ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ต่อกรณีที่นักการเมืองพรรคต่างๆ ที่ได้แสดงความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….ว่ามีความห่วงใยต่อสังคมก็ดี หรือยืนหยัดว่าต้องการใช้ทางการแพทย์ก็ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความห่วงใยต่อกลุ่มเปราะบาง คือ เด็ก เยาวชน สตรีตั้งครรภ์ สตรีนมบุตรก็ดี และยังกล่าวขู่อีกด้วยว่าจะทำการ “ลงมติคว่ำ” กฎหมายดังกล่าวไม่ให้ผ่านความเห็นชอบในวาระที่ ๒ ของสภาผู้แทนราษฎร
เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันว่าร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….ที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทยนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ได้เห็นชอบให้ผ่านวาระที่ ๑ ในการรับหลักการเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕
โดยที่ประชุมลงมติรับหลักการด้วยคะแนนเสียง ๓๗๒ เสียง ไม่รับหลักการด้วยคะแนนเสียง ๗ เสียง และงดออกเสียง ๒๓ เสียง[1]-[2]
และเสียงข้างมากหรือเกือบเป็นเอกฉันท์ในการเห็นชอบในวาระที่ ๑ ของร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ… นั้นในประโยคแรกของเหตุผลคือ
“โดยที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ….”[3]
การที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดให้โทษไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ ก็มาจากเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรทั้งนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านทั้งหมดตลอดจนสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่มีใครเลย “แม้แต่คนเดียว” ที่ขอแก้ไขมาตรา ๒๙ ของประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับปัจจุบัน ซึ่ง “ไม่มีคำว่า เช่น กัญชา” เป็นข้อความที่อยู่ในยาเสพติดประเภทที่ ๕ ตามความในมาตรา ๒๙ ของร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยคงเหลือแต่ “เช่น พืชฝิ่น” อยู่ในการยกตัวอย่างยาเสพติดประเภทที่ ๕[4]
ซึ่งแตกต่างจากประมวลกฎหมายยาเสพติดทุกฉบับในอดีตทั้งหมดที่กำหนดตัวอย่าง “เช่น กัญชา” เอาไว้ในยาเสพติดประเภทที่ ๕ มาโดยตลอด
และเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ ในวารที่ ๓ ของร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาเห็นชอบกับร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับนี้ ที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง ๔๖๗ เสียง ไม่มีใครไม่เห็นชอบ และงดออกเสียงจำนวน ๒ เสียง[5]
การเปิดช่องจากการแก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติดดังกล่าว ทำให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เห็นควรให้ปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดทุกประเภท นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ลงนามวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ให้การปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๕[6]
นอกจากนั้นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านลงมติรับหลักการมากถึงด้วยคะแนน ๓๗๒ เสียง ต่อ ไม่รับหลักการ ๗ เสียง[1] ต่อร่าง พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ…. ของพรรคภูมิไทย ในวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ นั้น ได้รับหลักการในวาระที่ ๑ โดยมีข้อความในมาตรา ๓ บัญญัติเอาไว้ตั้งแต่แรกว่า
“มาตรา ๓ ให้กัญชา กัญชง ที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ไม่ถือเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือประมวลฎหมายยาเสพติด”[3]
หากพิจารณาเหตุการณ์ข้างต้นแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าการที่กัญชาไม่เป็นยาเสพติดมาโดยลำดับนั้น สภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากมีส่วนร่วมมาโดยตลอด
หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงได้ส่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามสัดส่วนของพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมไปถึงข้าราชการ และผู้ทรงคุณวุฒิรวม ๒๕ คน ให้เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….เพื่อไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติมให้มีความสมบูรณ์ขึ้น
โดย ๒๕ คนนี้เป็นสัดส่วนตัวแทนมาจากคณะรัฐมนตรี ๕ คน, พรรคพลังประชารัฐ ๔ คน, พรรคภูมิใจไทย ๓ คน, พรรคประชาธิปัตย์ ๒ คน, พรรคเพื่อไทย ๖ คน, พรรคก้าวไกล ๒ คน, พรรคเศรษฐกิจไทย ๑ คน, พรรคชาติไทยพัฒนา ๑ คน, พรรคเสรีรวมไทย ๑ คน
ดังนั้นเมื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขมาตราเสร็จปรากฏว่า มีมาตราเพิ่มขึ้นจาก ๔๕ มาตรามาเป็น ๙๕ มาตรา ซึ่งเพิ่มมาจากเดิมถึง ๕๐ มาตรา
ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ….ที่กำลังเสนอวาระที่ ๒ ในสภาผู้แทนราษฎร จึงได้ “กลายสภาพ” ไม่ได้เป็นกฎหมายของพรรคภูมิใจไทยอีกต่อไป แต่เป็นร่างแก้ไขที่ได้ผ่านความเห็นชอบของเสียงข้างมากในกรรมาธิการฯ ที่ประกอบไปด้วยหลายพรรคการเมือง
ใครจะชื่นชม หรือก่นด่าร่างกฎหมายที่เพิ่มบทบัญญัติมากขึ้นถึงกว่า ๒ เท่าตัว ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วยกับพรรคภูมิใจไทย เพราะเป็นผลงานร่วมกันของหลายพรรคการเมือง จึงไม่ได้เกิดประโยชน์ใด ๆที่จะหา “แพะ” หรือ “ฮีโร่” จากพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดในกฎหมายฉบับนี้
เป็นธรรมดาที่กฎหมายฉบับหนึ่งที่มีผู้ที่มีส่วนได้เสีย และการขัดกันแห่งผลประโยชน์อยู่หลายส่วน หรือแม้แต่ “หลักคิดไม่ตรงกัน” ในทัศนะความเชื่อเรื่องกัญชากับปัญหายาเสพติด ย่อมต้องมีข้อขัดแย้งในกรรมาธิการฯ อีกทั้งตัวแทนพรรคการเมืองต่างก็เป็นส่วนหนึ่งขอการแสดงความคิดเห็นในทุกมาตราอยู่แล้ว
และกฎหมายแต่ละมาตราที่ออกมานั้นต่างก็ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากแล้ว ไม่มีใครที่จะไปแทรกแซงได้ เช่นเดียวกันกับคณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยในคณะกรรมาธิการก็ยังสามารถสงวนคำแปรญัตติเอาไว้อภิปรายแสดงเหตุผลอีกครั้งเพื่อไปลงมติในที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎร
นอกจากนั้นกรรมาธิการฯ ยังได้เชิญสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคการเมืองที่ได้สงวนคำแปรญัตติเพื่อให้กรรมาธิการพิจารณาแล้วเช่นกัน นั่นหมายความว่าหากคณะกรรมาธิการฯ ยืนยันตามเดิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ยังสงวนคำแปรญัตติเอาไว้อภิปรายแสดงเหตุผลอีกครั้งเพื่อลงมติในที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน
นั่นหมายความว่าทั้งคณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยก็ดี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการฯ สามารถใช้สิทธิในการสงวนคำแปรญัตติที่ไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการรายมาตรา เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ได้ข้อยุติทางใดทางหนึ่ง
ดังนั้น ด้วยกลไกดังกล่าว ไม่มีความจำเป็นต้อง “คว่ำ” ร่าง พระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. …ใดๆ เลย ตราบใดที่เสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรสามารถลงมติให้มีการ “แก้ไข” ตามการสงวนคำแปรญัตติ หรือ “ไม่แก้ไข” ตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก
แปลว่าในความเป็นจริงแล้ว กฎหมายที่ตราขึ้นมาเพื่อการควบคุมกัญชานั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากสามารถแก้ไขได้ทุกมาตรา โดยไม่จำเป็นต้องคว่ำกฎหมายฉบับนี้เพียงเพื่อหวังผลอยากเห็นกัญชาไม่มีกฎหมายเฉพาะในการควบคุมอย่างเป็นระบบ
โดยสำหรับในมุมมองเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการฯนั้น ได้ทบทวนงานวิจัยแล้วพบว่า
กัญชาเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่[7] ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านยาเสพติดในสหรัฐอเมริกาต่างเห็นตรงกันว่ากัญชามีความปลอดภัยมากและอัตราการติดนั้นอยู่เพียงระดับ “กาแฟ”เท่านั้น[8]
ในทางตรงกันข้ามเหล้าและบุหรี่ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพที่ร้ายแรง โดยเฉพาะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งหลายอวัยวะ[9]
ในขณะที่งานวิจัยพบว่านอกจาก “กัญชา” จะไม่เคยถูกขึ้นทะเบียนในบัญชีสารก่อมะเร็งของสถาบันวิจัยมรเร็งระหว่างประเทศ (IARC) ภายใต้องค์การอนามัยโลกแล้ว[9] งานวิจัยกลับพบผลตรงกันข้ามว่าผู้ที่ใช้กัญชาลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดลง เช่น ลดความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งไตถึง ๒ เท่าตัวเทียบกับคนที่ไม่เคยใช้กัญชา[10]
“ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขไทยเอง ได้ประเมินว่าการใช้กัญชาซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดี ๔ อาการ คือ
๑) คลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด
๒) ลมชักรักษายาก
๓) เกร็งในปลอกหุ้มประสาทอักเสบ
๔) ปวดระบบประสาท
และประเมินว่าน่าจะได้ประโยชน์ ๖ อาการคือ ๑) พาร์กินสัน ๒) อัลไซเมอร์ ๓) ปลอกประสาทอักเสบ ๔) วิตกกังวล ๕) มะเร็งระยะท้าย ๖) โรคอื่นๆ ของผู้ป่วยระยะสุดท้าย และต้องวิจัยเพิ่มเติม ๑ กรณีคือโรคมะเร็ง”[11]
ความน่าสนใจที่ไปไกลกว่านั้นคือ “กัญชา” ยังอยู่ในฐานะสมุนไพร “ส่งเสริมสุขภาพ” ด้วย เพราะงานวิจัยยังพบว่าผู้ที่ใช้กัญชา “ลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน” ลดลงอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย[12]
นอกจากนั้นผลกระทบสุทธิสามารถวัดได้จากประเทศที่มีการใช้กัญชาทั้งทางการแพทย์และนันทนาการ กลับพบว่า บริษัทยามียอดขายยาเคมีหลายโรคโดยรวมลดลง ใบสั่งยาหลายโรคก็ลดลง ราคาหุ้นบริษัทยาก็ลดลงอีกด้วย[13]-[16]
ในขณะที่ “เหล้า” และ “ยาบ้า” ซึ่งกระตุ้นประสาทที่เพิ่มความเสี่ยงในการก่ออาชญากรรมหรือก่อความรุนแรงในสังคมไทย ซึ่งนอกจากจะตรงกันข้ามกับกัญชาที่มีสรรพคุณสงบประสาทแล้ว กัญชายังมีบทบาทต่อการลดปัญหายาเสพติดที่ร้ายแรงในต่างประเทศอีกด้วย (ทั้งทางการแพทย์ และการนันทนการอย่างมีความควบคุม) ซึ่งรวมถึง การติดยากลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์, ยาบ้า, เฮโรอีน, เหล้า ฯลฯ อีกด้วย[17]-[19]
แปลว่ากัญชานอกจากจะติดยากแล้ว ยังมีบทบาทในการลดปัญหายาเสพติดโดยรวมในประเทศที่เปิดให้มีการใช้กัญชาอีกด้วย
แต่มิใช่ว่าทางคณะกรรมาธิการจะไม่เห็นผลเสียของกัญชา ในทางตรงกันข้ามคณะกรรมาธิการมีความห่วงใยต่อการ “ใช้กัญชาทางการแแพทย์ใต้ดิน” ที่นอกจากจะมีการใช้กันมากเป็นส่วนใหญ่ และเหตุที่เกิดเช่นนี้เพราะแพทย์จำนวนมากปฏิเสธการจ่ายกัญชาให้กับผู้ป่วย หรือมีขั้นตอนที่ยุ่งยากมากไป[20]-[21]
การที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้กัญชาทางการแพทย์ใต้ดินอยู่จริงและใช้กันในวงกว้างด้วยเพราะแพทย์กับประชาชนมีความคิดเห็นต่อกัญชาไม่สอดคล้องกัน ย่อมเป็นอันตรายต่อประชาชนผู้บริโภค นอกจากปัญหาการปนเปื้อนสารพิษ ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก รวมไปถึงการถูกเอาเปรียบด้านราคากับคุณภาพแล้ว ยังอาจพบปัญหา “สารสกัดกัญชาสังเคราะห์” จะเป็นอันตรายร้ายแรงเฉียบพลันต่อผู้บริโภคกัญชาได้
เมื่อกัญชามีโทษน้อยกว่าเหล้าและบุหรี่ ในขณะที่มีประโยชน์มากกว่าบุหรี่ ดังนั้นการวางโครงสร้างกฎหมายจึงต้องนำการควบคุมบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเพิ่มเติม ไม่ให้กัญชาควบคุมด้อยไปกว่าบุหรี่และเหล้า
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ดังนั้นขณะกรรมาธิการจึงได้เพิ่มบทบัญญัติการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบมาประยุกต์ใช้ ยืนยันได้ว่าการควบคุมเข้มกกว่าเหล้าและบุหรี่เล็กน้อย แต่จะให้คุมเข้มเหมือนยาเสพติดร้ายแรงก็ไม่ได้เช่นกัน
เหล้าและบุหรี่ควบคุมต่อเด็กเยาวชน สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตรอย่างไร กัญชาก็ทำอย่างนั้น แต่มีบทลงโทษรุนแรงกว่าเหล้าและบุหรี่
เหล้าและบุหรี่สามารถนำเข้าบ้านได้อย่างไร ควบคุมสมาชิกครอบครัวอย่างไร กัญชาก็ต้องไม่ด้อยไปกว่าเหล้า บุหรี่ หรือกระท่อม แต่จะต้องควบคุมมากว่าเรื่องจำนวนที่ปลูกในบ้าน ซึ่งต่างจากเหล้า บุหรี่ และกระท่อม
การโฆษณามีข้อห้ามอย่างไรกับบุหรี่และเหล้า การบริโภคกัญชาหรือการโฆษณาช่อดอกกัญชาก็ต้องทำในระดับเดียวกัน
การที่ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….ได้เพิ่มจาก ๔๕ มาตรามาเป็น ๙๕ มาตรานั้น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการเพิ่ม “มาตรการควบคุม” ที่ไม่น้อยไปกว่าเหล้าและบุหรี่ที่ก่อให้เกิดโทษมากกว่า และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับทิศทางการเปิดให้มีการใช้ประโยชน์ของกัญชาเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ แคนนาดา ยุโรป อุรุกวัย หลายมลรัฐในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฯลฯ
แต่ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่เห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก และต้องการควบคุมให้เข้มกว่าเหล้าและบุหรี่ ก็ต้องมีหลักฐานว่าเป็นไปด้วยเหตุผลใด
ดังนั้นถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีความจริงใจ และไม่เล่นการเมือง ก็ต้องทยอยลงมติแก้ไขรายมาตราให้ไปจนจบ เพื่อจะได้มีกฎหมายการควบคุมกัญชาให้มาบังคับใช้ในทางใดทางหนึ่ง
ส่วนการลงมติจะตรงใจประชาชนหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะได้รับคำตัดสินจากการลงคะแนนเเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 อย่างแน่นอน
แต่ต้องไม่ใช่เล่นการเมืองคว่ำกฎหมายโดยที่ไม่ได้เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อประชาชนเลย
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข
10 พฤศจิกายน 2565
9
อ้างอิง
[1] บันทึกการออกเสียลงคะแนนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๕ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๕ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันพุธที่ ๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
[2] บันทึกการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๕ ปีที่ ๔ ครั้งที่๕ (สมัยสามัญประจาปีครั้งที่หนึ่ง) วันพุธที่ ๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕, ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา, หน้า ๒-๓
https://msbis.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_report/main_warehouse_dll.php
[3] ร่าง พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….ของพรรคภูมิใจไทย
https://www.parliament.go.th/section77/manage/files/file_20220218082928_1_193.pdf
[4] รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ ๑ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันอังคารที่ ๒๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ (เล่มที่ ๗), ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด, หน้า ๑๔
https://www.parliament.go.th/section77/manage/files/file_20220218082928_1_193.pdf
[5] บันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ ๔ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันอังคารที่ ๒๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ หน้า ๗
https://msbis.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_report/main_warehouse_dll_x.php?aid=10018&mid=4334
[6] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ พ.ศ. ๒๕๖๕, วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๓๕ ง, หน้า ๘
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/035/T_0008.PDF
[7] Catalina Lopez-Quintero, et al, Probability and predictors of transition from first use to dependence on nicotine, alcohol, cannabis, and cocaine: Results of the National Epidemiologic Survey on Alcohol and Related Conditions (NESARC),Drug and Alcohol dependence, Volume 115, Issues 1-2, May 2011, Pages 120-130
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3069146/
[8] Steven C. Markoff. Is Marijuana Addictive? The Medical Marijuana Magazine. http://www.drugsense.org/mcwilliams/www.marijuanamagazine.com/toc/addictiv.htm
[9] The International Agency for Research on Cancer (IARC), monographs 2019.
