ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล (Citizen data sciences)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มีหน้าที่ดูแล จัดการผลประโยชน์ที่ดินแปลงงามในกรุงเทพมหานครอยู่มากพอสมควร แต่ในทุกสังคมมีทั้งคนดีและคนไม่ดี รวมถึงในสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ด้วยก็อาจจะมีคนไม่ดีที่ตกอยู่ภายใต้กิเลสและแสวงหาผลประโยชน์โดยการทุจริตประพฤติมิชอบ
ในขณะเดียวกันพ่อค้าอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ก็ตาโตเกิดความโลภอยากได้ที่ดินผืนงามของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มาเพื่อดำเนินการจัดสรรหารายได้ เพราะมีแนวโน้มจะได้กำไรอย่างงดงาม จนถึงขั้นวิ่งเต้นเส้นสาย หวังจะได้สัมปทานที่ดินแปลงงามไปจัดสรรในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้องคือการประมูล
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เกิดขนมพอสมน้ำยา คือมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์บางคนที่ไปหลอกลวงแอบอ้างว่ามีอำนาจหน้าที่ในการจัดสรรที่ดินแปลงงามและมีพ่อค้าที่ดินที่โลภและต้องการให้สินบนเจ้าพนักงานเพื่อตนจะได้ผลประโยชน์ในทางที่มิชอบจากที่ดินแปลงงาม ดังมีคดีในศาลอาญาทุจริตประพฤติมิชอบกลาง คดีดำที่ ๗๖/๒๕๖๒ คดีดำที่ ๒๒๘/๒๕๖๒ ซึ่งมีสาระดังนี้
นายประสิทธิ์ อภัยพลชาญ กับ นายสุรกิจ ตั้งวิทูวนิช เป็นจำเลยที่ ๑ และ ๒ ตามลำดับ โดยจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่บริหารโครงการระดับ บ. ๔ แผนกโครงการธุรกิจ ๑ กองโครงการธุรกิจ ๑ ฝ่ายโครงการพิเศษ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เดิม แต่มิได้มีหน้าที่ในการนำที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปจัดประโยชน์แต่ประการใด ส่วนจำเลยที่สองได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ ๑ ต่างกรรมต่างวาระดังนี้
หนึ่ง จำเลยทั้งสองร่วมกันทำเอกสารราชการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ปลอมเรื่องการพัฒนาที่ดินบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) เรียนนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด โดยใช้หัวกระดาษตราครุฑ และปลอมแปลงลายมือชื่อ นายสุรพล เล็กเลิศผล นักบริหารงานอสังหา โดยจำเลยที่หนึ่ง เพื่อหลอกนายสกุลธรว่าบริษัทของนายสกุลธร ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ลงทุนแล้ว ให้ยื่นแผนพัฒนาพื้นที่และแผนการลงทุนภายใน ๙๐ วัน ทำให้เกิดความเสียหายอย่างยิ่งต่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
สอง ในช่วงเดือนมีนาคม จำเลยทั้งสองได้ปลอมแปลงเอกสารทางราชการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อีกครั้ง แจ้งไปยังนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่ดินบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) กำลังจะหมดสัญญาเช่า และจะเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาร่วมลงทุนกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยต้องจ่ายค่าตอบแทนห้าร้อยล้านบาท จำเลยทั้งสองเรียกชำระเงินงวดแรกจากนายสกุลธร เป็นเงินห้าล้านบาท งวดที่สองห้าล้านบาท และงวดที่สาม สิบล้านบาท และนายสกุลธรได้จ่ายเงินให้ไปรวมยี่สิบล้านบาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนที่จำเลยทั้งสองคนจะนำเงินดังกล่าวไปมอบให้รองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยไม่ต้องผ่านการประมูลสิทธิการเช่าที่ดินแปลงดังกล่าว
ศาลอาญาทุจริตประพฤติมิชอบกลางตัดสินว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑ ปลอมแปลงเอกสารทางราชการใช้เอกสารทางราชการปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๘ เป็นการกระทำผิดเป็นตัวกลางเรียกรับสินบน และทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๓ จำคุกรวม ๖ ปี แต่จำเลยสารภาพให้การเป็นประโยชน์แก่รูปคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกคนละ ๓ ปี
นี่คือการแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิดหรือปราบโกงของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสะสางสิ่งที่ไม่ถูกต้องของหน่วยงานในพระองค์ให้เรียบร้อยหมดจด
สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจสอบบัญชีแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินลงตรวจทุกปี อันเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของทางราชการและได้ลงนามรับรองงบการเงินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด
ปัญหาที่สังคมค้างคาใจคือ ทำงานคดีนี้มิได้ดำเนินคดีกับผู้ให้สินบนแต่ดำเนินคดีเฉพาะผู้เรียกรับสินบน นายสกุลธร เป็นผู้บริหารกิจการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่ทำกำไรได้ปีละหลายร้อยล้านและอาจจะถึงพันล้าน จะไม่ทราบกระบวนการประมูลหรือจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการเชียวหรือ ว่าต้องเปิดประมูลอย่างเปิดเผยและต้องมีคู่เทียบ และการจ่ายเงินไปก่อนสามงวด รวมยี่สิบล้านบาทโดยอ้างว่าจะนำไปให้รองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นั้นนายสกุลธรจะไม่ทราบเลยหรือว่าตนกำลังให้สินบนเจ้าพนักงานอยู่? นายสกุลธรจะบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ถูกหลอกเอาเงินอย่างเดียว หรือแท้จริงแล้วสมยอมเพราะทราบดีอยู่ว่าตนกำลังทำอะไร เพื่อหวังได้ชนะการประมูลสิทธิการเช่าที่ดินแปลงงามย่านชิดลม โดยไม่ต้องเปิดประมูล ใช่หรือไม่ เจตนาของการกระทำโดยการจ่ายเงินยี่สิบล้านบาทเป็นค่าอำนวยความสะดวกที่จะได้ที่ดินว่าเช่าจัดสรรประโยชน์โดยไม่ต้องเปิดประมูลตามระเบียบของทางราชการใช่หรือไม่?
กฎหมายไทยนั้นปราบปรามเฉพาะผู้เรียกรับสินบนหรือเอาผิดผู้ให้สินบนด้วยเช่นกัน ต้องย้อนกลับไปดูกฎหมายหลายฉบับที่ออกมาปราบปรามในประเด็นนี้
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144 ผู้ใดให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑
มาตรา ๑๗๖ ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลใดและกระทำไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลนั้น โดยนิติบุคคลดังกล่าวไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดนั้น นิติบุคคลนั้นมีความผิดตามมาตรานี้ และต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าแต่ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ
นิติบุคคลตามวรรคสอง ให้หมายความถึงนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย
บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลตามวรรคสอง ให้หมายความถึงผู้แทนของนิติบุคคล ลูกจ้างตัวแทน บริษัทในเครือ หรือบุคคลใดซึ่งกระทำการเพื่อหรือในนามของนิติบุคคลนั้น ไม่ว่าจะมีหน้าที่และอำนาจในการนั้นหรือไม่ก็ตาม
หากนายประสิทธิ์ อภัยพลชาญ ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ต้องถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดตามพรบ. ปปช. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๗๖ วรรคหนึ่งหรือไม่
ทั้งนี้นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเรียลแอสเสท ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด แต่ได้นำเงินของบริษัทไปจ่ายสินบนให้เจ้าพนักงานของรัฐ กรรมการบริษัทท่านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมีความผิดตาม พรบ. ปปช. มาตรา ๑๗๖ วรรคสองด้วยหรือไม่ ?
ขณะนี้คดีนี้อยู่ที่ไหน กองบังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ได้ทำความเห็นสั่งฟ้องไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดแล้วหรือไม่ และอัยการจะตัดสินสั่งฟ้องคดีนี้หรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่ประชาชนน่าจะสนใจติดตาม
การปราบปรามการให้สินบนทุจริตนั้นต้องปราบทั้งผู้เรียกสินบนและผู้ให้สินบนจึงจะครบวงจรและปราบปรามทั้งสองฝ่ายที่คิดจะกระทำผิดในอนาคตให้หลาบจำทั้งคู่