xs
xsm
sm
md
lg

ถอนร่างกฎหมาย กัญชา กัญชง = เกิดสุญญากาศนานขึ้นเพื่อประโยชน์ของใคร? / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


ต่อกรณีที่ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 โดยต้องการให้กรรมธิการถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…..ออกไปจากสภาผู้แทนราษฎร และขอให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนการประกาศกำหนดให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีก จนในที่สุดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากลงมติให้ถอนออกจากวาระประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีจำนวนผู้ลงมติ 346 คน, เห็นด้วยให้ถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. ออกจากวาระประชุม 198 คน, ไม่เห็นด้วย 136 คน งดออกเสียง 12 คน

โดยผลการลงคะแนนมีดังต่อไปนี้

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นควรให้กรรมาธิการฯ ถอนร่างออกไปรวมทั้งสิ้น 198 คน เรียงจากมากไปหาน้อยได้แก่ พรรคเพื่อไทย 93 คน, พรรคพลังประชารัฐ 47 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 29 คน, พรรคเสรีรวมไทย 9 คน, พรรคเศรษฐกิจไทย 7 คน, พรรคประชาชาติ 6 คน, พรรคเพื่อชาติ 2 คน, พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน, พรรครวมพลัง 1 คน, พรรคปวงชนไทย 1 คน, พรรคก้าวไกล 1 คน

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยให้กรรมาธิการฯถอนร่างออกไปรวมทั้งสิ้น 136 คน เรียงจากมากไปหาน้อยได้แก่ พรรคภูมิใจไทย 59 คน, พรรคก้าวไกล 41 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา 8 คน, พรรคเพื่อไทย 7 คน, พรรคพลังประชารัฐ 3 คน, พรรคเศรษฐกิจใหม่ 4 คน, พรรคท้องถิ่นไทย 3 คน, พรรคเศรษฐกิจไทย 3 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 2 คน, พรรคเพื่อชาติ 2 คน, พรรคชาติพัฒนา 1 คน, พรรคประชาภิวัฒน์ 1 คน, พรรคพลังธรรมใหม่ 1 คน

สรุปก็คือ เสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบให้ถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…..

อย่างไรก็ตาม เห็นว่ายังมีข้อกล่าวหาดังกล่าวมีความไม่เป็นธรรมต่อคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งจำเป็นต้องชี้แจงดังต่อไปนี้

ประการแรก การที่กัญชาได้ถูกกำหนดให้ออกจากบัญชียาเสพติดนั้น เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตามมาตรา 29 ประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยไม่ปรากฏชื่อกัญชาออกจากยาเสพติดประเภทที่ 5 อีกต่อไป ตามมติประชุมร่วมของรัฐสภาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 โดยการลงมติในครั้งนั้นไม่ปรากฏขอให้มีการแก้ไขจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์แม้แต่คนเดียว และต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบประมวลกฎหมายยาเสพติดที่มีการแก้ไขทั้งฉบับในวาระที่สามด้วยคะแนน 467 เสียง อย่างเป็นเอกฉันท์โดยไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาล สมาชิกวุฒิสภา รวมถึงพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย ได้ลงมติคัดค้านแม้แต่คนเดียวเช่นกัน

ขอย้ำว่าหากสมาชิกรัฐสภาไม่มีมติให้แก้ไขการลบกัญชาออกจากมาตรา 29 ของประมวลกฎหมายยาเสพติดตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2564 แล้ว กัญชาก็จะยังคงเป็นยาเสพติดต่อไปจนถึงปัจจุบันอย่างแน่นอน

ประการที่สอง เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางของประมวลกฎหมายยาเสพติดอันเป็นความเห็นชอบจากสมาชิกร่วมรัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย อีกทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงจากงานวิจัยว่าโอกาสในการเสพติดกัญชานั้นยากกว่าการติดสุราและบุหรี่ จึงไม่ควรมีการรอนสิทธิหรือมีบทลงโทษในฐานะยาเสพติดอีกต่อไป

