xs
xsm
sm
md
lg

เปิดหลักฐาน “การสูบ” เป็นกรรมวิธีในการแพทย์แผนไทย / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 ลำโพงกาสลัก
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


“การสูบ” เป็นกรรมวิธีหนึ่งในการแพทย์แผนไทยระบุเอา ดังตัวอย่างที่ชัดเจนได้ถูกปรากฏไว้ในพระคัมภีร์ชวดาร ซึ่งเป็นพระคัมภีร์ที่ถูกบรรจุเอาไวในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ความว่า


“ยาสูบแก้ริศดวงในคออันงอกขึ้นมานั้นอาหอระดาร ๑ ดีปลี ๑ พริกไทย ๑ ลำโพงกาสลัก ๑ หัวหอม ๑ มะเขือขื่น ๑ ตำเอาน้ำชุบกระดาษผึ่งแดดให้แห้ง ๓ หน มวนยาสูบ”[๑]

จากหลักฐานข้างต้นย่อมแสดงให้เห็นว่า “การสูบ” เป็นกรรมวิธีหนึ่งในการแพทย์แผนไทยเพื่อให้เป็นยาผ่านระบบทางเดินหายใจ เพียงแต่ว่าจะนำสิ่งใดมาสูบนั้นก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณา “รสยา” ของสมุนไพรตัวนั้นประการหนึ่ง และ “สรรพคุณเภสัช” ของสมุนไพรตัวนั้นเป็นอีกประการหนึ่ง

โดยรสยา ๙ รสของการแพทย์แผนไทยนั้น ได้แก่ รสฝาด, รสหวาน, รสเมาเบื่อ, รสขม, รสเผ็ดร้อน, รสมัน, รสหอมเย็น, รสเค็ม และรสเปรี้ยว

แต่การแพทย์แผนไทยไม่ได้สนใจโครสร้างเคมี แต่ใช้การชิม “รสยา” ว่าแต่ละรสของสมุนไพรเป็นตัวแทนธาตุอะไร มีการบันทึกสรรพคุณเภสัชของสมุนไพรแต่ละตัว และมีวิธีนำมาปรุงเป็น “ตำรับยา” เพื่อลดผลเสียของสมุนไพรแต่ละตัวให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนซึ่งมีเงื่อนไขแตกต่างกัน ดังปรากฏในพระคัมภีร์ฉันทศาสตร์เรื่อง ๙ รสยาความว่า

“ลิ้นด้วยเก้ารส จงกำหนดอย่าคลาด ยารสฝาดชอบสมาน รสยาหวานซาบเนื้อ รสเมาเบื่อแก้พิษ ดีโลหิตชอบขม เผ็ดร้อนลมถอยถด เอ็นชอบรสมันมัน หอมเย็นนั้นชื่นใจ เค็มซาบในผิวหนัง เสมหะยังชอบส้ม กำเริบลมที่อยู่ เปือกตมฟูเยือกเย็น เนื้อหนังเอ็นปูปลา ย่อมภักษาครามครัน”[๒] โดยมีรายละเอียดความหมายคือ

รสฝาด (Astringency) มีสรรพคุณ สมานบาดแผล แก้บิด ปิดธาตุ (ทำให้หยุดถ่ายอุจจาระ) คุมธาตุ(ทำให้การถ่ายอุจจาระเป็นปกติ แก้ท้องร่วง แก้ท้องเสีย แต่แสลงกับโรค ไอ ท้องผูก โรคพรรคดึก เตโชธาตุ(ธาตุไฟ)พิการ

รสหวาน (Sweetness) มีสรรพคุณ ซึมซาบไปตามเนื้อ ทำให้เนื้อชุ่มชื้น บำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย แต่แสลงกับโรค ฟันผุ เสมหะเฟื่อง อาเจียน โรคเบาหวาน น้ำเหลืองเสีย บาดแผล

รสมัน (Fat) สรรพคุณ มีฤทธิ์ซึมซาบไปตามเส้นเอ็น แก้เอ็นพิการ บำรุงเส้นเอ็น แก้ปวดเมื่อย บำรุงไขข้อ บำรุงเยื่อกระดูก ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย แต่แสลงกับโรค เสมหะพิการ เช่น ไอ หอบ และไข้ต่างๆ ร้อนใน กระหายน้ำ

รสเค็ม (Saltiness) สรรพคุณ ซาบไปตามผิวหนัง แก้โรคผิวหนัง โรคคพรรดึก ถ่ายชำระน้ำเหลือง ชำระเมือกมันในลำไส้ ฟอกโลหิต แก้เสมหะเหนียว แสลงกับโรค อุจจาระพิการ โรคบิดมูกเลือด กระเพาะอาหารเป็นแผล

รสเปรี้ยว (Sourness) สรรพคุณ แก้เสมหะพิการ แก้เสมหะเหนียว แก้ไอ แก้ท้องผูก ระบายอุจจาระ ฟอกโลหิต แก้กระหายน้ำ แต่แสลงกับโรคน้ำเหลืองเสีย ท้องเสีย และไข้ต่างๆ

รสขม (Bitterness) มีสรรพคุณ แก้ทางโลหิตและดี แก้ไข้เพื่อดีพิการ แก้โลหิตพิการ บำรุงน้ำดี เจริญอาหาร แสลงกับโรค หัวใจพิการ โรคลมจุกเสียด แน่นเฟ้อ

รสเมาเบื่อ (Intoxicant taste) มีสรรพคุณ แก้พิษดี แก้พิษโลหิต พิษไข้ พิษเสมหะ พิษสัตว์กัดต่อย แก้โรคอาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) แสลงกับโรค หัวใจพิการ ไอ

รสหอมเย็น (Savouriness) มีสรรพคุณ ทำให้ชื่นใจ บำรุงหัวใจ ตับ ปอด บำรุงครรภ์ แก้อ่อนเพลีย ชูกำลัง แลงกับโรคลมจุกเสียด ลมป่วง

รสเผ็ดร้อน (Spiciness) มีสรรพคุณ แก้ลม จุกสียด แน่นเฟ้อ ขับลมให้ผายหรือเรอ บำรุงธาตุไฟ ขับเหงื่อ ช่วยย่อยอาหาร แสลงกับ ไข้ ตัวร้อน เพ้อคลั่ง

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแต่ละรสยานั้นมีทั้งประโยชน์ที่เรียกว่า “สรรพคุณ” แต่ในขณะเดียวกันถ้าใช้อย่างไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมก็จะมีโทษที่เรียกว่า “แสลง” และทุกรสยามีทั้งสรรพคุณ และแสลงอยู่คู่กันเสมอ

ดังนั้นโดยหลักการแล้วไม่ว่าพืชสมุนไพรใดๆ ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์และโทษ โดยไม่มีข้อยกเว้นทั้งสิ้น การทำให้เกิดโทษจึงไม่ใช่ความผิดในสมุนไพรชนิดนั้น แต่ขึ้นอยู่กับคนที่ใช้สมุนไพรชนิดนั้นต่างหาก !!!!

ด้วยเหตุผลนี้การแพทย์แผนไทยจึงกำหนดยาส่วนใหญ่ในรูปของ “ตำรับยา” ซึ่งนอกจากจะมีหน้าที่ตามสรรพคุณยาหลักและยารองแล้ว ยังมีสมุนไพรอื่นๆที่นำมาประกอบกันเป็นตำรับยาเพื่อลดการแสลงของสมุนไพรที่อาจมีมากเกินไปได้ด้วย

หรือหากจะมีสมุนไพรตัวเดี่ยวตัวใดตัวหนึ่ง ก็มักจะต้องมีสมุนไพรอื่นๆรับประทานตามหลังจากนั้นเพื่อลดผลเสียที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน

สำหรับตัวอย่าง “ยาสูบแก้ริศดวงในคอ”ตามพระคัมภีร์ชวดารนั้น จะเห็นได้ว่าตัวอย่างสมุนไพรสำคัญมีการสูบสมุนไพรรสเมาเบื่อ เช่น ยาสูบ [๑]

โดยสำหรับยาสูบนั้นมีรส “เผ็ดร้อนเมาเบื่อฉุน”

“รสเมาเบื่อ” ยังปรากฏในพจนานุกรมศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแพทย์แผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ระบุว่าเป็นคำวลี มีความหมายว่า

