หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
สัปดาห์ที่แล้วผมเขียนถึงพรรคร่วมฝ่ายค้านในปัจจุบันหรือพรรคที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยว่าจะมีผลลัพธ์อย่างไรในการเลือกตั้งครั้งหน้าโดยพูดถึง 4 พรรคหลักคือ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย และพรรคประชาชาติ โดยคาดการณ์ว่า 4 พรรคจะมีที่นั่งประมาณ 230-255 คนนั่นหมายความว่า มีโอกาสทั้งชนะรวมรวบเสียงข้างมากของส.ส.เกิน 250 คนได้ และอาจจะพ่ายแพ้แค่ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลในเวลานี้ถ้าพรรคฝ่ายรัฐบาลยังจับมือกันเหนียวแน่น
ล่าสุดพรรคเพื่อไทยเปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกคนนอกจากอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร แล้ว ยังมี เศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์แสนสิริ มาเป็นตัวเลือกนายกรัฐมนตรีอีกคน โดยแกนนำของพรรคระบุว่าพรรคเพื่อไทยจะให้ความสำคัญกับเรื่องเร่งด่วนที่สุดคือเรื่องเศรษฐกิจปากท้องประชาชน และความมั่นคงทางการเงินการคลังของประเทศ รวมทั้งการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงให้เกิดกับสังคมไทย
ขณะที่พรรคก้าวไกล เปิดนโยบาย “ไทยก้าวหน้า” 9 ประเด็น จัดระเบียบทหาร-ศาล คนต้องเท่ากัน สร้างรัฐธรรมนูญใหม่ ปลดล็อกประเทศ ปฏิรูปกองทัพ งัดใบแดง ห้ามนายพลเกษียณนั่งรัฐมนตรีก่อน 7 ปี ตัดเส้นสายกองทัพเข้าสู่อำนาจการเมือง ยุบทิ้ง กอ.รมน. ยึดหม้อข้าวเหล่าทัพคืนรัฐบาล ปฏิรูปศาล ผู้พิพากษาต้องเปิดบัญชีทรัพย์สิน แก้ ม.112-116 นิรโทษกรรมคดีการเมืองตั้งแต่ปี 2557 เลือกสสร.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
ที่พรรคก้าวไกลไม่ได้พูดในนโยบายแต่พวกเขาแสดงออกก็คือการสนับสนุนม็อบที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์บนท้องถนน
น่าสนใจว่า นโยบายของพรรคก้าวไกลที่ท้าทายอนาคตชะตากรรมและการเปลี่ยนแปลงของทุกองค์กรในประเทศนี้ทั้งกองทัพ ศาล และสถาบันพระมหากษัตริย์หากได้เป็นรัฐบาล ก็ต้องรอดูว่าพรรคกาวไกลจะได้รับการตอบรับจากประชาชนหรือไม่ หรือว่าจะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งหนักยิ่งกว่าเก่า และต้องรอดูว่าหากพรรคเพื่อไทยสามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้จะมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลหรือไม่
จะเห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบนโยบายของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลแล้ว พรรคเพื่อไทยจะมีนโยบายที่ไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกเป็นนโยบายที่ประนีประนอมอันอาจจะเป็นผลจากความมุ่งหมายของเจ้าของพรรคคือทักษิณที่ต้องการกลับบ้านและย้ำหลายครั้งว่าเขาจะกลับมาในปีหน้านั่นหมายความว่า เขาเชื่อมั่นว่าพรรคของเขาจะชนะเลือกตั้งและได้เป็นรัฐบาลซึ่งมีทางเดียวที่จะกลับมาได้ก็คือ ยอมกลับมาติดคุกเสียก่อนแล้วยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ มีคนใกล้ชิดทักษิณบอกว่าเขาอาจจะเลือกแนวทางนี้
หลังจากเขียนถึงพรรคร่วมฝ่ายค้านไปแล้วในสัปดาห์ก่อน สัปดาห์นี้มาดูว่าพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้จะมีผลลัพธ์อย่างไรในการเลือกตั้งครั้งหน้า
เริ่มที่พรรคแกนนำรัฐบาลอย่าง พรรคพลังประชารัฐ ในครั้งที่แล้วนั้นได้รับการเลือกตั้งมา 121 ที่นั่ง เป็นอันดับ 2 ต่อจากพรรคเพื่อไทย และต่อมามีพรรคเล็กเข้ามารวมพรรคหนึ่งหรือสองพรรคเช่นนายไพบูลย์ นิติตะวันที่ยุบพรรคของตัวเองและมาเข้าพรรคพลังประชารัฐ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะมีพรรคเล็ก 1 พรรคมาเพิ่มอีก 1 เสียง แต่ต่อมารอ.ธรรมนัส พรหมเผ่าก็นำส.ส.ออกจากพรรคไปตั้งพรรคใหม่รวม 20 คน ทำให้พรรคนี้เหลือส.ส.ประมาณ 82-83 คน
มีข่าวออกมาแล้วว่ามีส.ส.หลายคนจะย้ายไปร่วมกับพรรคอื่นเช่นพรรคภูมิใจไทยที่กำลังเนื้อหอม และมีบางคนอาจกลับไปร่วมกับพรรคเพื่อไทย ปัญหาของส.ส.พรรคพลังประชารัฐตอนนี้ ส.ส.ในพรรคหลายคนเล่าว่า คือไม่รู้อนาคตของตัวเองว่าจะเป็นอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยังเป็นแคนดิเดตของพรรคหรือไม่ ทำให้ทุกคนรู้สึกถึงความไม่แน่นอนของอนาคต และเมื่อบวกกับกระแสของพรรคที่ตกต่ำทำให้หลายคนต้องดิ้นรนไปหาพรรคใหม่ที่มีอนาคตมากกว่า
ที่สำคัญ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐแทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเลย เพราะพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีความสัมพันธ์กับส.ส.ในพรรค และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับส.ส.ของพรรคเช่นเดียวกัน ส.ส.ของพรรคจึงพยายามผลักดันให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแทน แต่ไม่ได้รับการสนองตอบจากพล.อ.ประยุทธ์
ครั้งที่แล้วพรรคพลังประชารัฐมีส.ส.เขตประมาณ 97 คน เมื่อพิจารณาส.ส.ที่จะย้ายพรรคไป คาดว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเลือกประมาณ 60-70 คนและจะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อประมาณ 10-20 คน รวมเป็นประมาณ 70-90 คน
พรรคที่น่าสนใจก็คือ พรรคภูมิใจไทย ที่มีอดีตส.ส.หลั่งไหลเข้าไปร่วมพรรคจำนวนมากทั้งจากฝั่งพรรคร่วมร่วมรัฐบาล และจากพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย ทำให้คาดการณ์กันว่า พรรคภูมิใจไทยน่าจะเป็นพรรคที่มีอนาคตสดใสมากกว่าใครในพรรคฝ่ายร่วมรัฐบาล นายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพล อยู่เบื้องหลังพรรคประกาศแล้วว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคจะได้ส.ส.ประมาณ 120 คน และจะผลักดันให้นายอนุทิน ชาญวีรกุล เป็นนายกรัฐมนตรี
ถามว่ามีโอกาสเป็นไปได้ไหมที่พรรคภูมิใจไทยจะได้ส.ส.ถึง 120 คน เพิ่มจากครั้งที่แล้วที่ได้ส.ส. 2 ระบบรวมกัน 51 คน ตอบว่า จากกระแสของส.ส.ที่หลั่งไหลเข้าพรรคในขณะนี้นั้นมีโอกาสที่เป็นไปได้สูงมาก จากนโยบายหลายๆ ด้านที่พรรคนี้ทำสำเร็จตามที่หาเสียงไว้อันรวมไปถึงนโยบายด้านกัญชาที่เชื่อกันว่ามีทั้งผลบวกและลบต่อพรรค แต่น่าจะมีผลบวกมากกว่า จากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วพรรคภูมิใจไทยมีส.ส.เขต 39 คน คาดว่าครั้งหน้าน่าจะได้ประมาณ 80 คนและส.ส.บัญชีรายชื่อไม่เกิน 15-20 คน จะได้ส.ส. 2 ระบบ ประมาณ 85-100 คน ได้แค่นี้ก็คิดว่าเต็มกลืนแล้ว
