กฎหมายคือศีลธรรมที่เขียนเป็นตัวอักษร ส่วนศีลธรรมคือกฎแห่งมโนธรรม จากหนังสือ Xi jinping Governance of China
โดยนัยแห่งข้อความข้างต้น อธิบายขยายความได้ว่า กฎหมายกับศีลธรรมเป็นอันเดียวกัน โดยเนื้อหาและเจตนารมณ์ในการบัญญัติขึ้นมา เพื่อใช้ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย ไม่ก่อความทุกข์ ความเดือดร้อน แด่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน รวมไปถึงการไม่เบียดเบียน และการทารุณกรรมแก่สัตว์ด้วย จะเห็นได้จากคำสอนของศาสนาพุทธที่ห้ามมิให้ฆ่าสัตว์ และให้มีเมตตาต่อสัตว์ด้วย
แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปถึงความละเอียดอ่อนของศีลธรรม ซึ่งเป็นคำสอนศาสดาแห่งศาสนาทุกศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพุทธ จะพบว่า คำสอนของศาสดามีความละเอียดอ่อน และลึกซึ้งกว่ากฎหมาย หรืออาจเรียกได้ว่ากฎหมายก็คือศีลธรรมที่แปรรูปให้หยาบขึ้น เพื่อให้มองเห็นเป็นรูปธรรม ทั้งนี้อนุมานได้จากเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้
1. คำว่า ศีลธรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำสอนศาสดาแห่งศาสนานั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วนตามเจตนารมณ์แห่งการสอน ดังนี้
1.1 ศีล เป็นข้อห้ามมิให้สาวกล่วงละเมิด และหากผู้ใดล่วงละเมิดก็จะมีบทลงโทษหนักเบาแล้วแต่ลักษณะข้อห้าม และการกระทำผิด
1.2 ธรรม เป็นข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส ทำให้ผู้ปฏิบัติมีความเป็นสัตว์ที่สูงกว่าสัตว์ทั่วไป หรือที่เรียกว่า มนุษย์คือผู้มีจิตใจสูงกว่าสัตว์นั่นเอง และคำสอนส่วนนี้ในบางศาสนาเช่น พุทธ เป็นต้น ยังสอนโดยมุ่งให้ผู้ปฏิบัติหลุดพ้นจากกิเลสหรือที่เรียกว่า นิพพาน
คำสอนทั้งส่วนที่เป็นศีล และส่วนที่เป็นธรรมเกื้อกูลกันเช่น ผู้ที่รักษาศีลข้อห้ามฆ่าสัตว์ จะรักษาศีลข้อนี้ได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จะต้องมีธรรมคือเมตตา และกรุณา เป็นต้น
2. ศีลธรรม โดยเฉพาะศีลลงโทษผู้ล่วงละเมิด โดยผู้กระทำผิดสำนึกผิดด้วยตนเอง โดยไม่มีผู้ใดมาฟ้องร้อง และการที่ผู้กระทำผิดสำนึกผิดก็ด้วยมีธรรมคือ ความละอายต่อบาป หรือหิริและไม่กระทำผิดเช่นนี้อีก
3. กฎหมาย เป็นกติกาสังคมที่ปุถุชนคนมีกิเลสจัดทำขึ้นเพื่อควบคุมให้สังคมเกิดความสงบเรียบร้อยเป็นมาตรการเสริมศีลธรรมอีกชั้นหนึ่ง
ดังนั้น กฎหมายจึงเท่ากับศีลธรรมที่แปลงร่างให้เห็นชัดเจน จะเห็นได้จากการลงโทษ จะต้องฟ้องร้องดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม และต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอให้เชื่อได้ว่ากระทำผิดจริงจึงจะถูกลงโทษ ยิ่งกว่านี้ ถ้าผู้กระทำผิดเป็นผู้มีอิทธิพล ไม่ว่าเป็นคนร่ำรวยหรืออยู่ในอำนาจรัฐ โอกาสที่จะหลุดรอดจากการถูกลงโทษเป็นไปได้ยาก
ด้วยเหตุนี้ กฎหมายจึงต้องมีคุณธรรมกำกับตั้งแต่การออกกฎหมายจนถึงการบังคับใช้กฎหมายของกระบวนการยุติธรรมแต่ละขั้นตอน มิฉะนั้นแล้วกฎหมายก็จะเป็นเพียงกฎหมู่เป็นเครื่องมือรับใช้ผู้มีอำนาจเท่านั้น
ในปัจจุบันนี้ ซึ่งอยู่ในยุควัตถุนิยมและบริโภคนิยมกำลังรุ่งเรือง แต่ศีลธรรมกำลังเสื่อมถอย
ดังนั้น การออกกฎหมายและการบังคับจึงถูกอำนาจครอบงำ ทำให้ความไม่เป็นธรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคดีที่ผู้มีอำนาจเป็นจำเลย และมีอำนาจมากพอที่จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายถูกบิดเบือนเพื่อประโยชน์ของจำเลยเกิดขึ้นได้เสมอในประเทศด้อยพัฒนา หรือแม้กระทั่งประเทศกำลังพัฒนา และประเทศไทยก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ จะเห็นได้จากผลของการตัดสินคดีที่จำเลยหลุดรอดไปได้ โดยที่ปกติชนคนรักความเป็นธรรมรับไม่ได้ เนื่องจากสวนทางกับมโนธรรม แต่ก็ต้องจำใจยอมรับด้วยความเคารพต่อสถาบันตุลาการ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักวิชาการทางด้านกฎหมายก็คือ คดีนายกฯ อยู่ครบ 8 ปีหรือไม่ในกรณีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งผลออกมาค่อนข้างจะสวนทางกับเหตุปัจจัยในเชิงตรรกศาสตร์ความจริงย่อมเกิดก่อนคนเขียนเรื่องจริง หรือเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ย่อมเกิดก่อนคนเขียนประวัติศาสตร์ ทั้งนี้อนุมานได้จากเหตุปัจจัยดังนี้
1. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยไม่ขาดตอน ดังนั้น ถ้าจะนับระยะเวลาที่เหตุการณ์เกิดขึ้น และดำรงอยู่ก็จะต้องนับตั้งแต่เริ่มต้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มิใช่ตัดช่วงใดช่วงหนึ่งของกาลเวลาออกไป และเริ่มนับเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อสนองความอยากมี อยากเป็นของคนใดคนหนึ่ง
2. ถ้าความจริงที่เกิดขึ้นและดำเนินต่อเนื่องมาตามข้อ 1 ได้ถูกตัดตอนไป และเริ่มนับหนึ่ง ณ จุดใดจุดหนึ่งของกาลเวลา ก็จะทำให้ความจริงขาดหายไป จึงเท่ากับบิดเบือนความจริง
ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการข้างต้นนี้เอง ผลของการวินิจฉัยในคดีนี้ ถึงแม้ว่าทุกคนจำต้องยอมรับโดยนิตินัย แต่โดยพฤตินัยแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่ยึดถือความเป็นธรรมคัดค้านอยู่ในใจแน่นอน และจากจุดนี้จะส่งผลกระทบในทางลบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และกระบวนการเรียนรู้ทางด้านกฎหมายในอนาคต ทั้งยังจะเป็นเหตุจูงใจให้เกิดการคัดค้านแผ่กระจายออกเป็นวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อประเทศ ทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจตามมาได้ด้วย