เปิดฉากสัปดาห์นี้...คงต้องขออนุญาตแวะไปดูคุณปู่อินตะระเดียกันสักเล็กๆ-น้อยๆ เพราะอย่างที่อาจารย์ “สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร” ท่านได้ทิ้งท้ายไว้ในคอลัมน์ “รู้-เท่าทันโลก” เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ว่า “อินเดียกำลังผงาด” ซึ่งคงไม่ใช่แค่ “ผงาด”เฉยๆ แต่ยังสามารถทำให้อดีตจ้าวอาณานิคมอังกฤษที่เคยควบคุม ยึดครอง อินเดียมานานกว่า 2 ศตวรรษ น่าจะถึงขั้น “ผงะ” เอาง่ายๆ!!! เพราะโดยระบบเศรษฐกิจ โดยตัวเลขจีดีพีของอินเดีย ตามการคิดคำนวณของสำนักข่าว “Bloomberg” เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เห็นว่าเริ่มปาดหน้า แซงหน้า ผู้ดีอังกฤษ ที่เคยมีฐานะทางเศรษฐกิจใหญ่โตเป็นอันดับ 5 ของโลก ชนิดต้องชิดซ้าย ตกคู ตกคลอง หล่นลงมาอยู่แค่อันดับ 6 เสียแชมป์ เสียรังวัด ให้กับอดีตอาณานิคมของตัวเองที่มาแรงแซงโค้ง อย่างชนิด “นาร๊าย...นารายณ์”เอามากๆ...
คือท่ามกลางความเป็นไปของโลก ที่ค่อนข้างผันผวนปรวนแปร ทรหวนปั่นป่วนคลั่งเสียเหลือเกิน การผงาดขึ้นเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับ 5 ของโลกของคุณปู่อินตะระเดียนั้น ย่อมเป็นอะไรที่น่าจับตา น่าคิดสะกิดใจมิใช่น้อย แม้แต่สื่อทางการของจีนประเทศที่มีเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของโลก อย่าง “Global Times”โดยคอลัมนิสต์ “Ma Jingjing” และ “Hu Yuwei” ยังอดไม่ได้ที่จะต้องตั้งคำถามไว้ในข้อเขียน บทความชิ้นล่าสุด เรื่อง “Having lagged far behind China for decades, can India replicate China’s success in GDP ranking anytime soon?” หรือทั้งที่เคยต้องวิ่งดมฝุ่นตามหลังจีนมานับเป็นทศวรรษๆ แต่อีกไม่นานนับจากนี้...อินเดียจะสามารถลอกเลียนความสำเร็จในการสร้างความเติบโตทางจีดีพีแบบเดียวกับจีนได้หรือไม่ อย่างไร?
เพราะแม้ว่าตัวเลขจีดีพีของคุณปู่อินเดียทุกวันนี้ ยังอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าตัวเลขจีดีพีคุณพี่จีนถึง 5 เท่า ที่พุ่งปรู๊ดๆ ปร๊าดๆ ไปถึง 17.7 ล้านล้านดอลลาร์ ใกล้แซงหน้าประมุขโลกหรือประเทศเศรษฐกิจอันดับ 1 อย่างคุณพ่ออเมริกา อีกไม่ใกล้-ไม่ไกล แต่ถ้าว่าตามการประเมินของ “Bank of India”อีกไม่นาน-ไม่ช้า หรือไม่เกินปี ค.ศ. 2027 จีดีพีของอินเดียน่าจะเบียดประเทศเศรษฐกิจอันดับ 4 อย่างเยอรมนี ให้ตกคู ตกคลอง ไปอีกราย และอีก 2 ปีนับจากนั้น หรือไม่เกินปี ค.ศ. 2029 ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 3 อย่างคุณพี่ญี่ปุ่น ยุ่นปี่ ก็น่าจะเสียแชมป์ เสียรังวัด ให้กับคุณปู่อินตะระเดียอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงและปฏิเสธได้ ส่วนจะตามไปเบียดจีน เบียดอเมริกา กันในตอนไหน? เมื่อไหร่? อันนั้น...คงต้องไปว่ากันอีกที...
