ขบวนการรุกไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังโหมแรงหนักเพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งก่อนวันที่ 24 สิงหาคม เพราะเชื่อว่า วาระ 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสองนั้นสิ้นสุดลงในวันที่ 23 สิงหาคมนี้
แต่ในทางความจริงความเชื่อเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์นั้นถูกมองว่ามีทั้งหมด 3 ทางดังที่ทราบกันโดยทั่วไป และทุกฝ่ายต่างอ้างข้อกฎหมายที่เป็นความเชื่อของตัวเองมาสนับสนุน ในเวลานี้จึงไม่อาจปักใจได้ว่าความคิดของใครจะถูกจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมา
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การนับตำแหน่ง 8 ปีนับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกหลังการทำรัฐประหาร ก็อยู่ได้แค่ 23 สิงหาคมนี้ พวก 51 อาจารย์นิติศาสตร์ และ 99 พลเมืองที่ลงชื่อกันก่อนนั้นเชื่อในแนวทางนี้
แต่อาจารย์นิติศาสตร์อีกมากและพลเมืองของประเทศนี้อีกมากมีมุมมองที่ต่างกันออกไป พวกที่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ก็คือ พวกที่ไม่เอารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์นั่นเอง
ขณะที่บางคนเห็นว่า การนับระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ ควรเริ่มนับแต่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 และมาตรา 158 เพิ่งประกาศใช้ นั่นหมายความว่าเขาจะครบวาระ 8 ปีในวันที่ 5 เมษายน 2568 คนที่เห็นด้วยกับแนวทางนี้คือ ศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักกฎหมายมหาชน ชัดเจนว่าวรเจตน์ก็ไม่ใช่คนที่ชมชอบรัฐบาลประยุทธ์แน่ๆ
วรเจตน์บอกว่า “รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ อันนี้ไม่ได้บอกว่าผมเดินสายกลางนะ แต่ดูความสมเหตุสมผลในเชิง logic และตัวบท การนับแบบนี้มีเหตุผลที่สุด มากกว่าอีก 2 ทางเลือก ซึ่งมันมีข้ออ่อนคนละอย่าง”
แต่ก็มีหลายคนเห็นว่าควรเริ่มนับหนึ่งตอนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 คือ วันที่ 9 มิถุนายน 2562 ก็จะสามารถดำรงตำแหน่งได้ถึง 8 มิถุนายน 2570 คือสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก 1 สมัยถ้าสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า
นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มองว่าการเป็นนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ก่อนวันที่ 9 มิ.ย. 2562 ไม่ได้เป็นนายกฯ ตามมาตรา 158 วรรคสอง (นายกฯ ต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาฯ ให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159) จึงนำเวลามารวมกันตามมาตรา 158 วรรคสี่ (นายกฯ จะดำรงตำแหน่งรวมกันเกิน 8 ปีมิได้) ไม่ได้
ส่วนตัวนั้นผมเชื่อว่าต้องนับตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อปี 2557 และจะหมดวาระ 8 ปีในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยที่จะใช้ความเชื่อในแง่มุมกฎหมายที่มีมุมมองต่างกันออกไป 3 ทางเพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับในแนวทางที่ตัวเองเชื่อ เพราะอย่างไรเสียเรื่องนี้ก็ต้องเข้าสู่การพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้วก็ปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยซึ่งไม่น่าจะใช้เวลานานเพราะเป็นข้อกฎหมาย
พวกที่ออกมารุกไล่พล.อ.ประยุทธ์ให้ลาออกก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจึงเป็นพวกศาลเตี้ย
ส่วนถ้าการวินิจฉัยล่าช้าไปกว่าวันที่ 24 สิงหาคมซึ่งเป็นวันที่อาจจะเข้าเงื่อนไขครบ 8 ปีตามความเห็นของคนส่วนหนึ่งหรือไม่ ศาลก็น่าจะให้พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายหากครบวาระ 8 ปีตามความเชื่อนี้
ขณะที่บางคนเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะชิงยุบสภาฯ ไปก่อนวันที่ 24 สิงหาคม เพื่อตัวเองจะได้อยู่รักษาการไปจนถึงการจัดประชุมเอเปกในกลางเดือนพฤศจิกายน เพื่อเป็นเกียรติยศให้กับตัวเองนั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะแน่เสมอไป เพราะการเลือกตั้งหลังยุบสภาฯ นั้นจะต้องเกิดขึ้นภายใน 45-60 วัน ถ้ายุบสภาฯ ก่อนวันที่ 24 สิงหาก็น่าจะต้องเลือกตั้งกันไม่เกินกลางเดือนตุลาคม แม้จะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในตอนนั้นและพล.อ.ประยุทธ์ยังรักษาการอยู่ถึงช่วงประชุมเอเปก แต่ถ้าผลเลือกตั้งมันชัดเจนว่า แนวโน้มที่นายกรัฐมนตรีจะเปลี่ยนเป็นบุคคลอื่น การอยู่บนเวทีเอเปกของพล.อ.ประยุทธ์จะเหมือนอากาศธาตุที่ไม่มีความหมาย และไม่สง่างาม
ถึงตอนนี้ผมยังไม่เชื่อนะว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเลือกแนวทางยุบสภาฯ เพราะเท่าที่รับฟังเสียงจากฟากรัฐบาลตอนนี้ค่อนข้างเชื่อมั่นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญน่าจะออกไป 2 แนวทางคือ นับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้คือ 2560 จะเหลืออีกกว่า 2 ปี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงโพล่งออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังมีเวลาอีก 2 ปี กับอีกทางคือนับจากตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง 2562 จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก 1 สมัย
แต่แม้จะมีความเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ได้อีกอย่างน้อย 2 ปี ฝ่ายรัฐบาลก็น่าจะเตรียมใจผลลัพธ์ที่ไม่อาจจะคาดเอาไว้ เพราะต้องยอมรับความจริงว่า ทั้ง 3 ทางนั้นจะออกทางไหนก็ได้ เพียงแต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยกข้อกฎหมายมาสนับสนุนก็ไปได้หมดทุกทาง เพราะถ้าชัดเจนว่าจะจบลงทางไหนทางหนึ่งก็คงไม่มีข้อเถียงออกเป็น 3 ทางเช่นนี้
นั่นหมายความว่า ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งตอนนี้กำลังเปิดตัวผู้สมัครส.ส.และกำลังทำสงครามน้ำลายกันอยู่นั้นต้องหันมาคุยกันว่าจะเอาอย่างไร เพราะถ้าพล.อ.ประยุทธ์พ้นจากตำแหน่งจริงๆ ก็ไม่ได้กระทบต่อเสียงข้างมากในฝ่ายรัฐบาลที่จะเลือกคนใหม่ของฝ่ายตัวเองเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่จะเอาใครระหว่างตัวเลือกที่มีอยู่คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
หรือถ้าจะไม่เอาทั้งอนุทินและอภิสิทธิ์ก็ยังมีช่องให้เลือกคนนอกซึ่งต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา ซึ่งเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.ก็มีท่วมท้น
อภิสิทธิ์นั้นเคยเป็นมาแล้วเห็นฝีไม้ลายมือกันอยู่ และเพิ่งปรากฏตัวเป็นข่าวเมื่อไม่กี่วันก่อน อนุทินนั้นยังไม่เคยเป็นแต่ถ้านับมือในสภาฯ ตอนนี้พรรคภูมิใจไทยมีสมาชิกมากกว่ารวมไปถึงงูเห่าที่ฝากเลี้ยงไว้ในพรรคต่างๆ ด้วย ส่วนพล.อ.ประวิตรนั้นที่มีช่องทางคนนอกให้เข้ามาก็มีข่าวเซ็งแซ่มานานแล้วว่าท่านอยากจะเป็น แต่ช่วงอายุของรัฐบาลก็เหลืออีกไม่กี่เดือนก็น่าจะตกลงกันได้ว่าให้ใครเป็น เพื่อไปรับมือกับการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่เชื่อกันว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านจะมาแรง เพราะคนกำลังเบื่อรัฐบาลประยุทธ์ที่อยู่มานาน
บางทีช่วงเวลาที่เหลืออยู่การเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีเป็นคนอื่นแทนพล.อ.ประยุทธ์ก็อาจจะเป็นผลดีต่อฝ่ายอนุรักษนิยมก็ได้ เพราะความเบื่อในตัวพล.อ.ประยุทธ์ของประชาชนส่วนหนึ่งจะหมดไป และใช้นายกรัฐมนตรีคนใหม่กู้วิกฤตศรัทธาจากประชาชนคนกลางๆ ที่เบื่อรัฐบาลให้กลับมาสนับสนุนในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ เพราะเมื่อสองฝ่ายมีมวลชนที่ก้ำกึ่งกันคนที่จะตัดสินว่าฝ่ายไหนจะชนะก็คือคนกลางๆ นั่นเอง
ต้องยอมรับว่าตอนนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของฝ่ายอนุรักษนิยม เรายังไม่รู้หรอกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินออกมาอย่างไร ตัดสินออกมาแล้วฝ่ายที่คาดการณ์และตั้งความหวังไว้ว่าผลที่จะออกมาอีกอย่างจะยอมรับคำวินิจฉัยหรือไม่ หรือใช้เป็นเครื่องมือในการออกมาเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงบนท้องถนน เพราะต้องยอมรับว่า ฝ่ายตรงข้ามกำลังเร่งเร้าเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเร็ว
วันนี้การเมืองไทยนั้นมาถึงทางสามแพร่งที่เป็นเรื่องระบอบและอุดมการณ์ของรัฐด้วย ดังนั้นการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงเป็นชะตากรรมของชาติด้วย
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan