xs
xsm
sm
md
lg

ประกาศ “กัญชา” สมุนไพรควบคุมฉบับใหม่บังคับใช้แล้ว ประชาชนเข้าถึงกัญชาเพื่อการพึ่งพาตัวเองได้ แต่ถ้า “ทำการค้าช่อดอก” ต้องขออนุญาตและรับผิดชอบต่อสังคม / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม(กัญชา)พ.ศ. ๒๕๖๕ ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามตั้งแต่วันที่ ๑๑พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๕[1] แต่กว่าจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา (มีความหมายว่ามีผลบังคับใช้) วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕[2]

โดยการประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๓พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕ นี้[2] ได้อาศัยพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒[3] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุขโดยอาศัยคำแนะนำของคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย[2] ไม่ใช่ประกาศตามประมวลกฎหมายยาเสพติดแต่ประการใด

ดังนั้นประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวนี้จึงไม่ใช่อำนาจการตัดสินใจใดๆ ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) เพราะคณะกรรมการ ป.ป.ส. พิจารณาให้ความเห็นชอบได้เฉพาะเรื่องที่เป็นยาเสพติดเท่านั้น
ดังนั้นเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ส. มิได้ให้กัญชาและช่อดอกกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ แล้ว[4] กัญชาย่อมไม่ใช่เรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. จะพิจารณาได้อีกต่อไป
และที่สำคัญไม่ใช่อำนาจของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่อำนาจของรองนายกรัฐมนตรีและไม่ใช่อำนาจของคณะรัฐมนตรี เนื่องด้วยเพราะเป็น “อำนาจเฉพาะ” ที่ถูกบัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจนภายใต้พระราชบัญญัติ คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้นจึงไม่มีใครมีอำนาจที่จะสั่งชะลอการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาได้เช่นกัน[3]-[6]

อย่างไรก็ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม(กัญชา) นั้นไม่ใช่เกิดขึ้นเป็นฉบับแรก เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการประกาศให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุมมาแล้ว ๑ ฉบับ คือฉบับวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕[7] แต่ฉบับใหม่ล่าสุดที่มีการเปลี่ยนแปลงคือฉบับที่ ๒ ซึ่งลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๓พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕[2]

“หลักการ” สำคัญของประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุมฉบับล่าสุด (วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕) นี้ได้ยกเลิกฉบับเก่า (วันที่ ๑๖มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕) ทั้งหมด[2] โดยสรุปแล้วมีผลใน “หลักการ”ทางกฎหมายต่างจากเดิมดังนี้

หลักการแรก เปลี่ยนจาก “ควบคุมต้นกัญชา” เป็น “ควบคุมเฉพาะช่อดอกกัญชา”

โดยจากเดิมเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ “กัญชาทั้งต้น” เป็นสมุนไพรควบคุม[7] แต่หลังจากวันที่ ๒๓ พฤศจิกายนพ.ศ.๒๕๖๕ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดเหลือเป็นเฉพาะ “ช่อดอกกัญชา” เท่านั้นเป็นสมุนไพรควบคุม [2]

แปลว่านับตั้งแต่วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕ เป็นต้นไป เมล็ดกัญชา ใบกัญชารากกัญชา กิ่งลำต้นกัญชา จะไม่ใช่สมุนไพรควบคุม และการเหลือเพียง “ช่อดอก”กัญชาที่ยังต้องมีการควบคุมอยู่ทำให้กำหนดมาตรการควบคุมเข้มข้นขึ้นได้กว่าต้นกัญชาโดยไม่กระทบประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้ประโยชน์กัญชาในเรื่องการพึ่งพาตัวเอง การส่งเสริมสุขภาพ และการทำอาหาร ฯลฯ
หลักการที่สอง เปลี่ยนจาก “อนุญาตกัญชาโดยทั่วไปยกเว้นบางเงื่อนไข” เป็น “การค้าช่อดอกกัญชาจะต้องขออนุญาตทุกกรณีและต้องทำการหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด”

โดยหลักการจากเดิมของประกาศกระทรวงสาธารณสุข สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ฉบับวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ นั้น “อนุญาตกัญชาโดยทั่วไปยกเว้นบางเงื่อนไข” โดยอนุญาตให้ผู้ที่อายุตั้งแต่ยี่สิบปีขึ้นไปสามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายกัญชาได้ ยกเว้นการกระทำเพื่อใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะโดยการสูบ ยกเว้นการใช้ประโยชน์กับสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร และยังยกเว้นการจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร[7]

แต่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ได้ยกเลิกหลักการ “อนุญาตกัญชาโดยทั่วไปยกเว้นบางเงื่อนไข” ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ฉบับวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ มาเป็นว่าถ้า “ช่อดอกกัญชาเพื่อการค้า” ไม่ว่าจะศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูป จะต้องขออนุญาตและต้องได้รับอนุญาตก่อนทุกกรณี และจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในการคุ้มครองสังคมและผู้บริโภคได้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม[2]

และการควบคุมที่เข้มข้นขึ้นกว่าเดิมนั้น เนื้อหาก็เป็นไปตามแนวทางการควบคุมกัญชาของเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง พ.ศ…. ของสภาผู้แทนราษฎรด้วย

โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ได้สรุปใจความ ๒ ประเด็นที่สำคัญคือ

ประเด็นที่หนึ่ง กัญชาไม่สามารถจะกลับไปเป็นยาเสพติดโดยอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) ได้แล้ว เพราะเรื่องดังกล่าวได้ถูกนำเสนอมาเป็นลำดับขั้นตอนของกฎหมายก่อนการลงมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.)

ย่อมแสดงว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี น่าจะได้พิจารณาเห็นช่องทางอย่างถ่องแท้ในการต่อสู้ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในคดีที่มีผู้ฟ้องต่อคดีศาลปกครองกลางแล้ว

ประเด็นที่สอง ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….ยังคงต้องใช้เวลาอีกนานทั้งในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และยังต้องออกประกาศกฎกระทรวง ประกาศกระทรวงสาธารณสุข




ดังนั้นการมีประกาศของกระทรวงสาธารณสุข และประกาศกระทรวงอื่นๆ จนถึงวันนี้สามารถควบคุม “ช่อดอกกัญชา” ได้พอสมควร (และมีผลบังคับใช้ควบคุมได้ทันที)ในระหว่างการรอร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….[5],[6]

ความหมายทั้ง ๒ ประการข้างต้นแสดงให้เห็นว่า นักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่คิดเลวทรามต่ำช้าจะคว่ำกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ของคณะกรรมาธิการ (แทนการแก้ไขรายมาตราเพื่อควบคุมให้ดีขึ้น) โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้กัญชาไม่มีกฎกติกา เพื่อทำให้กัญชาเป็นเสรีจนเสียหายต่อประเทศชาติ อันเป็นเหตุอ้างเพื่อจะกลับไปเป็นยาเสพติดนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายดังที่คิดอีกต่อไปแล้ว

เพราะในความเป็นจริงแล้วประกาศกระทรวงสาธารณสุขหลายฉบับที่ผ่านมา ตลอดจนประกาศต่างๆ ของกระทรวงอื่นๆ ได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนแล้วว่ากระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลเองมีเจตนารมณ์ในการควบคุมกัญชา ในสถานการณ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. ได้ปลดล็อกกัญชาไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๙มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕

โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีความพยายามแล้วที่จะควบคุมกัญชาภายให้อำนาจที่มีอยู่กล่าวโดยสรุปดังนี้

ประการแรก เป็นการยกเลิกประกาศให้ “กัญชาทั้งต้น” เป็นสมุนไพรควบคุมในฉบับเก่า (ฉบับวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕)[7] เป็นการประกาศเหลือเฉพาะ “ช่อดอก” ของกัญชาเท่านั้นที่เป็นสมุนไพรควบคุม [2]

ดังนั้น ใบ กิ่งก้าน ลำต้น เมล็ด จะไม่เป็นสมุนไพรควบคุมอีกต่อไป แปลว่าการจำหน่ายใบ กิ่งก้าน ลำต้น เมล็ด หรือแม้แต่ต้นกัญชาที่ยังไม่มีช่อดอก ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อการค้าหรือไม่ใช่การค้า จะไม่อยู่ในสถานภาพ “สมุนไพรควบคุม” อีกต่อไป

อย่างไรก็ตามกัญชา และกัญชงได้ถูกประกาศโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ได้กำหนดให้กัญชา กัญชง เป็น “เมล็ดพันธุ์ควบคุม” ที่ความงอกไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๐ และความบริสุทธิ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๙๙ และต้องเก็บรักษาในสถานที่เก็บเมล็ดพันธุ์[8]

เมื่อเป็น “เมล็ดพันธุ์ควบคุม” แล้ว ผู้ที่จะขายเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชงจะต้องขออนุญาตทุกกรณีต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ขายเมล็ดพันธุ์กัญชาจะต้องรับผิดชอบต่อคุณภาพปริมาณของเมล็ดพันธุ์ต่อเกษตรกร

โดยผู้ที่ได้รับอนุญาตจะต้องจัดทำป้าย ติดข้อมูลฉลาก การจัดเก็บตาม ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๑๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผู้ขายโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๔ และมีบทลงโทษตามมาตรา ๕๖ พระราชบัญญัติพันธุ์พืชพ.ศ. ๒๕๑๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒ พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีบทลโทษอื่นๆ อีกมากเช่น การหลอกลวง การโฆษณาเกินจริง ฯลฯ[9],[10]

ประการที่สอง การศึกษา วิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูปช่อดอกกัญชา “เพื่อการค้า” จะทำได้ต้องขออนุญาตทุกกรณี[2] ดังนั้นผู้ที่ทำการศึกษา วิจัย ช่อดอกกัญชาหรือใช้ส่วนตัวที่ไม่ใช่ “เพื่อการค้า” ก็ไม่ต้องขออนุญาต[2]

ประการที่สาม ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตในการวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูป “ช่อดอกกัญชา” เพื่อการค้า จะต้องจัดทำข้อมูล “แหล่งที่มา, การนำไปใช้ และจำนวนที่เก็บไว้ในสถานประกอบการ” แล้วรายงานต่อกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขให้ทราบ[2]

สำหรับประเด็นนี้เป็นไปเพื่อการดูแลแหล่งที่มาของช่อดอกกัญชา เพื่อควบคุมไม่ให้กัญชาในตลาดมืดที่ไม่รับผิดชอบต่อการปนเปื้อนสารพิษ ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค รวมทั้งเปิดโอกาสให้กัญชาใต้ดินที่ทำอย่างได้มาตรฐานขึ้นมาขออนุญาตอยู่บนดิน เพื่อปฏิบัติตัวให้ได้ตามมาตรฐานในการคุ้มครองผู้บริโภค ปิดโอกาสผู้ลักลอบนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศที่ไม่ได้รับอนุญาตในการจำหน่าย

ประการที่สี่ คุ้มครองคนกลุ่มเปราะบาง โดยห้ามจำหน่ายช่อดอกกัญชา ให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี สตรีมีครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร รวมถึง นิสิต หรือนักศึกษา[2]
โดยก่อนหน้านั้นก็ยังมีประกาศกระทรวงศึกษาธิการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๕[11] และประกาศกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ที่ห้ามร้านค้าในจำหน่ายกัญชา กัญชง ในสถานศึกษา ตลอดจนห้ามนักเรียนและบุคคลากรใช้กัญชา กัญชงเพื่อนันทนาการอยู่แล้ว[12]

