xs
xsm
sm
md
lg

การเมือง : เรื่องของคนอยากมีอยากเป็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง



ตามนัยแห่งจริยศาสตร์ มนุษย์เราทุกคนเกี่ยวข้องกับ 2 สิ่งคือ

1. สิ่งที่เรามีหรือ What we have

2. สิ่งที่เราเป็นหรือ What we are

ด้วยเหตุที่ทุกคนเกี่ยวข้องกับความมี และความเป็น จึงทำให้มนุษย์ทุกคนมีความอยากมี และอยากเป็น

แต่ตามนัยแห่งคำสอนของพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้ตรัสเกี่ยวกับความอยาก หรือตัณหาว่ามีอยู่ 3 ประการคือ

1.กามตัณหา ความอยากมี

2. ภวตัณหา ความอยากเป็น

3. วิภวตัณหา ความไม่อยากมี ความไม่อยากเป็น

ความอยากทั้ง 3 ประการข้างต้น เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แต่มิใช่ตัวทุกข์โดยตรง กล่าวคือ

เมื่อคนอยากมี แต่มีได้ก็เป็นทุกข์ และเมื่อคนอยากเป็นแล้วไม่ได้เป็นก็เป็นทุกข์ ตามนัยแห่งพุทธพจน์ที่ว่า ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเมื่อมีแล้วเป็นแล้ว วันหนึ่งต่อมาสิ่งที่มี และสิ่งที่เป็นหายไปก็เป็นทุกข์ ตามนัยแห่งพุทธพจน์ที่ว่า การพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์

ส่วนความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น จะเป็นทุกข์เมื่อคนจำเป็นต้องมี หรือจำเป็นต้องเป็น ทั้งๆ ที่ตนเองไม่อยากมี ไม่อยากเป็นก็จะเป็นทุกข์ ตามนัยแห่งพุทธพจน์ที่ว่า การอยู่ร่วมกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์

โดยสรุปแล้ว ความอยากเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ตราบเท่าที่คนยังมีความอยาก และวิ่งไล่ความอยาก และยึดถือสิ่งที่ตนได้มาด้วยความอยากนั้น

แต่ถ้าจะป้องกันมิให้ความอยากเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จะต้องควบคุมความอยากให้อยู่ในกรอบแห่งสันโดษ 3 ประการคือ

1. ยินดีตามที่ตนเองหามาได้โดยความชอบธรรม หรือยถาลาภสันโดษ

2. ยินดีตามที่ตนหามาได้ ตามกำลังของตนหรือยถาพลสันโดษ

3. ยินดีในสิ่งที่สมควรหรือเหมาะแก่เพศภาวะและสถานะของตน หรือยถาสารุปปสันโดษ

วันนี้คนไทยซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ กำลังเผชิญกับความทุกข์อันเกิดจากความอยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักการเมืองที่แสวงหาอำนาจรัฐ และยึดติดในอำนาจนั้น และที่เป็นเช่นนี้อนุมานได้ว่าเกิดจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. นักการเมืองส่วนใหญ่ทั้งในระบอบเผด็จการ และในระบอบประชาธิปไตยเข้าสู่วงการเมือง ล้วนแล้วแต่เพื่อแสวงหาความมี ความเป็น และเมื่อได้มีและได้เป็นแล้ว ก็ยึดติดในสิ่งที่ตนเองมี และสิ่งที่ตนเองเป็น

2. โดยหลักการแห่งรัฐศาสตร์แล้ว นักการเมืองจะต้องเป็นผู้รับใช้ประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และเป็นเจ้านายของนักการเมือง

แต่ในความเป็นจริง นักการเมืองไทยมิได้เป็นไปตามหลักการที่ว่านี้ มีอยู่ไม่น้อยเมื่อได้รับตำแหน่งทางการเมือง ทำตัวเป็นนายของประชาชน จะเห็นได้จากพฤติกรรมที่แสดงออกทางกายและวาจาอย่างชัดเจน

จากการแสวงหาสิ่งที่ตนเองอยากมี อยากเป็นแล้วยึดติดสิ่งที่ได้มานี้เอง ทำให้นักการเมืองบางคนถึงกับหลงตนเอง ไม่ยอมปล่อยวาง ทั้งๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ควรจะพอและลงจากอำนาจได้แล้ว และนักการเมืองประเภทนี้เป็นทุกข์ เมื่อถึงเวลาที่ตนต้องลงจากตำแหน่ง ตามกฎแห่งอนิจจตาคือความไม่เที่ยง และเป็นไปตามหลักแห่งโลกธรรมคือ มียศเสื่อมยศ มีลาภเสื่อมลาภ นี่คือสัจธรรมอันเป็นอกาลิโกคือ จริงตลอดกาล


กำลังโหลดความคิดเห็น