะทำให้ประชาชนต้องได้รับกัญชาที่มีความเสี่ยงต่อสารปนเปื้อน โลหะหนักต่างๆ ที่เป็นอันตรายยิ่งกว่า และยังมีราคาแพงด้วย และในต่างประเทศที่มีการใช้ประโยชน์จากกัญชาก็อนุญาตให้ประชาชนปลูกเพื่อการพึ่งพาตัวเองได้ เช่น แคนนาดา และหลายมลรัฐในสหรัฐอเมริกา

ประการที่สาม กรณีที่นายแพทย์บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุข ใช้การแพทย์แผนอนุทินโดยอ้างว่าคนไทยทุกคนเก่งเรื่องกัญชาอยู่แล้ว และใช้มาหลายร้อยปี คิดเอง ปลูกเอง สกัดเอง สั่งใช้เอง โดยไม่ต้องพึ่งแพทย์

สำหรับ “กัญชา” เป็นสมุนไพรที่อยู่ในทั้งวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์แผนไทย และเคยใช้มาหลายร้อยปีนั้น เป็นข้อเท็จจริง

โดยจากการสำรวจในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ที่พบว่าประชาชนใช้กัญชาใต้ดินหลายปีที่ผ่านมาและยังได้รับประโยชน์ต่อสุขภาพและโรคที่เป็นอาการดีขึ้นถึงร้อยละ ๙๓.๔ โดยอาศัยกัญชานอกระบบถึงร้อยละ ๘๔[4] ย่อมแสดงให้ว่าประชาชนคนไทยมีความเข้าใจในการใช้กัญชาที่ไม่ต้องรอหลักฐานเชิงประจักษ์ขั้นสูงที่ส่วนใหญ่แพทย์จะไม่จ่ายกัญชาให้กับผู้ป่วย สอดคล้องกับตำราแพทย์ประจำบ้านเมื่อง ๑๐๗ ปีที่แล้วของ พระยาแพทย์พงศาพิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) แพทย์ประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ที่มอบมรดกภูมิปัญญาการใช้“กัญชา” เป็น “สมุนไพร” สำหรับ “พ่อบ้านแม่เรือน”ที่มีความปลอดภัยใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาแพทย์[5]-[6]

ประการที่สี่ กรณีที่นายแพทย์บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงกล่าวหาว่ากระทรวงสาธารณสุข มีความเชื่อว่าคนไทยทนกัญชาได้ดีกว่ามนุษย์พันธุ์อื่นบนโลกใบนี้ ใครอยากใช้ก็ใช้เลยไม่ต้องให้หมอตรวจหรือประเมินนั้นไม่เป็นความจริง

เพราะเมื่อตรวจสอบดูแล้วกระทรวงสาธารณสุขหรือนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่เคยมีคำแถลงเรื่องคนไทยทนกับกัญชาเหนือกว่ามนุษย์พันธุ์อื่นในโลกแต่ประการใด คำกล่าวดังกล่าวเป็นความเท็จ

แต่ความจริงมีอยู่ว่าในประเทศอื่นก็มีการให้ประชาชนปลูกกัญชาและใช้สำหรับการพึ่งพาตัวเองได้ เช่น แคนนาดา และหลายมลรัฐในสหรัฐอเมริกา เพราะมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้านดังที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ใช่เพราะคนไทยทนกัญชาได้กว่าชาติอื่นแต่ประการใด

หากแต่งานวิจัยในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งได้เสนอผ่านวารสารการเสพติดยาและแอลกอฮอล์ Drug and Alcohol dependence เป็นงานวิจัยที่ศึกษากลุ่มประชากรขนาดใหญ่ โดยมีการสำรวจตัวอย่างผู้สูบบุหรี่ ๑๕,๙๑๘ คน, แอลกอฮอล์ ๒๘,๙๐๗คน และกัญชาก็มีการสำรวจมากถึง ๗,๓๘๙ คนพบว่า นับตั้งแต่ใช้ครั้งแรกที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสจะเสพติดบุหรี่สูงสุดร้อยละ ๖๗.๕, ครั้งแรกที่ดื่มเหล้ามีโอกาสติดเหล้าสูงสุดร้อยละ ๒๒.๗ และหากสูบกัญชาครั้งแรกจะมีโอกาสติดกัญชาสูงสุดเพียงร้อยละ ๘.๙ เท่านั้น[7]

ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญ ๓ ท่านในสหรัฐอเมริกา ประกอบไปด้วย ๑. ศาสตราจารย์แจค อี. เฮนนิ่งฟิลด์ (Jack E. Henningfield) ผู้เชี่ยวชาญด้านสารเสพติด มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ทำงานให้หลายองค์กรสำคัญเช่น NIDA, FDA, DEA ๒. ศาสตราจารย์ นีล แอล. เบนโนวิทซ์ (Neal L. Benowitz) ศูนย์วิจัยยาสูบมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมือง ซานฟรานซิสโก และ ๓. รองศาสตราจารย์แดเนียล์เอ็ม. เพอร์รีน (Daniel M. Perrine) วิทยาลัยโลโยลา เมืองบัลติมอร์ รัฐแมรี่แลนด์ ได้ให้คะแนนจัดลำดับการจัดฤทธิ์การเสพติด ๖ ชนิด พบว่ากัญชามีฤทธิ์เสพติด “น้อยที่สุด” และ น้อยกว่าหรือใกล้เคียงกับ “กาแฟ” เท่านั้น[8]

ประการที่ห้า นายแพทย์บัญญัติ เจตนจันทร์ กล่าวหาว่ากระทรวงสาธารณสุขมีความเชื่อว่า กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด แต่สหประชาชาติ และทั่วโลก ยังกำหนดให้เป็นยาเสพติดให้โทษอยู่นั้น

ในความเป็นจริงแล้วการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เสียงข้างมากหรือเกือบเป็นเอกฉันท์เห็นชอบประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งไม่มีการระบุชื่อพืชกัญชาเป็นยาเสพติดชนิดใดๆ ในมาตรา ๒๙ ซึ่งมีความแตกต่างจากประมวลกฎหมายยาเสพติดและพระราชบัญญัติยาเสพติดทุกฉบับ โดยในครั้งนั้นพรรคประชาธิปัตย์เห็นชอบในมติดังกล่าวด้วย[9]

ยืนยันอีกครั้งด้วยร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ…. ที่ต้องมีการจัดทำขึ้นนั้นได้ระบุในเหตุผลเอาไว้ว่า “โดยที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ….” [10] ซึ่งเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกับ“หลักการ” ของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ โดยพรรคประชาธิปัตย์ก็เห็นชอบในหลักการดังกล่าวเช่นเดียวกัน ทั้งๆที่ในเวลานั้นมีเพียง ๔๕ มาตราเท่านั้น[9]

แต่เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติแม้กัญชาจะไม่ได้เป็นยาเสพติดสำหรับประเทศไทย ย่อมจะเปิดความผ่อนปรนในกฎกติกาในงานวิจัย การวิจัยในมนุษย์รวมถึงทลายข้อจำกัดในทางการแพทย์ที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึง แต่การที่ยังมีการควบคุม “ตามขั้นตอน” อยู่ภายใต้อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษค.ศ. ๑๙๖๑ นั้น ย่อมจะเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศไทยมากกว่า และยังเชื่อว่าจะสามารถชี้แจงต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดได้ เพราะแม้แต่ทุกประเทศที่มีการใช้เพื่อนันทนาการมาหลายสิบปี ก็ไม่ได้ถูกลงโทษจากนานาชาติแต่ประการใด

ในทางตรงกันข้ามการใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์และทางนันทนาการกลับเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในประเทศที่มีการพัฒนาแล้วทั้งสิ้น มีทั้งในหลายประเทศในยุโรปแคนนาดา หลายมลรัฐในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ ฯลฯ[11]

ประการที่หก กรณีที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แถลงข่าวว่าขณะนี้เป็นกัญชาเสรีสุดขั้ว และระบุว่าจะอภิปรายและให้กรรมาธิการฯพิจารณาว่าจะแก้ไขหรือไม่ หากไม่แก้ไขก็จะมีโอกาสตีตกสูงนั้น ขอเรียนให้ทราบข้อเท็จจริงว่า

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ… นั้น สภาผู้แทนราษฎรได้ส่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้แทนตามสัดส่วนของพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมไปถึงข้าราชการ และผู้ทรงคุณวุฒิรวม ๒๕ คน เพื่อไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติมให้มีความสมบูรณ์ขึ้น