ประการที่ห้า ห้ามจำหน่ายช่อดอกกัญชา “เพื่อการสูบ” ใน “สถานที่ประกอบการ” เว้นแต่การจำหน่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน แพทย์แผนจีน ทันตแพทย์ สัตวแพทย์(สำหรับรักษาสัตว์)[2]

สำหรับประเด็นนี้เท่ากับยอมรับว่า “การสูบ” ซึ่งเป็น “กรรมวิธีการแพทย์แผนไทย” ตามกฎหมาย[13] และสอดคล้องไปกับผลการวิจัยการใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์และนันทนาการอย่างมีการควบคุมในประเทศแคนนาดานั้น กัญชาได้มีบทบาทสำคัญในการทดแทน ลด หรือเลิกยาเสพติดที่รุนแรง (Harm Reduction)ที่ก่อให้เกิดปัญหาในสังคม เช่น ยาบ้า แอลกอฮอล์ ฯลฯ[14]-[16]

รวมถึงงานวิจัยในมลรัฐโคโรลาโดที่มีการเปิดการใช้กัญชาในทางการแพทย์และนันทนาการกัญชาแล้วพบว่าเด็ก เยาวชน และคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 12-25 ปี ลดอัตราการสูบบุหรี่ ลดอัตราการดื่มแอลกอฮอล์ และลอดอัตราการใช้ยาเสพติดอื่นๆ ลดลงอย่างชัดเจน[17]

นอกจากนั้นยังปรากฏความสำเร็จในการลดยาเสพติดที่รุนแรง อันนำไปสู่การลดอาชญากรรมจนคุกร้างในประเทศเนเธอร์แลนด์[18]-[19]

โดยสำหรับประเทศไทยนั้นได้พบกรณีศึกษาในจังหวัดขอนแก่น ที่สอดคล้องกันกับงานวิจัยในต่างประเทศ คือ ”การสูบกัญชา” ลดการลงแดงยาบ้า ทำให้เลิกยาบ้าและกัญชาได้[20]-[21]

อย่างไรก็ตาม สำหรับการสูบยังมีการควบคุม จากประกาศกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ โดยอาศัยอำนาจตามความมาตรา ๒๕ ของพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดให้ การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยบริเวณ ใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น เป็นเหตุรำคาญ[22]

ตัวอย่างเช่น หากสูบกัญชาในที่สาธารณะ โดยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานย่อมมีความผิดตามมาตรา ๗๔ ของพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ เดือนหรือปรับไม่เกิน ๒๕,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[23]

ประการที่หก ห้ามจำหน่ายช่อดอกกัญชาผ่านเครื่องขายอัตโนมัติ (Vending Machine)[2] อยู่ภายใต้หลักคิดที่ว่า เครื่องขายอัตโนมัติยังไม่สามารถเชื่อมั่นได้ดีพอว่า มีการวิเคราะห์หรือตรวจสอบกลุ่มเปราะบางได้

ประการที่เจ็ด ห้ามโฆษณา “ช่อดอกกัญชา” เพื่อการค้า[2] ซึ่งข้อห้ามดังกล่าวนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ทั้งๆ ที่แอลกอฮอล์และยาสูบมีอัตราการเสพติดมากกว่ากัญชา และเป็นโทษต่อสุขภาพหลายมิติยิ่งกว่ากัญชา

ประการที่แปด ควบคุมสถานที่ห้ามจำหน่าย “ช่อดอกกัญชา” หรือสินค้าแปรรูปจากช่อดอกเพื่อการค้า ได้แก่ วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา (ทุกศาสนา) หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก[2]

ประการที่เก้า สำหรับผู้ที่ได้รับใบอนุญาตในการวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูป “กัญชาทั้งต้น” ในรูปแบบสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า “มาก่อนหน้านี้” ใบอนุญาตนั้นยังคงใช้ได้ต่อไปจนหมดอายุ แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเพิ่มตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้[2]

ส่วนผู้ที่ลงทะเบียนในแอพพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” ที่จะจำหน่ายกัญชาที่มีช่อดอก หรือช่อดอกกัญชาเป็นไปเพื่อการค้าจะต้องลงทะเบียนใหม่ในฐานะการจำหน่ายสมุนไพรควบคุมตามประกาศฉบับดังกล่าวนี้

ประการที่สิบ การไม่ขออนุญาต “ช่อดอกกัญชาเพื่อการค้า” ตามหลักเกณฑ์ของสมุนไพรควบคุมที่กำหนด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒ มีบทลงโทษตามมาตรา ๗๘ ต้องละวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒ หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[3]

ประการที่สิบเอ็ด เมล็ดกัญชาและช่อดอกกัญชา ยังอยู่ในบัญชีให้เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย “เพื่อการผสมในอาหาร” ตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๔) พ.ศ. ๒๕๖๔ ลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒[24]

ส่วน เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก และใบที่ไม่มีช่อดอกติดของกัญชา รวมถึงสารสกัดของกัญชาที่มีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC)ไม่เกินร้อยละ ๐.๒ ของน้ำหนักไม่อยู่ในบัญชีต้องห้ามในอาหาร[24]

โดยผู้ใดฝ่าฝืนนำเข้า หรือจำหน่ายช่อดอก “เพื่อการผสมอาหาร” ย่อมมีความผิดตาม พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๐ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๖เดือนถึง ๒ ปี และปรับตั้งแต่ ๕,๐๐๐ บาท ถึง ๒๐,๐๐๐ บาท[25]

ประการที่สิบสอง ทั้งกัญชาและกัญชงทั้งต้นจัดเป็น “สมุนไพรที่ห้ามนำเข้า” ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๕ เรื่อง ชื่อ ประเภท ชนิดหรือลักษณะของผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่ห้ามนำเข้า พ.ศ. ๒๕๖๕ ยกเว้นหน่วยงานภาครัฐ หรือเพื่อการศึกษาของสถาบันการศึกษาและการวิจัย[26]

ดังนั้นผู้ใดลักลอบนำเข้า “สมุนไพรที่ห้ามนำเข้า” จึงย่อมเป็นการนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีบทลงโทษตามมาตรา ๙๑ ของพระราชบัญญัติ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรพ.ศ. ๒๕๖๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๓ แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[27]

ประการที่สิบสาม สำหรับการนำกัญชาที่แม้จะไม่ใช่ช่อดอก หรือที่ไม่ใช่สารสกัดกัญชาที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) เกินกว่าร้อยละ ๐.๒ ของน้ำหนักมาผสมในอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารได้ แต่ก็ยังคงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒[25]

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ในส่วนของ “กัญชา” และ “กัญชง” ที่ผสมในอาหารนั้นได้กำหนดปริมาณของสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) และ สารแคนนาบิไดออล (CBD) ของผลิตภัณฑ์อาหารแต่ละประเภทเอาไว้โดยละเอียดแล้ว[28]-[34]

นอกจากนั้นสำหรับร้านอาหารจะต้องแสดงป้ายที่นำกัญชามาประกอบอาหาร แสดงรายการเมนูที่มีกัญชา รวมถึงคำแนะนำความปลอดภัยในเรื่องกัญชา อันเป็นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพ และการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๕[35]

ดังนั้นอาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร และการปรุงอาหารที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมอยู่ อยู่ในระดับที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน ส่วนที่มีผู้กระทำความผิดที่ผ่านมาเพียงแต่เจ้าหน้าที่รัฐให้โอกาสประชาชนปรับตัวในช่วงการเปลี่ยนผ่านและการเรียนรู้เท่านั้น

ประการที่สิบสี่ สำหรับการนำกัญชามาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่แจ้งสรรพคุณ จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๒[27] และหากเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางก็ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. ๒๕๕๘[36] และประกาศกระทรวงสาธารณสุขการใช้ส่วนของกัญชงในเครื่องสำอาง[37]

ทั้งนี้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. ๒๕๖๕ ฉบับลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕ นี้ เป็นการประยุกต์ใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นสำคัญ โดยมีความสอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกันกับเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ…. สภาผู้แทนราษฎร

การออกประกาศฉบับนี้ ยังคงเป็นหลักประกันอีกด้วยว่า ไม่ว่าร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ…. ฉบับของคณะกรรมาธิการฯ จะผ่านความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในสภาผู้แทนราษฎรด้วยเกมการเมืองอย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนที่ได้พยายามออกมาตรการควบคุมการใช้กัญชาอย่างเหมาะสมตามอำนาจและกฎหมายที่มีอยู่ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเต็มที่แล้ว

ดังนั้นหวังว่านักการเมืองและพรรคการเมืองที่ยังหวังลมๆ แล้งๆ ที่คิดแต่จะ “คว่ำ” พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….ของคณะกรรมาธิการ (ซึ่งมาจากตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ)จะได้ลดแรงจูงใจในการคว่ำกฎหมายลง และเห็นแก่ประชาชนมากขึ้น

เพราะการคว่ำกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชา กัญชง จะไม่มีวันที่จะเกิดเสรีกัญชาจนบ้านเมืองล่มสลายได้แล้ว เพราะประกาศกระทรวงสาธารณสุขได้มีการควบคุมไปได้พอสมควรแล้ว ฝ่ายที่คิดแต่จะคอยคว่ำกฎหมาย (แทนการแก้ไขกฎหมายรายมาตราให้ดีขึ้น)ต่างหาก ที่ประชาชนจะรู้เท่าทันว่าคนเหล่านี้คิดแต่จะเล่นการเมืองมากกว่าจะเห็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง จริงหรือไม่?

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข
๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕

อ้างอิง
[1] ผู้จัดการออนไลน์, "อนุทิน" ลงนามแก้ประกาศ สธ.เพิ่มคุม "ช่อดอกกัญชา" เป็นสมุนไพรควบคุม, เผยแพร่: ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ เวลา ๒๐.๒๓ น.
https://mgronline.com/qol/detail/9650000108013

[2] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม(กัญชา)พ.ศ. ๒๕๖๕, ลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๒๗๒ ง, หน้า ๓-๔
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/272/T_0003.PDF

[3] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒, ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒, เล่มที่ ๑๑๖ ตอนที่ ๑๒๐ ก, หน้า ๔๙-๖๙
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2542/A/120/49.PDF

[4] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ พ.ศ. ๒๕๖๕, วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๓๕ ง, หน้า ๘
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/035/T_0008.PDF

[5] ข่าวสดออนไลน์, วิษณุ ยันไม่ดึง กัญชา เป็นยาเสพติด เผยประกาศสธ.มีผล 24 พย. ใช้อุดช่องโหว่ได้, 22 พ.ย. 2565, 17:55 น.
https://www.khaosod.co.th/politics/news_7378585

[6] เนชั่นออนไลน์, ป.ป.ส.เปิดทางประกาศสธ."คลายล็อกกัญชา"คุมเข้มช่อดอกเตรียมลง"ราชกิจจาฯ"22 พ.ย. 2565
https://www.nationtv.tv/news/politics/378893665

[7] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. ๒๕๖๕, ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๑๓๗ ง, หน้า ๙
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/137/T_0009.PDF

[8] ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพ และวิธีเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ควบคุม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๖๔, ลงวันที่ ๑๑มิถุนายน ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๒๖ ง, หน้า ๕
https://www.doa.go.th/ard/wp-content/uploads/2021/08/Q.6-Canabis-2564.pdf

[9] กลุ่มควบคุมพันธุ์พืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร, Presentation : พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๑๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
http://www.oard4.org/region4/images/Document/12-06-60/พรบ.พันธุ์พืช%202518..pdf

[10] สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๑๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
https://www.doa.go.th/nitikan/wp-content/uploads/2020/06/พระราชบัญญัติพันธุ์พืช-พ.ศ.-2518-และที่แก้ไขเพิ่มเติม.pdf

[11] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องแนวทางการปฏิบัตเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงในสถานศึกษาส่วนราชการหรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ, ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ๑๕๖ ง, หน้า ๒๐-๒๑
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/156/T_0020.PDF

[12] ประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่องแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงในสถาบันอุดมศึกษา ส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕
http://calendar.buu.ac.th/document/1655699635.pdf

[13] ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสภาการแพทย์แผนไทย เรื่องเกณฑ์มาตรฐานและกรรมวิธีการแพทย์แผนไทยผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๕๖, ลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๓, เล่ม๑๓๗ ตอนพิเศษ ๑๖๒ ง หน้า ๒๗, เอกสารแนบท้ายประกาศ หน้า ๒๒ จาก ๔๒ หน้า
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/162/T_0027.PDF

[14] Lucas, P., Baron, E.P. & Jikomes, N. Medical cannabis patterns of use and substitution for opioids & other pharmaceutical drugs, alcohol, tobacco, and illicit substances; results from a cross-sectional survey of authorized patients. Harm Reduct J 16, 9 (2019). https://doi.org/10.1186/s12954-019-0278-6
https://harmreductionjournal.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12954-019-0278-6

[15] Janic Mok, et al, Use of Cannabis for Harm Reduction Among People at High Risk for Overdose in Vancouver, Canada (2016–2018), American Journal of Public Health (AJPH), Published Online: May, 2021
https://ajph.aphapublications.org/doi/abs/10.2105/AJPH.2021.306168?journalCode=ajph

[16] Janice Mok, et al., Use of Cannabis as a Harm Reduction Strategy Among People Who Use Drugs: A Cohort Study, Cannabis and Cannabinoid Research, Published Online 31 May 2022
https://doi.org/10.1089/can.2021.0229
https://www.liebertpub.com/doi/10.1089/can.2021.0229

[17] Jack K. Reed, Impacts of Marijuana Legalization in Colorado, A Report Pursuant to C.R.S. 24-33.4-516, July 2021
https://cdpsdocs.state.co.us/ors/docs/reports/2021-SB13-283_Rpt.pdf

[18] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, “กัญชา” กับ “เนเธอร์แลนด์โมเดล” ลดปัญหาอาชญากรรม “เรือนจำร้าง”จนต้องนำเข้านักโทษจากต่างประเทศ, ผู้จัดการออนไลน์เผยแพร่: 1 ก.ค. 2565 17:15 น. ปรับปรุง: 1 ก.ค. 2565 17:15 น.
https://mgronline.com/daily/detail/9650000062568

[19] ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ, เปรียบเทียบสถานะสารเสพติด (กัญชา) ที่ต่างกันสุดขั้วในเนเธอร์แลนด์และสิงคโปร์…….แล้วไทยควรเลือกทางไหน?, เว็บไซต์ศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด, 30 กรกฎาคม 2564 : 9:32:15 น.
https://cads.in.th/cads/content?id=295

[20] ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์, บรรยายเสวนาเรื่อง การใช้กัญชาตามภูมิปัญญาไทย, ในงานมหกรรม “เดินหน้า…กัญชาเสรี แก้เจ็บแก้จน” และการอบรมเรื่อง การเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวที่ดีของพืชกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการส่งออก, ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพ, วันที่ 15 มิถุนายน2565, Facebook กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, คลิปวีดีโอชั่วโมงที่ 1:11:42 -1:12:60
https://www.facebook.com/dtam.moph/videos/760289735130337

