xs
xsm
sm
md
lg

ประยุทธ์ไปต่อหรือพอแล้ว? กับอนาคตสังคมไทยที่ต้องเลือก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะนับการเป็นนายกรัฐมนตรีว่าเข้าเงื่อนไข 8 ปีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรค 4 ให้เริ่มจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อปี 2560 ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้อีกกว่า 2 ปี แต่มีคำถามว่า หลังหมดวาระหรือเกิดยุบสภาก่อนหมดวาระพล.อ.ประยุทธ์จะไปต่อหรือจะวางมือ

หลายคนประเมินว่าถ้าพล.อ.ประยุทธ์รู้ประเมินตัวเองว่าคนจำนวนหนึ่งเริ่มเบื่อเพราะเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ก็ควรจะหยุดหลังจากหมดวาระนี้ไม่ไปต่อ แบบที่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เคยพูดว่า “พอแล้ว” แต่ก็มีแหล่งข่าวยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องการไปต่อแม้จะเหลือวาระแค่ 2 ปี

ถ้าไปต่อในวาระที่เหลือคือ 2 ปี ในขณะที่อายุสภานั้นอยู่ในวาระ 4 ปี ถ้าอย่างนั้นจะจัดการกับ 2 ปีที่เหลืออย่างไร หรือเป็นเงื่อนไขบังคับให้พรรคพลังประชารัฐจะต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนอื่นพ่วงไปด้วยเพื่อสืบทอดอำนาจต่อหลังจากนั้น ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์น่าจะต้องยอมเพราะไม่เช่นนั้น 2 ปีที่เหลือก็จะไม่มีคนสืบทอดวาระต่อ

ในขณะที่เริ่มมีข่าวออกมาว่าสองชื่อที่จะต่อจากพล.อ.ประยุทธ์ของพรรคพลังประชารัฐก็คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพล.ต.อ.จักรทิพย์ เผ่าจินดา ป.ป้อมและป.แป๊ะ

เราต้องยอมรับนะครับว่า การทำงานบนตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประวิตรในช่วงเดือนเศษนั้น เขาสามารถทำได้ดี และเห็นถึงความแตกต่างกับพล.อ.ประยุทธ์ เพราะพล.อ.ประวิตรทำให้เห็นว่าเขาถึงลูกถึงคนและตีนติดดินมากกว่าพล.อ.ประยุทธ์ หลายคนชมกันว่า พล.อ.ประวิตรสามารถแสดงออกมาในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีฝึกงานได้อย่างดีทีเดียว

แต่การมองว่าจะไปต่อของพล.อ.ประยุทธ์เช่นนั้นเป็นการมองในสถานการณ์ที่เชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐจะได้กลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีก แต่เราสัมผัสความจริงได้ว่าเงื่อนไขความได้เปรียบของพรรคพลังประชารัฐไม่เหมือนเดิมแล้ว แม้จะยังมี 250 ส.ว.ที่พร้อมจะยกมือให้ แต่เงื่อนไขสำคัญก็อยู่ที่ว่าพรรคพลังประชารัฐจะมาเป็นอันดับ 1 ในฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้และจะยังสามารถรวบรวมเสียงส.ส.ได้เกิน 250 คนไหม

ในขั้วฝั่งรัฐบาลตอนนี้พรรคที่ถูกมองว่าน่าจะมีอนาคตที่ดีขึ้นและน่าจะกวาดส.ส.เข้าสภาได้มากกว่าเดิมก็คือพรรคภูมิใจไทยของเนวิน ชิดชอบ ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐถูกมองว่าจะได้ส.ส.น้อยกว่าเดิมพร้อมกับกระแสของพล.อ.ประยุทธ์ที่เจือจางลง และหลายคนในพรรคพลังประชารัฐก็น่าจะแตกกระสานซ่านเซ็นไปอยู่พรรคการเมืองอื่น ยากมากที่พรรคพลังประชารัฐจะสามารถยังเป็นพรรคอันดับ 1 ในฝ่ายนี้

และในสถานการณ์ที่สองฝั่งพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลตอนนี้และฝ่ายค้านต้องช่วงชิงจำนวนส.ส.ให้ได้มากกว่า 250 คน เพื่อจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนั้น ณ ตอนนี้มองว่าฝ่ายที่ได้เปรียบคือพรรคร่วมฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคเพื่อไทยของทักษิณ แม้ว่าพรรคเพื่อไทยอาจจะไม่ได้ที่นั่งพรรคเดียวเกินกึ่งหนึ่ง แต่พรรคเพื่อไทยก็น่าจะยังได้ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 เช่นเดียวกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว และจะได้มากกว่าเดิมเพราะครั้งนี้เป็นการแข่งขันในกติกาบัตรสองใบที่พรรคเพื่อไทยได้เปรียบไม่ต้องแตกพรรคสู้แบบครั้งที่แล้ว

ณ สถานการณ์ตอนนี้จึงมีความเป็นไปได้มากที่พรรคพลังประชารัฐจะแพ้เลือกตั้ง ทั้งแพ้พรรคภูมิใจไทยในขั้วการเมืองเดียวกันกับแพ้พรรคเพื่อไทย เมื่อเป็นอย่างนั้นจึงมีคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์จะยอมรับสภาพของแม่ทัพที่นำศึกแพ้ไหม หรือว่าจะวางมือเสียก่อนเป็นการสละตำแหน่งในขณะที่ยังไม่พ่ายแพ้ แล้วถอยห่างจากการเมือง

เป็นไปได้ที่พล.อ.ประยุทธ์อาจจะวิตกว่าถ้าวางมือทางการเมือง ตัวเองอาจไม่อยู่ในสถานะที่ปลอดภัย หรืออาจจะมีปัจจัยที่พล.อ.ประยุทธ์ไม่อาจจะปฏิเสธได้ที่ต้องอยู่ต่อไป แต่ปัจจัยเหล่านั้นก็เป็นปัจจัยที่ไม่มองจากสภาพความเป็นจริงว่า ความนิยมของพล.อ.ประยุทธ์นั้นไม่เหมือนเดิมแล้ว

แม้จะยังมีฮาร์ดคอร์อีกมากที่ชื่นชอบพล.อ.ประยุทธ์แต่ต้องยอมรับว่า ไม่น่าจะมากพอที่จะทำให้ชนะเลือกตั้งได้ เพราะต้องยอมรับว่า กลุ่มคนที่จะตัดสินว่าฝ่ายไหนจะชนะนั้นคือกลุ่มคนกลางๆซึ่งมีคำถามว่า คนกลางๆ เหล่านั้นยังอยากให้พล.อ.ประยุทธ์ไปต่อไหม ซึ่งถ้าเรามองจากการสำรวจโพลต่างๆ ต้องยอมรับว่าตอนนี้กระแสเทไปทางพรรคร่วมฝ่ายค้านตอนนี้มากกว่า

นอกเหนือจากคนเริ่มเบื่อหน่ายเพราะพล.อ.ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งมายาวนานและต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว ถามว่าความผิดพลาดของพล.อ.ประยุทธ์คืออะไร คำตอบก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้กระทำตามที่สัญญาเอาไว้นั่นคือการปฏิรูปในด้านต่างๆ ที่เคยเป็นเงื่อนไขเรียกร้องก่อนจะเกิดการรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์

แปดปีของพล.อ.ประยุทธ์นั้นไม่สามารถพลิกฟื้นประเทศและนำพาออกจากความขัดแย้งได้ ต่างกับยุคสมัยของพล.อ.เปรมที่นำความโชติช่วงชัชวาลย์มาสู่สังคมไทยและสามารถขจัดความขัดแย้งของคนในชาติในการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้สำเร็จด้วยนโยนบาย 66/2523

รัฐบาลประยุทธ์นั้นถืออำนาจเด็ดขาดในฐานะรัฎฐาธิปัตย์อยู่อย่างนานถึง 5 ปี มีมาตรา 44 ที่สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้และเอื้อที่จะทำให้ใช้สถานภาพนั้นในการพัฒนาประเทศเพราะเป็นรัฐบาลที่แข็งแกร่ง แต่ก็ไม่สามารถทำการปฏิรูปด้านต่างๆ ออกมาเป็นรูปธรรมได้เลย สิ่งที่รัฐบาลประยุทธ์ใช้อำนาจของตัวเองออกมาอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ การเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองสามารถสืบทอดอำนาจได้เท่านั้นเอง

ถามว่าการปฏิรูปตำรวจวันนี้ไปถึงไหน ก็มีคำตอบที่ชัดเจนว่ารัฐบาลประยุทธ์ไม่ได้เอาจริงให้เกิดการปฏิรูปไปในหนทางที่ดีกว่าเดิม แม้จะมีการปรับปรุงกฎหมายไปบ้าง แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างเห็นผลที่ชัดเจน ผลงานของคณะปฏิรูปด้านต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาตอนนี้อยู่ที่ไหน ส่งผลอะไรออกมาบ้างก็ต้องบอกว่าไม่เห็น

อาจจะบอกว่ารัฐบาลประยุทธ์เป็นรัฐบาลที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ต้องยอมรับความจริงว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ได้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวท้าทายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งล้วนแล้วแต่อ้างการดำรงอยู่ของรัฐบาลประยุทธ์ผูกโยงเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

มีการเรียกร้องและท้าทายผ่านการแสดงออกของกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยพวกเขาแสดงออกอย่างท้าทายและเปิดเผยยิ่งขึ้น เรียกปรากฎการณ์นั้นว่าเป็นการทลายเพดานของสังคมไทย และการเรียกร้องให้ปฏิรูปของพวกเขานั้นซ่อนเร้นไว้ด้วยเป้าหมายที่แท้จริงที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกฝ่ามือโดยความพยายามที่จะเริ่มจากการลดทอนบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์

แน่นอนว่าความพยายามเคลื่อนไหวต่อการท้าทายเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐของคนกลุ่มหนึ่งนั้นยิ่งทำให้ต้องการรัฐบาลที่เข็มแข็งเพื่อรับมือกับความท้าทายนั้น แต่ด้านหนึ่งเราคงเห็นว่า ความเข้มแข็งอย่างเดียวไม่อาจรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้นได้ แต่ต้องทำให้คนที่ออกมาเคลื่อนไหวเห็นว่า ประเทศของเรายังมีผู้นำที่มีความหวังจะนำพาประเทศชาติไปสู่หนทางที่ดีและทำให้ชีวิตของประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีได้ ซึ่งเราอาจจะเห็นว่าศักยภาพของพล.อ.ประยุทธ์นั้นมีขีดจำกัด แม้แทบจะเป็นความหวังเดียวของฝ่ายอนุรักษนิยมในตอนนี้

คนจำนวนมากที่เป็นคนกลางๆ เคยคาดหวังว่าพล.อ.ประยุทธ์จะสามารถขจัดความขัดแย้งให้หมดไปจากสังคมไทย แต่ความจริงกลายเป็นว่า สังคมไทยยิ่งขัดแย้งกว่าเก่าและกลายเป็นความขัดแย้งที่ท้าทายโครงสร้างและรูปแบบของรัฐ ซึ่งเราเห็นแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถแก้ไขได้ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเสียเอง

แน่นอนการไม่มีพล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นความอ่อนไหวของฝ่ายอนุรักษนิยมว่าจะมีใครขึ้นมาสืบทอดอำนาจต่อในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงและท้าทายเช่นนี้ แต่เราก็เห็นแล้วว่าแปดปีที่ผ่านมานอกจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองได้แล้วมันกลับขยายลุกลามยิ่งกว่าเดิม แม้ว่าวันนี้โครงสร้างของรัฐจะยังมีความแข็งแกร่ง แต่ก็มีคำถามว่าจะทัดทานกระแสคลื่นของอนาคตที่โหมกระหน่ำมาได้อีกนานแค่ไหน

เมื่อเป็นเช่นนี้พล.อ.ประยุทธ์ควรจะไปต่อหรือพอแล้วเพื่อหาคนรับมือกับสถานการณ์ที่ดีกว่าก็เป็นสิ่งที่ต้องคิดเหมือนกัน

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น