“รสอย่างรสยาสูบ เมล็ดสบู่ดำ เมล็ดลำโพง เป็นต้น ตำราสรรพคุณยาไทยว่า ยาที่มีรสเมาเบื่อจะมีสรรพคุณแก้พิษสัตว์กัดต่อย”[๓]

ซึ่งแน่นอนว่ารสเมาเบื่อ ไม่ได้มีอยู่เพียง แค่ยาสูบ (บุหรี่) กัญชา ยางฝิ่น เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีสมุนไพรที่มีรสเมาเบื่ออีกจำนวนมาก ดังปรากฏตัวอย่างตามตำราเภสัชกรรมไทย ซึ่งจัดพิมพ์โดยมูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์แผนไทยเดิม ได้แก่

กระทุ้งหมาบ้า, ใบกรวยป่า, รากขันทองพยาบาท, รากทองพันชั่ง, ใบลำโพง, หัวกักลังกา, ลูกสะบ้าทั้ง ๓, ขอบชะนางแดง, ชุมเห็ดทั้ง ๕, เถากะไดลิง, สะแกทั้ง ๕, เมล็ดเล็บมือนาง, เมล็ดในกระเบียน, กำมะถันเหลือง, รากฟักข้าว, ต้นเป็ดน้ำ, กระดูกงูเหลือม[๔] ฯลฯ

รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ นวลแก้ว คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เขียนตำราเภสัชกรรมแผนไทยประยุกต์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้อธิบายเทียบ “รสเมาเบื่อ” หรือ “Intoxicant Taste” ความตอนหนึ่งว่า ในการแก้โรคพิษดี พิษโลหิต และพิษเสมหะของรสเมาเบื่อ มีความหมายว่า อาการที่แสดงของ “ดี โลหิต และเสมหะ” เพื่อพิการอย่างรุนแรง เช่น

“พิษของดี” อาจแสดงออกเป็นความร้อนสูง ตัวเหลือง ตาเหลือง[๕]

“พิษของโลหิต” อาจแสดงออกมาเป็นความร้อนสูง มีผื่นออกตามผิวหนัง ผุดขึ้นเป็นวงแดง วงเขียว วงเหลือง ปวดบวม อักเสบ[๕]

“พิษของเสมหะ”อาจแสดงอาการสะบัดร้อนสะท้านหนาว จับไข้เป็นเวลา ลงเป็นโลหิต ลงเป็นเสมหะเน่า[๕]

นอกจากนั้น ยังใช้รักษาอาการที่เรียกว่าน้ำเหลืองเสีย เช่น โดนยุงกัดจะเกิดอาการแพ้ มีผื่นคันหรือมีแผลได้ง่าย ถ้ามีอาการเหล่านี้สามารถใช้สมุนไพรที่มีรสเมาเบื่อได้[๕]

โดยหากพิจารณาภูมิปัญญา “รสยา” และวิเคราะห์ตามการเผยแพร่ของสำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีระบุว่า “ยาสูบ” นั้นมีประโยชน์อยู่ด้วย ความตอนหนึ่งว่า

“ยาสูบ” มีสรรพคุณ รักษาเหา หิด เป็นยาถอนพิษ รักษาแผลน้ำร้อนลวก รักษาโรคผิวหนัง แก้หวัด คัดจมูก ฉีดพ่นฆ่าแมลงและเพลี้ยต่างๆ ได้ผลดี [๖]

แต่ยาสูบได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางยาน้อย โดยเฉพาะการสูบบุหรี่โดยการเผาใบยานี้ ทำให้นิโคตินและอัลคาลอยด์อื่นๆ สลายตัว วัตถุเหล่านี้ทำให้เกิดเป็นพิษขึ้นในการสูบบุหรี่ มีหลายคนแสดงว่าการสูบบุหรี่ มีอำนาจกล่อมประสาท (Soothing) แต่ไม่ใช่เนื่องจากอำนาจของนิโคติน[๖]

