หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
การแสดงออกของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่เหลือวาระอีกประมาณ 2 ปีกว่า แม้จะยังไม่แสดงท่าทีชัดว่าจะเอาอย่างไรหลังหมดวาระ 4 ปี ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่จากภาษากายแล้วคาดเดากันไปว่า พล.อ.ประยุทธ์จะยังไม่หยุดวางมือทางการเมืองอย่างที่หลายคนคาดการณ์กัน นั่นคือเป้าหมายของเขาจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อในการเลือกตั้งสมัยหน้าอย่างน้อยครึ่งเทอมหรือ 2 ปี
นั่นแสดงว่า พล.อ.ประยุทธ์มิได้ยี่หระต่อกระแสเบื่อของคนไทยจำนวนหนึ่ง และคงมั่นใจว่าตัวเองยังมีความนิยมที่มากพอ แม้จะบริหารประเทศมาแล้วกว่า 8 ปี เราไม่รู้ว่าปัจจัยอะไรที่เกื้อหนุนให้พล.อ.ประยุทธ์เชื่ออย่างนั้น หรือว่ามีเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์มิอาจปฏิเสธที่จะไปต่อได้
มีบางคนบอกว่า สถานการณ์บ้านเมืองในยุคของการเปลี่ยนผ่านอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ต้องการนายกรัฐมนตรีแบบพล.อ.ประยุทธ์ก็ได้
สิ่งที่ทุกคนรอคอยในตอนนี้ก็คือความชัดเจนจากพล.อ.ประยุทธ์ว่าจะวางอนาคตทางการเมืองของตัวเองอย่างไร
แต่อย่างไรก็ตามการจะได้ไปต่อหรือไม่ของพล.อ.ประยุทธ์อาจจะไม่ง่ายดายเหมือนการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว แม้จะยังมี 250 ส.ว.ที่พร้อมจะเป็นฝักถั่วก็ตาม เพราะครั้งนี้ไม่ได้เลือกตั้งภายใต้บรรยากาศของเผด็จการที่อำนาจรัฐแผ่ไปทั่วทุกพื้นที่ และประชาชนจำนวนมากได้รับรู้ถึงความสามารถในการบริหารประเทศของพล.อ.ประยุทธ์ไปแล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่า ถ้าหากจับกระแสของสังคมความนิยมของพล.อ.ประยุทธ์น่าจะน้อยลงไปไม่น้อย
ถ้าถามว่าผลงานของรัฐบาลประยุทธ์มีบ้างไหม ก็ต้องยอมรับความจริงว่า รัฐบาลนี้มีความโดดเด่นมากในการสร้างเครือข่ายคมนาคม ทั้งขบวนรถไฟฟ้าหลายสายในกทม.และเครือข่ายคมนาคมในต่างจังหวัดหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย และบรรดากองเชียร์ประยุทธ์มักจะเอามาเป็นเครื่องมือในการโหมประโคมผลงาน แต่ผลงานนั้นจะเพียงพอกับการปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคระบาดและสงครามที่ต้องการมืออาชีพหรือไม่นั่นคงเป็นคำถามที่ประชาชนจะเป็นผู้ตอบ
ปัญหาหนึ่งที่พล.อ.ประยุทธ์อาจต้องไปต่อไม่อาจวางมือได้ก็คือ การยังมองไม่เห็นว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมนอกจากพล.อ.ประยุทธ์แล้วจะมีใครที่มีความนิยมที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ อนาคตของฝ่ายอนุรักษนิยมไม่ได้ขึ้นอยู่กับการจัดวางในทางการเมืองอย่างเดียว แต่หมายถึงอนาคตของประเทศที่กำลังถูกคนรุ่นใหม่ท้าทายในเชิงโครงสร้างด้วย
ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ตอนนี้ของฝ่ายอนุรักษนิยมตกเป็นรองพรรคฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แต่ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ไม่ออกมานำทัพต่อก็อาจจะยิ่งพ่ายแพ้ไม่มีราคาต่อรองมากขึ้นไปอีก ดังนั้นการเข็นพล.อ.ประยุทธ์ให้ไปต่อก็อาจเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้