แต่ที่แน่ๆ ก็คือ...ด้วยจำนวนประชากรที่ปาเข้าไปถึง 1,400 ล้านคน โดยจะแซงหน้าจำนวนประชากรของจีนนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2023 เป็นต้นไป ถ้าว่ากันตามผลสำรวจของสหประชาชาติ ย่อมทำให้คุณปู่อินตะระเดียท่านสามารถใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากร หรือที่เรียกๆ กันว่า “Demographic Dividend (DD)” ได้อย่างเป็นเนื้อ-เป็นหนัง แม้ว่ายังต้องเจอกับปัญหาอีกหลายอย่าง ไม่ว่าปัญหาความมั่นคงทางสังคม ทรัพยากรการศึกษาที่ยังไม่เพียงพอ การแบกภาระในด้านบริการทางสาธารณสุข และโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความไม่เท่าเทียมกันภายในสังคมเพราะขณะที่ประชากรจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ของประเทศครองความมั่งคั่งมากถึง 57 เปอร์เซ็นต์ แต่อีกกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ครองความมั่งคั่งอยู่เพียงแค่ 13 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ถ้าว่ากันตามข้อมูลของ “World Inequity Report”ที่รายงานเอาไว้ในปี ค.ศ. 2022 นี่เอง...
อย่างไรก็ตาม...สิ่งที่ถือเป็นเรื่องสำคัญเอามากๆ หรืออาจถือเป็น “กุญแจแห่งความสำเร็จ” อีกดอกหนึ่ง ของคุณปู่อินเดีย ท่ามกลางความเป็นไปของโลกที่นับวันจะทรหวนปั่นป่วนคลั่ง หรือนับวันจะเกิดการแยกขั้ว แยกค่าย แบ่งพวก แบ่งฝ่าย อย่างเห็นได้ชัดเจนยิ่งเข้าไปทุกที น่าจะหนีไม่พ้นไปจาก “ความเป็นตัวของตัวเอง”ชนิดที่ไม่ว่าจะถูกกด ถูกบีบ ถูกโอ้โลม ปฏิโลม ให้ต้องเลือกข้าง เลือกฝ่าย ให้ช่วยกัน “ปิดล้อมจีน” ตามแนวทางยุทธศาสตร์ “อินโด-แปซิฟิก”หรือการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มประเทศ “QUAD”ให้ร่วม “แซงชั่นรัสเซีย” เลิกซื้อน้ำมัน เลิกซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ใดๆ ตามการชี้แนะ ชี้นำ ของคุณพ่ออเมริกาและพันธมิตรตะวันตก แต่อย่างที่รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย “นายSubrahmanyam Jaishankar”ท่านได้อรรถาธิบายไว้ตามสไตล์ของท่านนั่นแหละว่า...“เรามีความเชื่อมั่นว่าเราเป็นอะไร และผมคิดว่าย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าในการเข้าร่วมกับโลกบนพื้นฐานที่เรารู้ว่าตัวเราเป็นใคร? หรือเป็นอะไร? ยิ่งไปกว่าความพยายามเอาใจโลกด้วยการลอกเลียนแบบมั่วๆ ในสิ่งที่พวกเขาเป็น ด้วยแนวคิดเช่นนี้นี่เองที่ทำให้ผู้อื่นพยายามยัดเยียดคำนิยามต่างๆให้กับเรา”...
ด้วยเหตุนี้...ไม่เพียงอินเดียไม่คิดจะเลิกซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศ “S-400” จากรัสเซีย ตามคำชี้แนะ ชี้นำ ของอเมริกา ปริมาณการนำเข้า “น้ำมันรัสเซีย”ไปยังอินเดีย ที่เคยมีอยู่แค่ 2 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเดือนกุมภาฯ กลับพุ่งพรวดๆ พราดๆ ขึ้นไปถึง 12-13 เปอร์เซ็นต์จนตราบเท่าทุกวันนี้ แถมในเวทีประชุม “Eastern Economic Forum (EEF)”ที่กรุงวลาดิวอสต็อก เมื่อช่วง 5-8 กันยาฯ ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีอินเดีย “นายNarendra Modi”ยังป่าวประกาศไว้แบบเสียงดัง-ฟังชัด ว่านอกจากอินเดียพร้อมที่จะร่วมลงทุนในด้านการขุดเจาะพลังงานกับรัสเซียแล้ว ยังเปิดช่อง เปิดทางให้กับรัสเซียในด้านพลังงานและถ่านหินในแคว้นฮินดูสถานอีกด้วยต่างหาก และเหตุที่อินเดียยังคงให้ความสำคัญกับมหาอำนาจคู่แข่งของอเมริกาและพันธมิตรตะวันตกในเรื่องทำนองนี้ อย่างไม่คิดจะลด-ละ-เลิกเอาเลยแม้แต่น้อย ก็น่าจะเป็นไปดังที่รัฐมนตรีปิโตรเลียมอินเดีย “นายHardeep Singh Puri”บอกกับสำนักข่าว “CNBC”เมื่อช่วงวันพุธ (7 ก.ย.) ที่ผ่านมา ว่าภายใต้ “ความมั่นคงด้านพลังงาน” ของอินเดีย ที่ต้องตอบสนองความต้องการน้ำมันไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน อินเดียจึงหนีไม่พ้นต้องนำเข้าน้ำมันรัสเซียต่อไปแม้จะถูกกดดันจากอเมริกาและตะวันตกเพียงใดก็ตาม หรือรัฐมนตรีคลังอินเดีย “นายNirmala Sitharaman” ที่ให้คำอธิบายไว้เมื่อวันพฤหัสฯ (8 ก.ย.) ที่ผ่านมานั่นแหละว่า...“การนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียถือเป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญทางยุทธศาสตร์ในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อของอินเดีย” พูดง่ายๆ ว่า...เป็นไปเพื่อ “ผลประโยชน์แห่งชาติ” ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของกลุ่มบุคคลหนึ่ง บุคคลใด อย่างบรรดา “นักการเมือง”ในยุโรปและอเมริกานั่นเอง...
และแม้ว่าเพิ่งจะรับหน้าเสื่อเป็น “เจ้าภาพ” ในการจัดประชุมกลุ่มประเทศ “QUAD” เปิดบ้านต้อนรับประเทศพันธมิตรอย่างอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ที่กรุงนิวเดลี เมื่อช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่ภายใต้ความร่วมไม้-ร่วมมือในแผนงานที่เรียกว่า “The Indo-Pacific Economic Framework (IPEF)”นั้น ไม่ได้ปรากฏวี่แววใดๆ ว่าเพื่อคิดจะ “ปิดล้อม” หรือ “ต่อต้าน” มหาอำนาจคู่แข่งอเมริกาในย่านเอเชีย อย่างคุณพี่จีนเอาเลยแม้แต่น้อย แต่กลับเป็นไปดังที่นักสังเกตการณ์ทั้งหลายสรุปไว้ว่าอินเดียน่าจะมุ่งหา “จุดสมดุล”มากกว่าจะไหลไปตามความปรารถนา-ต้องการของตะวันตก หรืออย่างที่ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเอเชีย-แปซิฟิก (The Department for Asia-Pacific Studies) ของจีน “นายLan Jianxue”ถึงกับต้องสรุปว่า “อินเดียต้องการที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทั้งสองฝ่าย ด้วยการกำหนดเกมยุทธศาสตร์...ตามแบบฉบับของตัวเอง” อะไรประมาณนั้น เพราะในการประชุมกลุ่มประเทศ “SCO” หรือ “Shanghai Cooperation Organization summit” ที่มีคุณพี่จีนเป็นตัวตั้ง ตัวตี ตั้งแต่แรก ณ กรุงซามาร์คันด์ ประเทศอุซเบกิสถาน ช่วงกลางเดือนกันยาฯ นี้ นายกรัฐมนตรีอินเดียก็ประกาศพร้อมเข้าร่วมประชุมอย่างกระตือรือร้นและอย่างเอางาน-เอาการ ไม่น้อยไปกว่าการประชุมกลุ่มประเทศ “QUAD”เอาเลยก็ว่าได้...
หรือถ้าจะสรุปอย่างตรงไป-ตรงมา...กุญแจความสำเร็จในการผงาดขึ้นมาของอินเดีย คงหนีไม่พ้นไปจากความยึดมั่นต่อ “อำนาจอธิปไตย” ของตัวเอง อย่างไม่คิดจะเบี่ยงเบนไปเป็นอื่น ต่างไปจากบรรดาชาวยุโรป หรือพวกอียูและอีย้วยทั้งหลาย ที่แทบไม่เหลือสิ่งเหล่านี้ติดไม้-ติดมือเอาไว้เลย ดังนั้น...ไม่ว่าจะเป็นประเทศอดีตจ้าวอาณานิคม เป็นประชาธิปไตย แถมเคยมั่งคั่ง ร่ำรวย ระดับไหน ขนาดไหนก็ตาม แต่โอกาสตกคู ตกคลอง ล้มคว่ำคะมำหงาย ถูกคุณปู่อินตะระเดียปาดหน้า แซงหน้า แบบชนิดอีนี่...ขอจ๋านขึ้นชั้นเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลกก่อนนะนายจ๋า ย่อมเป็นไปได้ไม่ยากส์ส์ส์...