การสูบบุหรี่มากทำให้เจ็บคอและไอ เนื่องจากลำคอและหลอดลม อักเสบบวม ถ้าอาการแรงหน่อยจะทำให้หัวใจอ่อนและเต้นไม่สม่ำเสมอ และผ่อนสภาพประสาทส่วนกลาง ความจำไม่ดี มือสั่น หายใจอ่อน ความดันโลหิตลดลงต่ำ เหงื่อออกมาก[๖]

แต่ถ้าเป็นคนสูบประจำ ก็จะไม่มีอาการเหล่านี้ เพราะร่างกายสามารถอ๊อกซิไดซ์นิโคตินได้พอควร คนที่สูบซิกาแรตวันละ ๒๕ มวน จะต้องเสียสีของเม็ดโลหิตแดงไปประมาณร้อยละ ๒๕ ในคราวหนึ่ง[๖]

นิโคตินเป็นแอลคาลอยด์ชนิดน้ำ มีอยู่ในใบของยาสูบประมาณร้อยละ ๗ ละลายง่ายในน้ำ แอลกอฮอล์ และอีเธอร์ ใช้มากในทางเกษตรกรรม ปรุงเป็นยาฉีดแมลงและเพลี้ยต่างๆ ได้ผลดี การผสม ใช้นิโคติน ๑ ส่วน สบู่อ่อน ๒๐ ส่วน ในน้ำ ๒,๐๐๐ ส่วน ยานี้มีพิษแรง ใช้ระวังถูกผิวหนังจะซึมเข้าไป เป็นพิษมาก[๖]

ด้วยเหตุผลที่มีผลเสียนี้ในตำรับยาไทยที่มีการสูบยาสูบ จึงปรุงเป็นตำรับยาเพื่อ “รักษาโรคริศดวงในคอ” ให้หายเท่านั้น เพราะแม้การสูบยาสูบจะมีผลเสีย แต่มีเป้าหมายในการรักษาที่ตัวยาวิ่งตรงไปยังทางเดินหายใจไปถึงคอที่ตรงที่สุด จึงใช้วิธีการสูบยาสูบที่ปรุงเป็นตำรับผ่านกระดาษข่อยชุบน้ำ ซึ่งเป็นกรรมวิธีการแพทย์แผนไทยที่เหมาะสมกว่าวิธีอื่นๆ

“ลำโพงกาสลัก” ซึ่งเป็นสมุนไพรตัวยาหนึ่งใน “ตำรับยาสูบแก้ริศดวงในคอ” ตามพระคัมภีร์ชวดาร โดยการเผยแพร่ในฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี้ ระบุความตอนหนึ่งว่า

“ดอก รสเมาเบื่อ ตากแห้งผสมยาเส้นสูบ แก้หอบหืด โพรงจมูกอักเสบ แก้ริดสีดวงจมูก มีสารแก้การตีบตัวของหลอดลม”[๗]

ในขณะที่สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เผยแพร่สรรพคุณของ “ลำโพง” ความตอนหนึ่งว่า

“มีสรรพคุณเป็น ยารักษาโรคหืด คลายการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ (antispasmodic) anticholinergic activity โดยมีวิธีและปริมาณที่ใช้คือ ใบแห้ง ๑-๓ ใบ มวนบุหรี่สูบ หรือดอกแห้ง ๑ ดอก มวลบุหรี่สูบ”[๘]

โดยในเรื่อง “ลำโพง”นี้ มูลนิธิสุขภาพไทย ได้เคยเผยแพร่บทความเรื่อง “ลำโพง ยาบ้าที่ใช้เป็นยาดีแก้หอบหืด และริดสีดวงจมูก” ผ่านเว็บไซต์มูลนิธิสุขภาพไทย เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ถึงความ “มึนเมา”จากลำโพงความตอนหนึ่งว่า

“สำหรับชาวอีสานบ้านเฮาไม่รู้จักชื่อ ลำโพง แต่ถ้าเอ่ยชื่อมะเขือบ้า ก็แม่นแล้ว แต่ก่อนตามหมู่บ้านมักพบเห็นคนบ้าลำโพง อันเป็นเรื่องปกติวิสัยของสังคมชนบท ซึ่งเป็นที่มาของชื่อมะเขือบ้านั่นแหละ ชาวฮินดูเองก็นิยมเสพลำโพงในพิธีกรรม จึงมีชื่อลำโพงว่า ฮินดู ดาตูรา(Hindu datura)

