xs
xsm
sm
md
lg

กาลเวลา : ปัจจัยชี้ขาดความมีความเป็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง



“กาลเวลา ย่อมกลืนกินตัวมันเอง และอายุของสรรพสัตว์” นี่คือ พุทธที่พระพุทธองค์สอนเกี่ยวกับความมี ความเป็นของสรรพสัตว์และสรรพสิ่งที่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ตามกฎแห่งอนิจจตาคือ ความไม่เที่ยง

โดยนัยแห่งพุทธพจน์ข้างต้นอธิบายขยายความในเชิงปรัชญาได้ว่า ความมีและความเป็น ซึ่งเกี่ยวข้องกับสรรพสัตว์และสรรพสิ่งจะเป็นปัจจัยกำหนดการเกิดขึ้นดำรงอยู่ และดับไปของสิ่งเหล่านี้หรือที่เรียกว่า อายุ หรือวาระแห่งการดำรงอยู่โดยนัยตั้งแต่การเริ่มต้นของความมี และความเป็นไปจนกระทั่งสิ้นสุดแห่งอายุหรือวาระแห่งความมี และความเป็นนั้น

ดังนั้น มนุษย์ทุกคนจึงผูกพันอยู่กับความมี ความเป็น ตามนัยแห่งวิชาจริยศาสตร์ที่สอนไว้ว่า มนุษย์เราทุกคนเกี่ยวข้องกับ 2 สิ่งคือ

1. สิ่งที่เราเป็นหรือ What we are

2. สิ่งที่เรามีหรือ What we have

ทั้งสิ่งที่เราเป็นและสิ่งที่เรามีเกี่ยวข้องกับกาลเวลา เริ่มตั้งแต่การเกิดขึ้น การดำรงอยู่ไปจนถึงจุดจบของความดี ความเป็น ก็กำหนดนับด้วยกาลเวลาทั้งสิ้น

ยกตัวอย่าง ถ้าเราถามว่าเขาคนนั้นเธออายุเท่าไหร่ผู้ถูกถามจะต้องย้อนไปนับตั้งแต่วันที่ตนเองเกิดมาจนถึงวันที่ถูกถาม เพื่อนับรวมวัน เวลาที่ตนเองมีอายุรวมเป็นเท่าไหร่ จึงจะตอบได้ถูกต้องว่าตนเองมีอายุเท่าไหร่

จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ว่าการคิดระยะเวลาจะต้องนับจากจุดเริ่มต้นของความมี ความเป็นเสมอ จะตัดตอนหรือตัดช่วงเวลาซึ่งต่อเนื่องกันมาตอนใดตอนหนึ่งทิ้งไป ทำให้ขาดความต่อเนื่องไม่ได้

ยิ่งถ้ามีการระบุให้นำความมี ความเป็นของสิ่งเดียวกันที่ผ่านมารวมกันด้วยแล้ว ยิ่งจะต้องนำมาปะติดปะต่อกันทุกห้วงแห่งเวลาที่ความมี ความเป็นดำรงอยู่ จึงจะได้ผลบวกที่ต้องสมบูรณ์

แต่เวลานี้ได้เกิดแนวคิดในการนับระยะเวลาที่ความมี ความเป็นดำรงอยู่ใหม่ผิดแผกไปจากความเป็นจริงที่ควรจะเป็น และแนวความคิดที่ว่านี้ก็คือความเกี่ยวกับการนับเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งจะครบ 8 ปีในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 โดยนับจากวันที่พล.อ.ประยุทธ์ เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2557 และถ้านับตามนี้พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ซึ่งประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2562 และมีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน

แต่มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งมีความเห็นว่า การนับเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นปีที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2562 ประกาศใช้

ด้วยความแตกแยกแห่งความคิดดังกล่าวนี้เอง จึงทำให้ผู้คนในสังคมแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคือ

1. ฝ่ายที่เห็นว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ ครบ 8 ปีในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 และนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ ควรแสดงความเคารพต่อกฎหมายด้วยการลาออกก่อน 23 สิงหาคม

2. ฝ่ายที่เห็นว่า การนับเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ครบ 8 ปีในวันที่ 23 สิงหาคม แต่จะครบในปี พ.ศ. 2568 จึงไม่จำเป็นต้องลาออกแต่ประการใด

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ทุกคนมีสิทธิคิดและตีความตามความเห็นของแต่ละคน ส่วนจะตรงกับความจริงหรือไม่ จะต้องรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามที่ทางสภาผู้แทนราษฎรได้ยื่นคำร้องต่อศาลไปแล้ว

ดังนั้น ในขณะที่เขียนบทความนี้ จึงมีแต่ความขัดแย้งทางความคิดเท่านั้นที่ดำรงอยู่ และจะแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างยิ่งขึ้นจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย จึงจะได้ข้อสรุป


กำลังโหลดความคิดเห็น