ชีวิตของชาวอัฟกานิสถานเป็นอย่างไรบ้างภายใต้การปกครองของตอลิบานหลังจาก 1 ปี นับตั้งแต่สหรัฐฯ ถอนตัวออกไปในกลางเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา
สำหรับคนอัฟกันทั่วไป คงตอบได้ว่าไม่ดีขึ้น ไม่เห็นอนาคตว่าจะดีขึ้นอย่างไร ทุกอย่างดูเหมือนจะย้อนกลับไปสู่ตอลิบานยุคแรกเมื่อ 20 ปีก่อนที่กองทัพสหรัฐฯ เข้าโจมตีและขับไล่พวกตอลิบานให้พ้นจากอำนาจ
สำหรับนักรบตอลิบานคงจะตอบว่าชีวิตดีขึ้นไม่ต้องอยู่ตามถ้ำหรือภูเขาในการสู้รบตลอดเวลา 20 ปีกับทหารสหรัฐฯ และพันธมิตร ชีวิตความเป็นอยู่ต้องดีกว่าชาวบ้านทั่วไปเพราะถือว่าเป็นกำลังพลสำคัญในการรักษาความสงบ
จะมีภารกิจสำหรับนักรบตอลิบานก็ต่อเมื่อมีปัญหากับกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ และกองกำลังที่มุ่งเน้นการขยายอิทธิพลเพื่อหาทางขับไล่ตอลิบานให้พ้นจากอำนาจ
ความอดอยากยังคงเป็นสภาวะที่พบเห็นโดยทั่วไป เศรษฐกิจไม่ส่อแววว่าจะดีขึ้นเพราะรัฐบาลตอลิบานไม่สามารถเบิกเงินที่ถูกอายัดไว้โดยประเทศตะวันตก รายได้มาจากการเก็บภาษี ซึ่งชาวบ้านก็ไม่ได้มีเงินมากกว่าที่เป็นอยู่
คนอัฟกันจำนวนมากได้หาทางอพยพไปอยู่ประเทศอื่นๆ ถ้าขืนอยู่ต่อไปนอกจากชีวิตไม่ดีขึ้น ไม่มีอนาคต ความก้าวหน้า อาจมีปัญหาด้านความปลอดภัยเพราะการใช้กฎหมาย การจับกุมคุมขัง การทรมานยังคงมีอยู่ตามรายงานของยูเอ็น
กองทัพสหรัฐฯ ได้ถอนตัวอย่างเร่งด่วน แทบไม่มีเวลาจัดการกับอาวุธและยานพาหนะสำหรับการรบ ปล่อยให้อยู่ในความครอบครองของตอลิบาน รวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ล้วนแต่ทันสมัยทั้งสิ้น
กองทัพอัฟกันจำนวน 2 แสนคนตัดสินใจไม่ต่อสู้ ยอมวางอาวุธ หนีตาย ประชาชนไม่ได้หวังว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงด้านดี แม้จะมีคำสัญญาจากกลุ่มตอลิบานก่อนสหรัฐฯ จะประกาศถอนตัว มีคำมั่นว่าจะไม่ล้างแค้นเล่นงานฝ่ายตรงข้าม
แต่ยังมีเรื่องของการคิดบัญชีย้อนหลังสำหรับพวกที่เคยทำงานให้กองทัพสหรัฐฯ หรือองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยข่าวกรอง แม้แต่ทหารอัฟกันก็ไม่รู้สึกปลอดภัย
ในช่วงแรกตอลิบานพยายามจะปรับสร้างภาพลักษณ์ใหม่ อ้างว่าจะเปิดโอกาสให้สตรีมีสิทธิเสรีภาพในการศึกษา การทำงาน นั่นเป็นเพราะตอลิบานต้องการให้ประเทศต่างๆ รับรอง แต่ทุกวันนี้มีเพียงไม่กี่ประเทศรับรอง
องค์การสหประชาชาติยังไม่มีท่าทีว่าจะรับรองเพราะติดขัดด้านพฤติกรรมของรัฐบาลโดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน การควบคุมความเคลื่อนไหวของกลุ่มสตรี จำนวนสตรีทำงานได้ลดลงอย่างน้อย 15 เปอร์เซ็นต์ สิทธิถูกละเมิด
ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติรายงานว่าเศรษฐกิจของอัฟกานิสถานหดตัวประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่ตอลิบานยึดประเทศได้ในเดือนสิงหาคมปีก่อน
สถานภาพโดยทั่วไปไม่กระเตื้องแม้จะมีความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ การขาดความช่วยเหลืออย่างจริงจัง การขาดรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศทำให้สภาพเลวร้ายลงทุกวัน รัฐบาลตอลิบานพยายามหารายได้โดยการส่งออกถ่านหิน
ในช่วงการทำงบประมาณรายได้จากเดือนมกราคม รัฐบาลได้มีรายได้ 400 ล้านดอลลาร์จากการส่งออกถ่านหินโดยมีราคาแพงขึ้นเนื่องจากปัญหาพลังงานขาดแคลนและราคาสูงขึ้นสำหรับน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ
ยังมีประเด็นความโปร่งใสในการบริหารจัดการรายได้ที่เป็นระบบ แต่รัฐบาลประกาศว่าจะไม่หารายได้จากการขายยาเสพติด โดยเฉพาะฝิ่นซึ่งอัฟกานิสถานถือเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่สำหรับการทำเฮโรอีนและสารเสพติดอื่นๆ
สตรีอัฟกันถือว่าชีวิตไม่ดีขึ้น งานที่ทำอยู่บางประเภทกำลังถูกถ่ายโอนให้ผู้ชายทำแทน ขณะที่การศึกษาสำหรับสตรีมีข้อจำกัด ทั้งสถานที่เรียนและระดับการศึกษา
สตรีในวัยเด็กกว่า 1 ล้านเสี่ยงต่อการหมดโอกาสที่จะได้รับการศึกษาเพราะข้อจำกัดของตอลิบาน ทั้งมีข้ออ้างว่าขาดแคลนผู้สอนซึ่งเป็นสตรี การเรียนในมหาวิทยาลัยก็แบ่งแยกที่นั่งระหว่างชายหญิง ด้วยข้อห้ามทางศาสนา
รัฐบาลตอลิบานไม่ได้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ใช้กฎศาสนาเป็นหลักในการบริหารประเทศ เข้มงวด ความไม่สงบยังคงมีอยู่ กลุ่มต่อต้านยังมีหลายพื้นที่ กระจายทั่วไป กลุ่มที่ต้องการขับไล่ตอลิบานและกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ที่ต้องการสร้างเครือข่าย
อดีตผู้นำอัฟกัน นายอัชราฟ กานี ให้สัมภาษณ์สื่อว่าสหรัฐฯ ไม่ได้พยายามเพียงพอในการรักษาอัฟกานิสถาน และทิ้งประเทศเร็วเกินไป ตัวเองต้องหนีเอาตัวรอดเพราะความไม่ปลอดภัย แม้แต่พ่อครัวก็ได้รับสินบนให้วางยาพิษตัวเอง
นายกานีปฏิเสธว่าได้หลบหนีพร้อมกับเงินสด 5 ล้านดอลลาร์ และอีกหลายสิบล้านดอลลาร์จากคลังของหน่วยงานด้านความมั่นคง และบอกว่าเป็นข่าวที่ใส่ร้ายป้ายสี เพราะหลังจากการสอบสวนแล้วก็ไม่เป็นความจริงตามที่กล่าวหา
นายกานีลี้ภัยอยู่ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และยอมรับว่าจำเป็นต้องหลบหนีเพราะอดีตประธานาธิบดี นาจิบุลเลาะห์ถูกสังหารเมื่อตอลิบานยึดประเทศได้ครั้งแรกในปี 1996 ในครั้งนั้นมีคนถูกสังหารมากมายโดยการล้างแค้นโดยตอลิบาน
โอกาสที่รัฐบาลตอลิบานจะได้สร้างสุขให้ประชาชนภายใต้กฎเหล็กคงเป็นไปได้ยาก คนอัฟกันต้องดิ้นรนให้มีชีวิตรอดจากปัญหาความอดอยาก ถ้าหนีได้ก็หนี