มหาตมะ คานธี มหาบุรุษของอินเดียเคยกล่าวไว้ในหนังสือ อัตชีวประวัติ “ข้าพเจ้าทดลองความจริง” ว่า ท่านเคยทดลองสูบลำโพงด้วย สำหรับเมืองไทย ลำโพง กลายเป็นยาบ้าสมุนไพรใกล้มือชาวบ้าน เพราะเป็นพืชยืนต้นขนาดเล็กสูงแค่ ๑-๒ เมตร ที่แพร่พันธุ์ง่าย เหมือนวัชพืช หาได้ทั่วไป

กล่าวเฉพาะ “ลำโพงกาสลัก” ที่หมอไทยใช้เป็นยานั้น มีอัตลักษณ์สำคัญ คือ มีลำต้น กิ่งก้าน และดอกสีม่วงเข้ม จนมีฉายาที่รู้กันในหมู่นักเสพลำโพงว่า “มะเขือบ้าดอกดำ” ปกติลำโพงทั่วไปมักมีกลีบดอกขาวชั้นเดียว แต่ชนิดดอกม่วงจะมีกลีบดอกซ้อนกัน ๒-๓ ชั้นขึ้นไป ยิ่งมีกลีบซ้อนมากชั้นเท่าใดก็ยิ่งมีฤทธิ์ยาแรงมากขึ้นเท่านั้น

ในทางเภสัชวิทยาพบว่าใบ ยอด และดอกลำโพงกาสลัก มีสารโทรเพนอัลคาลอยด์ (tropane alkaloids) ที่ออกฤทธิ์ได้แก่ ไฮออสซิน(hyoscine) และ ไฮออสไซอะมีน(hyoscyamine) ซึ่งมีผลข้างเคียงคล้ายยาอะโทรปีน(atropine) ที่ใช้กระตุ้นหัวใจในคนถูกพิษยาฆ่าแมลงและในผู้ป่วยระหว่างผ่าตัด นั่นคือ ปากคอแห้ง กระหายน้ำ กระสับกระส่าย รูม่านตาขยายไม่สู้แสง ประสาทหลอน เพ้อคล้ายคนวิกลจริต

ถ้าเสพมากอาจถึงขั้นโคม่า หมดสติได้เหมือนที่แสดงในละครทีวี ชาวฝรั่งหลายคนที่นิยมเสพชาชงเมล็ดลำโพง พร้อมสูบดอกลำโพงเกินขนาดก็เคยมีประวัติถูกหามเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการดังกล่าว แต่ก็ไม่เคยมีประวัติผู้เสียชีวิตเพราะเสพลำโพงเลย” [๙]

อย่างไรก็ตาม มูลนิธิสุขภาพไทย ยังได้เผยแพร่การใช้ลำโพงอย่างถูกวิธีเอาไว้อย่างน่าสนใจอีกเช่นกัน ความว่า

“ถ้าใช้ส่วนต่างๆของลำโพงให้ถูกวิธีก็จะเป็นยาดีรักษาโรคได้หลายอย่างที่สำคัญ คือ แก้โรคหอบหืด ริดสีดวงจมูก โพรงจมูกอักเสบหรือไซนัส และโรคทางลมทั้งหลาย เนื่องจากสารสำคัญในลำโพงมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบของร่างกาย จึงเป็นยาขยายหลอดลม แก้หอบหืด คอตีบ ริดสีดวงจมูก และไซนัสได้ผลดี

รูปแบบยาก็ง่ายมากเพียงเอาดอกลำโพงหั่นตากแห้งมวนใบจาก หรือกระดาษสูบอัดควันยาเข้าจมูกพอประมาณอย่าให้ถึงกับมึนเมา ใช้สูบขณะที่จับหอบหืดเมื่อบรรเทาแล้วจึงหยุดสูบทันที กรณีเป็นไซนัสหรือริดสีดวงจมูก สูบวันละ ๒- ๓ ครั้งหลังอาหาร จนกว่าจะหาย หรือไม่เกิน ๕ วันให้เว้นยาสัก ๓ วัน จึงสูบต่ออีก

