xs
xsm
sm
md
lg

ความขัดแย้งของคนในชาติ และทางรอดของสังคมไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

มีการพูดคุยกันว่า หลังการเลือกตั้งครั้งหน้าหากพรรคเพื่อไทยสามารถชนะเลือกตั้งได้เสียงข้างมากและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หากมีการผสมกันข้ามขั้วระหว่างพรรครัฐบาลปัจจุบันกับพรรคที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย จะทำให้มวลชนที่เป็นกองเชียร์ของทั้งสองฝ่ายกลับมากลมเกลียวกันได้ไหม เช่นพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคพลังประชารัฐที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณเป็นหัวหน้าพรรค

หรือแม้แต่คณะหลอมรวมประชาชนของจตุพร พรหมพันธุ์กับนกเขา นิติธร ล้ำเหลือ นี่ถือเป็นสามัคคีประชาชนต่างสีเสื้อหรือไม่

ผมคิดว่า ความขัดแย้งของมวลชนที่เกิดขึ้นตั้งแต่การชุมนุมขับไล่ระบอบทักษิณตั้งแต่ปี 2548 ที่ต่อมา เนวิน ชิดชอบ ซึ่งตอนนั้นเป็นขุนพลข้างกายของทักษิณ ชินวัตรได้จัดตั้งมวลชนเสื้อแดงเพื่อมาต่อสู้กับมวลชนเสื้อเหลืองนั้น ได้พัฒนาเป็นความขัดแย้งของอุดมการณ์การเมืองเชิงระบอบที่ฝ่ายหนึ่งยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และฝ่ายหนึ่งยึดถือระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีคำต่อท้าย

และต่อมาเมื่อเกิดคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่เกิดและเติบโตมาในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ที่มีแนวคิดเป็นพวกเสรีนิยมใหม่ที่ในทางการเมืองต้องการลดบทบาทของรัฐในทุกด้าน และในทางเศรษฐกิจยึดหลักการตลาดเสรีนิยมแบบสุดโต่ง ซึ่งทั้งในทางการเมืองและทางเศรษฐกิจคือการดลบทบาทของภาครัฐลงมา แน่นอนคนรุ่นใหม่จำนวนมากจึงไม่ยอมรับระบอบกษัตริย์และเรียกร้องความเท่าเทียม โดยไม่ได้ใส่ใจประวัติศาสตร์และรากเหง้าของสังคมตัวเองและการก่อร่างสร้างชาติของบรรพบุรุษ

อุดมการณ์ของคนรุ่นใหม่จึงสมาทานกับความคิดของฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยโดยปริยาย และกลายเป็นแนวร่วมของกันละกันในการต่อสู้กับอำนาจรัฐที่ยึดครองโดยฝ่ายอนุรักษนิยมที่ยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ วันนี้ความขัดแย้งของคนในสังคมไทยจึงเป็นความขัดแย้งที่ร้าวลึก เหมือนกับที่ผมเคยพูดหลายครั้งแล้วว่า ต่างยึดมั่นว่าฝ่ายของตัวเองเป็นฝ่ายที่ถูกต้องยึดมั่นในความดีงาม และฝ่ายตรงข้ามเป็นฝ่ายติดและมีทัศนคติที่ชั่วร้ายเลวทราม

ยิ่งทุกวันนี้โลกในโซเชียลมีเดียที่คนรุ่นใหม่ฝังตัวอยู่ในทวิตภพ ถ้ำแห่งเสียงสะท้อนในเพจรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส ตลาดหลวงของปวิน และการถูกเลือกป้อนข้อมูลที่เราสนใจด้วยอัลกอริทึ่มของ AI ยิ่งเสริมความลำเอียงในการเลือกรับข้อมูล (confirmation bias) ที่มีในตัวของเราอยู่แล้ว โดยเลือกรับข้อมูลที่จะมายืนยันความเชื่อเดิมของเราเองเท่านั้น แล้วกรองข้อมูลใหม่ๆ ที่ขัดแย้งกับมุมมองหรือความเชื่อของเราทิ้งไปนั่นเอง

การปิดประตูรับความคิดที่นอกเหนือจากความเชื่อ ยิ่งทำให้เรามีอคติ มีความลำเอียง กระทั่งเกิดความผิดพลาดในกระบวนการคิด (Cognitive Error) ส่งผลต่อการรับรู้ การแยกแยะ และการตัดสินใจในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆ ผิดพลาดเพราะมีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนโดยไม่รู้ตัว เพราะเชื่อในข้อมูลที่ตัวเองรับมาเท่านั้น

การที่เราเห็นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดช่องทีวีท็อปนิวส์อยู่ในห้องทำงานอาจเป็นการเลือกรับข้อมูล (confirmation bias) แต่เพื่อความเป็นธรรมเราอาจจะไม่รู้ว่าเป็นการบังเอิญที่เปิดดูช่องดังกล่าวในเวลานัดหมายพอดี แต่ปกติพล.อ.ประยุทธ์อาจจะเปิดรับข่าวสารจากทุกฝั่งทุกฝ่าย เราจึงไม่อาจตัดสินพล.อ.ประยุทธ์จากภาพภาพเดียวได้ เพราะด้านหนึ่งเคยมีคนบอกว่าพล.อ.ประยุทธ์อ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ แต่เราก็ไม่รู้อีกนั่นแหละว่า พล.อ.ประยุทธ์เลือกอ่านแต่ข่าวที่ทำให้ตัวเองสบายใจหรือไม่

แต่ไม่ว่าคนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นใหม่ หากหมกหมุ่นกันอยู่ในกลุ่มคนที่มีความคิดเดียวกัน รับข่าวสารจากแหล่งที่อยากจะฟัง เหมือนกับอยู่ใน “ห้องแห่งเสียงสะท้อน” หรือ Echo chamber คือ มีการรับฟังเครื่องมือสื่อสารและการสื่อสารจากคนและฝั่งที่มีความคิดเดียวกับตัวเอง จนปิดกั้นการรับฟังข้อมูลจากอีกฝ่าย เกิดเป็นอคติและการปิดกั้นโลกของตัวเองให้รับข้อมูลเพียงฝ่ายเดียว และพัฒนาการตัวเองกลายเป็น “ติ่ง” ของตัวบุคคล

“ติ่ง” หลายคนชอบพูดถึงความชอบธรรม แต่สิ่งที่เขาปฏิบัตินั้นกลับเป็นการเลือกข้างที่ไม่อยู่บนเหตุผลที่ชอบธรรม เพราะเป็นเหตุผลที่เสริมแต่งขึ้นมาเพื่อทำให้ความคิดของตัวเองชอบธรรมเท่านั้นเอง

“ติ่ง” และความขัดแย้งนี้เองที่เป็นเครื่องมือให้ผู้มีอำนาจสามารถสร้างสะพานต่อสายอำนาจของตัวเองได้ ถ้าฝ่ายตรงข้ามของตัวเองทำแบบเดียวกันเมื่อไหร่ มโนธรรมและหลักคิดที่มีเหตุผลของติ่งก็จะพรั่งพรูออกมาอย่างมีหลักการ หารู้ไหมว่าการทำตัวเองให้กลายเป็น “ติ่ง” ของตัวบุคคลนั้น มันทำให้ตัวเองกลายเป็นหูดเนื้อส่วนเกินที่บั่นทอนประเทศ

เมื่อทุกคนมีเครื่องมือในการสื่อสารของตัวเองที่เรียกว่าโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรืออื่นๆ เราก็พากันขังตัวเองไว้ในห้องที่มีคนที่มีความคิดเหมือนกับเรา และมองว่าความเห็นความคิดหรือการกระทำใดก็ตามของฝ่ายตรงข้ามเราเป็นสิ่งที่ผิด แม้เขาจะทำอย่างที่ฝ่ายที่เราชื่นชอบเคยทำ และถ้าฝ่ายที่เราชอบทำเราก็บอกว่าถูกต้อง แม้เราเคยบอกว่าฝ่ายตรงข้ามที่ทำแบบเดียวกันว่าไม่ถูกต้องก็ตาม

และเรารู้กันอยู่แล้วว่า ความแตกแยกของคนในชาตินั้น กลายเป็นเครื่องมือที่ดีของผู้มีอำนาจ ที่เรียกว่าการแบ่งแยกแล้วปกครอง เพราะการยึดมั่นใจตัวบุคคลที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้เราคิดว่าคนที่เราศรัทธานั้นดีเสมอ และยอมที่จะกลายเป็นหลังพิงให้กับทุกกรณี วันนี้เราจึงเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์มีมวลชนที่พร้อมสนับสนุนในทุกด้าน พูดแต่ด้านดีของประยุทธ์และมองข้ามความผิดพลาดเช่นเดียวกับมวลชนที่บูชาทักษิณ พวกนี้จึงใช้มวลชนเป็นเครื่องมือและเป็นเครื่องปลอบประโลมใจว่ามีมวลชนที่สนับสนุนตัวเอง

ทุกวันนี้เรามีความอดทนที่จะรับฟังความเห็นของฝ่ายตรงข้ามหรือคนที่เห็นต่างน้อยมาก นี่เป็นผลพวงของความขัดแย้งทางการเมืองที่กินเวลานานมากกว่าทศวรรษและกำลังจะครบสองทศวรรษ

เมื่อถามว่า หากเกิดการจับมือกันขึ้นระหว่างพรรคต่างขั้วในการเลือกตั้งครั้งหน้าเช่นพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐอย่างที่ว่า จะทำให้กองเชียร์ของทั้งสองฝ่ายหันมาสมานฉันท์กันหรือไม่ ผมคิดว่าคงเป็นได้ยาก แม้อาจจะมีมวลชนของทั้งสองฝ่ายบางส่วนรู้สึกพอใจ แต่เชื่อว่า ความขัดแย้งร้าวลึกในเชิงอุดมการณ์และความคิดของคนในสังคมไทยส่วนใหญ่นั้นไม่อาจยอมรับฝ่ายตรงข้ามได้เลย

นักการเมืองอาจจะจับมือกันได้เพราะผลประโยชน์และเพราะไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรในทางการเมือง แต่ยังมองไม่ออกว่า ประชาชนจะกลับมามองการเมืองและแยกแยะความดีความชั่วด้วยสายตาเดียวกันและยึดค่านิยมที่เหมือนกันเพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้หรือไม่

และคณะหลอมรวมประชาชนของจตุพรและนิติธรล่ะ มันคือสามัคคีประชาชนจริงๆหรือ เท่าที่พยายามสังเกตการนัดหมายมวลชน สังเกตได้ว่า มวลชนที่มาร่วมนั้นน่าจะเป็นคนที่มีศรัทธาต่อตัวบุคคลมากกว่า คือคนที่ศรัทธาในตัวจตุพรและตัวนิติธร คนที่เป็นมวลชนเสื้อเหลืองส่วนใหญ่ก็ยังปฏิเสธที่จะเข้าร่วม เช่นเดียวกับคนที่เป็นเสื้อแดงส่วนใหญ่

แม้จะมีคนบอกว่า ความเห็นต่างเป็นเรื่องที่ดีในระบอบประชาธิปไตย แต่วันนี้ด้วยความขัดแย้งที่ปิดหูปิดตารับฟังความเห็นต่าง และเชื่อมั่นแต่ว่าฝ่ายตัวเองและความคิดเห็นของตัวเองเป็นเรื่องที่ถูกต้องเท่านั้นก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ประชาชนหลุดรอดจากการกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมืองเราจึงยากที่จะหลุดพ้นจากความขัดแย้งซึ่งกลายเป็นเครื่องมือในการบั่นทอนชาติ เพราะไม่มีวันที่เราจะมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพซึ่งส่งผลดีต่อการพัฒนาชาติ

ไม่รู้อีกนานแค่ไหนที่ประชาชนจะสามัคคีกันเลิกแบ่งฝักฝ่าย เลิกออกจากการยึดมั่นในตัวบุคคล มายึดมั่นที่ความถูกต้องดีงามที่อยู่ในบรรทัดฐานและค่านิยมเดียวกัน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองและผู้มีอำนาจ

ความสามัคคีของประชาชนต่างหากที่จะพาชาติรอดและกำจัดนักการเมืองที่ไม่มีดีไม่ให้อยู่ในอำนาจได้ เมื่อนั้นแหละประเทศไทยจะมีทางออก

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น