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ที่ใครก็คิดว่าน่าจะสาละวันเตี้ยลง ผมมองในแง่ดีว่า พรรคนี้น่าจะมีที่นั่งอย่างเก่งก็คือไม่เกิน 50-60 คน โดยจะได้ส.ส.เขตประมาณ 40 คน จากครั้งที่แล้วได้ไป 33 เขต และจะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ 10-15 คน ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา คิดว่าน่าจะได้ส.ส.ประมาณ 5-10 คน และพรรคชาติพัฒนากล้าได้ส.ส.ไม่เกิน 5-10 คน
ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติของพีรพันธ์ สาลีรัฐวิภาคย์นั้น คิดว่าได้ส.ส.ไม่เกิน 5-10 คนเช่นกันถ้าพล.อ.ประยุทธ์ไม่เปลี่ยนใจจากพรรคพลังประชารัฐมาเป็นแคนดิเดตของพรรคนี้ แต่ถ้าพล.อ.ประยุทธ์มาเป็นแคนดิเดตของพรรคนี้คะแนนของพรรคพลังประชารัฐก็จะแปรผันไปจากความคาดหมายเดิมมากและพรรครวมไทยสร้างชาติก็อาจจะได้ส.ส.มากขึ้น
สำหรับพรรคเล็กที่อาจจะได้ส.ส.สัก 1 หรือ 2 คน หากไม่ยุบไปรวมกับพรรคใหญ่ก็คือ พรรคพลังท้องถิ่นไทยของชัชวาลย์ คงอุดม
เมื่อรวมส.ส.ฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้ก็น่าจะได้ส.ส.ประมาณ 220-270 คนนั่นก็คือมีโอกาสยังรวมตัวกันได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลในขั้วเดิมได้หากรวมกันได้ 270 ที่นั่ง หรืออาจจะแพ้พรรคร่วมฝ่ายค้านถ้าได้ขั้นต่ำซึ่งหมายถึงว่าอาจจะเป็นไปได้ทั้งแพ้หรือชนะเหมือนที่ได้วิเคราะห์ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ต้องยอมรับว่าเป็นการเลือกตั้งที่ยากจะคาดเดาว่าฝ่ายไหนจะเป็นฝ่ายชนะ
ส่วนพรรคสร้างอนาคตไทยนั้นจนถึงขณะนี้มีกระแสข่าวว่าอาจจะไปรวมกับพรรคไทยสร้างไทยที่ผมนับเป็นขั้วฝ่ายค้านและพูดถึงพรรคไทยสร้างไทยไปแล้ว แต่ถ้าพรรคนี้ไม่รวมก็คิดว่าจะได้ส.ส.ไม่เกิน 10-15 คนเท่านั้น
การเลือกตั้งครั้งหน้าอาจจะเป็นทั้งจุดเปลี่ยนของประเทศไทย หรือเป็นการส่งสัญญาณเบื้องต้นของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศไทยในอนาคตว่า ประชาชนต้องการให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มีโอกาสที่ขั้วอำนาจเดิมซึ่งถูกมองว่าเป็นพลังของฝ่ายอนุรักษนิยมจะยังคงรักษาอำนาจไว้ได้ หรือว่าฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งมีทั้งพรรคที่มีลักษณะประนีประนอมและพรรคที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงซึ่งก็คงต้องดูว่าถ้าพรรคเพื่อไทยสามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้พรรคร่วมรัฐบาลของฝั่งนี้จะมีพรรคไหนบ้าง
ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่า อาจจะมีการผสมข้ามขั้วกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐก็เป็นไปได้
ถึงตรงนี้ต้องยอมรับเลยว่าอนาคตของประเทศไทยวันนี้ยังไม่รู้ว่าจะมีชะตากรรมอย่างไรในวันข้างหน้า แต่ไม่ว่าอะไรก็ตามนั่นก็จะเป็นอนาคตที่คนไทยส่วนใหญ่ต้องการให้มันเป็นไปนั่นเอง