คนจีนโบราณได้กล่าวไว้ว่า “ผู้ชนะใจประชาชน ชนะประเทศ และผู้ไม่ได้ใจประชาชน เสียประเทศ” จากหนังสือ Xi Jinping : The Governance of China
โดยนัยแห่งคำกล่าวข้างต้น อธิบายขยายความได้ว่า ใครก็ตาม ถ้าต้องการอำนาจรัฐและสามารถปกครองประเทศอยู่ได้นาน จะต้องได้รับความไว้วางใจจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และในทางกลับกัน ถ้าไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ยากที่จะเข้าสู่อำนาจรัฐได้ และถ้าบังเอิญเข้าสู่อำนาจรัฐได้ จะด้วยอำนาจเงินหรืออำนาจแฝงเร้นอื่นใด ก็ยากที่จะอยู่ได้นาน
ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ ได้พูดถึงพรรคคอมมิวนิสต์จีนสรุปได้ว่า มาจากประชาชน ฝังรากหยั่งลึกในใจประชาชน ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน พรรคการเมืองไหนก็ทำงานไม่สำเร็จ ดังนั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงไม่ลืมวัตถุประสงค์ข้อนี้ ด้วยเหตุที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเฉพาะนับตั้งแต่ยุคของเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันจึงอยู่รอดมาได้ และสามารถพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองในทุกด้านต่อเนื่องกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
หัวมาดูพรรคการเมืองไทยนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 หรือ ค.ศ. 1932 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 90 ปี แต่ระบอบประชาธิปไตยของไทยไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรจะเป็น ถ้าเทียบกับประเทศตะวันตก ทั้งๆ ที่มีการเลือกตั้งหลายครั้งหลายหน และในแต่ละครั้งได้มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่ และครั้งละหลายพรรคด้วย
ดังนั้น ถ้าดูจากจำนวนพรรคที่เกิดและจำนวนผู้สมัคร น่าจะมองได้ว่าคนไทยมีความตื่นตัวในเรื่องประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงการเลือกตั้งในประเทศไทยเป็นเพียงรูปแบบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่เนื้อหาสาระของประชาธิปไตยมิได้เป็นเฉกเช่นที่ประเทศเจริญแล้วเขาเป็นคือ ประชาชนเป็นนาย นักการเมืองเป็นคนรับใช้ประชาชน และการยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากว่าพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นพรรคเฉพาะกิจตั้งขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการนายทุนทางการเมืองที่ต้องการอำนาจรัฐมาใช้เป็นเครื่องมือในการปกป้อง และแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง ส่วนผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนมาทีหลัง หรือจะเรียกว่า ผลพลอยได้ก็น่าจะได้
ด้วยเหตุนี้ พรรคการเมืองส่วนใหญ่จึงเกิดง่ายตายเร็ว เพราะการรวมกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ เมื่อผลประโยชน์หมดก็หมดเข้าทำนองที่นักปราชญ์จีนโบราณกล่าวไว้ “คบกันด้วยผลประโยชน์ หมดผลประโยชน์ก็เลิกคบ คนกันด้วยอำนาจ อำนาจหมดก็เลิกคบ แต่คบกันด้วยใจอยู่ได้นาน”
อะไรคือสาเหตุทำให้พรรคการเมืองไทยเกิดง่ายตายเร็ว ไม่ยั่งยืนยาวนานเยี่ยงในประเทศตะวันตก
ถ้าท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูการเมืองไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ก็พบว่าการเมืองไทยได้ผ่านมาทั้งระบอบเผด็จการ และระบอบประชาธิปไตยสลับสับเปลี่ยนกันเป็นระยะๆ แต่ไม่ว่าจะเป็นการปกครองในระบอบใด การปกครองของประเทศไทยก็ไม่เอื้อประโยชน์ให้แก่ประเทศ และประชาชนเฉกเช่นประเทศที่นักการเมืองทำเพื่อประเทศและประชาชน กล่าวคือ เมื่อปกครองด้วยระบอบเผด็จการก็แตกต่างจากประเทศรัสเซีย และจีนซึ่งปกครองด้วยระบอบเผด็จการ แต่ประเทศเขาเจริญและประชาชนอยู่ดีกินดี และเมื่อปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยก็ไม่เหมือนอังกฤษ และอเมริกาที่ประเทศเขาเจริญ และประชาชนเขามีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ตามที่กฎหมายเขากำหนด
จากนี้ไปอีกไม่นานก็จะมีการเลือกตั้งอีกครั้ง และในครั้งนี้ก็เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาคือ จะมีพรรคการเมืองตั้งขึ้นใหม่และผู้ที่จะมาลงสมัครในนามพรรคการเมืองใหม่ มีทั้งนักการเมืองหน้าใหม่ และนักการเมืองเก่าย้ายจากพรรคเก่ามา (ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นประเภทผู้แสวงหาโอกาสทางการเมือง และผลประโยชน์ที่ได้รับเพื่อแลกกับการย้ายพรรค) ดังนั้น อุดมการณ์ของพรรคและวิธีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่เหล่านี้ก็ไม่แตกต่างไปจากพรรคเก่าๆ มากนัก จะต่างกันก็เพียงชื่อพรรคและนายทุนพรรคเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ จึงอนุมานได้ว่าการเมืองหลังเลือกตั้งจะเป็นไปบนเส้นทางเดิม และไปสู่เป้าหมายเดิมคือ ปกป้องและแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง ส่วนผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนมาทีหลัง
ดังนั้น คำว่า โดยประชาชน และเพื่อประชาชนนั้นเป็นเพียงข้ออ้างมิได้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ แต่ที่เกิดขึ้นจริงคือ โดยประชาชนแต่เพื่อตนเองและพวกพ้อง