xs
xsm
sm
md
lg

ทางสามแพร่งที่ศาลรัฐธรรมนูญกับแปดปีเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล (Citizen data sciences)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ระยะนี้เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากกว่านายกรัฐมนตรีของไทยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจะดำรงตำแหน่งต่อไปได้หรือไม่ เนื่องจากในรัฐธรรมนูญนั้นเขียนไว้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรียาวนานรวมกันได้ไม่เกิน 8 ปีซึ่งก็เป็นที่ถกเถียงของผู้รู้ทางกฎหมายจำนวนมากมาย มีทั้งฝั่งที่สนับสนุน และฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการดำรงตำแหน่งเกินกว่า 8 ปีของนายกรัฐมนตรี และรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเร็ววันนี้

ถ้าดูจากไทม์ไลน์การเริ่มนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาน่าจะนับได้ สามแบบ

แบบที่หนึ่งคือนับตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. พร้อมกันในปีที่ทำรัฐประหารคือปี 2557 ซึ่งถ้านับแบบนี้ก็ย่อมเท่ากับว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีแล้วตามรัฐธรรมนูญ

หลายคนก็มองว่าวิธีการนับแบบนี้ไม่น่าจะถูกต้องเท่าไหร่ในทางกฎหมายเพราะกฎหมายไม่ควรจะมีผลย้อนหลังในทางที่ไม่เป็นคุณ

ในกรณีนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ประกาศใช้ในปี 2560 และนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเริ่มเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งในปี 2562 จึงเป็นวิธีการนับที่หลายคนคิดว่าไม่ถูกต้อง แต่คนที่ต่อต้าน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจำนวนมากก็เห็นว่าควรนับแบบนี้ และถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญมีวินิจฉัยเอกมาในแนวทางนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาก็จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ได้อีกต่อไป ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่

การนับเวลาเป็นนายกรัฐมนตรีแบบที่ 1 นี้ ถ้าหากผมเป็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและผมทราบ แน่นอนว่าจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ ผมก็จะชิงความได้เปรียบในการยุบสภาก่อนวันที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีวินิจฉัยตัดสินเพื่อให้ตนเองยังมีอำนาจในการยุบสภาได้และควบคุมสถานการณ์ได้

ความน่าจะเป็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยแบบที่ 1 โดยเริ่มนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่รัฐประหารและมีหัวหน้า คสช.นั้นมีค่อนข้างน้อย แม้จะตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญก็ตาม เนื่องจากมีปัญหาหลายประการ ประการแรกเป็นการบังคับใช้กฎหมายให้มีผลย้อนหลังในทางที่ไม่เป็นคุณซึ่งโดยปกติจะไม่ทำกัน ประการที่สอง เป็นการไม่ยุติธรรมกับพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชาจนเกินไปเพราะรัฐธรรมนูญประกาศใช้ในปี 2560 และการเลือกตั้งมีขึ้นในปี 2562

การนับแบบนี้นี้มีผู้สนับสนุนค่อนข้างมากโดยเฉพาะคนที่ไปเอารายงานการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 มาอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและรองประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นายมีชัย ฤชุพันธุ์และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ได้แสดงความเห็นไว้ว่าต้องนับระยะเวลารวมทั้งหมดแล้วย้อนหลังได้ด้วยดังที่มีเอกสารเผยแพร่กันในโลกออนไลน์อยู่ทั่วไปกว้างขวาง

การนับระยะเวลาเป็นนายกรัฐมนตรีแบบที่ 2 นับตั้งแต่ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่าห้ามนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งระยะเวลารวมกันเกินกว่า 8 ปี

ในทางนิติภาวะถือว่าประเด็นนี้มีความสำคัญเพราะก่อนจะมีการประกาศใช้กฎหมายนี้นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2560 แล้วเพิ่งมาทราบในภายหลัง เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าห้ามดำรงตำแหน่งเกินกว่า 8 ปีนับรวมกัน จึงไม่ควรจะนับย้อนหลัง แต่ก็ควรจะนับตั้งแต่วันที่กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ คือวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี 2560 การเริ่มต้นนับแบบนี้ทำให้พลเอกประยุทธ์จันทร์โอชาสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อได้อีก 2 ปีจนถึงปี 2568

ความน่าจะเป็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินแบบที่ 2 นี้มีค่อนข้างสูงเนื่องจากเป็นไปตามหลักกฎหมายแม้จะไม่ได้ทำตามเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ก็ไม่ผิดหลักกฎหมายเพราะบังคับใช้กฎหมายนับตั้งแต่วันที่มีการประกาศใช้กฎหมายนั้น

หากท่านนายกรัฐมนตรีทราบว่าตนเองจะได้อยู่ต่ออีก 2 ปีการยุบสภาก็อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น

แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือหากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินในแบบที่สองนั้นจะเป็นชนวนให้เกิดการเคลื่อนไหวลงถนนและเกิดการต่อต้านจนนำไปสู่การนองเลือดหรือไม่ แล้วถ้ามีการเลือกตั้งจะสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก 2 ปีจะทำได้หรือไม่ แล้วประชาชนจะรู้สึกแปลกๆ ที่จะเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่มีวาระการดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 ปีแทนที่จะเป็น 4 ปีอย่างที่เคยเป็นมาซึ่งจะเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก

การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแบบที่ 3 คือนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนับตั้งแต่พลเอกประยุทธ์จันทร์โอชาเข้ามาเป็นนายกปีในสมัยที่ 2 หลังการเลือกตั้งในปี 2562 อันเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ประเด็นนี้มีผู้สนับสนุนหลายคนเลยมองว่าต้องอ่านรัฐธรรมนูญทุกวรรคในมาตราเดียวกันประกอบกันทั้งหมดจึงจะสามารถตีความได้

การตัดสินแบบนี้น่าจะมีความเป็นไปได้น้อยมากที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเลือกทางนี้ เพราะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

ถ้าศาลตัดสินเลือกทางนี้แสดงว่าพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีมาเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้นแล้วยังเป็นต่อได้อีก 4 ปีหลังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น จะเป็นการอยู่ในตําแหน่งยาวนานถึง 12 ปี หากชนะเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้

ถ้าผลตัดสินออกมาทางนี้น่าจะเกิดแรงต่อต้านจากคนที่นิยมรัฐบาลอย่างรุนแรงและนำไปสู่ชนวนของความขัดแย้งในบ้านเมืองได้หรือไม่

ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีความเป็นไปได้สามทาง แต่ทางที่มีความน่าจะเป็นมากที่สุดคือ แบบที่สอง นับระยะเวลาจากปี 2560 เมื่อมีประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รองลงมาคือ แบบที่ 1 นับตั้งแต่เป็นหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2557 ส่วนทางเลือกที่เป็นไปได้น้อยที่สุดคือตัดสินว่าเพิ่งดำรงตำแหน่งหลังการเลือกตั้ง 2562 มีความเป็นไปได้ต่ำสุด ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นเช่นไรผมคงไม่อาจจะก้าวล่วง สิ่งที่กังวลคือการเป็นชนวนความขัดแย้งในบ้านเมืองต่อไปในอนาคตอันใกล้


กำลังโหลดความคิดเห็น