xs
xsm
sm
md
lg

คดีผู้บริโภคที่ภาคธุรกิจและประชาชนควรรู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อนุรักษ์ นิยมเวช



อนุรักษ์ นิยมเวช 
 กรรมการผู้จัดการ ANURAK BUSINESS LAW 
 anurak@anurakbusinesslaw.com

นอกจากคดีแพ่งสามัญที่เกิดจากข้อพิพาทระหว่างเอกชนโดยทั่วไปแล้ว ยังมีคดีอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่าคดีผู้บริโภคภายใต้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ซึ่งเกิดจากข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจและมีกระบวนพิจารณาแตกต่างจากคดีแพ่งทั่วไปบางประการ

คดีผู้บริโภค คือ
1. คดีแพ่งระหว่างผู้บริโภค หรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคตามมาตรา 19 (เช่น คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) หรือตามกฎหมายอื่น กับผู้ประกอบธุรกิจซึ่งพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ
2. คดีแพ่งตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย
3. คดีแพ่งที่เกี่ยวพันกันกับคดีข้างต้น

สำหรับความหมายของผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจในคดีผู้บริโภคภายใต้กฎหมายข้างต้นนั้น ไม่ได้แตกต่างไปจากที่เราเข้าใจกันโดยทั่วไปนัก กล่าวคือ

ผู้บริโภค หมายถึง ผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ หรือผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการและหมายความรวมถึง ผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม

ผู้ประกอบธุรกิจ หมายถึง ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายหรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้าหรือผู้ให้บริการ

ตัวอย่างของคดีผู้บริโภคที่เห็นกันได้ทั่วไปก็เช่น คดีเช่าซื้อรถยนต์ คดีบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล คดีจ้างทำของ เช่น ก่อสร้างต่อเติมบ้าน คดีที่เกี่ยวกับบริการสาธารณูปโภค เช่น การให้บริการโทรศัพท์มือถือ คดีซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภค คดีเกี่ยวกับบริการทางการเงินหรือประกันภัย ฯลฯ ซึ่งต้องเป็นข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจเท่านั้น ไม่ใช่ระหว่างประชาชนหรือระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกันเอง

ในการฟ้องคดีผู้บริโภคนั้น ผู้บริโภคสามารถยื่นฟ้องผู้ประกอบธุรกิจต่อศาลที่มูลคดีเกิดหรือต่อศาลที่ผู้ประกอบธุรกิจมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลก็ได้ แต่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องฟ้องผู้บริโภคต่อศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลเท่านั้น

ในกรณีที่ผู้บริโภคเป็นฝ่ายฟ้องคดี ผู้บริโภคจะฟ้องคดีด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้โดยมีเจ้าพนักงานคดีทำหน้าที่ช่วยเหลือ ทั้งยังได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาลตั้งแต่ยื่นฟ้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ เว้นแต่บางกรณี เช่น หากศาลเห็นว่าผู้บริโภคนำคดีมาฟ้องโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือเรียกร้องค่าเสียหายเกินสมควร ฯลฯ ศาลอาจมีคำสั่งให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับการยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนได้

เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว ผู้บริโภคมักจะอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบกว่าผู้ประกอบธุรกิจในเชิงคดีความ ดังนั้น ในกระบวนพิจารณาคดีผู้บริโภค ศาลจะมีอำนาจและบทบาทในการไต่สวนหาข้อเท็จจริงมากกว่าคดีแพ่งทั่วไป กล่าวคือ ศาลมีอำนาจเรียกพยานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควรตลอดจนเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลหรือส่งพยานหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาได้ และในการสืบพยานไม่ว่าจะเป็นพยานของฝ่ายใด โดยหลักจะให้ศาลเป็นผู้ซักถามพยาน โดยคู่ความหรือทนายความจะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาล ตลอดจนมีอำนาจซักถามข้อเท็จจริงใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับคดีแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างก็ตาม

ในการพิพากษาคดีที่ผู้บริโภคเป็นโจทก์นั้น ถ้าศาลเห็นว่าจำนวนค่าเสียหายที่ผู้บริโภคเรียกร้องมามาไม่ถูกต้องหรือวิธีการบังคับตามคำขอไม่ถูกเพียงพอแก้ไขเยียวยาความเสียหายตามฟ้อง ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องหรือกำหนดวิธีการบังคับให้เหมาะสมได้

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าการกระทำที่ถูกฟ้องร้องในคดีนั้นๆ เกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค หรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ศาลมีอำนาจที่จะกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ต่างๆ เช่น ความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ ผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับ สถานะทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ ฯลฯ

คู่ความอาจอุทธรณ์คำพากษาศาลชั้นต้นในคดีผู้บริโภคต่อศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคได้ โดยห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหากจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท เว้นแต่จะยื่นคำขอและได้รับอนุญาตจากศาลอุทธรณ์ให้อุทธรณ์ได้ ส่วนการฎีกานั้น คู่ความจะต้องยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกาเสียก่อนจึงจะฎีกาได้เช่นเดียวกับคดีแพ่งประเภทอื่นๆ

ปัจจุบันหลักการดำเนินการคดีและวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคตามกฎหมายข้างต้น ถือเป็นกลไกทางกฎหมายอย่างหนึ่งที่ช่วยคุ้มครองและเอื้อต่อการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้บริโภคเป็นอย่างดี และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่เราในฐานะผู้บริโภคจะศึกษาทำความเข้าใจเอาไว้ในเบื้องต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น