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีที่มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) ได้ลงมติเห็นชอบให้กัญชาออกจากยาเสพติด แต่ให้คงเหลือสารสกัดที่มีปริมาณสารเตรตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือ THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 ของน้ำหนักยังคงเป็นยาเสพติดต่อไป ตามคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจึงลงนามในประกาศเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565

ประการที่สาม ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. ได้เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายชวน หลีกภัย) ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2565 แต่กว่าที่จะมีการประชุมรับหลักการในวาระแรกกลับเป็นวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ก่อนวันปลดล็อกกัญชาเพียงวันเดียว ซึ่งความล่าช้าของการพิจารณาวาระดังกล่าวนี้ สภาผู้แทนราษฎรย่อมเล็งเห็นผลอยู่แล้วว่าจะทำให้เกิดสุญญากาศทางกฎหมายในการควบคุมกัญชาอย่างแน่นอน

ซึ่งผลการลงมติวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ปรากฏว่าเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบในกฎหมายฉบับนี้มากถึง 373 เสียงต่อ 7 เสียง และเสียงข้างมากที่เห็นชอบหลักการนั้นเป็นเสียงข้างมากที่รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐด้วยแล้ว

ประการที่สี่ รัฐบาลไม่ได้มีนโยบาย “เลื่อน” การปลดล็อกกัญชาออกไป เพราะปรากฏข้อเท็จจริงว่าแพทย์ในระบบภาครัฐยังมีสัดส่วนการใช้กัญชาเป็นส่วนน้อย เทียบกับผู้ป่วยที่ใช้กัญชาใต้ดินเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์มากกว่าครึ่งหนึ่งอย่างผิดกฎหมาย

ผู้ป่วยเหล่านี้กำลังถูกคุกคามจับกุมหรือรีดไถด้วยเพราะกัญชายังคงเป็นยาเสพติด อีกทั้งยังเสี่ยงต่อสารพิษ ยาฆ่าแมลง และการถูกเอาเปรียบด้านคุณภาพและราคาของน้ำมันกัญชา จึงจำเป็นต้องเดินหน้าไม่เลื่อนการปลดล็อกเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ป่วย ในขณะที่ความรุนแรงของกัญชามีโอกาสเสพติดในระดับที่ต่ำกว่าสุราและบุหรี่จึงสามารถใช้กฎหมายอย่างอื่นเข้ามาช่วยควบคุมชั่วคราวก่อนได้

แม้สังคมทั่วไปจะเห็นว่าเป็นสุญญากาศทางกฎหมายของกัญชา แต่ในความจริงแล้วรัฐบาลได้ใช้หลายมาตรการชั่วคราวโดยประยุกต์ใช้กฎหมายต่างๆที่มีอยู่เพื่อบรรเทาผลกระทบทางสังคม จึงเป็นผลทำให้สถานการณ์กลับมาควบคุมได้ และยังคงบรรลุวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้ป่วยที่ใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างผิดกฎหมายด้วย

โดยหลักฐานปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 นายแพทย์กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ได้รายงานว่า จาการเก็บข้อมูลรายงานผู้ป่วยที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือภาวะพิษเฉียบพลันจากการใช้กัญชา ให้ห้องฉุกเฉินตั้งแต่ มิถุนายน ถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2565 ในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ 10 แห่ง โรงพยาบาลภาครัฐ 79 แห่ง พบมี 63 คนเท่านั้นจากทั่วประเทศที่มีการใช้กัญชาในรูปแบบนันทนาการหรือเฉลี่ยประมาณวันละ 1-2 คนต่อวันเท่านั้นจากทั่วประเทศและมีแนวโน้มลดลง ย่อมแสดงให้เห็นว่าการใช้มาตรการต่างๆ ทั้งทางกฎหมายและข้อมูลข่าวสารสามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้

แต่การออกมาตรการชั่วคราวและการให้ความรู้ประชาชนนั้นก็ยังไม่ครอบคลุม ไม่ครบถ้วนรอบด้านเท่ากับ ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ….. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ จึงมีความจำเป็นต้องเร่งพิจารณาเพื่อให้การควบคุมอย่างรอบด้านให้มากที่สุดในการคุ้มครองประชาชนให้เร็วที่สุด และทำให้กรรมาธิการฯได้ทุ่มเทในการประชุมและเร่งรัดการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา

ประการที่ห้า ในคราวที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐได้เห็นชอบในวาระรับหลักการของ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 นั้น กฎหมายฉบับดังกล่าวมีเพียง 45 มาตราเท่านั้น แต่เมื่อทำการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมจนเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 นั้นได้มีมาตราเพิ่มขึ้นมาเป็น 95 มาตรา หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 50 มาตรา หรือมากกว่าเดิมถึง 2 เท่าตัว และเป็นการเพิ่มบทบัญญัติ “ในการคุ้มครองประชาชน” ให้ดีขึ้นกว่าวาระรับหลักเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 อย่างชัดเจน โดยได้ประยุกต์ใช้กฎหมายควบคุมสุรา ควบคุมยาสูบ และพืชกระท่อมนำมาเป็นบทบัญญัติของกัญชาให้มีการควบคุมไม่น้อยไปกว่าสุรา ยาสูบ และพืชกระท่อม

ตัวอย่างที่ชัดเจนของการคุ้มครองประชาชน เช่น การห้ามขายให้เด็กเยาวชน อายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร การควบคุมสถานที่ห้ามขาย เช่น วัด โรงเรียน ศาสนาสถาน ฯลฯ มีการควบคุมวิธีการขาย เช่น ห้ามเร่ขาย ห้ามขายอิเล็กทรอนิกส์ ห้ามขายผ่านเครื่องขาย รวมถึงการห้ามสูบในที่สาธารณะหรือที่อื่นใดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ฯลฯ

ดังนั้นการที่สภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากมีมติถอนกฎหมายกลับไป ย่อมทำให้ยังไม่สามารถคุ้มครองประชาชนตามที่บทบัญญัติที่ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….ที่กรรมาธิการได้เตรียมเอาไว้ได้ อันเป็นการเสียโอกาสในการคุ้มครองต่อสังคมให้ดีขึ้นกว่าปัจจุบันอย่างแน่นอน

การที่พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย มีข้อเสนอในสภาผู้แทนราษฎรว่าให้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดก่อนในระหว่างนี้ โดยอ้างว่ากฎหมายหละหลวมนั้นไม่เป็นธรรมต่อคณะกรรมาธิการฯ เพราะร่างปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของกรรมาธิการฯ ที่เกิดขึ้นนั้นมีมาตรการควบคุมมากกว่าวาระที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย ได้ลงมติรับหลักการเอาไว้เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ในขณะที่มีการอ้างว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นชอบให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ แต่กลับย้อนแย้งกับการประชุมครั้งที่หนึ่ง ซึ่งปรากฏเป็นข่าวไปทั่วว่ากรรมาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอเปิดโอกาสให้มีการปาร์ตี้กัญชาในคืนพระจันทร์เต็มดวงในพื้นที่ควบคุมเสียเอง

และหากไม่เห็นด้วยกับมาตราใด ทางกรรมาธิการได้มีผู้แทนทั้งจากพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย ย่อมสามารถเสนอแก้ไขได้ในกรรมาธิการ หากคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากเห็นชอบก็ออกมาเป็นมาตราตามร่างของคณะกรรมาธิการฯ แต่หากกรรมาธิการจากพรรคใดยังไม่เห็นด้วยกับเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการฯ ก็ยังสามารถสงวนคำแปรญัตติเสนอให้มีการแก้ไขในการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรได้ในทันที

ประการที่หก กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ….นั้นมีองค์ประกอบทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านทั้งสิ้น 25 คน แต่มีการเสนอที่ปรึกษาเพิ่มขึ้นเป็น 41 คน ซึ่งมากกว่ากรรมาธิการ อีกทั้งยังมีการเปิดรับหนังสือจากภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนมีการเชิญให้ทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนและแสดงความเห็น ดังนั้นจึงเป็นการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านแล้ว

จึงเป็นที่น่าเสียดายว่าทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากกลับให้ถอนร่างดังกล่าวออกทั้งฉบับ แทนที่จะใช้วิธีรับฟังความเห็นของคณะกรรมาธิการฯเสียก่อนแล้วจึงลงมติในภายหลัง

ประการที่เจ็ด การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอ้างว่าให้ถอนร่างดังกล่าวออกไป โดยไม่แม้กระทั่งรับฟังเหตุผลเพื่อพิจารณารายมาตรานั้น ในความเป็นจริงแล้วคือการ “ถ่วงเวลา” เหตุเพราะว่าทุกมาตราที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคที่ไม่เห็นด้วยกับกรรมาธิการที่ได้อภิปรายในวันดังกล่าวนั้นได้มีการสงวนคำแปรญัติเอาไว้หมดแล้ว

ดังนั้นหากมีความห่วงใยสังคมต่อภาะวะสุญญากาศทางกฎหมาย และมีความจริงใจในการเร่งบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสังคมให้ได้ตามความเชื่อของพรรคการเมืองของตัวเองจริงๆ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมสามารถทำการลงมติแก้ไขใหม่ได้ทุกมาตราที่มีการสงวนคำแปรญัตติได้อยู่แล้ว แต่หากไม่มีการสงวนคำแปรญัตติใดก็ย่อมแสดงความบกพร่องของพรรคการเมืองนั้นเองในชั้นกรรมาธิการฯ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรกลับเลือกการถ่วงเวลาออกไป ซึ่งทำให้ประชาชนเสียโอกาสที่จะมีกฎหมายในการควบคุมกัญชา กัญชง แทนที่ในช่วงเวลาสุญญากาศนี้

ประการที่แปด การที่พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ที่เห็นชอบให้ถอนร่างดังกล่าวออกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยอ้างว่าให้นำกลับไปเป็นยาเสพติดทั้งๆ ที่นอกจากจะมีผู้ป่วยที่ใช้กัญชาอย่างผิดกฎหมายไม่ได้ถูกคุ้มครองอีกต่อไปแล้ว ยังทำให้ผู้ที่ลงทะเบียนปลูกกัญชาอย่างสุจริตกว่า 1 ล้านคนให้กลายเป็นอาชญากร และต้องทำลายกัญชาของตัวเองทิ้งไป ข้อเสนอในการนำกลับไปเป็นยาเสพติดจึงปราศจากความรับผิดชอบในผลกระทบต่อประชาชนอย่างรอบด้าน และเชื่อว่าคงไม่สามารถบีบบังคับให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามประกาศที่ไร้คุณธรรมและไร้ความรับผิดชอบเช่นนั้นได้

ประการที่เก้า แต่ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ที่ยังคงเห็นว่ากัญชาต้องเป็นยาเสพติดจริงโดยไม่สนใจผู้ป่วยที่ใช้กัญชาใต้ดินหรือผู้ที่ปลูกกัญชาไปแล้ว พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์สามารถรวมกันเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติดแล้วนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดได้ทันทีหากเชื่อว่าเป็นความประสงค์ของประชาชนอย่างแท้จริง

ประการที่สิบ การถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ… ออกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทำให้สถานการณ์สุญญากาศจำเป็นต้องทอดยาวออกไปนานขึ้น ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยผู้ที่รับผิดชอบก็คือสภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ตามทางกรรมาธิการฯยังคงเห็นความสำคัญในการเร่งรัดกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้เพื่อปิดสุญญากาศทางกฎหมายให้เร็วที่สุด แม้จะมีมติเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรให้ถอนวาระดังกล่าวออกไปทำให้สถานการณ์สุญญากาศยืดเยื้อออกไป แต่กรรมาธิการฯจะได้มีการจัดประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…ทันทีในวันศุกร์ที่ 16 กันยายน 2565 เพื่อพิจารณาแนวทางในการดำเนินการต่อไปให้ดีที่สุด

จึงเรียนมาเพื่อทราบ
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โฆษกและกรรมาธิการ
คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…
สภาผู้แทนราษฎร
15 กันยายน 2565


กำลังโหลดความคิดเห็น