xs
xsm
sm
md
lg

ทางตันของฝ่ายอนุรักษนิยม และวังวนของความขัดแย้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนี่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

ผมมีความเชื่อแต่เดิมอยู่แล้วและแสดงความเห็นมาตลอดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี น่าจะครบ 8 ปีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ ในวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา และยิ่งเมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5-4 ให้พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน ยิ่งตอกย้ำว่า 5 เสียงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีความเชื่อเป็นพื้นฐานว่าพล.อ.ประยุทธ์อาจจะพ้นวาระในวันที่ 23 สิงหาคม


แต่ก็มี 2 เสียงที่น่าจะมีน้ำหนักมากก็คือ ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักกฎหมายมหาชนที่เชื่อว่า การนับวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์นั้นน่าจะนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้คือปี 2560 และพล.อ.ประยุทธ์จะสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก 2 ปี

อีกคนที่มีความเห็นไม่กี่วันที่ผ่านมือ นางสดศรี สัตยธรรม กล่าวว่าในเรื่องดังกล่าวรัฐธรรมนูญเขียนชัดเจนอยู่แล้วว่าหมายถึงอะไร ซึ่งเธอเห็นว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีบทบัญญัติในมาตรา 158 วรรคสี่ ที่ว่าดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี ส่วนคำว่า 8 ปีนับตั้งแต่เมื่อไหร่นั้นก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะไปนำเอารัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นการที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2557 จะนำมาใช้เมื่อปีรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้

“ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 264 ไม่ได้ระบุว่า ให้นำรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาใช้ด้วย ดังนั้นอายุการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องเริ่มต้นนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 คือวันที่ 6 เม.ย. 2560 ซึ่งจะครบ 8 ปี ในวันที่ 5 เม.ย. 2568 ดังนั้นก็คงเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย และคงมองในประเด็นเรื่องบทเฉพาะกาลมาตรา 264 ว่าให้นำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาใช้ในเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกฯ ด้วยหรือไม่” นางสดศรี กล่าว

ต้องอย่าลืมนะว่าทั้งวรเจตน์และสดศรีไม่ใช่กองเชียร์ของพล.อ.ประยุทธ์

แหล่งข่าวบอกว่า ตอนนี้ฝ่ายรัฐบาลเองก็เชื่อว่า ผลน่าจะออกมาว่า การนับอายุให้รับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ และพล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นนายกรัฐมนตรีได้จนถึงปี 2568 ดังนั้นพล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีไปจนครบเทอมแน่ หรือไม่ถ้ายุบสภาก็คงจะใกล้วันหมดอายุ แต่เชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าเมื่ออายุการเป็นนายกรัฐมนตรีเหลืออีก 2 ปี พล.อ.ประยุทธ์ไม่น่าจะลงเล่นการเมืองต่อ และพรรคพลังประชารัฐก็ไม่น่าจะเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ที่เหลือเวลาแค่ 2 ปีเป็นนายกรัฐมนตรี

น่าสนใจว่า ถ้าไม่เป็นนายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ในตำแหน่งไหนที่รอดพ้นจากการถูกตามเช็ดตามล้างหากฝ่ายตรงข้ามเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็มีการเดากันว่า พล.อ.ประยุทธ์น่าจะไปอยู่ในตำแหน่งที่สูงส่งซึ่งคงพอจะเดากันออกเพื่อรอดพ้นจากพงหนามถูกตามเช็ดล้างทางการเมือง

แต่ก็มีคำถามตามมาว่า พรรคพลังประชารัฐจะเสนอใครเป็นนายกรัฐมนตรี หรือกระทั่งถามว่าฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้จะมีใครที่โดดเด่นพอที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนประยุทธ์ของฝ่ายอนุรักษนิยม ถ้าพูดกันจริงต้องตอบว่ายังมองไม่เห็น

แม้ว่าจะมีนายอนุทิน ชาญวีรกุล เป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่ทั้งสองคนนี้ผลสำรวจโพลครั้งไหนก็ไม่สามารถดันขึ้นมาอยู่ในลำดับต้นๆได้

ล่าสุดโพลของสถาบันทิศทางไทยที่นำโดยนายเวทิน ชาติกุล รองศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย และนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ที่เป็นขุนพลข้างกายของพล.อ.ประยุทธ์ และเป็นทัพหน้าของฝ่ายอนุรักษนิยมก็ได้ผลสำรวจออกมาว่า คนที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีก็คือนางแพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง วัย 36 ปีที่มีวัยเดียวกับนางซันนา มารีน นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ที่กำลังเผชิญกระแสต่อต้านจากสังคม หลังคลิปวิดีโอที่เธอไปร่วมสังสรรค์และเต้นรำและคลอเคลียกับชายหนุ่มที่ไม่ใช่สามีด้วยลีลาเร้าใจหลุดออกมา

โดยผลการสำรวจทั้งประเทศพบว่า อันดับ 1 แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ร้อยละ 33.88 ตามด้วยอันดับ 2 พล.อ. ประยุทธ์ ร้อยละ 29.16 อันดับ 3 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร้อยละ 17.02 อันดับ 4 จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 7.28 อันดับ 5 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 6.34

น่าสนใจนะครับว่า ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ไม่ลงสมัครหรือเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคพลังประชารัฐจะส่งใครเป็นแคนดิเดตที่มีความโดดเด่นพอซึ่งขณะนี้ยังมองไม่เห็น หรือความหวังของฝ่ายอนุรักษ์ที่จะดันพรรคใหม่อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติที่มี “นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค”  แทน ก็ยังมองไม่เห็นครับว่านายพีระพันธ์จะมีความนิยมมากได้อย่างไร

จึงน่าสนใจว่า เสียงของฝ่ายอนุรักษนิยมที่เคยจะเลือกพล.อ.ประยุทธ์จะมาลงให้ใครแทน เพราะถ้าฝ่ายอนุรักษ์ลงคะแนนในเชิงยุทธศาสตร์ ร้อยละ 29.16 ที่ลงให้พล.อ.ประยุทธ์เมื่อมาบวกกับนายจุรินทร์หรือนายอนุทินก็อาจชนะนางแพทองธารที่ได้ร้อยละ 33.88

ขณะที่ผลสำรวจต่อคำถามที่ว่า ‘พรรคการเมืองที่อยากให้เข้ามาบริหารประเทศ’ ผลการสำรวจทั้งประเทศพบว่า อันดับ 1 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 33.46 อันดับ 2 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 28.30 อันดับ 3 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 17.30 อันดับ 4 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 8.02 อันดับ 5 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 6.72 อันดับ 6 พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 0.64 และพรรคอื่นๆ 5.56

พรรคเพื่อไทยมีแนวโน้มว่าจะเป็นพรรคอันดับ 1 แน่ๆ อยู่แล้วเช่นเดียวกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 แต่น่าสนใจว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นครั้งหน้านั้นพรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์ได้สมกับราคาคุยหรือไม่ เพราะถ้าจะเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและพันธมิตรจะต้องรวบรวมเสียงส.ส.ได้เกิน 250 คน เพื่อบีบกลไกของ 250ส.ว.ที่ยังมีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีอีก 1 ครั้งไม่กล้าจะหักหาญไปเทคะแนนเสียงให้อีกฝั่งที่มีเสียงในสภาผู้แทนไม่ถึงกึ่งหนึ่งพราะถ้าทำอย่างนั้นจะบริหารประเทศไม่ได้อยู่ดี เพราะจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย

ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้ถ้ามองลงไปจะเห็นได้ว่ามีพรรคภูมิใจไทยเท่านั้นที่น่าจะยังมีพลังมากกว่าพรรคการมืองอื่นทั้งการไหลเข้าของนักการเมืองบ้านใหญ่ในหลายจังหวัด ทั้งพลังทุนทรัพย์จากการบริหารสองกระทรวงใหญ่ในรัฐบาลประยุทธ์ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์นั้นยังมองไม่เห็นเลยว่า จะพื้นตัวในการเลือกตั้งในกทม.หรือไม่ หรือแม้แต่ในภาคใต้ก็จะต้องเผชิญกับมิตรร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทยที่มุ่งมั่นจะเจาะฐานเสียงภาคใต้ให้ได้มากกว่าเก่าหลังจากที่ทำสำเร็จมาแล้วหลายจังหวัดภาคใต้ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว

ตอนนี้เชื่อกันว่าในระหว่าง 3 พรรคใหญ่ร่วมรัฐบาลพรรคภูมิใจไทยน่าจะมีทรงดีที่สุดในการเลือกตั้งครั้งหน้า คือน่าจะได้มากกว่าเดิม ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์เชื่อกันว่าน่าจะได้ที่นั่งน้อยลง ดังนั้นฝั่งนี้จึงฝากความหวังไว้กับพรรคภูมิใจไทยในการลดทอนที่นั่งส.ส.ในภาคอีสานของพรรคเพื่อไทยเพื่อสกัดแลนด์สไลด์

ส่วนในกทม.ดูจากผลเลือกตั้งผู้ว่าและสก.แล้วเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจะกวาดที่นั่งไปไม่น้อย

ดังนั้นปัญหาตอนนี้ของฝ่ายอนุรักษนิยมก็คือ ถ้าเลือกตั้งครั้งหน้าพล.อ.ประยุทธ์ไม่ไปต่อจะมีใครที่มีความโดดเด่นพอที่จะขึ้นมาสู้กับฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งมีความโดดเด่นทั้งนางแพทองธารและนายพิธาของพรรคก้าวไกลที่มีเสียงจากคนรุ่นใหม่ และถ้าพูดกันตอนนี้ต้องยอมรับนะครับว่า ยังมองไม่เห็นเลยว่าในฝ่ายอนุรักษนิยมจะมีใครจะมาแทนพล.อ.ประยุทธ์ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ต้องวางมือ

และเกิดคำถามว่า ฝ่ายความมั่นคงและคนไทยจำนวนหนึ่งที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จะยอมรับรัฐบาลของอีกฝ่ายได้ไหม ถ้าประชาชนเสียงข้างมากให้อีกฟากฝั่งขึ้นมาเป็นรัฐบาล เพราะต้องยอมรับว่าในฝั่งที่อ้างตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตยนั้นมีพวกปฏิกษัตริย์นิยมอยู่ หากเป็นเช่นนั้นจะเกิดความขัดแย้งและมีประชาชนออกมาต่อต้านไหม

หรือถ้าฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้สามารถเอาชนะเสียงโพลกลับมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลได้อีก มวลชนของฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจะยอมรับได้ไหม

หรือสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะออกทางไหนเราก็ยังออกไม่พ้นวังวนของความขัดแย้ง

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น