หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
สงครามสีเสื้อจากเอาทักษิณไม่เอาทักษิณวันนี้เปลี่ยนมาเป็นไม่เอาประยุทธ์กับเอาประยุทธ์ พวกที่รุกไล่เรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก ทั้งปัญญาชน อาจารย์มหาวิทยาลัย หมอชนบท และมวลชนบางกลุ่มที่เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีในวันที่ 24 สิงหาคมเนื่องจากครบ 8 ปีนั้นเป็นพวกไม่เอาประยุทธ์อย่างไม่ต้องสงสัย
แม้ว่าความเห็นทางกฎหมายในวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 จะแตกความเห็นเป็น 3 ทาง แต่พวกไม่เอาประยุทธ์ก็เรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ออกไปเพื่อตอบสนองความเชื่อของตัวเอง แม้เรื่องนี้จะรู้อยู่แล้วว่าจะตัดสินกันด้วยเสียงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่พวกที่ไม่เอาประยุทธ์ก็ต้องการให้ลาออกทันทีโดยไม่สนใจขื่อแปของบ้านเมืองและกระบวนการยุติธรรม
เป็นเรื่องของอารมณ์ความโกรธเกลียดและชิงชังล้วนๆ และเชื่อเลยว่า เมื่อคนกลุ่มหนึ่งปักใจในความเชื่อของตัวเองแล้ว ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินออกมาไม่ตรงกับความเชื่อและความต้องการของตัวเองแล้วก็จะไม่ยอมรับอย่างแน่นอน และจะใช้เงื่อนไขนี้ออกมาชุมนุมบนท้องถนน
สังคมไทยจึงออกจากความขัดแย้งไม่พ้นเราติดล่มความขัดแย้งมาแล้วเกือบสองทศวรรษและไม่มีทีท่าเลยว่าจะจบลงเมื่อไหร่ เพราะความเชื่อของมวลชนสองฝ่าย ไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่เกิดจากความเชื่อว่าอีกฝ่ายหนึ่งชั่วอีกฝ่ายหนึ่งเลว ทั้งสองฝั่งต่างมีความคิดแบบเดียวกันฟากการเมืองที่ตัวเองชอบเป็นคนดี ฟากการเมืองตรงข้ามเป็นคนเลว
เหมือนต่างฝ่ายต่างมองผ้าสีขาวของอีกฝ่ายว่าดำ และมองผ้าสีดำของตัวเองว่าขาว ทั้งที่ความจริงแท้ผ้าสีขาวย่อมเป็นสีขาว และผ้าสีดำย่อมเป็นสีดำ
พวกเอาประยุทธ์นั้นไม่เอาทักษิณและพวกเอาทักษิณนั้นไม่เอาประยุทธ์ พวกเอาประยุทธ์นั้นเชื่อมั่นและศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่พวกไม่เอาประยุทธ์แม้มวลชนส่วนหนึ่งยังคงยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกัน แต่มีพวกไม่เอาสถาบันพระมหากษัตริย์แฝงอยู่ด้วย และวันนี้มวลชนฮาร์ตคอร์เหล่านั้นบางคนได้ผละออกไปจากพรรคของทักษิณ เพราะมองว่าพรรคของทักษิณนั้นสู้ไปกราบไป แต่หันไปสนับสนุนพรรคที่แสดงออกถึงความมุ่งมั่นที่จะท้าทายเพื่อลดทอนบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่า
พวกนี้เรียกร้องให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทั้งที่ความจริงพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมาแล้วตั้งแต่ปี 2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง แต่ข้อเรียกร้องที่แท้จริงของพวกเขามีมากกว่านั้น แต่ไม่อาจแสดงออกมาอย่างชัดแจ้งได้ด้วยเงื่อนไขของกฎหมาย โดยเฉพาะพวกรุ่นใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังเด็กๆนั้นรู้จำแนกในการใช้ถ้อยคำและใช้ความระมัดระวังในคำพูดที่กฎหมายไม่อาจเอื้อมไปถึงได้ แต่คนรุ่นใหม่ที่พวกนี้ใช้เป็นเครื่องมือกลับไม่ได้ใช้ความระมัดระวังจนถูกดำเนินคดีจำนวนมาก
ดังนั้นในสงครามที่เอาทักษิณและไม่เอาทักษิณ เอาประยุทธ์และไม่เอาประยุทธ์นั้น ไม่ได้แค่ขีดวงขีดแย้งกันในความเชื่อแบ่งฝักฝ่ายการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่มีความเชื่อเรื่องเอาสถาบันและไม่เอาสถาบันพระมหากษัตริย์แอบแฝงอยู่ด้วย
เรามองไม่เห็นเลยว่าจุดจบของความขัดแย้งทางการเมืองของเราจะจบลงเมื่อไหร่ และไม่ว่าฝ่ายไหนขึ้นมาปกครองก็จะถูกต่อต้านจนขาดเสถียรภาพทางการเมือง เพราะประชาชนฟากหนึ่งจะไม่ยอมรับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากฝ่ายที่ตัวเองสนับสนุน ไม่มีวันเลยที่เราจะกลับมาสามัคคีกันได้ มองสีขาวแล้วเห็นเป็นสีขาวเหมือนกันและมองสีดำแล้วเห็นเป็นสีดำเหมือนกัน
ปรากฎการณ์เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและการเติบโตของประเทศถ้าเรามองไปประเทศอื่นที่ไม่มีความขัดแย้งของคนในชาติ รัฐบาลของเขาจึงมีเสถียรภาพและมีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าแม้เขาจะเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจจากสงครามและโรคระบาดเหมือนเราก็ตาม
แต่อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า ความขัดแย้งทางการเมืองได้ลุกลามมาสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ คนกลุ่มหนึ่งได้ฉวยโอกาสใช้ความขัดแย้งของสงครามไทยปลุกปั่นความเชื่อเรื่องชนชั้นและความไม่เท่าเทียมกันเพื่อปลูกฝังคนรุ่นใหม่ให้ชิงชัยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งๆที่สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยนั้นได้สร้างคุณูปการต่อประเทศอย่างเอนกอนันต์และเป็นที่ยึดมั่นทางจิตใจของคนไทยส่วนใหญ่ พวกนี้เชื่อว่าสุดท้ายแล้วชัยชนะจะเป็นของพวกเขา เพราะคนรุ่นใหม่นั้นมีชีวิตที่ยืนยาวกว่าคนรุ่นเก่า และในอนาคตประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปตามที่พวกเขาปรารถนา
วันนี้ผู้เฒ่าหลายคนที่ซ่อนตัวอยู่ข้างหลังเด็กจึงมีความหวังว่าความปรารถนาของพวกเขาจะกลายเป็นความจริงและพวกเขาจะนอนตายตาหลับ
เหตุการณ์เดือนตุลาคมในอดีตที่เรามีความขัดแย้งในอุดมการณ์ทางการเมืองนั้น พวกคอมมิวนิสต์สามารถครอบงำความคิดของปัญญาชนและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยได้ส่วนหนึ่ง แต่ปัจจุบันพวกที่ต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและระบอบของรัฐสามารถปลุกปั่นคนรุ่นใหม่ได้เกือบทั้งเจนเนเรอชั่นและขยายช่วงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ
วันนี้คนที่มีอายุตั้งแต่ 18-39 ปีนั้นมีมากกว่า 20 ล้านคน เราต้องยอมรับเลยว่า คนรุ่นนี้มีความยึดมั่นต่อสถาบันชาติศาสนาและพระมหากษัตริย์น้อยมาก คนเหล่านี้จึงเชื่อมั่นต่อฟากการเมืองของพวกเขา ทำให้พรรคการเมืองที่มีจุดยืนร่วมกับคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์บนท้องถนนเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และในเชิงประมาณคนที่มีความคิดแบบนี้ไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้แต่ค่อยมีช่วงวัยที่มากขึ้นและทดแทนด้วยคนรุ่นใหม่เข้ามาเรื่อยๆ ในขณะที่คนที่ศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ค่อยๆล้มหายตายจากไป
การที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีผู้นำแบบพล.อ.ประยุทธ์ที่มาจากทหารและแข็งกร้าวไม่มีวันที่จะชนะใจคนรุ่นใหม่ได้เลย เพราะคนรุ่นใหม่มีความคิดที่ต้องการเสรีอิสระและเปิดกว้างไม่ต้องการอยู่ในกฎเกณฑ์และระเบียบที่แข็งตึงและมองว่าชาตินิยมเป็นเรื่องล้าหลัง ยิ่งชาตินิยมแบบไทยที่แฝงความมีชนชั้นทางสังคมด้วยแล้วยิ่งจะขัดแย้งกับความคิดที่พวกเขามองว่าโลกต้องมีเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน พวกเขาต้องการผู้นำที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดเปิดกว้าง อย่างว่าแต่จะให้คนรุ่นใหม่ยึดมั่นในความเป็นชาติเลย พวกเขายังสอนกันว่า พ่อแม่ไม่ได้มีบุญคุณด้วยซ้ำไป
ยิ่งนักการเมืองในโครงสร้างปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่มองว่าล้าหลังยังสร้างวิกฤตศรัทธาให้เกิดขึ้นเรื่อยๆ ความเชื่อมั่นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้ได้ของคนรุ่นใหม่ก็ค่อยๆมีความชอบธรรมมากขึ้น และยิ่งผลประโยชน์จากระบบอุปถัมภ์เส้นสายอำนาจชนชั้นถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแบ่งปันกันของกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มในประเทศนี้โดยไม่เปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีก็ยิ่งตอกย้ำว่าประเทศนี้ต้องการการเปลี่ยนแปลง
แม้ว่านักการเมืองทั้งสองฝ่ายไม่ว่าฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยแท้จริงแล้วไม่ได้มีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน แต่ในท่ามกลางความขัดแย้งของสังคมไทยวันนี้คนรุ่นใหม่เหล่านั้นกลับกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมืองฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย จนทำให้ฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยเชื่อมั่นว่า พวกเขาจะประสบชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้า
แท้จริงแล้วฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยนั้นเป็นเพียงการอุปโลกน์ขึ้นมาเพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมือง เพราะพรรคการเมืองใหญ่ในฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยก็เคยมีอำนาจทางการเมืองและกลับใช้อำนาจทางการเมืองอย่างฉ้อฉลมาก่อน
ต้องยอมรับว่ายากมากที่จะทำให้คนรุ่นใหม่หันมายอมรับค่านิยมแบบเก่าและไม่กลายเป็นเครื่องมือในการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองของอีกฝ่าย ดังนั้นทางออกคือผู้มีอำนาจต้องหันมามองยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของยุคสมัย และต้องทำให้คนรุ่นใหม่เหล่านั้นรู้ว่าพวกเขามีโอกาสเติบโตและแข่งขันในประเทศนี้อย่างเท่าเทียมกัน การเมืองไม่ใช่เครื่องมือในการแบ่งปันผลประโยชน์ของคนเพียงไม่กี่คนหรือไม่กี่กลุ่ม
ทำให้ประเทศนี้ต่อสู้กันด้วยเหตุผลความชอบธรรม นำประเทศออกจากความโกรธแค้นชิงชังแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และทำให้คนรุ่นใหม่เห็นว่าประเทศนี้ยังมีความหวัง
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan