ยูเครนฉลองวันประกาศอิสรภาพอย่างคึกคักท่ามกลางการเฝ้าระวังอย่างมาก โดยเกรงว่าจะถูกรัสเซียโจมตีเพื่อตอบโต้การสังหาร ดาเรีย ดูกินา ลูกสาวของอเล็กซานเดอร์ ดูกิน ซึ่งเป็นนักปรัชญาและนักเขียนมีชื่อเสียงระดับหนึ่งในรัสเซีย
และหน่วยสืบราชการลับของรัสเซีย FSB มีหลักฐานว่าตัวการวางระเบิดติดรถสังหารดูกินาเป็นหญิงชาวยูเครน ซึ่งอยู่ในเครือข่ายของกองกำลังนาซี และอาซอฟ ซึ่งเป็นทหารชาตินิยม เป็นกองกำลังของยูเครนปฏิบัติการในแคว้นดอนบาส
การฉลองวันอิสรภาพของยูเครนอยู่ในบรรยากาศสงคราม การสู้รบกับรัสเซียยังมีต่อเนื่อง ย่างเข้าเดือนที่ 6 นั่นหมายถึงครึ่งปี ไม่มีวี่แววว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่
ฝ่ายผู้นำยูเครนโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ประกาศว่าต้องยึดคืนพื้นที่ทุกตารางนิ้วของยูเครนคืนมาให้ได้ รวมทั้งไครเมีย หรือให้รัสเซียถอนทหารออกไป
นั่นเป็นเพียงความหวังลมๆ แล้งๆ รัสเซียไม่มีทางถอนทหาร คืนพื้นที่ให้แน่
และที่แน่ชัดคือ โอกาสที่ยูเครนจะชนะสงครามอย่างเด็ดขาดนั้นก็เป็นไปได้ยาก นอกจากแสนยานุภาพต่างกันแล้ว ฝ่ายที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักคือบ้านเมืองของยูเครน ประเทศรัสเซียไม่ได้รับผลกระทบมากตามความคาดหวัง
ยูเครนยังได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายตะวันตก นำโดยสหรัฐฯ และอังกฤษเป็นตัวชูโรงในยุโรป สหรัฐฯ เป็นมือจ่ายรายใหญ่ ทั้งการส่งอาวุธและเงินช่วยเหลือ
ประเด็นอยู่ที่ว่า ส่งให้เท่าไหร่ ยูเครนก็ร้องว่าไม่พอ และขอเพิ่มอีกทั้งเงิน อาวุธเซเลนสกี้ยังอยากที่จะรับบทฮีโร่ ให้การประชาสัมพันธ์ส่งเสริมตัวเอง
มีรายงานข่าวว่าอาวุธที่ฝ่ายตะวันตกส่งให้ยูเครนนั้น 70 เปอร์เซ็นต์ตกหล่นระหว่างทาง อยู่ในมือของกลุ่มนักค้าอาวุธ กลุ่มธุรกิจอิทธิพล ตลาดมืด และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ตอกย้ำให้เห็นว่ายูเครนยังเป็นประเทศคอร์รัปชันมาก
ยูเครนจะสู้รบได้อีกนานเพียงใด เพราะหลายประเทศในยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และชาติอื่นๆ ที่ยังพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย เริ่มแสดงอาการล้า เบื่อหน่ายกับสงครามที่ยูเครนไม่มีวันที่จะชนะได้
เยอรมนี ประเทศหลักในยุโรป ได้ส่งอาวุธความช่วยเหลือให้ยูเครนล่าช้า จนเซเลนสกี้แสดงความไม่พอใจ ทั้งๆ ที่เยอรมนีไม่มีความจำเป็นต้องช่วยเหลือ แต่ผู้นำยูเครนทำตัวเหมือนกับว่าทุกประเทศในยุโรปต้องช่วยยูเครน
ที่ผ่านมายุโรปได้เข้าร่วมมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียภายใต้การนำของสหรัฐฯ และอังกฤษเป็นตัวกระตุ้นด้วยหวังว่าจะทำให้รัสเซียเดี้ยงทางเศรษฐกิจ หมดสภาพ
แต่ไม่เป็นเช่นนั้น รัสเซียไม่ได้เดี้ยงแต่ใช้พลังงานเป็นอาวุธในการเล่นงานยุโรป ทำให้ราคาพลังงานแพงขึ้นทั่วโลก เงินเฟ้อกระจายทั่วยุโรป สหรัฐฯ ค่าครองชีพพุ่ง