แต่ถ้าจะทำยาสูบตามต้นตำรับยาในพระคัมภีร์ชวดารแก้โรคลมอันทำให้เกิดริดสีดวงในคอนั้น ท่านมิได้ใช้การมวนยาเส้นใบหรือดอกลำโพงโดยตรง แต่ท่านให้เอาใบลำโพงสด ดีปลี พริกไทย หัวหอมแดง ลูกมะเขือขื่น อย่างละเท่าๆ กัน ตำเอาน้ำแล้วชุบกระดาษข่อยผึ่งแดดให้แห้งทำอย่างนี้ ๓ หน แล้วมวนสูบรับรองเห็นผลแน่นอนกว่าวิธีแรก และไม่เกิดผลเสียข้างเคียง แต่ถ้าวิธีนี้ยุ่งยากก็ใช้วิธีแรก”[๙]

แต่รสเมาเบื่อนั้น ก็ไม่จำเป็นจะต้อมีสรรพคุณแก้โรคอาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) แต่เพียงอย่างเดียว เพราะยังต้องพิจารณาไปตามสรรพคุณเภสัชนั้นๆด้วย ดังตัวอย่างเช่น “กัญชา” ที่นอกจากจะถูระบุว่ามีรสเมาเบื่อ แต่กลับมีผลต่อวาโยธาตุ (โรคธาตุลม)ด้วย

โดย “สรรพคุณกัญชา” ได้ถูกเขียนบันทึกเอาไว้ในพระคัมภีร์สรรพคุณเภสัช ตามตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะฆ์ รัชกาลที่ ๕ ความตามช่วงแรกว่า

“๏ กันชา แก้ไข้ผอมเหลืองหากำลังมิได้ ให้ตัวสั่น เสียงสั่นเปนด้วยวาโยธาตุกำเริบ แก้นอนมิหลับ…”[๑๐]

“วาโยธาตุ” กำเริบนั้น มีความหมายถึง “ธาตุลม” ผิดปกติในทางมากเกินไป ในทางภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ที่สรรพสิ่งประกอบด้วยธาตุทั้งสี่ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ

และคำว่า “ธาตุลม” นั้นหมายถึงธาตุที่เกี่ยวกับ “การเคลื่อนไหว”โดย ได้ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมศัพท์และเภสัชกรรมแผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานมีความหมายว่า

“ธาตุลม น. สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกายส่วนที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของธาตุทั้ง ๔ ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย มี ๖ ชนิดได้แก่ ลมพัดตั้งแต่ปลายเท้าถึงศีรษะ (อุทธังคมาวาตา) ลมพัดตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้า (อโธคามาวาตา) ลมพัดในท้องแต่พัดนอกไส้ (กุจฉิสยาวาตา) ลมพัดในลำไส้และกระเพาะอาหาร (โกฏฐาสยาวาตา) ลมพัดทั่วสรีระกาย (อังคมังคานุสารีวาตา) และลมหายใจเข้าออก (อัสสาสปัสสาสวาตา), วาโยธาตุ ก็เรียก”[๑๑]

รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ นวลแก้ว คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เขียนตำราเภสัชกรรมแผนไทยประยุกต์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๓ อธิบายเรื่องธาตุลมเปรียบเทียบวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบันความว่า

“วาตะ” (ลม) แปลว่า เคลื่อนไหว เปรียบได้กับ “ลมประสาท (nerve impulse)” รับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย “วาตะเป็นธาตุที่สำคัญที่สุดในตรีธาตุ” เป็นแหล่งกำเนิดของ กำลัง การเคลื่อนไหว และการกระทำต่างๆ”[๑๒]