[21] มติชนออนไลน์, เปิดใจ! อดีตขี้ยาเลิกยาบ้าใน 7 วัน ด้วยกัญชา แนะรัฐให้ความรู้ ปชช.ใช้ถูกต้อง, วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 - 15:51 น.
https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3674865

[22] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควัน กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ, ลงวันที่ ๑๔มิถุนายน ๒๕๖๕
https://cannabis.fda.moph.go.th/wp-content/uploads/2022/06/Law_T0002_150665.pdf

[23] เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, พระราชบัญญัติ การสาธารณสุขพ.ศ. ๒๕๓๕
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%A136/%A136-20-9999-update.pdf

[24] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๔) พ.ศ. ๒๕๖๔, ลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๔๕ ง, หน้า ๓๒และ บัญชีท้ายประกาศหน้า ๓ และ ๔
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/045/T_0032.PDF

[25] เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒
http://www.krisdika.go.th/librarian/get?sysid=393573&ext=pdf

[26] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่ห้ามนำเข้า พ.ศ. ๒๕๖๕, ลงวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๑๒๙ ง, หน้า ๒๑
https://cannabis.fda.moph.go.th/wp-content/uploads/2022/06/T65_0021.pdf

[27] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๒, ลงวันที่ ๓๐เมษายน ๒๕๖๒ เล่ม ๑๓๖ ตอนที่ ๕๖ ก, หน้า ๑๒๑-๑๖๔
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/056/T_0121.PDF

[28] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๗) พ.ศ. ๒๕๖๔ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนกัญชาหรือกัญชง, ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๖๘ ง, หน้า ๒๒-๒๔
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/168/T_0022.PDF

[29] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๘) พ.ศ. ๒๕๖๔ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนชนิดสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล และสารแคนนาบิไดออล, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๖๘ ง, หน้า ๒๕-๒๖
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/168/T_0025.PDF

[30] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๓๘) พ.ศ. ๒๕๖๕ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนกัญชาหรือกัญชง (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ตอนพิเศษ ๒๕๑ ง, หน้า ๓๑-๓๓
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/251/T_0031.PDF

[31] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๕) พ.ศ. ๒๕๖๕ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีน จากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบ ของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีน จากเมล็ดกัญชง, ลงวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๔๙ ง, หน้า ๑-๗
https://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P425.PDF

[32] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๓๗) พ.ศ. ๒๕๖๕ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีน จากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบ ของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีน จากเมล็ด กัญชง (ฉบับที่ ๒), ลงวันที่ ๒๑ตุลาคม ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๒๕๑ ง, หน้า ๒๙-๓๐
https://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P437.PDF

[33] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๙) พ.ศ. ๒๕๖๔ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัดแคนนาบิไดออลเป็นส่วนประกอบ, ลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๙๘ ง, หน้า ๙-๑๑
https://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P429.PDF

[34] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๓๙) พ.ศ. ๒๕๖๕ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัดแคนนาบิไดออลเป็นส่วนประกอบ (ฉบับที่ ๒), ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๔, เล่ม๑๓๙ ตอนพิเศษ ๒๕๑ ง, หน้า ๓๔
https://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P439.PDF

[35] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๓๙) พ.ศ. ๒๕๖๕, เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพ และการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๕
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/198/T_0006.PDF

[36] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. ๒๕๕๘, ลงวันที่ ๘กันยายน ๒๕๕๘, เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๘๖ ก, หน้า ๕-๒๕
https://www.fda.moph.go.th/sites/Cosmetic/Shared%20Documents/Laws/พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง%20พ.ศ.%202558.pdf

[37] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การใช้ส่วนของกัญชงในเครื่องสำอาง พ.ศ. ๒๕๖๔, ลงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ๑๐๕ ง, หน้า ๒-๓
https://cannabis.fda.moph.go.th/wp-content/uploads/2021/05/PK64MOPH-CosmeticsHemp-180564.pdf


กำลังโหลดความคิดเห็น