ถ้าไม่มีสถานการณ์พลิกผัน นายริชี ซูนัก อดีตขุนคลังอังกฤษเชื้อชาติอินเดียคงได้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งของพรรคอนุรักษนิยมวันที่ 28 เดือนนี้
จะเป็นเรื่องที่สะท้านใจ เมื่อคนเชื้อชาติอินเดียได้เป็นผู้นำอังกฤษ เมืองผู้ดี นักล่าอาณานิคมตัวกลั่น ซึ่งปกครองอินเดียยาวนานถึง 200 ปี จนได้รับอิสรภาพในปี 1948 จากนั้นก็แบ่งแยกประเทศเป็นอินเดียและปากีสถาน
คนอังกฤษจะทำใจได้หรือไม่ ต้องยอม เพราะนายซูนักเกิดในอังกฤษ เป็นคนอังกฤษ เพียงแต่ไม่ใช่คนผิวขาวแบบคนอังกฤษ ดูอย่างไรก็เป็นชาวชมพูทวีป
นายซูนักเป็นนักลงทุน ฐานะอยู่ในขั้นมหาเศรษฐี มีภรรยาเป็นลูกสาวเจ้าของบริษัทไฮเทคอินเดีย อินโฟซิส ไม่มีปัญหาด้านการเงินแน่นอน การที่คนอินเดียได้เป็นนายกฯ อังกฤษ คงทำให้คนอินเดีย 1.4 พันล้านคนดีใจ เหมือนเป็นการเอาคืน
ทุกวันนี้คนอินเดียเป็นผู้นำซีอีโอบริษัทข้ามชาติดังๆ ในสหรัฐฯ หลายสิบแห่ง ในอังกฤษมีคนอินเดีย ปากีสถานและชาติอื่นๆ ในชมพูทวีปหลายล้านคน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน นายซาดิก ข่าน ก็มีเชื้อสายปากีสถาน
คนอินเดียไปอยู่อาศัยในแทบทุกทวีปทั่วโลก คนเชื้อสายอินเดียส่วนหนึ่งเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คือนางกมลา แฮร์ริส ในบรรยากาศของการเหยียดสีผิว
กรณีของนายซูนักก็ไม่ต่างกัน แต่อาจไม่รุนแรงมากเพราะในคณะรัฐมนตรีอังกฤษจะมีความหลากหลายของสีผิว รัฐมนตรีมหาดไทยก็มีเชื้อสายอินเดีย
เป็นฐานคะแนนเสียงของนักการเมืองเชื้อสายอินเดีย อยู่ในสภาหลายคน
คราวก่อนนายซูนักทำคะแนนนำในกลุ่มคัดเลือก แทนนายบอริส จอห์นสัน แต่มาพ่ายนางลิซ ทรัสส์ในรอบชิงสุดท้าย คงเป็นเพราะ ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมทำใจยังไม่ได้ อย่างไรก็เลือกคนผิวขาวเอาไว้ก่อน
พรรคแรงงานไม่พอใจอย่างมาก ต้องการให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่สำหรับสมาชิกสภาสามัญ 650 คน แต่พรรคอนุรักษนิยมมองว่าถ้าเลือกตั้งวันนี้แพ้แน่ ก็ต้องยื้ออยู่
กำหนดการเลือกตั้งไม่เกินทุก 5 ปี ครั้งต่อไปอยู่ในปี 2525 ซึ่งพรรคแรงงานทนไม่ไหว ถ้านายซูนักสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ก็อาจได้ครองเสียงข้างมากอีก
ครั้งนี้นายซูนักมีคู่แข่งคือนายจอห์นสัน ซึ่งรีบบินกลับจากการพักผ่อนย่านคาริบเบียน หวังว่าจะได้เสียงเพียงพอ แต่ได้ไม่ถึง 60 เสียง นายซูนักนำโด่งประมาณ 155 เสียง อีกรายนางเพนนี มอร์ดอนท์ ได้ 25 เสียง
ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมมี 357 เสียง ถ้านางมอร์ดอนท์ไม่ได้คะแนนถึง 100 เสียงภายในเวลา 2 ทุ่มบ้านเรา นางก็หมดสิทธิเข้าชิง นายซูนักก็ลอยลำ
จะมีเสียงเฮของคนอินเดียทั่วโลกหรือไม่ น่าสนใจเฝ้าติดตามมาก
จอห์นสันขอถอนตัว อ้างว่าเวลานี้ไม่เหมาะสำหรับการเข้าชิง เอาไว้รอเลือกตั้งทั่วไปดีกว่า นางมอร์ดอนท์ ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีกลาโหมหญิงคนแรกของอังกฤษ จะยังสู้ต่อหรือไม่ หรือหวังเสียงเทจากคนไม่เอานายซูนัก
ไม่อยากให้คนอินเดียเป็นผู้นำประเทศอังกฤษ ทำใจไม่ได้ เหมือนชิงกับนางลิซ ทรัสส์ ใครจะว่าอังกฤษไม่มีเหยียดสีผิว คงผิดไปแล้ว
ส.ส.พรรคแรงงาน นายคริส ไบรอันท์ ประกาศเลยว่า ถ้านายซูนักได้เป็นนายกฯ ระบบการเลือกตั้งของประเทศอังกฤษคงไม่แตกต่างจากรัฐที่ปลูกกล้วย (Banana Republic) ซึ่งเป็นคำพูดที่หยามเหยียดประเทศปลูกกล้วยในละตินอเมริกา
หรือว่ากลุ่มประเทศด้อยพัฒนาทางการเมืองนั่นเอง ประเทศที่มีการรัฐประหารบ่อยๆ โดยกองทัพก็ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มรัฐกล้วยด้วยเช่นกัน
นายคริส ไบรอันท์บอกว่า “ถ้านายริชี ซูนัก ได้เป็นนายกฯ ไม่ผ่านการซักถามหรือสัมภาษณ์ หรือการตรวจสอบแม้แต่น้อย โดยเฉพาะไม่ผ่านการเลือกของประชาชน ระบบการเลือกตั้งของอังกฤษคงไม่เป็นประชาธิปไตยมากกว่ารัฐกล้วย”
“จะไม่มีฉันทานุมัติจากประชาชน และนั่นเป็นสิ่งที่น่าอัปยศ” นายไบรอันท์บอก มีคนคิดอย่างนายไบรอันท์บ้างหรือไม่ คงไม่ยอมรับ แต่นั่นเป็นคนต่างพรรค
หรือว่าอังกฤษขาดแคลนนักการเมืองระดับผู้นำมีคุณภาพ การเลือกนางลิซ ทรัสส์ มานั้นถือว่ายอดแย่ ผลงานไม่โดดเด่น เสียงดังอย่างเดียวคือการหนุนยูเครน
นางได้เป็นผู้นำอังกฤษได้เพียง 45 วัน สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ออกไปแบบสิ้นสภาพ นักการเมืองพรรคเดียวกันขับไล่ไสส่งแบบไม่มีดี
แต่ก็แปลกที่คนดังๆ ในการเมืองอังกฤษ เช่นนายเบน วอลเลซ อดีตรัฐมนตรีกลาโหม นายเจเรมี ฮันท์ อดีตขุนคลัง ผู้ถูกมองว่าทรงอิทธิพล กลับไม่ลงชิงด้วย
สุดท้ายก็มาลงเอยที่นายซูนัก ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ก็จะไม่มีใครกล้าปรามาส ทุกวันนี้ที่คนไม่อยากลงแข่งเพราะรู้ว่าอังกฤษอยู่ในขั้นวิกฤต คนหลายล้านครอบครัวต้องอยู่แบบอดมื้อกินมื้อ
ค่าแรงแพง เงินเฟ้อสูง ค่าครองชีพสูง ทำให้คนอังกฤษจนลง คนมีรายได้ประจำเริ่มชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องลดคุณภาพ มาตรฐานการดำรงชีวิต
ที่เคยกินเนื้อสัตว์ อาหารมีระดับ ก็ต้องกินอาหารเวฟอดๆ อยากๆ เพราะการเข้าไปยุ่งกับสงครามยูเครน-รัสเซีย ทำให้พลังงานราคาแพงหลายเท่าตัว มีการประเมินว่าอังกฤษจะมีอัตราเงินเฟ้อสูงถึง 15 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้า ถ้ารอดปีนี้ได้