ถ้าพล.อ.ประยุทธ์วางมือแล้วเข็นพล.อ.ประวิตรออกมาสู้ แม้มวลชนฝ่ายอนุรักษนิยมจำนวนหนึ่งอาจจำเป็นต้องเลือก แต่ก็ไม่น่าจะมีปริมาณเพียงพอที่จะทำให้ชนะเลือกตั้งได้ ถ้าคนกลางๆจำนวนหนึ่งไม่เอาด้วย ถามว่าพล.อ.ประวิตรมีความนิยมมากพอที่จะทำให้ชนะเลือกตั้งไหม เชื่อว่าใครต่อใครก็ต้องตอบว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ ทางเลือกที่ดีที่สุดก็คือ ดันให้พล.อ.ประยุทธ์ไปต่อแล้วพล.อ.ประวิตรค่อยไปฉลองเก้าอี้ต่อเมื่อพล.อ.ประยุทธ์หมดวาระ
ถ้าจะว่าไปแล้วในช่วง 30 กว่าวันที่ต้องทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการพล.อ.ประวิตรก็ทำหน้าที่ได้ไม่เลว และสะท้อนถึงความเข้าใจการเมืองมากกว่าพล.อ.ประยุทธ์ที่เป็นนายกรัฐมนตรีบนหอคอยงาช้างไม่ลงมาเกลือกกลั้วกับส.ส.ทำให้สมาชิกพรรคหรือส.ส.ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการที่พรรคเป็นแกนนำรัฐบาล
ตอนนี้ในพรรคพลังประชารัฐจึงเริ่มปั่นกระแสนายกฯ คนละครึ่ง หรือ”หมดที่ลุงตู่ สู่ลุงป้อม” แม้จะเป็นการโยนหินถามทางของบรรดาสมาชิกพรรคบางคน แต่นี่ก็เป็นการสะท้อนปัญหาภายในพรรคที่ส.ส.หลายคนยังไม่มั่นใจว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร พวกเขาต้องการคำตอบที่ชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไปต่อหรือไม่ เพื่อจะได้ตัดสินอนาคตของตัวเองได้ว่าจะอยู่ต่อหรือไปหาโอกาสที่ดีกว่า เพราะส่วนหนึ่งเชื่อว่า ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ไม่ไปต่อโอกาสของพรรคพลังประชารัฐที่จะกลับมาเป็นแกนนำรัฐบาลก็อาจจะน้อยลงสู้ไปอยู่ในพรรคที่มีอนาคตจะดีกว่า
พรรคการเมืองที่กลายเป็นพรรคเนื้อหอมแล้วทอดสะพานเชิญชวนให้บรรดาส.ส.เข้าไปร่วมงานคือ พรรคภูมิใจไทยที่หลายคนคาดว่าอาจจะได้รับเลือกตั้งเข้ามามากกว่าพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ต้องยอมรับนะครับว่า ส.ส.บางคนในพรรคโดยเฉพาะภาคใต้และกทม.นั้นได้เข้ามาเป็นส.ส.เพราะกระแสของพล.อ.ประยุทธ์ แต่จนถึงวันนี้พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ให้คำตอบที่ชัดเจนเสียที หรือแม้กระทั่งการเรียกร้องให้ปรับครม.เพื่อรับมือกับสถานการณ์เลือกตั้งพล.อ.ประยุทธ์ก็ยังไม่ยอมตอบสนอง ทำให้ส.ส.บางคนไม่อาจรอกับอนาคตที่ไม่แน่นอนได้ต้องตีตัวออกห่างไปอยู่ชายคาของพรรคอื่น แม้อาจจะไม่ได้ไปต่อ แต่ก็อาจจะมีขวัญถุงติดมือมาบ้างหากกลายเป็นส.ส.สอบตก เพราะคนที่ผ่านการเป็นส.ส.มาแล้วต่างมีราคาค่างวดกันทั้งนั้น
ดังนั้นจำเป็นมากที่พล.อ.ประยุทธ์จะต้องประกาศท่าทีที่ชัดเจนออกมาโดยเร็ว เพราะนักการเมืองนั้นมีเงื่อนระยะเวลาของการเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ถ้าพล.อ.ประยุทธ์จะไปต่อก็ต้องรีบพูดจาออกมา
แม้ว่าการไปต่อของพล.อ.ประยุทธ์อาจจะไม่ใช่หลักประกันว่าจะได้กลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีก แต่การมีพล.อ.ประยุทธ์อยู่ก็อาจจะดีกว่าไม่มี แล้วไปคาดหวังเอาว่า พรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้จะยังสามารถรวบตัวกันเป็นเสียงข้างมากได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า แม้ว่าผลการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคอันดับ 1 เช่นเดียวกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้วก็ตาม
ถ้าพรรคพลังประชารัฐไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่การเมืองยังไม่เปลี่ยนขั้วไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม เช่นว่าพรรคภูมิใจไทยกลายเป็นพรรคอันดับ 1 ในฝ่ายนี้ถึงตอนนั้นพล.อ.ประยุทธ์ก็คงสามารถวางมือได้อย่างไม่ต้องกังวล แต่ถ้าพลิกเป็นฝ่ายพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็เชื่อว่าจะต้องมีแรงกดดันให้พรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคพลังประชารัฐมากกว่าพรรคก้าวไกลที่ท้าทายต่อรูปแบบของรัฐ ถึงตอนนั้นพล.อ.ประยุทธ์ก็อาจจะวางมืออย่างปลอดภัยอยู่ดี
ความจริงที่เราปฏิเสธไม่ได้ก็คือ วันนี้พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีที่มาจากการสืบทอดอำนาจจากเผด็จการอย่างเดียว แต่พล.อ.ประยุทธ์กลายเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งและกลายเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยด้วย พล.อ.ประยุทธ์จึงจำเป็นต้องออกแบบตอนจบของตัวเองให้อยู่ในโซนที่ปลอดภัย
ต้องยอมรับว่า การเลือกตั้งครั้งหน้านั้นอยู่ในสถานการณ์ที่แหลมคมต่ออนาคตของประเทศ ต่อรูปแบบและโครงสร้างของรัฐ แม้ว่าโดยโครงสร้างของประชาชนยังอาจจะยากที่ฝ่ายที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่าพลิกฝ่ามือขึ้นมาปกครองประเทศ แต่ก็ค่อยๆ ส่งสัญญาณให้เห็นถึงกระแสคลื่นของความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะยากจะทัดทานในวันที่คนรุ่นเก่าค่อยๆล้มหายตายจากไป นี่อาจเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการกำหนดคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีของประเทศนี้เพื่อรักษาโครงสร้างของรัฐเอาไว้
แม้ว่าตอนนี้สถานการณ์ของฝ่ายอนุรักษนิยมนั้นตกเป็นรองอย่างมาก พรรคเพื่อไทยอาจจะชนะเป็นอันดับ 1 และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก็ไม่เป็นอันตรายต่อรูปแบบและโครงสร้างของรัฐ แต่คำถามว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องเป็นคำตอบที่ว่าจะสร้างความมั่นใจให้กับความมั่นคงของประเทศนี้หรือไม่ บางทีก็ไม่อาจจะเป็นการตัดสินของเสียงประชาชนโดยลำพังได้ ดังนั้นไม่แน่เสมอไปว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคแกนนำจัดตังรัฐบาลนายกรัฐมนตรีอาจจะเป็น อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตรหรือ เศรษฐา ทวีสิน อย่างที่พรรคเพื่อไทยแย้มพรายมา
การที่เรายังไม่เห็นพล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจเสียทีว่าจะเอาอย่างไรต่อทั้งที่มีเวลาในการเป็นนายกรัฐมนตรีไม่นานและยังมีเงื่อนไขว่าเป็นต่อได้อีกเพียงครึ่งเทอม เพราะพล.อ.ประยุทธ์อาจจะไม่สามารถตัดสินอนาคตได้ด้วยตัวเองก็เป็นได้
การเมืองเมืองไทยไม่ใช่หมากที่เห็นบนกระดานพราะเพียงแค่กระพริบตาก็อาจจะแปรผันไปอย่างไรก็ได้
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan