ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็สั่งให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน ในการวินิจฉัยว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์จะครบวาระ 8 ปี เมื่อไหร่
มีการคาดการณ์ว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะใช้เวลาในการวินิจฉัยไม่นานนักเพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หากมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีโดยไม่ทำการไต่สวนก็ได้
โดยศาลรัฐธรรมนูญต้องมีการส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้ถูกร้องคือพล.อ.ประยุทธ์ และเมื่อผู้ถูกร้องได้รับสำเนาคำร้อง จะมีระยะเวลาในการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งในคดีที่มีความสำคัญเร่งด่วน ศาลอาจจะกำหนดระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาให้น้อยกว่า 15 วัน เพื่อให้การพิจารณาคดีรวดเร็วขึ้นก็ได้
มีการคาดการณ์กันว่าคดีจะพิจารณาแล้วเสร็จในเดือนกันยายน นอกจากนั้นคดีที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนนั้น มักจะมีแนวโน้มที่ศาลจะชี้ว่าเข้าเงื่อนไขที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งสูงมาก
แต่นับจากวันนี้ไปจนถึงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาคนที่น่าจะเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีก็คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่พล.อ.ประยุทธ์ยังสามารถเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีได้ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพียงแต่อาจจะมีคำถามถึงความเหมาะสมว่าควรจะเข้าร่วมประชุมหรือไม่
ส่วนตัวผมนั้นฟันธงมาตลอดว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์นั้นน่าจะครบ 8 ปีตามมาตรา 158 วรรค 4 เพราะคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บันทึกไว้ในหนังสือ “ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” หน้า 275 อธิบายความมุ่งหมายของมาตรา 158 ไว้ตอนหนึ่งว่า...
“การกำหนดระยะเวลา 8 ปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้”
แต่เป็นที่ทราบกันว่า นอกจากความเชื่อว่าจะพ้นวาระ 8 ปีในวันที่ 23 สิงหาคมแล้ว ยังเชื่อว่าจะพ้นตำแหน่งในวันอื่นออกไปอีก 2 ทางคือ นับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายน 2560 ก็จะหมดวาระ 8 ปีในวันที่ 5 เมษายน 2568 หรือเริ่มนับหนึ่งตอนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 คือ วันที่ 9 มิถุนายน 2562 ก็จะสามารถดำรงตำแหน่งได้ถึง 8 มิถุนายน 2570 คือสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก 1 สมัยถ้าสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า
ดูเหมือนว่าใน 3 ทางนั้นมีทางเดียวที่พล.อ.ประยุทธ์จะไปต่อได้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปคือต้องออกว่านับตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2562 เพื่อจะไปต่ออีกสมัย แต่ถ้ายังเหลือ 2 ปีคืออยู่ได้ถึง 2568 นับจากการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็เชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคพลังประชารัฐไม่น่าจะเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีก ส่วนถ้าหมดวาระ 23 สิงหานี้ก็จบสิ้นกันเลย
ทางที่เป็นคุณกับพล.อ.ประยุทธ์จึงมีทางเดียวกันคือเริ่มนับจากการเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2562 เพื่อโอกาสอยู่ต่อได้อีก 1 สมัย
ในขณะที่มีรายงานว่าในฝั่งรัฐบาลนั้นค่อนข้างจะมีความเชื่อไปในแนวทางว่า ศาลจะให้เริ่มนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้คืออยู่ได้ถึงปี 2568 ซึ่งก็จะทำให้พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งสมัยนี้ไปจนครบวาระ และพล.อ.ประยุทธ์น่าจะวางมือหลังจากนั้นไม่ไปต่ออีกเพราะเหลือวาระอยู่แค่ 2 ปี
แต่การที่ศาลมีคำสั่งให้พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ออกไปเช่นนี้ก็มีข้อดีคือทำให้ม็อบที่ออกมารุกไล่บนท้องถนนให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออกเพราะเชื่อว่าพ้นจากตำแหน่งแล้วต้องหยุดชะงักไปก่อน เพราะไม่มีเหตุผลที่จะมาเรียกร้องพล.อ.ประยุทธ์ลาออกทันทีตามความเชื่อของตัวเองว่า พล.อ.ประยุทธ์พ้นตำแหน่งแล้ว แต่ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้ม็อบยังรับไม่ได้อีกยังไม่ยอมหยุดรุกเร้าให้ลาออกทันทีก็จะสูญเสียความชอบธรรมในตัวเองไป
แต่อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า การที่ศาลให้พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วยมติ 5 ต่อ 4 นั้น มันก็สะท้อนความเชื่อของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คนว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจจะครบวาระในวันที่ 23 สิงหาที่ผ่านมา หากให้พล.อ.ประยุทธ์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ก็จะมีผลกระทบที่ตามมาหากภายหลังมีคำวินิจฉัยออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ครบวาระ 8 ปีในวันดังกล่าว หากยังปฏิบัติหน้าที่อยู่การออกคำสั่งต่างไปในระยะเวลานี้ก็จะมีปัญหาทันทีว่ามีผลทางกฎหมายหรือไม่
ผมคิดว่า สุดท้ายแล้วการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจจะเป็นทางออกของฝ่ายอนุรักษนิยมก็ได้ ถ้าศาลวินิจฉัยว่าพล.อ.ประยุทธ์พ้นจากตำแหน่งแล้ว เพราะต้องยอมรับนะครับว่า แม้จะมีคนจำนวนหนึ่งที่ยังสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์อยู่ชนิดที่เรียกว่าเป็นติ่ง แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่เริ่มเบื่อพล.อ.ประยุทธ์ เราไม่ต้องพูดถึงมวลชนฝั่งตรงข้ามนะเพราะพวกนั้นไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์แน่ แต่ที่สำคัญคือคนกลางๆ ที่จะเป็นผู้ชี้ขาดสำคัญเขาเริ่มเบื่อ
คนกลางๆ นี่แหละที่เป็นผู้ชี้ขาดว่าฝ่ายไหนจะชนะเพราะมวลชนสองฝั่งมีปริมาณที่ไม่ต่างกันนัก
ต้องยอมรับว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องกันมาตั้งแต่หลังรัฐประหารจนถึงวันนี้นั้นเป็นเวลา 8 ปีที่ยาวนานมากสำหรับคนไทยที่เบื่อง่าย และเมื่อบวกกับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคระบาด และสงครามทำให้คนจำนวนมากต้องการคนที่มีความสามารถและมีความรู้ในด้านเศรษฐกิจจริงๆ มาบริหารประเทศ
พูดกันตรงๆ นอกจากความเบื่อแล้วคนจำนวนมากเริ่มมองว่าพล.อ.ประยุทธ์ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสภาวะแบบนี้
แต่เดิมพันของฝ่ายอนุรักษนิยมนั้นคือ ความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ในท่ามกลางรุกเร้าของกระแสคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องให้ปฏิรูปเพื่อลดทอนบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ต้องการนายกรัฐมนตรีที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าจะรักษาระบอบและรูปแบบของรัฐเอาไว้ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่พล.อ.ประยุทธ์มีอยู่
ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ต้องพ้นจากตำแหน่งไปจริง ในขณะที่เสียงข้างมากในสภาฯ ยังเป็นของฝ่ายอนุรักษนิยม ดังนั้นก็อาจจะเป็นผลดีให้เลือกคนใหม่ขึ้นมาแทนพล.อ.ประยุทธ์แล้วจะใช้เวลาที่เหลืออยู่พิสูจน์ตัวเองให้คนกลางๆ เห็นว่ามีความรู้ความสามารถที่จะนำพาประเทศ เพราะผมเชื่อว่าคนกลางๆ น่าจะมั่นใจมากกว่าถ้าอำนาจยังอยู่ในมือของฝ่ายอนุรักษนิยมไม่ใช่ฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยที่อาจจะมีความวุ่นวายตามมาได้
ถามว่ากองทัพซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปกป้องและพิทักษ์รูปแบบของรัฐและสถาบันหลักของชาติจะมีความเชื่อมั่นว่าอำนาจควรอยู่ในฝ่ายไหนมากกว่า ก็ตอบได้เลยว่าฝ่ายอนุรักษนิยม
ดังนั้นตอนนี้จำเป็นมากที่ฝ่ายอนุรักษนิยมจะต้องเฟ้นหาตัวแทนมาแทนพล.อ.ประยุทธ์ให้ได้ เพราะต้องยอมรับว่าถึงพล.อ.ประยุทธ์จะไปต่อได้อีกสมัย ก็มีโอกาสมากที่จะพ่ายแพ้การเลือกตั้งต่อฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย
แต่ข้อเสียที่เกิดกับพล.อ.ประยุทธ์ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเขาต้องพ้นตำแหน่งวาระ 8 ปีในวันที่ 23 สิงหาคม ก็คือ การไม่มีโอกาสพูดแบบพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่บอกว่า “ผมพอแล้ว”นั่นเอง
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan