ยังเป็นเรื่องถกเถียงกันต่อไป ทั้งงุนงงสงสัย หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ท่านห้าวเป้งอยู่เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป อ้างว่าที่ผ่านมายังอยู่ไม่ครบ 8 ปี
พวกติ่งและกลุ่มทุนมีผลประโยชน์ผูกพันและได้ลงทุนไปเยอะดีใจ เมื่อไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในเส้นทางของการกอบโกยความมั่งคั่ง อย่างน้อยอีกระยะหนึ่ง
พวกที่คาใจ รู้สึกถึงความวิปริตพิสดารซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย ต้องทำใจยอมรับ เพราะ “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร”
เป็นประโยคที่ดูขลัง ศักดิ์สิทธิ์ มีความหมายหนักแน่น
ในความเป็นจริง นักกฎหมาย วิญญูชน ชาวบ้านมีจิตสำนึกขั้นพื้นฐานไม่เพี้ยนมองว่าเป็นปรากฏการณ์ตลกร้าย แม้บางพวกจะมองว่าไม่เหนือความคาดหมาย
สัญญาณต่างๆ คำพูดของผู้มีอิทธิพลทางการเงิน ทุนใหญ่เป็นเหมือนการปูทางให้สังคมได้รับรู้ล่วงหน้า และทำใจไว้ก่อน ซึ่งก็ไม่พลาด แม้แต่ตัวเลขคำวินิจฉัย
จะไม่ให้มองว่าเป็นเรื่องพิสดาร อภินิหารทางกฎหมายอย่างที่เกิดขึ้นซ้ำซากได้อย่างไร จากนี้ไป ยิ่งจะเกิดความรู้สึกตอกย้ำให้เห็นว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่องระบบนิติรัฐ นิติธรรม ความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรม
เป็นปัญหาความน่าเชื่อถือของประเทศในสายตาของประชาคมโลกผ่านนักลงทุนต่างชาติในไทยซึ่งรับรู้ระดับความเลวร้ายของการทุจริต คอร์รัปชัน
จากยุค “ทุจริตเชิงนโยบาย” ได้พัฒนาเป็น “ฉ้อฉลเชิงอำนาจ” ผู้กุมอำนาจสามารถใช้อำนาจสั่งให้เขียนกฎหมายอย่างไรก็ได้ เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
ความต้องการอยู่ต่อในอำนาจ ทำให้เกิดการดิ้นรน ไม่คำนึงถึงเหตุและผล
ปัญหาทั้งหมดอยู่ที่ท่านห้าวเป้งที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองได้เป็นนายกรัฐมนตรีมานาน 8 ปี ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 จนถึง 23 สิงหาคม 2565
จะให้เด็กอนุบาล หรือใครก็ตามที่ไม่อยู่ในสภาวะปัญญาอ่อน จิตบกพร่อง จะนับกี่ครั้ง อย่างไรก็ต้องเป็นระยะเวลา 8 ปี ตัวท่านห้าวเป้งก็ประกาศด้วยตัวเอง
เอกสารทุกอย่างตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ที่ได้ลงนาม ต้องมีตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ดังนั้น การใช้เทคนิคทางกฎหมายจากการทำเป็น “ตีมึน” ไม่พูดไม่จา อ้างว่า “เป็นเรื่องของศาล” ท่านห้าวเป้งทำให้สังคมวิญญูชนต้องประเมินใหม่
การตีมึน ทำเป็นไม่รู้ว่าตัวเองเป็นนายกฯ มา 8 ปีแล้ว เปิดช่องให้มีการแสวงหาข้อถกเถียง เทคนิคทางกฎหมาย โดยไม่ยอมรับความจริงและวิญญาณของกฎหมาย
“Spirit of law” ย่อมมีอยู่ในกฎหมายของประเทศที่มีมาตรฐานเดียว ในบ้านเราได้พูดกันถึงเรื่อง “เจตนารมณ์ของกฎหมาย” แต่ต้องดูเจตนาของผู้เขียนกฎหมาย
หรือต้องดูว่ามีเจตนาของผู้สั่งให้ร่างกฎหมาย ถ้าไม่ถูกใจ เปลี่ยนคนร่างใหม่
หรือว่ากฎหมายในประเทศไทย “ไร้วิญญาณ” จะตีความอย่างไรก็ได้ ที่ผ่านมามีทั้งเรื่อง “การหมกเม็ด” สร้าง “รูหมาลอด” ให้เป็นที่เลื่องลือมาโดยตลอด
บรรทัดฐานทางกฎหมายใช้ไม่ได้กับท่านห้าวเป้ง ผู้ชนะคดีรวม 5 ครั้งในศาลรัฐธรรมนูญ แต่ละครั้งถือว่าเป็นความพิสดาร บางกลุ่มก็มองว่าเป็นความวิปริต
การที่ท่านห้าวเป้งส่งภาระให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องตีความระยะเวลาการเป็นนายกฯ ของตนเองย่อมถูกมองว่ามีปัญหาเรื่องจริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม
แน่นอน ย่อมมีคำถามว่าเป็นเรื่อง “ไร้ยางอาย” หรือไม่ด้วย รวมแล้วนำไปสู่ข้อถกเถียงเรื่องมาตรฐานความยุติธรรม สังคมไทยมีคำถามว่าจะพึ่งอะไรได้หรือไม่
ชัยชนะด้วยเทคนิคด้านกฎหมาย หรือด้วยปัจจัยอะไรก็สุดแล้วแต่ นำไปสู่การคัดค้านของหลายกลุ่มซึ่งมองว่าท่านห้าวเป้งไม่สมควรอยู่ในอำนาจต่อไป ถ้ามีปัญหาเรื่องขีดความสามารถในการนับเลข และใช้การตีมึนเป็นหนทางให้เรื่องถึงศาล
ผู้รู้ด้านกฎหมายกำลังรออ่านคำวินิจฉัยส่วนตนของ 6 ตุลาการเสียงข้างมากว่ามีความเห็นด้านกฎหมาย มุมมองอย่างไร ต่างจาก 3 ตุลาการเสียงข้างน้อยอย่างไร
นั่นจะทำให้เกิดการเปรียบเทียบด้านเหตุและผลในกลุ่มผู้รู้กฎหมายและวิญญูชน รวมทั้งชาวบ้านทั่วไปที่มีจิตสำนึกพื้นฐานเป็นปกติ เพราะคำวินิจฉัยรวมถูกมองว่าไม่มีการเอ่ยถึงบางประเด็นข้อเท็จจริงซึ่งถูกยื่นให้ศาลประกอบการวินิจฉัย
ตุลาการเสียงข้างน้อย 1 ท่านได้เขียนคำวินิจฉัยส่วนตน วางรากฐานและเหตุผล ตีกรอบทำให้ยากต่อการถกเถียง ทั้งข้อเท็จจริง จริยธรรม คุณธรรม
มีความจำเป็นที่คำวินิจฉัยต้องอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม ความเที่ยงธรรม ประกอบด้วยศีลธรรมอันดี เพื่อเป็นหลักของประโยชน์สุขของประชาชน
เรื่องผ่านไปแล้ว หลายคนมีความสุข แต่ยังไม่จบ เมื่อเกิดการชุมนุมประท้วงขับไล่ผู้นำรัฐบาลซึ่งถูกมองว่าไม่มีความชอบธรรมเหลืออยู่ แม้จะรอดคดีในศาล
แน่นอน คำวินิจฉัยได้นำไปสู่ความไม่สงบ ซึ่งจะลุกลามขยายตัวไปอย่างไร ต้องรอให้เวลาตัดสิน ท่านห้าวเป้งไม่สามารถพึ่งพากฎหมายสภาวะฉุกเฉินอีก
มีแต่กฎหมายเรื่องควบคุมการชุมนุมเป็นตัวช่วย แต่จะไม่สามารถต้านทานคำถามเรื่อง “ความชอบธรรม” เมื่อถูกมองว่ามีประเด็นการขาดจริยธรรม คุณธรรม ความไร้ยางอาย โดยไม่ต้องเถียงกันเรื่องความสามารถในการบริหารบ้านเมือง
มีเรื่องการไม่รู้ข้อจำกัดของตัวเอง บ้านเมืองเผชิญวิกฤตด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หนี้ครัวเรือนติดอันดับโลก หนี้สาธารณะที่เบ่งบาน การกู้หนี้ไม่สิ้นสุด
แน่นอน การทุจริต คอร์รัปชันอย่างรุนแรง การเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุน ไม่มีการปฏิรูปประเทศ มีแต่คำสัญญาลมๆ แล้งๆ เพื่อให้อยู่รอดไปแต่ละวัน
คำถามที่ไร้คำตอบคือ จะดิ้นรนอยู่ต่อเพื่ออะไร หรือลงจากหลังเสือไม่ได้จริงๆ