xs
xsm
sm
md
lg

เลือกตั้งใหม่ฝ่ายไหนจะชนะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ตอนนี้ได้รับคำถามว่าจะยุบสภาฯ มั้ยบ่อยมาก ผมจะตอบด้วยความคิดเห็นส่วนตัวว่าไม่น่าจะยุบสภาฯ เพราะสถานการณ์ตอนนี้รัฐบาลไม่ได้เปรียบพรรคร่วมฝ่ายค้าน ถ้าจะยุบสภาฯ ก็น่าจะใกล้หมดสมัยมากๆ แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะอยู่ไปจนครบสมัยประชุมมากกว่า

และมีอีกคำถามหนึ่งที่มักถูกถามคือในการเลือกตั้งครั้งหน้าถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐจะเขาร่วมรัฐบาลไหม คำตอบของผมคือมีความเป็นไปได้ ถ้าพรรคพลังประชารัฐไม่มีชื่อของพล.อ.ประยุทธ์อยู่ในพรรค หรือถ้าพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ

มาที่คำถามว่าจะยุบสภาฯ หรือไม่ การยุบสภาฯ และการอยู่จนครบสมัยแล้วไปเลือกตั้งใหม่นั้นมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ถ้าหากยุบสภาฯ ต้องกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ภายใน 45วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ผู้สมัครต้องสังกัดพรรคใหม่ได้ในระยะเวลาไม่เกิน 30 วันจนถึงวันเลือกตั้ง จึงจะลงสมัคร ส.ส.ได้

จะเห็นว่า การยุบสภาฯ เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ ส.ส.ย้ายพรรคได้ง่ายกว่า เพราะต้องเป็นสมาชิกพรรคเพียง 30 วันเท่านั้น ดังนั้นหากมีการยุบสภาฯ เกิดขึ้นถ้าจะย้ายพรรคก็สามารถทำได้ทันโดยไม่มีปัญหา

แต่ในกรณีรัฐบาลอยู่จนครบวาระ 4 ปี การเลือกตั้งจะต้องมีขึ้นภายใน 45 วัน และต้องสังกัดพรรคไม่น้อยกว่า 90 วัน ดังนั้นถ้าจะย้ายพรรคคนที่เป็น ส.ส.อยู่จะต้องรีบลาออกจากตำแหน่งก่อนหมดสมัยแล้วไปอยู่พรรคใหม่ สภาฯ ชุดนี้จะครบวาระในวันที่ 24 มีนาคม ถ้าเลือกตั้งนับไปข้างหน้า 45 วัน วันที่สังกัดพรรคก็ต้องย้อนขึ้นไปก่อนครบวาระสภาฯ 45 วัน ก็หมายความว่าถ้าจะย้ายพรรคก็ต้องเข้าเป็นสมาชิกใหม่ภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์เป็นอย่างช้าจึงจะสามารถเป็นสมาชิกพรรคนั้นไม่น้อยกว่า 90 วัน

ถ้าพิจารณาดูแล้วสมาชิกพรรคพลังประชารัฐอาจจะเป็นพรรคที่มีโอกาสที่สมาชิกจะย้ายออกมาก เพราะในสมัยที่แล้วหลายคนเข้ามาอยู่ด้วยแรงกดดันของ คสช. เข้ามาด้วยกระแสของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐจะต้องเป็นแกนนำรัฐบาลแน่ๆ เพราะเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเพื่อพวกเขาโดยเฉพาะ แต่การเลือกตั้งครั้งหน้าปัจจัยที่ได้เปรียบของพรรคพลังประชารัฐไม่น่าจะมีอยู่แล้ว ไม่ว่ากระแสของพรรคหรือกระแสของพล.อ.ประยุทธ์ และเสียง 250 ส.ว.ก็ไม่น่าจะมีความหมาย ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้ไม่สามารถรวบรวมเสียง ส.ส.ได้ถึง 250 คน

ดังนั้นเชื่อว่า รัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำน่าจะเลือกอยู่จบครบวาระมากกว่าจะยุบสภาฯ เพื่อไม่ให้เลือดไหลออกได้ง่าย ใครจะย้ายหนีก็ต้องลาออกจาก ส.ส.ก่อนครบสมัย

ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่พรรคพลังประชารัฐถือแต้มต่อทั้งรัฐธรรมนูญและอำนาจรัฐนั้นพรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส.มา 121 คน แม้ตอนหลังจะมีพรรคเล็กบางคนย้ายเข้ามา 1-2 คน แต่สุดท้ายร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่าก็นำ ส.ส.ออกไปอยู่พรรคใหม่ 20 คน ทำให้พรรคพลังประชารัฐเหลือ ส.ส.อยู่ประมาณ 100 คน และครั้งที่แล้วมวลชนฝ่ายอนุรักษนิยมเลือกพรรคพลังประชารัฐโดยทอดทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ที่มีฐานเสียงเดียวกัน เพราะต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่มีคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์จะหลุดรอดเงื่อนไข 8 ปีไหม ถ้าไม่รอดก็ยังมองไม่เห็นเลยว่าใครจะมาเป็นตัวชูโรงแทนพล.อ.ประยุทธ์