ยุโรปจะต้องทำสงครามกับฤดูหนาว พร้อมความหวาดหวั่นว่ารัสเซียจะหยุด หรือลดส่งก๊าซธรรมชาติให้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ในอังกฤษและเยอรมนี กลุ่มคนรายได้น้อยอาจต้องเลือกระหว่างการใช้เงินเพื่อซื้ออาหาร หรือจ่ายค่าพลังงาน ระบบความร้อนภายในบ้านที่เพิ่มขึ้นแล้ว 4 เท่าตัว
คนเป็นล้านๆ ในอังกฤษ อาจไม่มีทางเลือก เพราะรายได้เพียงพอกับรายจ่าย ที่นับวันจะสูงเพราะพลังงานราคาแพง ขณะที่ราคาสินค้าทั่วไปก็สูงขึ้นตลอด
รัฐบาลยุโรปอาจต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร มีทางเลือกระหว่างการใช้เงินเพื่อบรรเทาทุกข์และปัญหาในประเทศหรือยังช่วยเหลือยูเครนต่อไป
เริ่มมีเสียงพูดในกลุ่มนักการทูตในยุโรปต่อสื่อว่า จะมีประโยชน์อะไรที่จะเอาทรัพยากรของประเทศไปให้ชาวยูเครนทำสงครามที่ตัวเองไม่มีโอกาสชนะ ขณะที่ประชาชนอยู่ในความยากลำบากเพราะผลกระทบด้านชีวิตความเป็นอยู่อย่างสาหัส
ยูเครนก็รับรู้ท่าทีของยุโรปว่าการสนับสนุนเริ่มแผ่ว การส่งอาวุธและความช่วยเหลือด้านการเงินเป็นไปอย่างล่าช้ากว่าคำมั่น โดยเฉพาะเยอรมนีซึ่งเปรยว่าอาวุธที่ส่งไปช่วยยุโรปใกล้หมด และยังต้องรอรุ่นใหม่จากผู้ผลิต ทั้งจากสหรัฐฯ ด้วย
เมื่อไม่มีการเจรจาเกิดขึ้น ยูเครนกับรัสเซียก็ทำสงครามทำลายล้างกันต่อไป โดยมีความพินาศของบ้านเมืองยูเครน ซึ่งเป็นสมรภูมิ ประชาชนหลายล้านคนไม่มีที่อยู่ ขณะที่กว่า 6 ล้านคนได้อพยพไปสู่ประเทศยุโรปอื่นๆ
รัฐบาลในยุโรปเริ่มมีปัญหาในการสนับสนุนช่วยเหลือผู้ลี้ภัยยูเครน กระแสเริ่มแผ่ว เพราะคาดไม่ถึงว่ารัสเซียจะอึด ไม่ได้ยอมสยบง่ายเพราะวิกฤตการคว่ำบาตร
ตรงกันข้าม ยุโรปกำลังจะเดี้ยง โดยเฉพาะประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ หลายประเทศยังไม่ยอมหยุดซื้อก๊าซจากรัสเซียเพราะคำนึงถึงผลประโยชน์และความอยู่รอดของตัวเองเป็นหลัก
อังกฤษยังไม่ได้ผู้นำคนใหม่ อิตาลียังรอผู้นำคนใหม่ ผู้นำเยอรมนี โอลาฟ โชลซ์ เผชิญกับความนิยมตกต่ำที่ 30 เปอร์เซ็นต์หลังจากรับตำแหน่งในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว คนเยอรมันเริ่มไม่พอใจกับความลำบาก ไฟฟ้าในเบอร์ลินต้องหรี่ยามค่ำคืน
บางประเทศในยุโรปอาจต้องปันส่วนพลังงาน และเสี่ยงกับปัญหาไฟฟ้าดับเป็นช่วง และอาจเลือกว่าจะส่งไฟฟ้าไปตามบ้านหรือให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่รอด
ความล้ากับสงคราม ความเบื่อหน่าย และความสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ ความลำบากเพราะเศรษฐกิจถดถอย อาจทำให้เกิดความเรรวนในยุโรป ช่วงฤดูหนาวจะเป็นช่วงของการตัดสินใจว่าจะบีบให้ยูเครนต้องยุติสงครามโดยเร็ว
เซเลนสกี้ได้บอกนี้ว่าต้องปิดเกมก่อนคริสต์มาส จะทำได้หรือไม่ ตัวเองจะรอดหรือไม่ด้วยเช่นกัน