xs
xsm
sm
md
lg

หลักคิด“Harm Reduction” ทำไม “กัญชา” จะมาช่วยลดยาบ้า เหล้าและบุหรี่ได้? / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

“Harm Reduction” หรือการลดอันตรายจากยาเสพติดที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มประชุมขับเคลื่อนผลักดัน “กัญชา” เพื่อลดปัญหา “ยาบ้า” อาจนำไปสู่การได้มาซึ่งการคืนกลับมาสู่สังคมของผู้ที่ติดยาบ้า หรือยาเสพติดที่ร้ายแรงได้[1]


การที่ประเทศไทยเลือกใชักัญชาเพื่อลดปัญหายาเสพติดที่รุนแรงนั้น ไม่ได้มโนคิดเอาเองตามอำเภอใจ แต่เป็นไปตามมติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก ค.ศ. 2016 (UNGASS 2016) แนะนำให้ภาคีกำหนดให้มีมาตรการทางเลือกกับผู้เสพยาเสพติด เพื่อผู้เสพเข้าสู่การบำบัดรักษา เช่น การนำมาตรการลดอันตรายจากยาเสพติด (Harm Reduction)รวมถึงการพัฒนาทางเลือก (Alternative Development) มาปรับใช้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นไปอย่างยั่งยืน[1]

ตัวอย่างปัญหา “รุนแรง” ของยาเสพติดนอกจากจะหมายรวมถึงความรุนแรงของตัวยาที่ทำให้เกิดการติด ความเป็นพิษหรือส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างรุนแรงจนนำสู่สาเหตุการเสียชีวิต รวมถึงยาที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตเฉียบพลันในการใช้ยาอีกด้วย

ตัวอย่างของความรุนแรงที่เกิดจากยาเสพติดบางประเภท ได้แก่การใช้เข็มร่วมกันแล้วทำให้เกิดการติดเชื้อโรคเอชไอวี หรือการติดเชื้อไวรัสตับ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็น “ความรุนแรง”จากยาเสพติดหลายชนิด[2]

แต่การที่จะลดปัญหาความรุนแรงจากยาเสพติดหรือที่เรียกว่า “Harm Reduction” นั้น มีหลักคิดดังต่อไปนี้

ประการแรก “ยอมรับความจริง” ว่าการทำให้เกิดการใช้ยาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือการทำให้เกิดการยาที่ผิดกฎหมาย อะไรดีกว่าหรือแย่กว่ากันในโลกของความเป็นจริง และเลือกหนทางที่จะลดผลกระทบลดความรุนแรงในสิ่งนั้นให้ลดน้อยลงที่สุด ดีกว่าที่จะเพิกเฉยหรือประณามผู้ที่ใช้ยาทุกกลุ่ม

ประการที่สอง “เข้าใจ” ในเรื่องการใช้ยาเสพติดนั้นมีความสลับซับซ้อนและมีปรากฏการณ์หลายมิติในพฤติกรรมที่ใช้ยาอย่างต่อเนื่อง และการเปลี่ยนแปลงจากความรุนแรงในการใช้ยาไปสู่การเลิกใช้ยา ต้อง “รับรู้”ด้วยว่ามีบางหนทางในการใช้ยาที่ชัดเจนว่าปลอดภัยกว่าที่ใช้กันอยู่ด้วย

ประการที่สาม “สร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่” ส่วนบุคคลหรือสังคม โดยไม่จำเป็นต้องหยุดการใช้ยาทุกชนิด เป็นหลักเกณฑ์ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการกำหนดนโยบายเพื่อเข้าแทรกแซงในกลุ่มผู้ใช้ยา

ประการที่สี่ จัดให้มีงบประมาณและทรัพยากรเพื่อการบริการ “ให้การช่วยเหลือเพื่อผู้ติดยาให้ลดความรุนแรงการใช้ยา” แทนการใช้การตัดสินในกระบวนการยุติธรรมหรือบทลงโทษทางอาญา

ประการที่ห้า ต้องให้แน่ใจว่าผู้ที่ใช้ยาเสพติดและกลุ่มคนที่เคยมีประวัติในการใช้ยาเสพติดเป็นประจำคือเสียงสะท้อนที่แท้จริง ทั้งในการนำเสนอโครงการและออกแบบนโยบายเพื่อคนกลุ่มที่ใช้ยาเสพติด

ประการที่หก ยืนยันจากประชากรผู้ใช้ยาเสพติดด้วยกลุ่มของพวกเขาเอง ในการเป็นกลุ่มคนเบื้องแรกที่จะลดความรุนแรงจากการใช้ยาเสพติดของพวกเขา และแสวงหาการให้และแบ่งปันข้อมูลข่าวสารเพื่อเป็นยุทธศาสตร์ในการสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อให้ได้เงื่อนไขที่แท้จริงในการใช้ยา

ประการที่เจ็ด ตระหนักรับรู้ว่าข้อเท็จจริงในเรื่อง ความยากจน ชนชั้น การเหยียดเผ่าพันธุ์ การโดดเดี่ยวออกจากสังคม ความเจ็บปวดในอดีต การแบ่งแยกกีดกันเรื่องเพศ และรวมถึงความไม่เท่าเทียมอื่นในสังคมมีผลต่อความอ่อนแอของประชาชน และความสามารถในการรับมือกับยาที่มีความรุนแรงด้วย
 
ประการที่แปด ต้องไม่พยายามเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริง โศกนาฏกรรมความรุนแรง และอันตรายที่สัมพันธ์กับการใช้ยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย [3]




เป็นอย่างที่ทราบกันว่าในบรรดายาเสพติดทั้งหลายนั้น “กัญชา” เป็นสมุนไพรที่ทำให้เกิดการเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่[3] และมีความน่าจะเป็นในการติดกัญชาอยู่เพียงระดับ “กาแฟ” เท่านั้น[5]

สำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime) ได้รายงานว่าในปี 2563 มีประชากรในโลกที่อายุ 15-64 ปีมีผู้ใช้สารเสพติดมากถึง 284 ล้านคน แบ่งเป็นการใช้กัญชามากถึง 209 ล้านคน(73.59%), รองลงอันดับที่สองคือกลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์ 61 ล้านคน (21.48%), ยาบ้า 34 ล้านคน (11.97%), โคเคน 21 ล้านคน(7.39%) และยาอีประมาณ 20 ล้านคน (7.04%)[6]

จากกลุ่มผู้ใช้ยาทั้งหมด มีสาเหตุการเสียชีวิตสูงที่สุดในโลกกลับเป็นยากลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์คิดเป็น 77%, ยาบ้า 7%, โคเคน 4%, กัญชา 4%[6]

แต่หากพิจารณาจากสัดส่วนของประชากรที่ใช้สารเสพติด กับการตายอันเนื่องมาจากยาเสพติดนั้น ย่อมเห็นสัดส่วนได้ชัดมากกว่า กัญชามีผู้ใช้มากที่สุดถึง 209 ล้านคน (73.59%)นำหน้า โอปิออยด์, ยาบ้า และโคเคน แต่กลับมีสัดส่วนอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าทั้งโอปิออยด์ ยาบ้า และโคเคน ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า “กัญชา” อันตรายน้อยกว่ายาเสพติดที่รุนแรงเหล่านี้อย่างชัดเจน[6]

แต่เรื่องที่น่าคิดไปกว่านั้นคือ บุหรี่ และเหล้า ซึ่งเสพติดง่ายกว่ากัญชา แต่กลับหาซื้อได้ง่ายและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนในโลกนี้จำนวนมากจริงๆ

โดยในรายงานชิ้นเดียวกันนี้พบว่าในปี 2562 พบว่าบุหรี่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรในโลกมากถึง 8.7 ล้านคน และการดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุการเสียชีวิตรองลงมาถึง 2.4 ล้านคน ในขณะที่มีประชากรที่เสียชีวิตจากยาเสพติดอื่นๆ ประมาณ 5 แสนคน[6] ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เหล้าและบุหรี่เป็นปัญหาของการเสียชีวิตมากยิ่งกว่ายาเสพติดอื่นๆ ด้วย

แปลว่านอจากกัญชาเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่แล้ว ยังก่อความรุนแรงและอันตรายน้อยกว่าเหล้า บุหรี่ โอปิออยด์ ยาบ้าด้วย

ยังไม่นับอาการเมายาบ้า หรือเมาเหล้าแล้วอาละวาด ก่ออาชญากรรมในสังคมอย่างมากมาย แต่กลับไม่เกิดลักษณะดังที่ว่านี้กับกัญชา ซึ่งหากบริโภคเกินปริมาณกลับทำให้ขาดกลัวและนอนหลับ

ข้อสำคัญคือ “กฎธรรมชาติของกัญชา” ที่บริโภคเกินแล้วทำให้เกิดความขลาดกลัว หัวใจเต้นเร็ว ความดันตก หรือนอนหลับยาวจนบริโภคเกินกว่านั้นไม่ได้ แล้วแต่เป็นลักษณะที่ทำให้ผู้ใช้ต้องเข็ดขยาด หรือไม่ก็ปรับตัวในการใช้กัญชาไม่ให้ใช้เกินขนาด ซึ่งต่างจากยาเสพติดชนิดอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง

ข่าวดีคือประเทศหรือมลรัฐที่ใช้กัญชาทั้งในทางการแพทย์และนันทนาการกลับพบในงานวิจัยมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ากัญชาหรือสารสกัดกัญชา ช่วยลดปัญหายาเสพติดที่รุนแรง ทั้งกลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยลด์ เฮโรอีน ยาบ้า เหล้า และบุหรี่ ด้วย

โดยกัญชาได้ถูกนำมาเริ่มต้นนำมาใช้สารสกัดแคนนาบิไดออลทั้งในกัญชาหรือกัญชง เพื่อลดการติดยากลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์ รวมทั้งเฮโรอีน[7] รวมทั้งการใช้กัญชาเพื่อลดการติดโคเคนในแคนนาดาอีกด้วย[8]

โดยวารสารเกี่ยวกับการลดความรุนแรงจากยาเสพติดโดยตรงที่เรียกว่า Harm Reduction Journal ฉบับเผยแพร่เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2562 นั้นคณะวิจัยชาวแคนนาดาได้ทำการสำรวจประชากรชายและหญิงประมาณ 3,110 คน อายุเฉลี่ย 40 ปี โดยเป็นผู้ป่วยที่มีอาการปวดหรือมีปัญหาทางสุขภาพจิต 1,700 คน หรือประมาณ 83.7%

โดยกลุ่มประชากรกลุ่มนี้ประมาณ 1,515 คน หรือประมาณ 74.6% ได้ใช้กัญชาทุกวันประมาณ 1.5 กรัม ประชากรส่วนใหญ่ 953 คนใช้เพื่อแทนใบสั่งยา 69.1% ซึ่งรวมถึงการลดยาในกลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์, รองลงมาอีก 515 คนหรือประมาณ 44.5% ใช้เพื่อทดแทนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, โดยอีกจำนวน 406 คน หรือประมาณ 31.1% ใช้เพื่อทดแทนบุหรี่ และยังมีประชากรอีก 136 คน หรือประมาณ 26.6% ใช้เพื่อทดแทนยาเพติดที่ผิดกฎหมายอื่นๆ

งานวิจัยชิ้นนี้ได้พบข้อมูลการสำรวจว่าการใช้กัญชามีบทบาทในการมาทดแทนยากลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาเสพติดอื่นๆ และยังเห็นว่างานวิจัยกำลังมีมากขึ้นที่กำลังจะแนะนำว่าการเพิ่มขึ้นในการเข้าถึงกัญชาทั้งทางการแพทย์และนันทนาการอย่างมีการควบคุมให้เหมาะสม สามารถส่งผลทำให้ลดความรุนแรงจาก โอปิออยด์, แอลกอฮอล์ บุหรี่ และยาเสพติดอื่นๆได้[9]

ต่อมาผลการศึกษาวารสารสาธารณสุขของอเมริกัน ชื่อ American Journal of Public Health (AJPH) ได้เผยแพร่งานวิจัยเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2564 ในการศึกษาที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนนาดาระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559-2561 พบว่า 25% ของผู้ที่ใช้กัญชานั้นเพื่อลดยาที่อันตรายหรือรุนแรงอย่างอื่นที่เรียกว่า “Harm Reduction” (เช่น เฮโรอิน, ฝิ่น, โคเคน, ยาบ้า, หรือแอลกอฮอล์) และพบเหตุผลที่มากที่สุดคือใช้กัญชาเพื่อทดแทนยาเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทถึง 50% และการทดแทนกลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์ที่ผิดกฎหมายอีก 31%[10]

หัวหน้าคณะวิจัยชาวแคนนาดาคนเดียวกันนี้ ได้วิจัยต่อเนื่อง และ ได้ทำงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารกัญชาและสารสกัดจากกัญชาในปีต่อมาชื่อ Cannabis and Cannabinoid Research เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565ในการศึกษาเรื่องกัญชาแบบไปข้างหน้า (Cohort Study) ในการเฝ้าสังเกตการณ์กลุ่มประชากร 5,706 คน พบว่าการใช้กัญชาได้ประสบความสำเร็จในการทดแทนกลุ่มประชากรที่ใช้ยาที่รุนแรง โดยเฉพาะยาบ้า (Metamphetamine) และทำให้ต้องมองกัญชาเป็น “ยุทธศาสตร์” ที่จะนำมาใช้เพื่อลดปัญหาผู้ที่ใช้ยาเสพติดมากขึ้น[11]

ดังนั้นการแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยการทำสงครามกับยาเสพติดยังไม่เคยประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริง เพราะในความเป็นจริงการค้ายาเสพติดใต้ดินนั้นมีทั้งผลประโยชน์และการคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ด้วย การทำสงครามยาเสพติดด้วยมาตรการความรุนแรงโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม จึงมักจะพบปัญหา “การฆ่าตัดตอนเพื่อไม่ให้ถึงผู้บงการ”, การกลั่นแกล้งทางการเมือง, การกำจัดคู่แข่งที่ค้ายาเสพติด ฯลฯ ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไปยาเสพติดก็คืนกลับมาทำลายสังคมต่อไปได้ในที่สุด

การที่กัญชาได้มามีบทบาทมากขึ้นในการลดการใช้ยาที่รุนแรงในหลายประเทศ จนถึงขั้นการลดอาชญากรรมในสังคมได้นั้น เกิดจากความเต็มใจของผู้ที่ใช้ยาที่รุนแรงหันมาใช้กัญชามากขึ้นนั่นเอง

และเหนือไปกว่าการใช้กัญชาเพื่อลดปัญหาความรุนแรงของยาเสพติดแล้ว คือกัญชาได้เป็นสมุนไพรที่ช่วยทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น จากงานวิจัยในทุกมลรัฐของสหรัฐอเมริกาพบใบสั่งยาลดลง ยอดขายยาแผนปัจจุบันลดลงด้วย

คงเหลือแต่เรื่องเดียวที่สังคมไทยมีความห่วงใยกลุ่มเปราะบางคือ เด็กและเยาวชน

ซึ่งหากนักการเมืองมีความจริงใจและไม่เล่นการเมือง ก็ควรจะเร่งพิจารณาผ่านหรือแก้ไข พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ. ที่ค้างอยู่ในวาระที่สองสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในขณะนี้ และเลื่อนมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนพิจารณาให้เร็วขึ้น เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิตในฐานะ
โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข
27 ตุลาคม 2565

อ้างอิง
[1] ผู้จัดการออนไลน์, ประชุมขับเคลื่อนผลักดันนำกัญชาลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดที่รุนแรง แก้ปัญหาหลักยาบ้า, เผยแพร่: 11 ต.ค. 2565 15:57 ปรับปรุง: 11 ต.ค. 2565 15:57
https://mgronline.com/politics/detail/9650000097644

[2] The International Drug Policy Consortium (IDPC) “New Approaches on Harm Reduction with a look at UNGASS 2016” Conference Room Paper, 59th session of the Commission on Narcotic Drugs, 14-22 March 2016
http://fileserver.idpc.net/library/Conference-Room-Paper-on-Harm-Reduction.pdf

[3] National Harm Reduction Coalition, PRINCIPLES OF HARM REDUCTION, Revised 2020
https://harmreduction.org/wp-content/uploads/2020/08/NHRC-PDF-Principles_Of_Harm_Reduction.pdf

[4] Catalina Lopez-Quintero, et al, Probability and predictors of transition from first use to dependence on nicotine, alcohol, cannabis, and cocaine: Results of the National Epidemiologic Survey on Alcohol and Related Conditions (NESARC),Drug and Alcohol dependence, Volume 115, Issues 1-2, May 2011, Pages 120-130
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3069146/

[5] Steven C. Markoff. Is Marijuana Addictive? The Medical Marijuana Magazine. http://www.drugsense.org/mcwilliams/www.marijuanamagazine.com/toc/addictiv.htm

[6] World Drug Report, United Nations Office on Drugs and Crime : New York, 2020, Page 60
https://www.unodc.org/res/wdr2022/MS/WDR22_Booklet_1.pdf

[7] Hurd YL, Yoon M, Manini AF et al. Early phase in the development of cannabidiol as a treatment for addiction: opioid relapse takes initial center stage. Neurotherapeutics. 2015;12(4):807–815. doi: 10.1007/s13311-015-0373-7. [PMC free article] [PubMed] [CrossRef] [Google Scholar]

[8] Socías ME, Kerr T, Wood E et al. Intentional cannabis use to reduce crack cocaine use in a Canadian setting: a longitudinal analysis. Addict Behav. 2017;72:138–143. doi: 10.1016/j.addbeh.2017.04.006. [PMC free article] [PubMed] [CrossRef] [Google Scholar]

[9] Lucas, P., Baron, E.P. & Jikomes, N. Medical cannabis patterns of use and substitution for opioids & other pharmaceutical drugs, alcohol, tobacco, and illicit substances; results from a cross-sectional survey of authorized patients. Harm Reduct J 16, 9 (2019). https://doi.org/10.1186/s12954-019-0278-6
https://harmreductionjournal.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12954-019-0278-6

[10] Janice Mok, et al, Use of Cannabis for Harm Reduction Among People at High Risk for Overdose in Vancouver, Canada (2016–2018), American Journal of Public Health (AJPH) May 2021,
https://ajph.aphapublications.org/doi/abs/10.2105/AJPH.2021.306168?journalCode=ajph

[11] Janice Mok, et al., Use of Cannabis as a Harm Reduction Strategy Among People Who Use Drugs: A Cohort Study, Cannabis and Cannabinoid Research, Published Online 31 May 2022
https://doi.org/10.1089/can.2021.0229
https://www.liebertpub.com/doi/10.1089/can.2021.0229


กำลังโหลดความคิดเห็น