หรือถ้าหลุดรอดแต่ยังเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกเพียง 2 ปี ในสมัยหน้าพล.อ.ประยุทธ์จะยังเป็นแคนดิเดตของพรรคพลังประชารัฐอีกไหมถ้าเหลือวาระแค่ 2 ปี หรือสมมติว่าพล.อ.ประยุทธ์ยังลงได้อีกสมัย กระแสความนิยมของพล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะคนไม่น้อยเริ่มเบื่อเพราะเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 8 ปี

ต้องยอมรับว่าวันนี้กระแสของพรรคพลังประชารัฐตกต่ำลงมากถ้าเทียบกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีโอกาสมากที่นักเลือกตั้งในพรรคพลังประชารัฐหลายคนจะย้ายพรรคหนี ต้องไม่ลืมว่ามีสมาชิกของพรรคพลังประชารัฐไม่น้อยที่มาจากพรรคเพื่อไทย ดังนั้นจึงมีโอกาสมากที่ ส.ส.กลุ่มนี้จะย้ายกลับพรรคเพื่อไทยด้วยกระแสที่พรรคเพื่อไทยกำลังมาแรงจากผลโพลเกือบทุกสำนัก

ดังนั้นฟันธงได้เลยว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคพลังประชารัฐจะได้ ส.ส.น้อยกว่าในสมัยที่แล้วจำนวนมาก ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ยังไปได้อีก 1 สมัยก็จะน้อยกว่าเดิมเช่นกัน แต่อาจจะไม่หนักหนามากนัก แต่ถ้าไม่มีพล.อ.ประยุทธ์ก็จะลดลงอย่างมาก

ถามว่าหากพรรคพลังประชารัฐได้ที่นั่งน้อยลง จะเกิดผลดีกับพรรคประชาธิปัตย์ที่มีฐานเสียงเดียวกันไหม ผมก็คิดว่าไม่น่าจะมี พรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์นั้นมีฐานเสียงที่ทับซ้อนกันในกรุงเทพฯ และภาคใต้ แต่เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าใน กทม.จะสูญเสียที่นั่งให้กับพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ถ้าดูจากการเลือกตั้ง ส.ก.ที่ผ่านมา

ส่วนในภาคใต้ยกเว้น 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้นจะขับเคี่ยวกัน 3 พรรคระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย แม้พรรคประชาธิปัตย์น่าจะยังได้มากกว่าใคร แต่ก็น่าจะน้อยลง แต่เชื่อว่าพรรคที่น่าจะได้เพิ่มขึ้นคือพรรคภูมิใจไทย

ตอนนี้เราจึงเริ่มเห็นพรรคที่จะแย่งชิงเก้าอี้ในภาคใต้ซึ่งอยู่ร่วมรัฐบาลด้วยกันเปิดศึกสงครามน้ำลายกันไปมา ทั้งพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์ที่มีเสียงเรียกร้องจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐให้เรียกกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ คืนจากพรรคประชาธิปัตย์ และวิวาทะระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย

ต้องยอมรับนะครับว่า ตอนนี้สถานการณ์ของพรรคร่วมรัฐบาลกำลังตกเป็นรองพรรคของฝั่งที่อ้างตัวว่า เป็นฝ่ายประชาธิปไตย ตอนนี้ไม่ว่าโพลไหนต่างปรากฏว่าคนที่ผลสำรวจเชื่อกันว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งหน้าคือ แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็กของทักษิณ ที่วันนี้เราเห็นอาการของทักษิณว่าเขากำลังเริงร่าเพราะเชื่อมั่นในชัยชนะมาก

พรรคเพื่อไทยนั้นเป็นพรรคที่จะได้ ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 อยู่แล้ว แต่อยู่ที่ว่าจะแลนด์สไลด์สมกับคำขู่หรือไม่ หรือว่าจะสามารถรวบรวม ส.ส.ได้เกิน 250 คนเพื่อกดดัน 250 ส.ว.หรือไม่ ถ้าทำได้ก็มีโอกาสมากที่พรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทยอาจจะไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย มีพรรคเดียวที่ไม่น่าจะไปร่วมคือพรรคประชาธิปัตย์

มีทางเดียวที่จะไม่เปลี่ยนขั้วก็คือ การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้ยังรวมกันได้เกิน 250 คนและยังจับมือกันอย่างเหนียวแน่ ถามว่าความเป็นไปได้พอมีไหม ก็น่าจะพอมีถ้าพรรคภูมิใจไทยสามารถเบียดพรรคเพื่อไทยได้มากในภาคอีสาน และเป็นไปได้ว่าในฝั่งนี้พรรคที่น่าจะมี ส.ส.มากที่สุดคือพรรคภูมิใจไทยไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐ ถ้าเช่นนั้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรีก็เป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล

หากให้ตอบว่าพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้จะกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีกไหม ก็ต้องตอบว่ายังพอมี แต่โอกาสน้อยมากที่จะชนะฝั่งที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยที่กระแสกำลังแรงได้

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น