xs
xsm
sm
md
lg

การรุกคืบของพวกปฏิกษัตริย์นิยม กับรากลึกของสังคมไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ


“เราได้ปลดโซ่ตรวนที่เป็นต้นตอของปัญหา และมันกดขี่มาอย่างยาวนาน และคุณได้เห็นว่าปัญหาที่แท้จริงคือฟ้านั่นเอง เพราะฟ้าไม่เคยที่จะเปิดทางให้กับคนได้เท่ากัน เพราะฟ้ามักจะลิขิตชีวิตของคน แต่ 10 สิงหาคมในปี 63 ได้บอกอย่างชัดเจนว่าความหวังยังมีอยู่และคนจะลิขิตชะตาของตนเอง”

ชาติชาย แกดำ แนวร่วมของฝ่ายต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ กล่าวที่เวทีในมหาวิทยาธรรมศาสตร์รังสิตด้วยถ้อยคำฉวัดเฉวียนและถูกรายงานผ่านเว็บไซต์ประชาไทซึ่งเป็นแนวร่วมของพวกเขาในวันครบรอบ 2 ปีที่พวกเขาเชื่อว่านั่นเป็นวันที่ทลายเพดานของสังคมไทย

“ฟ้า” ในความหมายที่เขาเอ่ยถึงนั้นหมายถึงอะไรสังคมไทยคงจะรู้ดี

ในวันนั้นตัวแทนนักศึกษา ผู้จัดการชุมนุม ยังได้ขึ้นอ่านแถลงการณ์ และประกาศเจตจำนงยึดมั่นและยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และองคาพยพ ต้องลาออก 2. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า การชุมนุมของพวกเขาเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 และกลุ่มองค์กร เครือข่าย เลิกกระทำการดังกล่าวแต่พวกเขาก็จัดงานนี้ขึ้นอีกครั้งและประกาศเจตนารมณ์เดิมเหมือนกับไม่ยี่หระต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลไม่เพียงห้ามผู้ถูกร้องทั้งสามเท่านั้น แต่ยังห้ามไปถึงองค์กรและเครือข่ายด้วย แต่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็อนุญาตให้ใช้พื้นที่ชุมนุมในฐานะเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย

นั่นแสดงว่าแม้พวกเขาจะต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาตามกฎหมายก็ไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวของพวกเขาได้ และมีเครือข่ายสื่อนักวิชาการปัญญาชน องค์กร และพรรคการเมืองที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของพวกเขา

ในขณะที่ในสภาพรรคก้าวไกล พรรคการเมืองของพวกเขารุกไล่ตั้งคำถามในสภาเรื่องงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีเพียง 1.09%ของบประมาณแผ่นดิน เพื่อตัดงบเหล่านั้นโดยเฉพาะโครงการในพระราชดำริของพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งที่โครงการเหล่านั้นทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน และเป็นการเชื่อมโยงสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนให้มีความใกล้ชิดกัน

น่าสนใจว่าถ้าพรรคก้าวไกลสามารถเป็นรัฐบาลได้อย่างที่พวกเขาคาดหวัง พรรคนี้จะมีบทบาทอย่างไรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในอนาคต นอกเหนือจากที่ทุกวันนี้พวกเขาแสดงตัวชัดเจนว่า สนับสนุนคนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้องและท้าทายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

เราไม่รู้หรอกว่าคนรุ่นใหม่จำนวนเท่าไหร่ที่มีความคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ชัดเจนว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่เคลื่อนไหวอยู่อย่างเปิดเผยและท้าทายมากขึ้น นั่นสะท้อนถึงความอ่อนไหวต่อสังคมไทยในอนาคต แม้ว่าฝ่ายรัฐจะมีกฎหมายเอาไว้ป้องกันระบอบและรูปแบบของรัฐ แต่คนเหล่านี้ก็พยายามจะใช้ช่องว่างเพื่อเคลื่อนไหวและถ่ายทอดอุดมการณ์ของพวกเขาสู่สังคมอย่างไม่ลดละ

พรรคก้าวไกลแสดงตัวอย่างชัดเจนที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์บนท้องถนน โดยมีจุดมุ่งหมายที่ซ่อนเร้นกว่านั้น พรรคการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทยที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยเช่นเดียวกันแม้ว่าไม่แสดงตัวชัดอย่างพรรคก้าวไกล แต่ก็พยายามส่งสมาชิกของพรรคเข้าไปแตะมือกับคนรุ่นใหม่ไว้เพื่อไม่ให้พรรคดูห่างเหินจนเกินไป เพราะสุดท้ายแล้วพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจะต้องแย่งชิงมวลชนบนฐานเดียวกัน

ในขณะที่ทักษิณ ชินวัตร เจ้าของพรรคเพื่อไทยโดยพฤตินัย ออกมาเล่นอีกบทบาท ทักษิณบอกว่า “... คนเห็น เด็กรุ่นใหม่เห็นเห็นอนาคตเราอยู่ตรงไหน เศรษฐกิจก็ล้มเหลว ประเทศก็ล้มเหลว เทคโนโลยีก็มาแรง กูไม่มีอะไรเลยเนี่ย เสร็จแล้วเด็กไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็คิดว่าต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมอยากแนะนำว่า ปฏิรูประบอบประชาธิปไตยโดยการแก้รัฐธรรมนูญ ที่เป็นประชาธิปไตย ยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีมาก ซึ่งผมไม่ใช่คนร่างแต่ผมใช้แล้วผมรู้ว่ามันเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองต่อการบริหารประเทศและจะได้รัฐบาลที่ดี วันนี้เราได้รัฐบาลที่มาจากรูปแบบที่ไม่ดีแล้วยังไม่เก่ง และยังคอร์รัปชัน ตามโลกไม่ทันและไม่สนใจจะตามโลก ทำให้เด็กไม่มีอนาคต เด็กก็เลยไปโทษว่าเกี่ยวกับสถาบัน”

เห็นได้ว่าแม้พรรคเพื่อไทยพยายามจะเอาใจคนรุ่นใหม่ที่ท้าทายสถาบันเพื่อช่วงชิงกับพรรคก้าวไกล แต่ขณะเดียวกันก็พยายามแสดงตัวว่ายังยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มีการคาดการณ์ด้วยโพลของหลายสำนักว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้สูงแน่ เพราะแม้แต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้วภายใต้คสช.พรรคเพื่อไทยที่ส่งผู้สมัครเพียง 200 กว่าเขตจาก 350 เขตก็ยังเป็นพรรคอันดับ 1 เมื่อการเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นแบบบัญชีรายชื่อหาร 100 พรรคที่เป็นพรรคใหญ่และได้ส.ส.เขตเยอะก็จะได้บัญชีรายชื่อเยอะตามมาด้วย

แต่ก็คาดการณ์กันว่า พรรคเพื่อไทยไม่น่าจะสามารถได้เสียงข้างมากจนจัดตั้งรัฐบาลได้พรรคเดียว ก็เป็นคำถามว่า พรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคก้าวไกลที่วันนี้ยืนอยู่ในฝั่งเดียวกันหรือไม่ ซึ่งนั่นแหละจะเป็นบทพิสูจน์ต่อทักษิณเจ้าของพรรคว่ามีความคิดเช่นไรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ดังนั้นปัจจัยการเป็นรัฐบาลไม่ใช่แค่เป็นพรรคอันดับ 1 และสามารถจัดตั้งรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศได้ แต่ต้องแสดงให้เห็นด้วยว่ารัฐบาลนั้นยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วย จึงเป็นไปได้ที่มีคนคิดว่า การผลักดันบัญชีรายชื่อหาร 100 กลับมาที่เป็นการแตะมือของพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐนั้นเกิดขึ้นเพราะต้องการสกัดพรรคก้าวไกลที่ได้ประโยชน์จากการหาร 500 ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว

ในการออกมาปรามคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวท้าทายสถาบันพระมหากษัตริย์ทักษิณยังกล่าวด้วยว่า “ผมเป็นคนที่ทำงาน ใกล้เจ้านายที่สุดและผมถวายงานให้พระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันตั้งแต่ผมยังเป็นนักธุรกิจ เพราะฉะนั้นผมรู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นวันนี้อยากจะมีอนาคตที่ดีต้องได้รัฐบาลที่มีความสามารถในการบริหารและมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ เพราะฉะนั้นมันต้องมาด้วยกรอบรัฐธรรมนูญที่ดีและต้องมีองค์กรอิสระที่ยึดโยงกับประชาชน รักษาความยุติธรรมให้กับประชาชน เมื่อนั้นประเทศไทยเราจะอยู่นิ่ง...”

แน่นอนว่า เป้าหมายสูงสุดในช่วงชีวิตท้ายๆ ของทักษิณคือการได้กลับประเทศไทย แม้จะยังไม่เห็นหนทางไม่เห็นทางออกว่าในแง่มุมทางกฎหมายทักษิณจะกลับมาได้อย่างไร แต่ถ้าหากได้อำนาจรัฐมาอยู่ในมืออำนาจการต่อรองก็จะมีมากขึ้น แต่ทักษิณก็รู้ว่านั่นยังไม่เพียงพอเพราะขึ้นอยู่กับว่าทักษิณต้องแสดงตัวเห็นว่าเขาจะไม่เป็นอันตรายต่อระบอบและรูปแบบของรัฐด้วย

คนจำนวนหนึ่งจึงเชื่อว่า ทางออกของการสลายขั้วในสังคมไทยก็คือแยกพรรคเพื่อไทยออกจากพรรคก้าวไกล เราจึงอาจเห็นพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคพลังประชารัฐที่นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ติดบ่วงของรัฐธรรมนูญหรือว่าพรรคพลังประชารัฐไม่อาจเป็นแกนนำรัฐบาลได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อให้พรรคก้าวไกลกลายเป็นเสียงส่วนน้อยในทางการเมือง และทำให้ฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยในวันนี้อ่อนแอลง

แม้คนรุ่นใหม่จะเป็นอนาคตของประเทศ แต่ระบอบของรัฐและรูปแบบของรัฐก็ไม่ใช่เรื่องที่ผู้มีอำนาจจะยอมให้มีการท้าทายเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบและรูปแบบอื่นได้โดยง่าย ไม่เพียงแต่การใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อหยุดยั้งผู้ท้าทายอำนาจรัฐอย่างเดียว แต่ในสภาวะที่คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศยังคงมีความยึดมั่นและศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จะประสบความสำเร็จได้

แม้ว่าวันนี้ฝ่ายที่ปฏิกษัตริย์นิยมจะแสดงตัวเปิดเผยมากขึ้นทั้งตัวบุคคล องค์กร เครือข่ายและสื่อมวลชน จะท้าทายมากขึ้น และเวลาจะอยู่ข้างพวกเขา ราวกับว่านี่เป็นสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ยากจะทัดทาน แต่ก็ไม่แน่เสมอไปว่าสุดท้ายแล้วพวกเขาจะไปสู่หนทางที่คาดหวังได้ เพราะสิ่งที่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้กระทำให้สังคมไทยนั้นมันหยั่งรากลึกในสังคมไทยที่นักการเมืองไม่อาจเทียบได้

อย่าลืมว่า 90 ปีที่เรามีนักการเมืองมานั้น มันพิสูจน์แล้วว่า เราไม่สามารถฝากอนาคตของประเทศให้พวกเขาได้ แล้วเราจะเปลี่ยนแปลงระบอบและรูปแบบของรัฐไปฝากไว้ในมือนักการเมืองหรือ
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น