https://monographs.iarc.who.int/wp-content/uploads/2019/12/OrganSitePoster.PlusHandbooks.pdf
https://monographs.iarc.who.int/monographs-available/
[10] Huang J, Huang D, Ruan X, Huang J, Xu D, Heavey S, Olivier J, Na R. Association between cannabis use with urological cancers: A population-based cohort study and a Mendelian randomization study in the UK biobank. Cancer Med. 2022 Aug 17. doi: 10.1002/cam4.5132. PMID: 35975633.
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/epdf/10.1002/cam4.5132
[11] มูลนิธิชีววิถี (BioThai), การบรรยายของ ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ เรื่องความก้าวหน้าในการวิจัยเรื่องกัญชา, วัดโคกพระ จ.สิงห์บุรี วันที่ 1 มิถุนายน 2562, เผยแพร่ผ่านเฟสบุ๊ค BioThai วันที่ 30 พฤษภาคม 2562
https://web.facebook.com/biothai.net/photos/a.467826533255873/2329841273721047/
[12] Rajavashisth TB, Shaheen M, Norris KC, Pan D, Sinha SK, Ortega J, Friedman TC. Decreased prevalence of diabetes in marijuana users: cross-sectional data from the National Health and Nutrition Examination Survey (NHANES) III. BMJ Open. 2012 Feb 24;2:e000494. doi: 10.1136/bmjopen-2011-000494.
https://bmjopen.bmj.com/content/bmjopen/2/1/e000494.full.pdf
[13] Ziemowit BednarekI, et al., U.S. cannabis laws projected to cost generic and brand pharmaceutical firms billions, PLoS One, Published: August 31, 2022
https://journals.plos.org/plosone/article/file?id=10.1371/journal.pone.0272492&type=printable
[14] Shyam Raman, Ashley C. Bradford, Health Economics, Recreational cannabis legalizations associated with reductions in prescription drug utilization among Medicaid enrollees First published: 15 April 2022 https://doi.org/10.1002/hec.4519
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/hec.4519
[15] รศ.ดร.นพ.ปัตตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ผลกระทบของนโยบายกัญชาเสรีต่อเด็กและเยาชน :บทเรียนจากนานาชาติ, เอกสารวิชาการในงานสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ประจำปี พ.ศ. 2565, 14 กันยายน 2565, หน้า 13-15
[16]Ashley C. Bradford and W. David Bradford , Medical Marijuana Laws Reduce Prescription Medication Use In Medicare Part D, Health Affars, VOL. 35, NO. 7, July 2016
https://www.healthaffairs.org/doi/10.1377/hlthaff.2015.1661
[17] Lucas, P., Baron, E.P. & Jikomes, N. Medical cannabis patterns of use and substitution for opioids & other pharmaceutical drugs, alcohol, tobacco, and illicit substances; results from a cross-sectional survey of authorized patients. Harm Reduct J 16, 9 (2019). https://doi.org/10.1186/s12954-019-0278-6
https://harmreductionjournal.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12954-019-0278-6
[18] Janice Mok, et al, Use of Cannabis for Harm Reduction Among People at High Risk for Overdose in Vancouver, Canada (2016–2018), American Journal of Public Health (AJPH) May 2021,
https://ajph.aphapublications.org/doi/abs/10.2105/AJPH.2021.306168?journalCode=ajph
[19] Janice Mok, et al., Use of Cannabis as a Harm Reduction Strategy Among People Who Use Drugs: A Cohort Study, Cannabis and Cannabinoid Research, Published Online 31 May 2022
https://doi.org/10.1089/can.2021.0229
[20] สาวิตรี อัษณางค์กรชัย, กนิษฐา ไทยกล้า, มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ, สุชาดา ภัยหลีกลี้, ศยามล เจริญรัตน์, ดาริกา ใสงาม, โครงการศึกษาสถานการณ์การใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย, คลังข้อมูลและความรู้ระบบสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) 2564
https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/5346?locale-attribute=th
[21] นิด้าโพล,การปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ระหว่างวันที่ 13-15 มิถุนายน 2565, วันที่อัพเดทล่าสุด : 19 มิถุนายน 2565
https://nidapoll.nida.ac.th/survey_detail?survey_id=57