xs
xsm
sm
md
lg

สถานการณ์การเมืองไทย กับอนาคตหลังพ้นยุค 3ป.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ


บทความนี้ต้องปิดต้นฉบับในวันพฤหัส (29ก.ย.) จึงยังไม่รู้ว่าชะตากรรมของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นอย่างไร แต่ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็ตามทั้งสามช่องทางคือนับตั้งแต่ปี 2557 ที่เป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหาร นับตั้งแต่ปี 2560 ที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ หรือนับตั้งแต่ปี 2562 ที่มีการเลือกตั้ง โอกาสของพล.อ.ประยุทธ์ก็น่าจะหมดแล้วทั้งนั้น

ถ้าบอกว่าเริ่มนับ 8 ปีตั้งแต่ 2557 นั่นก็หมายความว่าหมดแน่ๆ แต่ถ้านับ 2560 เหลืออีก 2 ปีก็ไม่น่าจะไปต่อแล้ว เพราะยังไงก็อยู่ไม่ครบเทอม และถ้ารู้ประมาณตนก็ควรบอกว่า“พอแล้ว” แต่ถ้านับ 2562 ซึ่งคิดว่ายากมากที่จะออกช่องนี้ แต่ถ้าออกจริงๆ แม้จะเหลืออีก 4 ปีก็ไม่คิดว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า พล.อ.ประยุทธ์จะฝ่าฟันไปได้ เพราะต้องยอมรับว่าวันนี้ความนิยมของพล.อ.ประยุทธ์ไม่เหมือนเดิมแล้ว และเจ้าตัวก็ควรเลือกที่จะ “พอแล้ว” เหมือนกัน

นี่เป็นเหตุผลที่ผมบอกว่า โอกาสของพล.อ.ประยุทธ์น่าจะจบลงแล้ว ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร นั่นหมายความว่า ยุค 3 ป.ก็กำลังเดินลงสู่ทางลงเหมือนกัน แม้ว่าช่วงรักษาการพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ และมีแรงปรารถนาในใจอย่างล้นเปี่ยม แต่ความนิยมของพล.อ.ประวิตรนั้นไม่ได้มีมากนัก

เมื่อเป็นเช่นนั้นผมมองว่าสถานการณ์ของพรรคฝ่ายรัฐบาลตอนนี้นั้น บทบาทไม่ได้อยู่ที่พรรคพลังประชารัฐอีกต่อไป หรือไม่ได้อยู่ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เชื่อกันว่า เป็นพรรคที่สร้างขึ้นมารองรับพล.อ.ประยุทธ์ หากสถานการณ์ในพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ดังใจ ถ้าไม่มีพล.อ.ประยุทธ์ชูโรงแล้ว สองพรรคนี้ก็จะไม่มีความหมาย โอกาสของฝ่ายนี้ที่ยังเห็นว่าจะไปได้ดีกว่าพรรคอื่นก็คือ พรรคภูมิใจไทยของเนวิน ชิดชอบ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์แค่ไม่ให้ขาดทุนก็ต้องนับว่าเก่งแล้ว

ถ้าในการเลือกตั้งครั้งหน้าฝั่งนี้จะยังเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลได้ก็ต้องดูว่า พรรคภูมิใจไทยได้เท่าไหร่ และสามารถแย่งชิงส.ส.ในภาคอีสานมาได้มากไหม ไม่แปลกหรอกที่อนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคจะตั้งเป้าไว้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

แต่ถ้าเราติดตามโพลที่มีความน่าเชื่อถือเช่นนิด้าโพลเราต้องยอมรับว่า นอกเหนือจากพล.อ.ประยุทธ์แล้วตอนนี้ตัวละครของพรรคร่วมรัฐบาลหรือฝ่ายอนุรักษนิยมที่มีสิทธิ์จะแย่งชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีกันนั้นไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน และอยู่ในลำดับท้ายๆ เมื่อเทียบกับตัวละครของพรรคร่วมฝ่ายค้าน มันสะท้อนว่าประชาชนส่วนหนึ่งต้องการจะเปลี่ยนขั้วการเมืองอยู่เหมือนกัน

คนที่ติดตามสถานการณ์การเมืองนั้นล้วนมองกันว่า ในครั้งหน้าพรรคที่เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือพรรคฝ่ายอ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยกำลังเป็นต่อ ทั้งกระแสในสังคมและโพลที่ออกมาชี้ชัดว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลกำลังอยู่ในความนิยมของประชาชนมากกว่าพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้ ด้านหนึ่งคงเป็นเพราะประชาชนส่วนหนึ่งเริ่มเบื่อหน่ายรัฐบาลประยุทธ์ที่อยู่มานานถึง 8 ปีแล้ว

ถ้าเราทิ้งพรรคร่วมฝ่ายค้านไว้ก่อนหันไปมองพรรคที่เกิดใหม่หรือพรรคที่ผสมพันธุ์กันใหม่ ก็ยังไม่เห็นนะว่าพรรคไหนจะมีกระแสที่โดดเด่นอย่างที่พรรคอนาคตใหม่ทำได้ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพรรคสร้างอนาคตไทย ที่ชู สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ หรือพรรคผสมพันธุ์ใหม่ชื่อประหลาดชาติพัฒนากล้าของสุวัจน์ ลิปตพัลลภกับกรณ์ จาติกวณิช หรือแม้แต่พรรครวมไทยสร้างชาติของพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ซึ่งก็คงมีสภาพไม่ต่างไปกับพรรครวมพลังประชาชาติไทของสุเทพ เทือกสุบรรณในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว

พรรคใหม่หรือพรรคผสมพันธุ์ใหม่เหล่านี้แค่ให้ได้ส.ส.เข้ามา 25 คนซึ่งทำให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคมีสิทธิ์ถูกเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีได้ก็นับว่าเก่งแล้ว แต่ส่วนตัวผมมองว่ายากที่จะเป็นไปได้ในทุกพรรคที่กล่าวมาข้างต้น

ส่วนพรรคเล็กพรรคน้อยที่เคยได้ส.ส.เขย่งเพราะการคิดปาร์ตี้ลิสต์แบบพิสดารของกกต.นั้น เชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่เหลือเลยสักพรรค หรือแม้แต่พรรคเสรีรวมไทยของพล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวช ก็คงไม่ได้ที่นั่งเท่าเดิมอีกแล้ว

แต่แม้กระแสจะเป็นใจให้พรรคร่วมฝ่ายค้านหรือพรรคฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยมากกว่า แต่ในฐานมวลชนเดียวกันนั้นก็สู้กันหนักระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย

การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นบทพิสูจน์ของพรรคก้าวไกล ในครั้งที่แล้วต้องยอมรับว่าพรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นพรรคเดิมนั้น มีกระแสฟีเวอร์จากคนรุ่นใหม่จากความนิยมในตัวธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แต่ก็ไม่น่าจะได้รับเลือกตั้งมากเท่านี้ถ้าพรรคไทยรักษาชาติที่ทักษิณแตกพรรคแล้วไม่ถูกยุบเพราะกระทำการไม่บังควร ซึ่งมื่อพรรคถูกยุบทำให้พรรคอนาคตใหม่ได้อานิสงส์ไป เพราะพื้นที่ที่พรรคไทยรักษาชาติลงสมัครนั้นส่วนใหญ่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งลง คะแนนก็เลยเทมาใหม่พรรคอนาคตใหม่

แม้ว่าครั้งนี้พรรคก้าวไกลจะไม่มีธนาธร แต่ก็ต้องยอมรับว่า บทบาทในสภาของพรรคก้าวไกลนั้นมีความโดดเด่นมาก ทำให้ได้ใจมวลชนฝ่ายที่ไม่เอารัฐบาลมากเมื่อเทียบกับบทบาทของพรรคเพื่อไทยในสภาแล้วต้องยอมรับว่าพรรคก้าวไกลทำได้ดีกว่าแม้จะมีส.ส.น้อยกว่าก็ตาม นอกจากนั้นพรรคก้าวไกลยังได้ใจคนรุ่นใหม่ที่ความคิดปฏิกษัตริย์นิยมมาก แต่พรรคเพื่อไทยถูกมองว่าสู้ไปกราบไป

การเลือกตั้งครั้งนี้แม้พรรคก้าวไกลจะไม่มีธนาธร แต่ดีเอ็นเอของธนาธรก็ได้รับการปลูกฝังไว้ในพรรคแล้ว และพรรคนี้ก็ยังเป็นพรรคของธนาธรเมื่อเราเห็นท่าทีของธนาธรต่อส.ส.ของพรรคบางคนที่ไม่ได้รับเลือกให้ลงสมัครต่อทำให้รู้ว่าธนาธรยังคงมีอิทธิพลในพรรคนี้ ดังนั้นแม้ครั้งนี้จะต้องแย่งชิงมวลชนกับพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้เป็นรองพรรคเพื่อไทยมากนัก

แต่ก็มีบางมุมมองเหมือนกันที่บอกว่า ถ้าพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ไม่เป็นพรรคที่สนับสนุนการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็อาจจะได้รับความนิยมมากกว่านี้ การแสดงออกทั้งในสภาและการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่ต้องการลดทอนบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ทำให้ถูกมองว่าเป็นอันตรายเกินไป เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังยกย่องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

ส่วนพรรคเพื่อไทยนั้นแม้จะมีความนิยมในโพลสูงมากทั้งพรรคแล้วตัวบุคคลอย่างแพทองธาร ชินวัตร แต่ถ้าจะเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ดูแล้วว่าจะต้องพึ่งตัวเองมากกว่าพรรคอื่น นั่นคือต้องทำให้ได้ส.ส.เกิน 250 คนด้วยตัวเอง แต่ถ้าไม่ได้ก็อาจจะต้องเจอฤทธิ์ของ 250 ส.ว.แบบการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เพราะแม้ 250 ส.ว.ที่คสช.ตั้งมาไม่เชื่องเหมือนเดิมแล้ว แต่เสียงส่วนใหญ่ก็ยังพร้อมจะเป็นฝักถั่วอยู่เช่นเดิม

หรือถ้าผลลัพธ์ออกมาว่า พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลมีจำนวนรวมกันเกิน 250 คน ก็ต้องถามว่า ทักษิณพร้อมจะให้พรรคของเขาจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคที่อันตรายไหม ในขณะที่เป้าหมายของทักษิณคือการได้กลับบ้านดังนั้นถามว่าทักษิณกล้าที่จะทำเรื่องที่ท้าทายไหม หรือว่าสุดท้ายแล้วเราจะเห็นพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคพลังประชารัฐหรือพรรคภูมิไจไทยมากกว่าการจับมือกับพรรคก้าวไกล

ขณะเดียวกันมีการมองกันว่า เสียงชี้ขาดที่แท้จริงคือคนกลางๆ ที่ไม่ได้เป็นขั้วการเมืองฝ่ายไหน แต่การที่ทักษิณส่งแพทองธารมาเป็นตัวเลือกนายกรัฐมนตรีหลายคนก็สงสัยในความสามารถและประสบการณ์ของแพทองธารแม้หน่วยก้านการเมืองของเธอจะดูดีกว่ายิ่งลักษณ์ตอนที่ลงสนามใหม่ๆ แต่ถ้าแพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรีแต่ทักษิณกำกับอยู่เบื้องหลังบ้านเมืองก็อาจจะเดินกลับไปสู่วังวนของความขัดแย้งอีก ซึ่งคนกลางๆ ส่วนใหญ่เบื่อหน่ายกับความขัดแย้งทางการเมือง

น่าสนใจว่าการเมืองในครั้งหน้าจะมีผลลัพธ์ออกมาอย่างไร แต่นี่เป็นมุมมองของผมที่ก้าวข้ามยุคสมัยของ 3 ป.ไปแล้ว

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น