ห่างจาก “แนวรบตะวันออกกลาง” มานานพอสมควร...นับจากเกิดปรากฏการณ์ “อย่าแหย่-หมีหลับ” หรือนับจากคุณน้ารัสเซียท่านได้เปิด “ปฏิบัติการทางทหาร” บุกเข้าไปในดินแดนยูเครนตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา จนทำให้สายตาแทบทุกคู่หันไปจับจ้อง มองเขม้น อยู่ที่ “แนวรบยุโรปตะวันออก” กันเป็นหลัก ปิดท้ายสัปดาห์นี้...เลยคงต้องขออนุญาตแวะไปเตร็ดเตร่ย้อนกลับไปท่องทะเลทรายอีกสักรอบ!!!
เพราะโดยแนวโน้ม โดยฉากความเป็นไปของสถานการณ์...แนวรบด้านนี้ออกจะอุตลุด ชุลมุนวุ่นวาย ไม่น้อยไปกว่าแนวรบยุโรปตะวันออกหรือแนวรบทะเลจีนใต้ เผลอๆ...อาจซับซ้อน ซ่อนเงื่อน เพื่อนทรยศกว่าอีกหลายเท่า โดยเฉพาะช่วงที่โลกทั้งโลกกำลังแบ่งขั้ว แบ่งฝ่าย แยกข้าง แยกฝ่าย ชนิดหา “ฝ่ายกลางๆ” แทบไม่เจอ แถมผลกระทบจากแนวรบในแต่ละด้านยังมีความเชื่อมโยง เกี่ยวพัน นัวเนียนุงนัง จนทำให้การ “แยกมิตร-แยกศัตรู” ออกจากกันและกัน ค่อนข้างลำบากมิใช่น้อย แต่ก็นั่นแหละ...ไม่ว่ามองจากมุมไหน จากจุดยืน-ทัศนะ-และวิธีการในแบบใดต่อแบบใด คงต้องยอมรับอย่างมิอาจปฏิเสธได้ว่านับวัน “ประมุขโลก” อย่างคุณพ่ออเมริกา กำลังเจอกับ “ความเสื่อมถอย” ชนิดตบะ-บารมีที่เคยสะสมมาโดยตลอดนับวันยิ่ง “สาละวันเตี้ยลง-เตี้ยลง” ไปตามลำดับ...
เอาง่ายๆ...แค่ดูจากปรากฏการณ์ “โอเปก พลัส” (OPEC+) ที่โดยการถือธงนำหน้าของประเทศอภิมหาเศรษฐีน้ำมันซาอุฯ ตัดสินใจแหกคอกและแหกค่าย ประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันวันละ 2 ล้านบาร์เรล อันไม่เพียงแต่ส่งผลให้ราคาน้ำมันถูกลงไปมั่ง ตามความปรารถนาและต้องการของคุณพ่ออเมริกาที่พยายามเรียกร้องและวิงวอนเท่านั้น แต่ยังทำให้แนวโน้มการเลือกตั้งกลางเทอมในอเมริกาซึ่งกำลังใกล้จะมาถึงในอีกแค่ไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โอกาสที่พรรครัฐบาลอย่างเดโมแครตจะ “รูดมหาราช” กลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยทั้งในสภาสูง-สภาล่างมีความเป็นไปได้สูงเอามากๆ และขณะที่นักการเมืองอเมริกันต่างดาหน้าออกมาขู่ฟ่อดๆ กะจะเล่นงานซาอุฯ ไม่ทางใด-ทางหนึ่งให้จงได้ ปรากฏว่าบรรดาผู้คนในตะวันออกกลางไม่ว่าไล่มาตั้งแต่ประธานและเลขาธิการโอเปก รัฐมนตรีพลังงานยูเออี โอมาน บาห์เรน แอลจีเรีย ซีอีโอคูเวต ปิโตรเลียม คอร์ปอเรชั่น ไปจนถึงรัฐวิสาหกิจ SOMO แห่งอิรัก ฯลฯ ต่างออกมาประสานเสียง ยืนหยัด-เคียงข้างรัฐบาลซาอุฯ ด้วยการสรุปว่าการตัดสินใจดังกล่าว ถือเป็นเรื่องชอบแล้ว ถูกแล้ว หรือเป็นการตัดสินใจทางเทคนิค ไม่ได้มีเรื่องการมง การเมืองใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เกี่ยวพัน เอาเลยแม้แต่น้อย...
