xs
xsm
sm
md
lg

เปิดงานวิจัย “กัญชา” ลดยอดขายยา-ลดใบสั่งยา / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

วารสารห้องสมุดสาธารณะทางด้านวิทยาศาสตร์ PLoSOne ได้เผยแพร่ บทความวิจัยในเรื่องผลกระทบของการให้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในสหรัฐอเมริกาต่อกลุ่มธุรกิจยา โดยเผยแพร่เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565[1]

โดยบทคัดย่อในการวิจัยนี้ได้กล่าวถึงการทำกัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในหลายมลรัฐของสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มการใช้กัญชาในฐานเป็นยาทางเลือกของยาในแพทย์แผนปัจจุบัน โดยคณะวิจัยได้ตรวจสอบมลรัฐที่ทำให้กัญชาถูกกฎหมายช่วง 22 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539- 2562 ว่ามีผลกระทบอย่างไรต่อบริษัทยาสามัญและบริษัทยาภายใต้เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และพบว่า…

ราคาหุ้นลดลงกว่าเดิมประมาณ 1.5-2% ใน 10 วันแรกที่ทำให้กัญชาถูกกฎหมาย โดยผลตอบแทนจากการลงทุนหุ้นบริษัทยาสามัญและบริษัทยาภายใต้ชื่อทางการค้าลดลง ซึ่งรวมถึงการออกฎหมายกัญชาทั้งในทางการแพทย์และในทางนันทนาการด้วย[1]

โดยนักลงทุนคาดว่ากฎหมายที่ทำให้กัญชาถูกกฎหมายแต่ละฉบับจะส่งผลทำให้ยอดขายต่อปีของผู้ผลิตยา “ลดลง”ปร ะมาณ 3 พันล้านเหรีญสหรัฐต่อปีโดยเฉลี่ย[1]

บทความวิจัยนี้ยังพบด้วยว่าผลกระทบต่อยอดขายของบริษัทยาจะลดลงจากการออกกฎหมายให้กัญชานันทนาการมากกว่าการออกฎหมายใช้ทางการแพทย์ถึง 129% และยังพบผลกระทบของการทำให้กัญชาถูกกฎหมายของยอดขายลดลงต่อบริษัทภายใต้ชื่อทางการค้าจะรุนแรงกว่ายาสามัญถึง 224%[1] โดยคาดการณ์อีกด้วยว่า 16 มลรัฐที่เหลือที่ยังไม่ได้ทำให้กัญชาถูกกฎหมายหากทำให้กัญชาถูกกฎหมายแล้วจะทำให้ค่าใช้จ่ายยาแผนปัจจุบันต่างๆลดลงไปประมาณ 11%[1]

สอดคล้องไปกับงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารเศรษฐกิจสุขภาพ Health Economics ฉบับตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายน 2565 ในการสำรวจการจ่ายยาในมลรัฐของสหรัฐอเมริกาหลังได้ดำเนินการให้ “การนันทนาการเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย” พบว่ามี การลดการจ่ายยาต่างๆ ลง คือประชากรใช้ยาแก้อาการซึมเศร้าลดลงไป 11.1%, ประชากรใช้ยาแก้วิตกกังวลลดลงไป 12.2%, ประชากรลดการใช้ยาแก้ปวดไป 8%, ประชากรลดการใช้ยาโรคลมชักไป 9.5%, ประชากรลดยาโรคจิตไป 10.7%, ประชากรลดการใช้ยานอนหลับไป 10.8%[2]

มลรัฐที่แก้กฎหมายให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ได้ สามารถลดค่าใช้จ่ายให้กับระบบประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ได้ถึง 165 ล้านเหรียญสหรัฐในปี พ.ศ. 2556 และคำนวณว่าถ้าแก้กฎหมายทั่วประเทศ จะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้รวม 470 ล้านเหรียญสหรัฐ[2]

รศ.ดร.นพ.ปัตตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. สภาผู้แทนราษฎร ได้นำเสนอและนำรายงานผลกระทบของนโยบายกัญชาเสรีต่อเด็กและเยาชน : บทเรียนจากนานาชาติ, เอกสารวิชาการในงานสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ประจำปี พ.ศ. 2565 เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งมีเรื่องที่น่าสนใจหลายประเด็น แต่มิติที่น่าสนใจคือกัญชาในฐานะไม่ใช่เพียงแค่การรักษา แต่ยังอยู่ในฐานะเป็นสมุนไพรที่ส่งเสริมสุขภาพได้ด้วย[3]

โดยหากพิจารณาจากการวิจัยก่อนหน้านี้ในวารสาร Health Affairs เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า “แพทย์ในมลรัฐที่กัญชาถูกกฎหมาย” จะจ่ายยาลดลงหลายประเภทกว่า “แพทย์ในมลรัฐที่ไม่ได้ทำให้กัญชาถูกกฎหมาย” เช่นเดียวกัน

โดยเมื่อพิจารณายา “ส่วนต่าง” ที่แพทย์ในมลรัฐที่กัญชาถูกกฎหมาย “จ่ายยาประจำวันลดน้อย” ลงต่อแพทย์ 1 คนในรอบปี ในยาดังต่อไปนี้ สั่งจ่ายยาแก้ปวดลดลง 1,826 หน่วย/วัน, สั่งจ่ายยาบรรเทาวิตกกังวลลดลง 562 หน่วย/วัน, สั่งจ่ายยาแก้อาการคลื่นไส้ลดลง 541 หน่วย/วัน, สั่งจ่ายยาแก้อาการโรคจิตลดลง 519 หน่วย/วัน, สั่งจ่ายยาแก้อาการโรคลมชักลดลง 486 หน่วย/วัน, สั่งจ่ายยาแก้อาการโรคนอนไม่หลับลดลง 362 หน่วย/วัน, สั่งจ่ายยาแก้อาการโรคซึมเศร้าลดลง 265 หน่วย/วัน[2],[3] โดยเมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายในการจ่ายยาระหว่าง พ.ศ. 2553-2556 ลดลงไป 515 ล้านเหรียญสหรัฐ[4]

คำถามมีอยู่ว่าถ้าประเทศที่มีการใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายแล้วทำให้สุขภาพประชาชนเสื่อมทรามลงหรือมีผู้ป่วยมากขึ้น เหตุใดบริษัทขายยาจะมียอดขายยาลดลงได้อย่างไร

แต่ถ้าใครมีมุมมองเพียงว่ากัญชาต้องใช้ทางการแพทย์คือ “ป่วยแล้วไปหาแพทย์แล้วไปสู่การรักษาโดยคำสั่งของแพทย์” คำถามมีตามมาอยู่ว่าแพทย์จะยอมจ่ายกัญชาให้หรือไม่ หรือจะยอมให้ผู้ป่วยไปปลูกกัญชาเพื่อรักษาตัวเองหรือไม่ และหากแพทย์ไม่ยอมจ่ายกัญชาให้ประชาชน หรือไม่ออกใบอนุญาตให้ปลูกได้เพียงเพราะว่าแพทย์คนนั้นมีการขัดกันแห่งผลประโยชน์กับยาอื่นๆแล้ว ประชาชนจะทำอย่างไร?

และคำถามที่น่าจะพิจารณาต่อว่าหากกัญชาไม่ใช่มีแค่สรรพคุณ “รักษา” แต่มีสรรพคุณ “ส่งเสริมสุขภาพ” และลดความเสี่ยงโรคที่ประชาชนป่วยกันมากแล้ว ควรจะให้ประชาชนได้มีโอกาสใช้กัญชาโดยไม่ต้องรอใบสั่งยาจากแพทย์หรือไม่?

ตัวอย่างเช่น “โรคเบาหวาน” !!!!

สถานการณ์โรคเบาหวานในประเทศไทยเป็นปัญหาหนึ่งที่มีความสำคัญ โดยประมาณการว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวาน 5 ล้านคน หรือ 1 ใน 10 คนไทย ที่อายุ 15 ปีขึ้นไป กำลังป่วยด้วยโรคเบาหวาน และมีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 คนต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้มีถึง 40% ที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย[5]

อย่างไรก็ตาม ผู้ได้รับการวินิจฉัย และดูแลรักษามีเพียง 54.1% หรือเพียง 2.6 ล้านคน มี เพียง 1ใน 3 คนที่สามารถบรรลุเป้าหมายในการรักษา ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคเบาหวานในเมืองไทยมีมากถึง 200 ราย/วัน[5]

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ Journal/ BMJ Open ในหมวดงานวิจัยเกี่ยวกับโรคเบาหวานและวิทยาต่อมไร้ท่อ เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2555 พบเรื่องที่น่าสนใจว่าประชากรที่ยิ่งบริโภคกัญชากลับลดความเสี่ยงโรคเบาหวานได้อย่างมีนัยสำคัญ[3],[6]

การสำรวจทางระบาดวิทยานี้เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเป็นการสำรวจกลุ่มประชากรผู้ใหญ่มากกว่า 10,896 คน พบว่าคนอเมริกันที่บริโภคกัญชามีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน “น้อยกว่า” คนที่ไม่ได้ใช้กัญชา คิดเป็น 2.4 เท่าตัว[3]

โดยคนที่ไม่เคยใช้กัญชาเลยเป็นเบาหวาน 8.7%, คนที่ใช้กัญชา 1-4 ครั้งต่อเดือนเป็น เบาหวานน้อยกว่าเหลือ 4.2%, และคนที่ใช้กัญชาตั้งแต่ 5 ครั้งต่อเดือนขึ้นไปยิ่งเป็นเบาหวานลดลงเหลือเพียงร้อยละ 3.2% [3],[6]

ตัวอย่างถัดมาคือบทบาทของกัญชาต่อการลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง โดยถ้าการใช้กัญชาช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง แล้วเราจะยังคงให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาได้มากขึ้นหรือไม่?

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cancer Medicine ซึ่งยอมรับให้ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 โดยเป็นการรวบรวมผลการศึกษาจากฐานข้อมูลของthe UK Biobank 500,000 คน เริ่มเก็บข้อมูล ปี พ.ศ.2549 ติดตามไปนาน ถึง 14 ปีและวิเคราะห์ผล ณ ปี พ.ศ.2563 [3],[7]

โดยในจำนวนนี้ มีข้อมูลเรื่องการใช้กัญชา 151,945 ราย แบ่งเป็น ไม่เคยใช้กัญชา 118,496 ราย, เคยใช้ 33,449 ราย คิดเป็น เคยใช้ร้อยละ 28.2%โดยพิจารณาการใช้กัญชากับการโรคมะเร็งทางเดินปัสสาวะในประเทศอังกฤษ พบว่า คนที่เคยใช้กัญชาเป็นโรคมะเร็งทางเดินปัสสาวะ (ไตและต่อมลูกหมาก) “น้อยกว่า” คนที่ไม่เคยใช้กัญชา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติดังนี้ [3],[7]

มะเร็งต่อมลูกหมาก: คนที่ไม่เคยใช้กัญชา เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก 4%, คนที่เคยใช้กัญชา เป็นเพียง ร้อยละ 2% หรือต่างกัน 2 เท่า, มะเร็งไต: คนที่ไม่เคยใช้กัญชา เป็นมะเร็งไต 0.16%, คนที่เคยใช้กัญชาเป็นเพียง 0.08% หรือต่างกัน 2 เท่า[3],[7]

ในขณะที่บุหรี่และเหล้าได้ถูกประกาศโดยสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (The International Agency for Research on Cancer (IARC)) ภายใต้องค์การอนามัยโลกได้ประมวลงานวิจัยสารก่อมะเร็งจากทั่วโลกนับตั้งแต่การก่อตั้งจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 57 ปี พบหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เป็นสาเหตุของมะเร็งประเภทที่ 1 ได้หลายอวัยวะ[8]

โดยการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุในการเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งหลายชนิด ได้แก่ มะเร็งช่องปาก มะเร็งโพรงจมูก มะเร็งไซนัส มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้และทวารหนัก มะเร็งลูคีเมีย มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งไต มะเร็งกรวยไต มะเร็งท่อไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่[8] และการเลิกบุหรี่จะมีส่วนในการช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเหล่านี้ด้วย[8]

นอกจากนั้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุในการเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งหลายชนิดเช่นกัน ได้แก่ มะเร็งช่องปาก มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุผิวของทางเดินอาหาร-อากาศส่วนบน มะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้และทวารหนัก[8]

ความน่าสนใจคือตลอดระยะเวลา 57 ปีนับตั้งแต่การก่อตั้งสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (The International Agency for Research on Cancer (IARC)) ภายใต้องค์การอนามัยโลก ยังไม่เคยพบหลักฐานที่เพียงพอที่ทำให้ “กัญชา” อยู่ในบัญชีรายการสารก่อมะเร็งหรือเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งได้เลย[8]

ยิ่งไปกว่านั้นด้วยกัญชาที่มีบทบาทมากขึ้น ยาที่มีความรุนแรงกดการหายใจอย่างเช่นมอร์ฟีนที่ใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งก็ลดลงไปด้วย

โดยกัญชาลดอัตราตายจากยาที่สกัดจากฝิ่น เช่น มอร์ฟีน มลรัฐโคโลราโด หลังจากแก้กฎหมายกัญชา ทำให้การสั่งยาที่สกัดจากฝิ่น เช่น มอร์ฟีน ออกซี่โคโดน เมทาโดน มีจำนวนลดลง โดยเฉลี่ยลดลง 31.5% และการสั่งยาทสกัดจากฝิ่น ในภาพรวมของทั้งประเทศก็ลดลงเช่นกัน[3],[9]

มลรัฐที่แก้กฎหมายแลว มีอัตราตายจากยาทสกัดจากฝิ่น เช่น มอร์ฟีน “น้อยกว่า” มลรัฐที่ไม่ได้แก้กฎหมาย ยิ่งนานไป ยิ่งมีอัตราตายจากยาทสกัดจากฝิ่น “ยิ่งน้อยกว่า” เฉลี่ย 24.8%[3],[10]

นอกจากนั้น ความเป็นจริงกัญชาอาจนำมาช่วยลดปัญหาบุหรี่และสุราที่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพยิ่งกว่ากัญชาอย่างเทียบกันไม่ได้เลย

โดยรายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย ในปี พ.ศ. 2557 ของแผนงานการพัฒนาดัชนีภาระทางสุขภาพเพื่อการพัฒนานโยบาย (BOD) พบว่า การเสียชีวิต จากบุหรี่ของประชากรไทย จำนวนการตายมีถึง 54,610 คน เป็นอันดับ 1 ของปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพของประชากรไทย[11],[12]

โดยการสูบบุหรี่ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงสุด คือ 20,863 คน (ร้อยละ 38 ของการการเสียชีวิต จากบุหรี่ทั้งหมด) ตามด้วยโรคหัวใจ 14,011 คน (ร้อยละ 26) และโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง 13,964 คน (ร้อยละ 26)[11],[12]

มีการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจาก การสูบบุหรี่ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 25526 พบว่า การสูบบุหรี่ส่งผลให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งปี 74,884 ล้านบาท (คำนวณเป็นความสูญเสีย 42 บาท ต่อบุหรี่ 1 ซอง)[11],[13]

ในขณะที่ต้นทุนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน ประเทศไทยในปี พ.ศ.2549 มีมูลค่า 156,105 ล้านบาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 1.99 ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product ;GDP) หรือประมาณ 2,391 บาท ต่อคน ทั้งนี้ พบว่าต้นทุนทางอ้อมเป็นต้นทุนที่มีมูลค่ามากที่สุดโดยคิดเป็นประมาณ 95.8% โดยต้นทุนที่มีมูลค่าสูงท่ีสุดได้แก่ ต้นทุนจากการเสียชีวิตก่อนถึงวัยอันควร (104,128 ล้านบาทคิดเป็น 65.7% ของต้นทุนทั้งหมด[14]

โดยคนไทยติดสุราจำนวน 2.75 ล้านคน, เสียชีวิต 1 คน ทุก 10 นาที, ประชาชน 1 ใน 4 เคยถูกคุกคามทางเพศและทำร้ายร่างกายจากคนที่ดื่มสุรา, เกิดอุบัติเหตุ 20,000 รายต่อปี , 60% มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกำหนด[3], [15]

แต่ปัญหาที่เกิดจากบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีโอกาสที่จะลดลงไปในสังคมไทยหากมีการใช้กัญชาเพื่อ “รักษาโรค” และ “ส่งเสริมสุขภาพ”มากขึ้นด้วย


ทั้งนี้ จากการวิจัยพบว่ากัญชามีฤทธิ์เสพติดน้อยกว่าบุหรี่งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Drug and Alcohol Dependence เมื่อในปี พ.ศ. 2554 พบว่านับตั้งแต่ทสูบบุหรี่ครั้งแรกจะมีโอกาสจะเสพติดบุหรี่ 67.5%, ครั้งแรกที่ดื่มเหล้ามีโอกาสติดเหล้า 22.7%, และหากใช้กัญชาครั้งแรกจะมีโอกาสติดกัญชา 8.9%[16]

ในทางตรงกันข้ามผลการศึกษาพบว่าการใช้กัญชานอกจากจะไม่ได้นำไปสู่การใช้สารเสพติดรุนแรงอื่นๆ แต่กลับทำให้เลิก หรือลดการใช้ยาเสพติดร้ายแรงอื่นๆ ลงได้ การสำรวจในประเทศแคนาดาพบว่าผู้ป่วย 2,030 คนที่ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายนำไปใช้เพื่อทดแทนสารเสพติดชนิดต่างๆ ได้แก่ สุรา 44.5%, ยาแก้ปวดมอร์ฟีน 35.3%, บุหรี่ 31.1%, ยาเสพติดอื่นๆ ร้อยละ 26.6% [3],[17],[18]

เมื่อกัญชาได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นย่อมส่งผลทำให้การดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง ซึ่งย่อมเท่ากับเป็นการลดความเสียหายและค่าใช้จ่ายในเรื่องสุขภาพของประชาชนในประเทศอันเนื่องมาจากการลดการบริโภคแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ด้วย

อย่างไรก็ตามกัญชานั้นไม่ได้มีแต่ผลดี แต่ก็มีผลเสียด้วยเช่นกัน โดย รศ.ดร.นพ.ปัตตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการทบทวนงานวิจัยแล้วสรุปว่า

“เมื่อมีจำนวนคนใช้กัญชาเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีบางคนที่เกิดอาการแพ้กัญชา อาเจียนรุนแรง เมา ใจสั่น วิตกกังวล ง่วงนอน หลอน จนต้องเข้ารับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาล แต่จากสถิติของมลรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ซึ่งแก้กฎหมายให้ใช้กัญชาแบบนันทนาการได้ เมื่อปี พ.ศ.2557 กลับพบว่ามีคนไข้เกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังจากใช้กัญชาจนต้องเข้ารับการ รักษาในโรงพยาบาลมีจำนวนลดลง[17] เพราะประชาชนเกิด “การเรียนรู้” และ “เข็ด” ไม่ใช้เกินขนาด” [3],[19]

รศ.ดร.นพ.ปัตตพงษ์ เกษสมบูรณ์ จึงเห็นว่าการเข้าการรับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นปรากฏการณ์ในช่วงแรกที่สังคมจะได้เรียนรู้และเข็ดจนลดระดับไปเองตามธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่น่าวิตกเทียบกับผลดีต่อสังคมโดยรวมที่ประเทศจะได้ในเรื่องสุขภาพ

แต่สิ่งที่รศ.ดร.นพ.ปัตตพงษ์ เกษสมบูรณ์ เห็นปัญหาของกัญชาที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ “กัญชาสังเคราะห์” ซึ่งมีอันตรายอย่างมาก เช่น การทำให้เป็นโรคจิตประสาทและฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะกัญชาสังเคราะห์ที่มีการซื้อขายตามอินเตอร์เน็ตที่มีการพ่นใส่ไปในพืชธรรมชาติเพื่อทำลายชื่อเสียงของกัญชาให้แย่ลง[3]

รศ.ดร.นพ.ปัตตพงษ์ เกษสมบูรณ์ ได้ยกตัวอย่างหนทางการแก้กฎหมายกัญชาของมลรัฐ Washington สหรัฐอเมริกา โดยทำให้คนสามารถเข้าถึงกัญชาที่มีคุณภาพแบบถูกกฎหมาย ทำให้ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากกัญชาสังเคราะห์จนต้องเข้าโรงพยาบาลมีจำนวนลดลง 37% ในช่วงปี พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2562[3],[20]

และหนทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้ป้องกันกัญชาสังเคราะห์ใต้ดินซึ่งครองตลาดส่วนใหญ่ในประเทศไทย และรวมกับปัจจัยที่แพทย์ต่อต้านหรือไม่จ่ายกัญชาให้กับผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องการส่งเสริมสุขภาพในประเทศไทย คือการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถมีกัญชาของตัวเองด้วยการปลูกในครัวเรือน พร้อมกับการให้ความรู้กับประชาชน และมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อป้องกันการเข้าถึงเยาวชนไม่ต่างจากสุรา บุหรี่ และกระท่อม

ข้อมูลและการนำเสนอของ รศ.ดร.นพ.ปัตตพงษ์ เกษสมบูรณ์ จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นั้นเป็นการพลิกความเชื่อเดิมๆ ของคนทั่วไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นการถอดบทเรียนจากหลายประเทศที่มีการใช้กัญชามาแล้วนับสิบหรือหลายสิบปี จึงเป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. สภาผู้แทนราษฎร และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน จึงเห็นว่าสมควรเผยแพร่ข้อมูลบางส่วนผ่านบทความนี้

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โฆษกและกรรมาธิการ
คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…
สภาผู้แทนราษฎร
6 ตุลาคม 2565

อ้างอิง
[1] Ziemowit BednarekI, et al., U.S. cannabis laws projected to cost generic and brand pharmaceutical firms billions, plos one, Published: August 31, 2022
https://journals.plos.org/plosone/article/file?id=10.1371/journal.pone.0272492&type=printable

[2] Shyam Raman, Ashley C. Bradford, Health Economics, Recreational cannabis legalizations associated with reductions in prescription drug utilization among Medicaid enrollees First published: 15 April 2022 https://doi.org/10.1002/hec.4519
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/hec.4519

[3] รศ.ดร.นพ.ปัตตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ผลกระทบของนโยบายกัญชาเสรีต่อเด็กและเยาชน :บทเรียนจากนานาชาติ, เอกสารวิชาการในงานสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ประจำปี พ.ศ. 2565, 14 กันยายน 2565, หน้า 13-15

[4]Ashley C. Bradford and W. David Bradford , Medical Marijuana Laws Reduce Prescription Medication Use In Medicare Part D, Health Affars, VOL. 35, NO. 7, July 2016
https://www.healthaffairs.org/doi/10.1377/hlthaff.2015.1661

[5] สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย, สมาคมโรคเบาหวานเตรียมจัดงานวันเบาหวานโลก “การเข้าถึงการดูแลโรคเบาหวาน ถ้าไม่ใช้ตอนนี้ แล้วจะต้องเมื่อไหร่”, ข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564
https://www.nhso.go.th/news/3364

[6] Rajavashisth TB, Shaheen M, Norris KC, Pan D, Sinha SK, Ortega J, Friedman TC. Decreased prevalence of diabetes in marijuana users: cross-sectional data from the National Health and Nutrition Examination Survey (NHANES) III. BMJ Open. 2012 Feb 24;2:e000494. doi: 10.1136/bmjopen-2011-000494.
https://bmjopen.bmj.com/content/bmjopen/2/1/e000494.full.pdf

[7] Huang J, Huang D, Ruan X, Huang J, Xu D, Heavey S, Olivier J, Na R. Association between cannabis use with urological cancers: A population-based cohort study and a Mendelian randomization study in the UK biobank. Cancer Med. 2022 Aug 17. doi: 10.1002/cam4.5132. PMID: 35975633.
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/epdf/10.1002/cam4.5132

[8] The International Agency for Research on Cancer (IARC), monographs 2019.
https://monographs.iarc.who.int/wp-content/uploads/2019/12/OrganSitePoster.PlusHandbooks.pdf
https://monographs.iarc.who.int/monographs-available/

[9] Ben Adlin. State With Medical Marijuana Law Saw 20% Drop In Some Opioid Prescriptions. Schedule 6 Foundation. https://www.marijuanamoment.net/states-with-medicalmarijuana-laws-saw-20-drop-in-some-opioid-prescriptions/

[10] Bachhuber MA, Saloner B, Cunningham CO, Barry CL. Medical cannabis laws and opioid analgesic overdose mortality in the United States, 1999-2010. JAMA 2014. Intern Med; 174:1668–73.

[11] ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.), “บุหรี่” คือ “ฆาตกร”,
http://www.trc.or.th/th/attachments/article/293/ก้าวทันวิจัยกับ%20ศจย.%20ปีที่%2011-2.pdf

[12] แผนงานการพัฒนาดัชนีภาระทางสุขภาพเพื่อการพัฒนานโยบาย, รายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย พ.ศ. 2557.

[13] Kanitta Bundhamcharoen, Suchunya Aungkulanon, Nuttapat Makka, Kenji Shibuya, Economic burden from smoking-related diseases
in Thailand, Retrieved on 11 February 2019 from https://tobaccocontrol.bmj.com/content/25/5/532.

[14] ผศ. ดร. มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์และคณะ, รายงานผลงานวิจัยการศึกษาต้นทุนผลกระทบทางสังคมสุขภาพและเศรษฐกิจของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย, โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP), ตุลาคม 2551
https://cas.or.th/wp-content/uploads/2022/06/50-061-การศึกษาต้นทุนผลกระทบทางสังคม-สุขภาพและเศรษฐกิจของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์-3.pdf

[15] Workpoint Today. 16 ธ.ค. 2560. เปิดสถิติ คนไทยติดเหล้าเกือบ 3 ล้านคน เสียชีวิตเพราะ น้ำเมาทุก 10 นาที https://workpointtoday.com/เปิดสถิติ-คนไทยติดเหล้/

[16] Catalina Lopez-Quintero, et al, Probability and predictors of transition from first use to dependence on nicotine, alcohol, cannabis, and cocaine: Results of the National Epidemiologic Survey on Alcohol and Related Conditions (NESARC). Drug and Alcohol Dependence. 2011, 115 (1-2): 120-30.

[17] Lucas P, Walsh Z, Crosby K, Callaway R, Belle-Isle L, Kay R, Capler R, Holtzman S. Substituting cannabis for prescription drugs, alcohol and other substances among medical cannabis patients: The impact of contextual factors. Drug Alcohol Rev. 2016 May;35(3):326-33. doi: 10.1111/dar.12323.

[18] Lucas P, Baron EP, Jikomes N. Medical cannabis patterns of use and substitution for opioids & other pharmaceutical drugs, alcohol, tobacco, and illicit substances; results from a cross-sectional survey of authorized patients. Harm Reduct J. 2019 Jan 28;16(1):9. doi: 10.1186/s12954-0190278-

[19] Reed JK. Impacts of Marijuana Legalization in Colorado: A Report Pursuant to Senate Bill 13‐283. Denver: Colorado Department of Public Safety. 2021.

[20] Klein TA, Dilley JA, Graves JM, Liebelt EL. Synthetic cannabinoid poisonings and access to the legal cannabis market: findings from US national poison centre data 2016-2019. Clin Toxicol (Phila). 2022 Aug 8:1-5. doi: 10.1080/15563650.2022.2099887. PMID: 35942512.


กำลังโหลดความคิดเห็น