xs
xsm
sm
md
lg

ความรับผิดของกรรมการบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทรัฐวิสาหกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อนุรักษ์ นิยมเวช



อนุรักษ์ นิยมเวช
กรรมการผู้จัดการ ANURAK BUSINESS LAW
anurak@anurakbusinesslaw.com


กรรมการบริษัทนั้นเป็นผู้แทนหรือตัวแทนของบริษัท ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้ถือหุ้นด้วยความไว้วางใจ กรรมการบริษัทจึงต้องจัดการบริษัทและปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น

กล่าวโดยหลักใหญ่ บริษัทจำกัดจะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1168 กำหนดไว้ กล่าวคือ ในอันที่จะประกอบกิจการของบริษัทนั้น กรรมการต้องใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องอย่างบุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวัง และว่าโดยเฉพาะ กรรมการต้องรับผิดชอบร่วมกันในประการต่างๆ ดังนี้ คือ

(1) การใช้เงินค่าหุ้นนั้น ได้ใช้กันจริง
(2) จัดให้มีและรักษาไว้ให้เรียบร้อยซึ่งบรรดาสมุดบัญชีและเอกสารที่กฎหมายกำหนดไว้
(3) การแจกเงินปันผลหรือดอกเบี้ยให้เป็นไปโดยถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้
(4) บังคับการให้เป็นไปโดยถูกต้องตามมติของที่ประชุมใหญ่

นอกจากนี้ ผู้เป็นกรรมการจะประกอบการค้าขายใดๆ อันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับการค้าขายของบริษัทนั้น ไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น หรือไปเข้าหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างค้าขายอื่นซึ่งประกอบกิจการมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและแข่งขันกับกิจการของบริษัท โดยมิได้รับความยินยอมของที่ประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้นมิได้

ในกรณีที่กรรมการปฏิบัติผิดหน้าที่ทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 ก็ได้ให้อำนาจและช่องทางแก่บริษัทในอันที่จะฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนจากกรรมการก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะอาศัยบทบัญญัติดังกล่าวเอาคดีนั้นขึ้นว่ากล่าวแก่กรรมการเองก็ได้ ส่วนที่เป็นความผิดทางอาญาจะมีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499

สำหรับกรรมการบริษัทมหาชนจำกัดนั้น จะอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 โดยมีหน้าที่ทั่วไปที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน และการไม่ค้าแข่งกับบริษัทในทำนองเดียวกับบริษัทจำกัดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 97 และ 86 เป็นต้น โดยความรับผิดในทางแพ่งและอาญาของกรรมการบริษัทมหาชนจะมีมากกว่าและเข้มงวดกว่ากรณีของกรรมการบริษัทจำกัดอยู่มาก เฉพาะบทกำหนดโทษทางอาญาก็มีนับสิบๆ มาตรา ทั้งยังมีข้อต้องห้ามหลายๆ ข้อที่ไม่มีในกรณีบริษัทจำกัด อย่างเช่น มาตรา 87 ที่ห้ามกรรมการซื้อหรือขายทรัพย์สินกับบริษัท เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการ หรือมาตรา 89 ที่ห้ามมิให้บริษัทให้กู้ยืมเงินแก่กรรมการ เว้นแต่จะเข้ากรณียกเว้นที่กฎหมายอนุญาต หรือมาตรา 88 ที่กำหนดให้กรรมการแจ้งให้บริษัททราบโดยมิชักช้าเมื่อตนมีส่วนได้เสียในสัญญาใดๆ ที่บริษัททำขึ้น เป็นต้น

ในกรณีที่ของบริษัทมหาชนจำกัดที่มีการจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น นอกจากกรรมการจะต้องอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังต้องปฏิบัติตนภายใต้บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องแห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 อีกด้วย ซึ่งโดยหลักก็มีไว้เพื่อปกป้องบรรดาผู้ถือหุ้นที่มีจำนวนมาก เช่น การห้ามมิให้กรรมการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ในลักษณะที่เป็นการเอาเปรียบบุคคลอื่น (insider trading) ตามมาตรา 242 การห้ามมิให้กรรมการเปิดเผยข้อมูลภายในของบริษัทแก่บุคคลอื่นโดยรู้หรือควรรู้ว่าผู้รับข้อมูลอาจจำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ในการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ (มาตรา 242 (2)) หรือ การห้ามมิให้กรรมการกระทำธุรกรรมกับบริษัท เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นหรือเข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่กฎหมายยกเว้นไว้ (มาตรา 89/12) เป็นต้น

สำหรับผู้ที่เป็นกรรมการในบริษัทรัฐวิสาหกิจซึ่งทุนทั้งหมดหรือทุนเกินกว่าร้อยละห้าสิบเป็นของรัฐ โดยได้รับเงินเดือนหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นจากบริษัทนั้น นอกจากจะมีสถานะเป็นกรรมการเช่นเดียวกับกรรมการในบริษัททั่วไปแล้ว ยังมีสถานะเป็น “พนักงาน” ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ตามความหมายที่กำหนดไว้ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ด้วย

ดังนั้น หากกรรมการในบริษัทรัฐวิสาหกิจได้กระทำผิดในหน้าที่ ก็จะมีความรับผิดร้ายแรงกว่ากรรมการในบริษัทเอกชนธรรมดาอยู่มาก โดยเฉพาะความผิดทางอาญาในฐานต่างๆ ที่กำหนดไว้ในกฎหมายดังกล่าว เช่น ความผิดตามมาตรา 4 ที่กำหนดว่า “ผู้ใดเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท” ซึ่งเทียบเคียงได้กับความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 นั่นเอง แต่มีอัตราโทษสูงกว่ามาก

ในแง่ของกระบวนการทางกฎหมาย กรรมการในบริษัทรัฐวิสาหกิจที่เข้าข่ายเป็นพนักงานของรัฐตามกฎหมายข้างต้นและมีการกระทำที่ส่อว่าอาจได้กระทำความผิด จะต้องถูกสอบสวนโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และหาก ป.ป.ช. พบว่ามีความผิด ก็จะต้องชี้มูลความผิดและส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณาฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าต่างกับกรณีของกรรมการในบริษัทเอกชนหรือบริษัทจำกัดที่กระทำผิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นๆ จะว่ากล่าวกันเอง โดยผู้ถือหุ้นอาจเลือกที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีหรือในบางกรณีก็อาจไม่ติดใจเอาความแก่กรรมการเลยก็เป็นได้


กำลังโหลดความคิดเห็น