“รัฐธรรมนูญผูกพันอย่างใกล้ชิดกับอนาคตของประเทศ และชะตากรรมของประชาชน”
โดยนัยแห่งคำกล่าวข้างต้น มีใจความชัดเจนแทบไม่ต้องอธิบายขยายความ เพราะเพียงได้อ่านจบก็เข้าใจได้ทันทีว่า ธรรมนูญของประเทศใด ก็ผูกมัดหรือเป็นตัวกำหนดให้การปกครองประเทศนั้น ต้องเดินตามในอนาคตตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ และในขณะเดียวกัน ชะตากรรมของพลเมืองของประเทศนั้น จะต้องถูกควบคุมให้อยู่ในกรอบแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ ด้วย
ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละครั้ง คณะผู้ร่างจะต้องคำนึงอนาคตของประเทศ และประชาชนโดยรวมเป็นหลัก มิใช่ร่างเพื่อสนองความต้องการของปัจเจกบุคคล หรือของคณะบุคคล โดยไม่คำนึงผลกระทบในทางลบต่อประเทศ และประชาชนโดยรวม
อีกประการหนึ่ง รัฐธรรมนูญจะต้องไม่เปลี่ยนด้วยเหตุเพียงการเปลี่ยนผู้นำ หรือผู้นำมีความคิดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่จะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อเหตุการณ์หรือสถานการณ์ของประเทศเปลี่ยนไป และมีความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ
ด้วยเหตุนี้ ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่เจริญแล้วเช่น อังกฤษ เป็นต้น หรือแม้กระทั่งประเทศที่โลกตะวันตกมองว่าเป็นเผด็จการเช่น จีนในปัจจุบันก็ยึดแนวทางนี้ และดูเหมือนว่าประเทศจีนจะมีแนวคิดเกี่ยวกับการปกครองมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย เมื่อเปรียบเทียบกับโลกตะวันตกด้วยซ้ำ ทั้งนี้จะเห็นได้จากคำพูดของเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้ริเริ่มนโยบายปฏิรูป และเปิดประเทศว่า “เพื่อรับประกันประชาธิปไตยของประชาชน หรือเพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนเกิดขึ้นได้จริง เราจะต้องทำให้ระบบกฎหมายของเราเข้มแข็ง ประชาธิปไตยต้องถูกจัดตั้งเป็นองค์กร (หรือเป็นสถาบัน) และต้องเขียนเป็นกฎหมายเพื่อที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า สถาบันและกฎหมายไม่เปลี่ยน เมื่อไหร่ก็ตามที่ภาวะผู้นำเปลี่ยนหรือเมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้นำเปลี่ยนทัศนะ หรือเปลี่ยนจุดยืนแห่งความตั้งใจ”
แต่รัฐธรรมนูญของประเทศไทยได้วิวัฒนาการสวนทางกับแนวทางที่กล่าวมาแล้วข้างต้น กล่าวคือ มิได้เป็นตัวกำหนดอนาคตของประเทศ และชะตากรรมของประชาชน แต่เกิดขึ้นเพื่อสนองความต้องการอยากมีและอยากเป็นของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลผู้ต้องการสืบทอดอำนาจทางการเมือง หลังจากที่ได้ครองอำนาจในระบอบเผด็จการ และเกิดอาการเสพติดอำนาจ จึงใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 เป็นตัวอย่างเห็นได้ชัดเจน แทบไม่ต้องอธิบายขยายความใดๆ ทุกคนอ่านแล้วได้คำตอบเดียวกันว่า เขียนขึ้นเพื่อใคร
และนี่เองคือจุดแห่งความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ และจะเกิดขึ้นต่อไปหลังจากเลือกตั้งข้างหน้าแน่นอน ถ้าไม่มีการแก้ไขให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน