xs
xsm
sm
md
lg

จากกอร์บาชอฟถึงปูติน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์


มิคาอิล กอร์บาชอฟ
มิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียตคนสุดท้ายถึงแก่อสัญกรรมในวัย 91 ปี หลังจากต่อสู้กับโรคเรื้อรัง โลกต้องจดจำบทบาทของกอร์บาชอฟในการหยุดสงครามเย็นกับโลกตะวันตกนำโดยผู้นำสหรัฐฯ โรนัลด์ เรแกน ซึ่งเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้หลายปี

เรแกนเคยประกาศ “มิสเตอร์กอร์บาชอฟ ได้โปรดทำลายกำแพง (เบอร์ลิน) เสียเถอะ” จากนั้นอีกไม่นาน ผลของนโยบายเปิดเผย ความโปร่งใส และปฏิรูป ทำให้เกิดการลุกฮือในกลุ่มประเทศในม่านเหล็ก นำไปสู่การล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์

จากนั้นก็นำไปสู่การรวมตัวของเยอรมนีตะวันตกและตะวันออก กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกได้เข้าสู่ระบบการค้าเสรี มีการเมืองเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย

กอร์บาชอฟรู้สึกอย่างไรไม่มีใครบอกได้ว่าการล่มสลายของสหภาพโซเวียตนั้น หมายถึงความพ่ายแพ้ต่อโลกเสรี เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ทำให้สหภาพโซเวียตอ่อนแอ ขาดแคลนสินค้า อาหาร ประชาชนอยู่ในความลำบาก

สงครามในอัฟกานิสถาน 10 ปี ทำให้ประเทศอ่อนแอ ความสูญเสียกำลังทหารและเงินทองมหาศาลในสงคราม ซึ่งสหรัฐฯ ได้ช่วยเหลือกลุ่มกองกำลังมูจาฮีดีน ทำให้กอร์บาชอฟต้องถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน นำไปสู่วิกฤตการเมืองรุนแรง

การปฏิรูประบบการเมืองและโครงสร้างสังคม ความโปร่งใส ที่เรียกว่า Glasnost and Perestroika ได้ทำให้เกิดความตื่นตัว ความหวังใหม่ของคนรัสเซียว่าอนาคตของประเทศน่าจะดีขึ้นเมื่อพ้นจากระบอบคอมมิวนิสต์ที่เข้มงวด

กอร์บาชอฟไม่มีทางเลือกอื่น ไม่สามารถต้านกระแสบรรยากาศเสรีภาพได้

กอร์บาชอฟได้ร่วมทำข้อตกลงกับโลกตะวันตก มีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ มีข้อตกลงว่านาโตจะไม่ขยายอาณาเขตจากที่เป็นอยู่ในขณะนั้น “แม้แต่นิ้วเดียว” หมายความว่านาโตจะไม่แสวงหาสมาชิกใหม่

ช่วงนั้นหลายประเทศในยุโรปตะวันออกที่เคยอยู่ภายในม่านเหล็กของระบอบคอมมิวนิสต์ต้องการระบบเศรษฐกิจเสรี จึงพยายามเข้าร่วมกับประชาคมยุโรป และนั่นเองทำให้สหรัฐฯ และนาโตต้องการกลุ่มประเทศเหล่านี้เป็นสมาชิกด้วย

ถือว่าเป็นการผิดคำมั่นสัญญาซึ่งนำไปสู่สงครามยูเครน ช่วงการคืบขยายของนาโต กอร์บาชอฟก็ได้รับรู้โดยตลอดถึงการละเมิดข้อตกลง แต่ทำอะไรไม่ได้ แต่มีผู้ที่เฝ้ามองสถานการณ์เปลี่ยนแปลง การล่มสลายของสหภาพโซเวียตด้วยความเจ็บช้ำ

นั่นคือวลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เคจีบี หน่วยสืบราชการลับประจำการในกรุงเบอร์ลินตะวันออก ความเจ็บปวดในความรู้สึกเมื่อเห็นการล่มของอาณาจักรรัสเซียที่เคยยิ่งใหญ่ และการผยองอำนาจของโลกตะวันตก เป็นการฝังแค้นของปูติน

กอร์บาชอฟสิ้นอำนาจแบบไม่สวย การเมืองรัสเซียวุ่นวาย มีความพยายามรัฐประหารโดยทหารบางหน่วย ใช้รถถังยิงอาคารรัฐสภา ทำให้สถานการณ์สร้างวีรบุรุษคนใหม่ นั่นคือบอริส เยลต์ซิน ซึ่งกระโดดขึ้นบนรถถัง หยุดการรัฐประหาร

เมื่อสิ้นอำนาจ บอริส เยลต์ซิน ได้เป็นผู้นำรัสเซีย ซึ่งเหลือมิตรประเทศไม่มาก ผู้ที่อยู่ข้างกายเยลต์ซินก็คือปูติน ซึ่งรับบทที่ปรึกษาและผู้ช่วย แต่จ้องหาจังหวะในการไต่ขึ้นสู่อำนาจ เพราะเยลต์ซินต้องสู้กับปัญหาสุขภาพและความอยู่รอดของเศรษฐกิจ

การเปิดระบบเสรีในรัสเซียทำให้เกิดการลงทุน มีเจ้าพ่อทางธุรกิจเจ้าของสัมปทานมากมาย การพัฒนาทุกด้าน เปิดรับการลงทุนจากโลกตะวันตก ทำให้รัสเซียเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตร การพัฒนาอาวุธ เมื่อมีการแข่งขันเต็มที่ในการค้าเสรี

เมื่อปูตินก้าวขึ้นเป็นผู้นำรัสเซียแทนเยลต์ซิน ความแค้นที่เห็นการล่มสลายของอาณาจักรรัสเซียในระบอบคอมมิวนิสต์ทำให้ปูตินวางนโยบายฟื้นฟูประเทศ ความเป็นผู้นำทรงอิทธิพล มีเครือข่ายนักลงทุนระดับเจ้าพ่อ ทำให้เศรษฐกิจก้าวรุดหน้า

คนรัสเซียได้รับบรรยากาศของประชาธิปไตย การศึกษา วิทยาการสมัยใหม่ เสรีภาพในการเดินทางนอกประเทศ ทำให้รัสเซียก้าวตามโลกตะวันตกได้ทันและซุ่มพัฒนาอาวุธและแสนยานุภาพ สร้างฐานให้แข็งแกร่งด้านอาหาร และพัฒนาพลังงาน

รายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติถือเป็นพลังหนุนด้านเศรษฐกิจ มีงบประมาณสำหรับพัฒนาอาวุธและเทคโนโลยียุคใหม่

ปูตินต้องการฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรรัสเซีย ไม่ให้ถูกหยามโดยโลกตะวันตกอีกต่อไป และก็ทำได้สำเร็จหลังจากการซุ่มพัฒนา และได้ทำให้โลกตะวันตกได้เห็นเมื่อรัสเซียได้ช่วยเหลือซีเรียในการต่อสู้กับขบวนการไอซิสจนพ่ายแพ้สิ้นสภาพ

รัสเซียได้โชว์เครื่องบินรบ อาวุธหลากประเภท ล้ำหน้าโลกตะวันตก

การเอาคืนจึงเริ่มต้นเมื่อยูเครนต้องการเป็นสมาชิกนาโต และปูตินเตือนหลายครั้ง นับตั้งแต่ 14 ประเทศในยุโรปตะวันออกได้เข้าร่วมไปก่อนหน้านี้ ทำให้พรมแดนนาโตรุกประชิดรัสเซีย และยูเครนถือเป็นประเทศสำคัญ ที่ขนาดใหญ่ ติดกับรัสเซีย

เมื่อสงครามยืดเยื้อมานาน 6 เดือน เป้าหมายของปูตินไม่ใช่เพียงยูเครน แต่เป็นยุโรปทั้งทวีปและอังกฤษที่เป็นเป้าหมายของการเอาคืน ด้วยการลดการส่งก๊าซ ทำให้ยุโรปต้องเผชิญกับการขาดแคลนพลังงาน มีวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรง เงินเฟ้อ

คนยุโรปและอังกฤษจะเผชิญวิกฤตเมื่อฤดูหนาวมาถึง เศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอย ค่าครองชีพสูง การขาดแคลนอาหาร สินค้าอุปโภค บริโภค อย่างที่ไม่เคยเกิด

ปูตินตอบโต้ใช้พลังงานเป็นอาวุธ หลังจากต้องลำบากช่วงแรกของสงครามเพราะการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องโดยสหรัฐฯ อังกฤษ และยุโรป ปัจจุบันรัสเซียส่งก๊าซให้ 20 เปอร์เซ็นต์ของที่เคยส่ง โดยยุโรปไม่มีทางเลือกอื่นเพื่อให้รอด

กอร์บาชอฟคงนอนตายตาหลับ เมื่อยุโรปที่ผิดคำมั่นต้องลำบากอีกหลายปี


กำลังโหลดความคิดเห็น