๒๕ คนนี้เป็นสัดส่วนตัวแทนมาจากคณะรัฐมนตรี ๕ คน, พรรคพลังประชารัฐ ๔ คน, พรรคภูมิใจไทย ๓ คน, พรรคประชาธิปัตย์ ๒ คน, พรรคเพื่อไทย ๖ คน, พรรคก้าวไกล ๒ คน, พรรคเศรษฐกิจไทย ๑ คน, พรรคชาติไทยพัฒนา ๑ คน, พรรคเสรีรวมไทย ๑ คน
เมื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขมาตราเสร็จปรากฏว่า มีมาตราเพิ่มขึ้นจาก ๔๕ มาตรามาเป็น ๙๕ มาตรา ซึ่งเพิ่มมาจากเดิมถึง ๕๐ มาตรา ซึ่งมาตราที่เพิ่มขึ้นนั้นก็เป็นการเพิ่มบทบัญญัติการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และกระท่อมมาเปรียบเทียบ และซึ่งคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากได้ถกเถียงและลงมติจนเพิ่มมากลายเป็น ๙๕ มาตรา ซึ่งควบคุมเข้มข้นขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน

พรรคประชาธิปัตย์ ได้ส่งผู้แทนของพรรคมาเป็นกรรมาธิการฯ หากไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการฯเสียงข้างมากก็สามารถสงวนคำแปรญัตติได้ คำถามคือผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ได้สงวนคำแปรญัตติเอาไว้เพื่อลงมติในสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่หากไม่ได้สงวนคำแปรญญัติก็ย่อมเป็นความรับผิดชอบของพรรคประชาธิปัตย์ใช่หรือไม่?

ซึ่งนายกนก วงศ์ตระหง่าน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อมาประชุมในคณะกรรมาธิการ ก็ได้เสนอให้มีพื้นที่สูบกัญชาในแหล่งท่องเที่ยวในคืนพระจันทร์เต็มดวง เสนอให้ผู้ประกอบการกัญชารายเล็กที่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมจาก ๑ ไร่ เป็น๕ ไร่ เสนอให้เพิ่มงบประมาณการวิจัยกัญชา เสนอให้อย่าผูกขาดทางการแพทย์อย่างเดียว และไม่เคยสงวนคำแปรญัตติหรือระบุในการประชุมแม้แต่ครั้งเดียวว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ ใช้ไม่ได้ หรือเป็นโทษต่อเยาวชนอย่างร้ายแรงแต่ประการใดเพราะข้อเสนอทุกมาตราของ นายกนก วงศ์ตระหง่าน ได้รับการตอบสนองจากคณะกรรมาธิการฯด้วยความเคารพมาโดยตลอด จริงหรือไม่ทุกอย่างปรากฏรายละเอียดในบันทึกการประชุมไว้แล้ว

ยิ่งไปกว่านั้นนายกนก วงศ์ตระหง่าน เมื่อทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการฯ ก็ไม่เคยกล่าวในที่ประชุมถึงความไม่เหมาะสมของร่างกฎหมายที่แก้ไขในคณะกรรมาธิการฯ ดังนั้นจึงไม่เคยมีตัวแทนคณะกรรมาธิการของพรรคประชาธิปัตย์เคยเรียกร้องให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกแต่ประชการใด

เพราะถ้าหากผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ได้สงวนคำแปรญัตติในมาตราใดเอาไว้ ก็ยังสามารถไปอภิปรายในฐานะเสียงข้างน้อยในกรรมาธิการฯ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเสียงข้างมากว่าจะเห็นชอบกับคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก หรือเห็นชอบด้วยกับคณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย

เพราะแม้แต่ผู้เขียนเองก็มีบางมาตราที่ไม่เห็นด้วยกับเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการ ก็สงวนคำแปรญัตติไว้เพื่อรออภิปรายแล้วลงมติด้วยเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน

จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่านายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง ซึ่งมีประสบการณ์ในสภาผู้แทนราษฎรมาอย่างยาวนาน ย่อมรู้กลไกของสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว เหตุใดจึงต้องบีบบังคับให้คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากต้องเห็นชอบด้วยกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะสิทธิในการแก้ไขสามารถทำได้ทุกมาตราอยู่แล้วในสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้เกี่ยวกับคณะกรรมาธิการเลย และไม่จำเป็นต้องถ่วงเวลาด้วย

และการที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย มีความเห็นว่าเป็นความบกพร่องตั้งแต่แรกของรัฐบาลที่ไม่ออกกฎหมายก่อนการปลดล็อกนั้น สะท้อนให้เห็นว่านายสาทิตย์วงศ์หนองเตย ไม่ได้เห็นใจผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ใช้กัญชานอกระบบทางการแพทย์จำนวนมากที่จะต้องเสี่ยงตกเป็นอาชญากรไปอีกนาน เพียงเพราะสภาผู้แทนราษฎรมัวแต่เล่นการเมืองเตะถ่วงกฎหมายไม่ให้ถูกพิจารณาแก้ไขรายมาตราจริงหรือไม่?

และที่กระทรวงสาธารณสุขพยายามทำทุกหนทางเพื่อไม่ให้กัญชาเสรี ด้วยการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอื่นๆอีกหลายฉบับ[12]-[24] ก็เป็นการประยุกต์ใช้กฎหมายเพื่อควบคุมกัญชา ส่วนหนึ่งก็เพราะสภาผู้แทนราษฎรได้เตะถ่วง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง จนนานเกินสมควร จริงหรือไม่?

จึงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจประชาชนที่เฝ้ารอกฎหมายเพื่อการใช้ประโยชน์และการควบคุมกัญชา กัญชงอยู่ แทนที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองจะได้ใช้สิทธิเห็นชอบ/แก้ไข ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ… ของคณะกรรมาธิการ ได้ทุกมาตราตามที่ได้สงวนคำแปรญัตติเอาไว้ กลับแสดงท่าทีที่จะใช้วิธีขู่เข็ญบังคับให้กรรมาธิการฯต้องเห็นชอบกับพรรคการเมือง มิเช่นนั้นจะคว่ำกฎหมาย

จึงเป็นเรื่องแปลกแต่จริง! ที่ว่ากระทรวงสาธารณสุขที่ถูกกล่าวหาว่าปล่อยกัญชาเสรีกลับเป็นฝ่ายออกกฎกติกา และประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อควบคุมกัญชาจำนวกมาก [12]-[24] ตามที่อำนาจทางกฎหมายเท่าที่จะทำได้ในระหว่าง รอการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง

ในทางตรงกันข้ามพรรคการเมืองอ้างว่าห่วงสังคม ซึ่งมีส่วนร่วมในการปลดล็อกกัญชาออกจากประมวลกฎหมายยาเสพติด เอาแต่บ่นว่าประกาศกระทรวงสาธารณสุขและกติกาทั้งหลายไม่มีดี มีแต่ปล่อยให้กัญชาเสรี แทนที่จะเร่งเห็นชอบหรือแก้ไขพิจารณารายมาตรา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ… ของกรรมาธิการฯกลับคิดแต่จะถ่วงเวลา หรือคิดจะคว่ำกฎหมายกัญชาไม่ให้มีกฎหมายมาควบคุมใดๆ ทั้งสิ้น

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข
๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02T79RbGUVzhswMjAptjbhaMrqzHACgNePpVBLXn3NvwougJRCtDn3xXcAXtG9wsLCl&id=100044511276276&mibextid=Nif5oz

อ้างอิง
[1] ผู้จัดการออนไลน์, ปชป.ซัด "กัญชาแผนอนุทิน" ทำแพทย์แผนไทยผิดเพี้ยน ประกาศสธ.ใหม่ไร้อำนาจคุมจริง ขู่ตีตกกม., เผยแพร่: 30 พ.ย. 2565 15:22 ปรับปรุง: 30 พ.ย. 2565, 15:22 น.
https://mgronline.com/politics/detail/9650000114138

[2] ผู้จัดการออนไลน์, สวรส.เผยผลวิจัยต่างประเทศ พิสูจน์พบประสิทธิภาพกัญชากับการใช้ทางการแพทย์ เพื่อการรักษา-การเข้าถึง-และคุณภาพชีวิตผู้ป่วย, เผยแพร่: 29 พ.ย. 2565 14:06 น. ปรับปรุง: 29 พ.ย. 2565
https://mgronline.com/qol/detail/9650000113696

[3] Rajavashisth TB, Shaheen M, Norris KC, Pan D, Sinha SK, Ortega J, Friedman TC. Decreased prevalence of diabetes in marijuana users: cross-sectional data from the National Health and Nutrition Examination Survey (NHANES) III. BMJ Open. 2012 Feb 24;2:e000494. doi: 10.1136/bmjopen-2011-000494.
https://bmjopen.bmj.com/content/bmjopen/2/1/e000494.full.pdf

[4] สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ. การศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง. ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก). 2565

[5] ผู้จัดการออนไลน์, ปานเทพ” โชว์หนังสือจริง 107 ปีก่อน หมอประจำพระองค์ ร.6 ให้ชาวบ้านใช้กัญชาพึ่งพาตัวเองได้, เผยแพร่: 19 ก.ย. 2565 20:01 ปรับปรุง: 19 ก.ย. 2565 20:01 น.
https://mgronline.com/politics/detail/9650000090106

[6] พระยาแพทย์พงศาพิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช), แพทย์ประจำบ้าน, พิมพ์ครั้งที่๒ พ.ศ. ๒๔๕๘ หน้า ๑๗๒

[7] Catalina Lopez-Quintero, et al, Probability and predictors of transition from first use to dependence on nicotine, alcohol, cannabis, and cocaine: Results of the National Epidemiologic Survey on Alcohol and Related Conditions (NESARC),Drug and Alcohol dependence, Volume 115, Issues 1-2, May 2011, Pages 120-130
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3069146/

[8] Steven C. Markoff. Is Marijuana Addictive? The Medical Marijuana Magazine. http://www.drugsense.org/mcwilliams/www.marijuanamagazine.com/toc/addictiv.htm

[9] บันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ ๔ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันอังคารที่ ๒๔ สิงหาคมพุทธศักราช ๒๕๖๔ หน้า ๗
https://msbis.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_report/main_warehouse_dll_x.php?aid=10018&mid=4334

[10] ร่าง พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….ของพรรคภูมิใจไทย
https://www.parliament.go.th/section77/manage/files/file_20220218082928_1_193.pdf

[11] Wikipedia, Legality of cannabis.
https://en.wikipedia.org/wiki/Legality_of_cannabis

[12] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๔) พ.ศ. ๒๕๖๔, ลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๔๕ ง, หน้า ๓๒และ บัญชีท้ายประกาศหน้า ๓ และ ๔
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/045/T_0032.PDF

[13] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การใช้ส่วนของกัญชงในเครื่องสำอาง พ.ศ. ๒๕๖๔, ลงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ๑๐๕ ง, หน้า ๒-๓
https://cannabis.fda.moph.go.th/wp-content/uploads/2021/05/PK64MOPH-CosmeticsHemp-180564.pdf

[14] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่ห้ามนำเข้า พ.ศ. ๒๕๖๕, ลงวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๑๒๙ ง, หน้า ๒๑
https://cannabis.fda.moph.go.th/wp-content/uploads/2022/06/T65_0021.pdf

[15] ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดมาตรฐาน คุณภาพ และวิธีเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ควบคุม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๖๔, ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๒๖ ง, หน้า ๕
https://www.doa.go.th/ard/wp-content/uploads/2021/08/Q.6-Canabis-2564.pdf

[16] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๗) พ.ศ. ๒๕๖๔ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนกัญชาหรือกัญชง, ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๖๘ ง, หน้า ๒๒-๒๔
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/168/T_0022.PDF

[17] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๘) พ.ศ. ๒๕๖๔ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนชนิดสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล และสารแคนนาบิไดออล, ๒๓ กรกฎาคม๒๕๖๔ เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๖๘ ง, หน้า ๒๕-๒๖
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/168/T_0025.PDF

[18] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ พ.ศ. ๒๕๖๕, วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๓๕ง, หน้า ๘
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/035/T_0008.PDF

[19] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม(กัญชา) พ.ศ. ๒๕๖๕, ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๑๓๗ ง, หน้า๙
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/137/T_0009.PDF

[20] ประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่องแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงในสถาบันอุดมศึกษา ส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕
http://calendar.buu.ac.th/document/1655699635.pdf

[21] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องแนวทางการปฏิบัตเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงในสถานศึกษาส่วนราชการหรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ, ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ๑๕๖ ง, หน้า ๒๐-๒๑
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/156/T_0020.PDF

[22] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๖๕, เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ การควบคุมคุณภาพ และการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ, ในสถานที่จำหน่ายอาหาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๕, ๒๕ สิงหาคม๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๑๙๘ ง หน้า ๖-๗
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/198/T_0006.PDF

[23] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๓๘) พ.ศ. ๒๕๖๕ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนกัญชาหรือกัญชง (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ตอนพิเศษ ๒๕๑ ง, หน้า ๓๑-๓๓
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/251/T_0031.PDF

[24] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม(กัญชา)พ.ศ. ๒๕๖๕, ลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๒๗๒ ง, หน้า ๓-๔
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/272/T_0003.PDF


กำลังโหลดความคิดเห็น