“หน้าที่ของวาตะ เป็นแหล่งกำเนิดของกำลัง การเคลื่อนไหว และการกระทำต่างๆ เช่น การพูดจา การเดินของเลือดในร่างกาย ควบคุมการทำงานของอวัยวะและกล้ามเนื้อ ควบคุมจิตใจ ความรู้สึก ความเข้าใจ และรับความรู้สึกของสัมผัสทั้ง ๕ (คล้ายกับระบบประสาท) ส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของอวัยวะร่างกายทุกส่วน ควบคุมจิตใจให้มีสติ ให้มีสมาธิ ทำให้ประสาทสัมผัสทั้ง ๕ รับความรู้สึกถูกต้อง เป็นที่เกิดแก่ความชื่นชมยินดี ร่าเริง เป็นเครื่องกระตุ้นไฟของร่างกาย ช่วยกำจัดโทษของร่างกาย ทำให้เกิดการปฏิสนธิหรือตั้งครรภ์ ช่วยประคับประคองให้ชีวิตมีความปกติ”[๑๒]

ดังนั้น “ธาตุลม” จึงมีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวทุกสิ่งของร่างกายในมนุษย์ ดังตัวอย่างกิจกรรมของธาตุลมที่เป็นรูปธรรมเช่น

“การควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย การยืดหดของกล้ามเนื้อแขนขา การกระพริบตา การไหลเวียนโลหิตและน้ำเหลือง การขับเหงื่อ การควบคุมการพูด การออกกำลัง การเคลื่อนไหวของท่อและต่อมเหงื่อควบคุมความร้อนของร่างกาย ให้ความร้อนแก่ร่างกาย ควบคุมกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ช่วยในการย่อยอาหารร่วมกับปิตตะ (หมายถึงระบบความร้อน - ผู้เขียน) และยังทำหน้าที่ควบคุมการผลิตและหลั่งน้ำกาม ขับปัสสาวะ ขับอุจจาระ ขับโลหิตระดูของสตรี และเป็นลมเบ่งในการคลอดลูก”[๑๒]

แม้ว่าในการแพทย์แผนไทยจะได้พิจารณาโรคโดยได้รับอิทธิพลจากการแพทย์อินเดียที่เรียกวว่าอายุรเวทในสายพุทธศาสนาที่พิจารณาไปตามรูปขันธ์ อาจจะไม่ได้เห็นกลไกหรือ Pathway เหมือนวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน

แต่หากพิจารณาจากภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่ได้กล่าวถึงธาตุลมดังที่กล่าวมาข้างนั้น มีความสอดคล้องไปกับสิ่งที่เราค้นพบการทำงานของระบบกัญชาในร่างกายมนุษย์ที่เรียกว่า The Endocannabinoid System (ECS) ซึ่งเร่ิมตั้งแต่การสั่งการของสมอง ระบบประสาท ตัวรับกัญชาในร่างกาย เอนไซม์ ฯลฯ[๑๓] ซึ่งควบคุมกลไกที่เกิดขึ้นในลักษณะไปในทิศทางเดียวกันกับ “วาโยธาตุ” ในการแพทย์แผนไทยเช่นกัน [๑๓]

อย่างไรก็ตามไม่ใช่การสูบในกรรมวิธีการแพทย์แผนไทยจะเกิดขึ้นกับเฉพาะรสเมาเบื่อเท่านั้น แต่กรรมวิธีการแพทย์แผนไทยยังสามารถเกิดขึ้นกับรสยาอย่างอื่นได้อีกด้วย ดังเช่น “ปีบ” ซึ่งเผยแพร่ในฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระบุความตอนหนึ่งว่า

“ปีบ” นั้นมีรส “หวานขมหอม” มีสรรพคุณ ขยายหลอดลม มวนเป็นบุหรี่สูบรักษาหืด สูบแก้ริดสีดวงจมูก ไซนัสอักเสบ บำรุงน้ำดี เพิ่มการหลั่งน้ำดี บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง แก้ลม ดอกใส่ปนกับยาไทย มวนสูบทำให้ปากหอม[๑๔]

ในขณะที่สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เผยแพร่ในเรื่อง “ปีบ” ความว่า

“ปีบ” มีสรรพคุณในการนำมาใช้ในการรักษาโรคได้หลายชนิด ในตำรายาไทย เช่น

“ราก” บำรุงปอด รักษาวัณโรค อาการหอบหืด

“ดอก” ใช้รักษาอาการหอบหืด ไซนัสอักเสบ เพิ่มการหลั่งน้ำดี (Cholagogue) เพิ่มรสชาติ นำดอกปีบแห้งผสมยาสูบมามวนเป็นบุหรี่ สำหรับสูบสูด เพื่อรักษาอาการหอบหืด

“ใบ” ใช้มวนบุหรี่สูบแทนฝิ่น ขยายหลอดลม ใช้รักษาอาการหอบหืดได้เช่นกัน

โดยกำหนดสำหรับวิธีและปริมาณที่ใช้สำหรับ “แก้หอบหืด” คือ ใช้ดอกแห้ง ๖-๗ ดอกมวนเป็นบุหรี่สูบ” [๑๕]

กล่าวโดยสรุปข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ในกรรมวิธีของการแพทย์แผนไทยมี “การสูบ”รวมอยู่ด้วย และมีเป้าหมายเป็นประโยชน์เพื่อการรักษา และใช้ตัวยาผ่านเข้าไปในทางระบบทางเดินหายใจ

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[๑] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรม หายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, ๑,๐๒๕ หน้า องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๔, จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม, ISBN: ๙๗๘-๙๗๔-๐๑-๙๗๔๒-๓, หน้า ๕๖๕

[๒] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๑

[๓] กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, พจนานุกรมศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแพทย์แผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๖ จำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม, พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์

[๔] โรงเรียนอายุรเวท (ชีวกโกมารภัจจ์), ตำราเภสัชกรรมไทย, พิมพ์ครั้งที่ ๒, โดยมูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์แผนไทยเดิม, พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๙, ๒๖๔ หน้า, จำนวน ๒,๐๐๐ เล่ม หน้า ๗๓-๗๕

[๕] สมศักดิ์ นวลแก้ว, เภสัชกรรมแผนไทยประยุกต์—มหาสารคาม : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสาราม, ๒๕๖๔, ๔๖๑ หน้า, ISBN ๙๗๘-๙๗๔-๑๙-๖๐๕๖-๙ หน้า ๑๓๐-๑๓๑

[๖] สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ยาสูบ”
http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_22_5.htm

[๗] Sudarat Homhual, ลำโพง, ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=105

[๘] สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ลำโพงดอกขาว”
http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_08_11.htm

[๙] มูลนิธิสุขภาพไทย, ลำโพง ยาบ้าที่ใช้เป็นยาดีแก้หอบหืด และริดสีดวงจมูก, เว็บไซต์มูลนิธิสุขภาพไทย เผยแพร่เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒
https://www.thaihof.org/ลำโพง-ยาบ้าที่ใช้เป็นยา/

[๑๐] คัมภีร์สรรพลักษณะสรรพคุณเล่ม ๒ เลขที่เอกสารตามหอสมุดแห่งชาติ ๑๐๔๖ ประเภทเอกสารโบราณ หนังสือสมุดไทยดำ, บันทึกผ่าน ชุดตำราภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ฉบับอนุรักษ์: ตำรับยาแผนไทยของชาติที่เข้าด้วยกัญชา, ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, ๒๕๖๔ ISBN : ๙๗๘-๖๑๖-๑๑-๔๗๕๕-๖, หน้า ๓๔๐

[๑๑] กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, พจนานุกรมศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแพทย์แผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๖ จำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม, พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร์แห่งประทศไทย กรุงเทพ, ISBN : ๙๗๘-๖๑๖-๑๑-๒๔๕๙-๕, หน้า ๒๒๔

[๑๒] สมศักดิ์ นวลแก้ว, เภสัชกรรมแผนไทยประยุกต์—มหาสารคาม : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสาราม, ๒๕๖๔, ๔๖๑ หน้า, ISBN ๙๗๘-๙๗๔-๑๙-๖๐๕๖-๙ หน้า ๒๘-๒๙

[๑๓] Hui-Chen Lu and Ken Mackie, An Introduction Endogenous Cannabinoid System, Biological Psychiatry, Published:October 29, 2015DOI:https://doi.org/10.1016/j.biopsych.2015.07.028
https://www.biologicalpsychiatryjournal.com/article/S0006-3223(15)00869-0/fulltext

[๑๔] Sudarat Homhual, ปีบ, ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=237

[๑๕] สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ปีบ”
http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_08_2.htm


กำลังโหลดความคิดเห็น