การที่ประเทศซึ่งเคยเป็นหัวหอกสำคัญในการประคับประคอง “เปโตรดอลลาร์” มากว่าครึ่งศตวรรษ อย่างเศรษฐีน้ำมันซาอุฯ หันมา “ตัดสินใจทางเทคนิค” จนก่อให้เกิด “ผลลบ” ต่ออเมริกาและก่อให้เกิด “ผลบวก” ต่อมหาอำนาจคู่แข่งรัสเซีย อย่างเห็นได้ชัด ย่อมถือว่าไม่ใช่เรื่อง “ล้อเหล้นน์น์น์” อีกต่อไปแล้ว ไม่ต่างไปจากผู้นำปาเลสไตน์ ประธานาธิบดี “มาห์มูด อับบาส” (Mahmoud Abbas) ที่เมื่อวัน-สองวันที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ออกมา “เชียร์รัสเซีย” ว่ามี “จุดยืนที่ชัดเจน” ในเรื่องสันติภาพตะวันออกกลาง ยังอดไม่ได้ที่จะหันไป “กัดอเมริกา” หรือหันไปแสดงความไม่ไว้เนื้อ-เชื่อใจ ต่อความจริงใจของสหรัฐฯ ในการแก้ปัญหายิว-ปาเลสไตน์ แม้ว่ารัฐบาลเดโมแครต ของคุณปู่ “โจ ซึมเซา” จะยังคงยืนหยัดต่อนโยบายความเป็นเอกราชของประเทศปาเลสไตน์เช่นเดียวกับยุครัฐบาล “โอมาบ้า” ก็ตาม แต่ด้วยความลื่นไหลแบบ “ไม้หลักปักขี้เลน” ของอเมริกา กลับไม่ได้ก่อให้เกิดความประทับใจใดๆ ต่อชาวปาเลสไตน์ หรือแม้แต่รัฐบาลอิสราเอล ที่ออกจะหุดๆ หิดๆ ต่อการหันกลับไปตั้งโต๊ะเจรจาของอเมริกากับอิหร่าน กรณีข้อตกลงนิวเคลียร์ (JCPOA)ที่ยังคงไม่รู้หมู่ รู้จ่า จนตราบเท่าทุกวันนี้...
อย่างไรก็ตาม...ความเสื่อมถอยของอเมริกาในแนวรบตะวันออกกลาง ไม่เพียงส่งผลโดยตรงต่อความเป็นประมุขโลกแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังทำให้ “พันธมิตรอันศักดิ์สิทธิ์” ของอเมริกาอย่างอิสราเอล ชักเริ่ม “ไปไม่เป็น” อย่างเห็นได้ชัดเจนยิ่งเข้าไปทุกที โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นฉากเหตุการณ์การถล่มยูเครนด้วย “เครื่องบินโดรนกามิกาเซ่” ชนิดราพณาสูรไปเป็นแถบๆ ของกองทัพรัสเซีย จนเกิดคำร่ำลือว่าเป็นเครื่องบินโดรนที่ศัตรู-คู่กัดของอิสราเอลอย่างอิหร่าน มอบให้เป็นอภินันทนาการแก่รัสเซียหรือไม่? อย่างไร? ก็ยังไม่แน่ แต่นั่นก็ทำให้รัฐมนตรีกิจการยิวโพ้นทะเล อย่าง “นายNachman Shai” ออกมาเร่งเร้าให้รัฐบาลอิสราเอลตัดสินใจ “เลือกข้าง” เร่งส่งอาวุธไปสนับสนุนยูเครนแบบเดียวกับรัฐบาลยุโรปทั้งหลาย ทั้งที่ก่อนหน้านั้นอิสราเอลพยายามประคับประคองตัวเอง ไม่ให้หลุดเข้าไปใน “วงจรความขัดแย้ง” ในแนวรบยุโรปตะวันออกอยู่พอสมควร แม้มีเสียงเรียกร้องจากผู้นำยูเครนขอให้ส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศ (Iron Dome) ไปช่วยปัดป้องบ้องข้าวหลามยักษ์ทั้งหลายของฝ่ายรัสเซียมาตั้งแต่แรก แต่การอาศัยข้ออ้างว่าขนาดพื้นที่อันกว้างขวางของยูเครนต่างไปจากพื้นที่แคบๆ ของอิสราเอล อาจทำให้ระบบป้องกันดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลเพียงพอ อันทำให้สัมพันธภาพระหว่างอิสราเอลกับรัสเซีย ไม่ถึงกับแยกขาด ตัดขาด หรือยังไม่ถึงกับต้องเผชิญหน้าระหว่างกันและกันมากมายสักเท่าไหร่นัก...
แต่ถ้าอิสราเอลหันมาถือหาง หันมาเลือกข้างยูเครน เช่นเดียวกับรัฐบาลตะวันตกทั้งหลาย โดยอาศัยข้ออ้างข่าวลือข่าวลวง เรื่อง “เครื่องบินโดรนอิหร่าน” ที่ส่งไปสนับสนุนรัสเซีย ดังที่รัฐมนตรีอิสราเอลออกมายุ ออกมาเชียร์ เมื่อวัน-สองวันนี้ อดีตผู้นำรัสเซีย อย่าง “นายดมิตรี เมดเวเดฟ” รองเลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติปัจจุบัน ท่านก็ได้ออกมาเตือนไว้แล้วล่วงหน้าว่าโอกาสที่รัสเซียกับอิสราเอลจะต้อง “ปะ-ฉะ-ดะ” ซึ่งกันและกัน ย่อมมีความเป็นไปได้สูงเอามากๆ หรือถือเป็นการตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง ที่เท่าที่ผ่านมายังพอประคับประคองสายใยเส้นบางๆ เอาไว้ได้มั่ง ชนิดเครื่องบินโจมตีอิสราเอลที่บินเข้าไปเล่นงานพวกนักรบอิหร่าน พวกเฮซบอลเลาะห์ พวกฮามาส ในดินแดนซีเรีย เลยยังพออยู่รอดปลอดภัยจากระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซียที่ถูกติดตั้งไว้ในซีเรียได้บ้าง แต่ถ้าอิสราเอลหันมาเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัสเซียในแนวรบยุโรปตะวันออกแบบจริงๆ จังๆ โอกาสที่อิสราเอลจะเป็นฝ่าย “พัง...กับ...พัง” ในแนวรบตะวันออกกลาง อาจถึงขั้นถูกกองกำลังอิหร่าน เฮซบอลเลาะห์ ฮามาส บุกประชิดติดพันรุกขึ้นไปถึงที่ราบสูงโกลัน เอาเลยก็ไม่แน่!!!
อันนี้นี่แหละ...ที่ทำให้แนวรบทั้งสองแนวรบ เกิดความเกี่ยวพัน นุงนังนัวเนีย ชนิดแยกได้ลำบากยิ่งเข้าไปทุกที สู้หันมาใช้วิธีแบบ “อีแอบ” หรือโดยการแทรกซึม ยั่วยุ ให้เกิดการเล่นงานระบอบปกครองอิหร่าน ด้วยการ “ปฏิวัติสี” อันเป็นสิ่งที่ผู้นำจีนประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ได้ออกปากเตือนบรรดาประเทศ “SCO” เอาไว้เมื่อกลางเดือนกันยาฯ ที่ผ่านมานี่เอง น่าจะเป็นสิ่งที่ง่ายกว่า สะดวกกว่า เพราะภายใต้ “ความตึงตัว” ของสังคมอิหร่าน ที่ทำให้ผู้เรียกร้องสิทธิสตรีไม่ให้ต้องเสียเวลาคลุมหัวคลุมหน้า อย่าง “นางMasha Amini” ดันเสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัวของ “ตำรวจศีลธรรม” อิหร่าน จนเกิดการประท้วงลุกลามบานปลาย ไปแล้วไม่รู้กี่เมืองต่อกี่เมืองในช่วงขณะนี้ ย่อมเป็นอะไรที่ “เนียน” กว่าการเปิดศึก การเผชิญหน้าโดยตรงกับรัสเซีย หรือกับพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของรัสเซียอย่างอิหร่าน เป็นไหนๆ...
แต่ก็นั่นแหละ...ภายใต้ความตึงเครียด แรงกดดัน ที่ปรากฏอยู่ทั่วทุกแนวรบ ไม่ว่าแนวยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง ไปจนถึงแนวรบทะเลจีนใต้ โอกาสที่ประเทศใด-ประเทศหนึ่งจะพยายามวางตัวเป็น “ฝ่ายกลาง” ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สักเท่าไหร่แม้แต่พันธมิตรด้านใต้สุดของโลกตะวันตกอย่างออสเตรเลีย ที่รัฐมนตรีต่างประเทศรัฐบาลใหม่ “นางเพนนี หว่อง” (Penny Wong) เพิ่งประกาศ “กลับลำ” แบบ 180 องศา เลิกสนับสนุนนโยบายรับรองกรุงเยรูซาเล็มให้เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ที่รัฐบาลเก่าของ “นายสก็อตต์ มอริสัน” เคยยืนหยัดมาก่อนหน้า แต่นั่นอาจไม่ได้ช่วยให้การเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจคู่แข่งในเอเชียอย่างคุณพี่จีนกับประเทศที่เพิ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีนิวเคลียร์จากอเมริกา หรือหนึ่งในกลุ่มประเทศ “AUKUS” อย่างออสเตรเลีย ลดน้อยลงไปแต่อย่างใด เพราะตราบใดที่ “ความเชื่อ” อันนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างฝ่าย “โลกขั้วอำนาจเดียว” กับ “โลกหลายขั้วอำนาจ” ยังหาบทสรุป หาจุดลงตัวแทบไม่ได้ โอกาสที่ต้องหันมาวัดตัดสินกันด้วย การ “จุดไฟนรกสุดขอบฟ้า” ให้ลุกโชนไปทั่วทุกแนวรบ ย่อมมีความเป็นไปได้ชัดเจนยิ่งเข้าไปทุกที...