xs
xsm
sm
md
lg

ตีความกฎหมายแบบพิสดาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์



ท่านห้าวเป้งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งพักงานนายกรัฐมนตรีวันที่ 24 สิงหาคม เวลาผ่านไปเกือบ 20 วัน ชาวบ้านที่ไม่ใช่ชุมชนชาวติ่งรู้แล้วว่า “ไม่มีท่าน” บ้านเมืองก็อยู่ได้

อีกท่านหนึ่งคือ “ลุงป้อม” คงไม่ห่วงว่าท่านห้าวเป้งจะได้กลับมาหรือไม่ ยิ่งเวลาผ่านนานไป “ลุงป้อม” ก็รู้สึกสบายตัว คุ้นกับสภาพการเป็นผู้นำรัฐบาล

หรือลืมคิดไปแล้วว่าตัวเองอยู่ในสภาวะ “รักษาการ” รอศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าท่านห้าวเป้งจะต้องหยุดพักถาวร ไปต่อไม่ได้ หรือยังได้เด้งกลับมาอีก

The show must go on ชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ มีได้เสีย ชะตาขึ้นลง วาสนามีได้ก็หมดได้เช่นกัน

ทุกวันนี้ผู้อ้างว่ารู้กฎหมายยังเถียงกันไม่จบว่าท่านห้าวเป้งจะรอดหรือไม่รอด ที่น่าอนาถก็คือ ประเทศไทยมีคนเถียงกันเรื่องนับเลขให้ถึง 8 นับเป็นหรือไม่เป็นก็เอาเรื่องเทคนิคของกฎหมายมาเป็นข้อโต้แย้ง หาเรื่องเถียงกัน

นักกฎหมายไทยบางประเภทต้องเขียนกฎหมายให้ผูกเงื่อนปม หรือหมกเม็ดไว้ อ่านแล้วเข้าใจยาก เหมือนกับว่าถ้าเขียนกฎหมายให้คนอ่านแล้วเข้าใจง่าย คนเขียนกฎหมายจะถูกมองว่าไม่มีความรู้ มีทั้งเขียนเพื่อเกิดผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มด้วย

ดังนั้นต้องมีการใช้ภาษาฉวัดเฉวียน อ่านแล้วงง เพื่อเปิดช่องให้เถียง ตีความ ไม่อย่างนั้นถือว่าอะไรที่จบง่ายเกินไปจะเป็นผลผลิตแบบธรรมดา

ขนาดคนแต่งรัฐธรรมนูญก๊วนเดียวกันแท้ๆ เขียนด้วยกัน สรุปด้วยกัน เมื่อถึงเวลามีเรื่องต้องถก กลับมีมุมมองความเห็นไม่ตรงกัน ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ทั้งๆ ที่ตุลาการท่านไม่ได้ร่วมร่างกฎหมายด้วย

รัฐธรรมนูญประเทศไทยมีหลายฉบับ จึงมีนักกฎหมายอาชีพแต่งรัฐธรรมนูญใหม่หลังจากการทำรัฐประหาร เมื่อบ้านเราประหารรัฐเกือบ 20 ครั้ง ต้องมีรัฐธรรมนูญมากเพื่อปูทางให้เข้าสู่การเมืองระบบเลือกตั้ง

นักแต่งรัฐธรรมนูญบ้านเรามีหลายสายพันธุ์ มีเฉพาะกลุ่มเป็นที่ต้องการของนักรัฐประหาร มีต้นฉบับมากมาย ให้ผู้เลือกว่าจะเอาแบบไหนเพื่ออยู่ในอำนาจได้นานๆ

ดังนั้นกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวโยงกับมหาชนในบ้านเราจึงมีความพิสดาร เพราะต้องเปิดช่องให้มี “รูหมาลอด” และ “อภินิหารทางกฎหมาย”

เรามีทั้ง “เจตนารมณ์ของกฎหมาย” spirit of law หรือจิตวิญญาณของกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นหลักสากล วิญญูชนไม่มีจิตคดเคี้ยวไม่มีปัญหา

แต่บ้านเรามี “นิติศรีธนญชัย” “เนติบริกร” ดังนั้น นอกจาก “เจตนารมณ์ของกฎหมาย” แล้ว ยุคนี้เราจึงได้เห็น “เจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมาย” และ “เจตนาของผู้สั่งให้ร่างกฎหมาย” ตามอำนาจที่ถือครอง เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง

บ้านเราจึงมี “ผู้ร่างกฎหมายตามใบสั่ง” ให้ตรงกับเจตนา ความต้องการของผู้สั่ง รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบที่มานั่งถกกันทุกวันนี้ว่าท่านห้าวเป้งอยู่ครบ 8 ปีควรเริ่มนับตั้งแต่วันไหน สิ้นสุดวันไหน

ประเด็นนี้ แม้แต่ “เนติบริกร” และ “นักร่างรัฐธรรมนูญตามใบสั่ง” ยังมองต่างกัน ทั้งๆ ที่ต้องการเอาใจผู้มีอำนาจด้วยกัน

ท่านห้าวเป้งยอมรับว่าตนเองเป็นนายกฯ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 มีหลักฐานประกอบผูกมัดสารพัด ก็ยังมีพวกศึกษาเทคนิคตะแบงศาสตร์หาวิธีนับใหม่

พวกที่เถียงกันอยู่ไม่ยอมรับข้อกำหนดที่ว่า ไม่ว่านายหรือนางอะไร ไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี จะติดต่อหรือห่างกันก็ตาม นับแล้วไม่เกินนั้น

นี่เป็นเรื่องการนับเลขธรรมดา เป็นกฎของธรรมชาติ ไม่ควรมีเรื่องเยอะ

ที่เป็นปัญหาเพราะคนมีตัณหา เสพติดอำนาจแล้วไม่ยอมรับกฎ กติกา ทำให้พวกสมุนบริวารและกลุ่มผลประโยชน์ที่อิงกับการอยู่หรือไปของผู้มีอำนาจต้องหาวิธีสร้างประเด็นให้ตีความ ทั้งๆ ที่เป็นการนับเลขธรรมดา

อ้างว่าต้องแต่งตั้งโดยสภาฯ นั่นนี่โน่นบ้าง แบบนั้นไม่นับ ต้องนับอีกแบบ โดยไม่แยแสว่าการเป็นนายกฯ เริ่มตั้งแต่การโปรดเกล้าฯ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2557

ถ้าเริ่มนับเลข และนับเป็นโดยหลักธรรมชาติ ก็ต้องครบ 8 ปีวันที่ศาลสั่งพักงาน นั่นแหละ ไม่ต้องตะแบงเรื่องการเริ่มการนับโดยอ้างรัฐธรรมนูญฉบับนั่นนี่โน่น

ช่วงนี้มีนักกฎหมายไม่ปรากฏนาม อ้างว่าเป็นอดีตตุลาการชั้นนั้น ชั้นนี้มาแสดงความเห็น พวกไม่เปิดเผยตัวตนล้วนเป็นกองเชียร์ให้ท่านห้าวเป้งอยู่ต่อ

เป็นตุลาการจริงหรือเปล่าไม่มีใครรู้ ในสังคมทรามมีอีแอบเยอะ!

นักกฎหมายเรียนมารุ่นเดียวกัน ตำราเดียวกัน เมื่อมาทำงานต่างอาชีพกัน ทำให้มองประเด็นกฎหมายต่างกัน เช่น ตำรวจ อัยการ ทนายความ ตุลาการ

บ้านเรามีหลายศาล แต่ถ้าเถียงกันเรื่องแพ่งหรืออาญา ก็มีถึง 3 ศาล นั่นเป็นเพราะการพิจารณาหลักฐานและมุมมอง การวินิจฉัยต่างกัน บางยุคมีการอ้างว่าหลักนิติศาสตร์ไม่พอ ต้องคำนึงถึงหลักรัฐศาสตร์ด้วย ทำให้เตลิดเปิดเปิงไปกันใหญ่

การอยู่หรือไปของท่านห้าวเป้งจึงมีความเดิมพันสูงสำหรับกลุ่มผลประโยชน์ จึงมีเสียงซุบซิบกันเรื่องออกกำลังวิ่งเต้น มีทั้งเพื่อให้อยู่ต่อ และให้หลุด ทำให้เกิดความเสี่ยงในด้านความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลท่านลำบากจริงๆ

ดูแล้ว ไม่ว่าจะไปทางไหน ก็จะต้องมีปัญหา แต่หลักการคือความน่าเชื่อถือขององค์กร ความน่าศรัทธาในระบบ และความน่าเชื่อถือของประเทศในประชาคมสากล

บ้านเมืองจะอยู่รอดหรือไม่ อนาคตจะไปทางไหน ขึ้นอยู่กับผลของคดีนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น