xs
xsm
sm
md
lg

ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ : ประชาธิปไตยที่แท้จริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ประเทศไทยได้เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ถ้านับเวลาจากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา 90 กว่าปี ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานเกินกว่าที่ประชาชนผู้ต้องการเห็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงเกิดขึ้นในประเทศไทย และที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ระบอบประชาธิปไตยที่ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองรวมถึงนักวิชาการ และนักการเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนำมาใช้กับประเทศไทย ได้ลอกเลียนจากรูปแบบของตะวันตกล้วนๆ ไม่มีการประยุกต์ใช้ให้เข้ากับความมีและความเป็นของประเทศไทย และคนไทยส่วนใหญ่จะเห็นได้จากการร่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งล้วนแล้วแต่ลอกเลียนประเทศตะวันตก ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณีของคนไทยเท่าที่ควรจะเป็น

2. คนไทยส่วนใหญ่ไม่เรียนรู้ และไม่เข้าใจหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเท่าที่ควรจะเป็น จะเห็นได้จากการออกเสียงเลือกผู้แทน มีทั้งเลือกเพราะนิยมชมชอบเป็นการส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงความรู้ ความสามารถ และคุณธรรมของผู้สมัครว่ามีมากพอที่จะเป็นผู้แทนที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศ และประชาชนโดยรวมได้มากน้อยแค่ไหน และที่ยิ่งกว่านี้มีอยู่ไม่น้อยที่เลือกโดยการแลกกับผลประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับ หรือที่เรียกว่า ซื้อสิทธิ ขายเสียง นั่นเอง

3. ผู้สมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะ ส.ส.ส่วนใหญ่เพื่อหวังเข้ามามีอำนาจรัฐเพื่อใช้เป็นเครื่องมือปกป้องผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง หรือทั้งปกป้องและแสวงหา

4. ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง จะมีพรรคเล็กพรรคน้อยเกิดขึ้นมากมาย และส่วนใหญ่เป็นพรรคเฉพาะกิจ ไม่มีรากฐานทางการเมืองที่มั่นคง มิได้หวังได้เสียงมากมายเพียงแต่ขอให้ได้รับเลือกเข้ามาบ้าง หรือที่เรียกว่า พรรคต่ำสิบ และพรรคเหล่านี้เป็นตัวบั่นทอนคุณภาพของความเป็นผู้แทนปวงชนที่ดี จะเห็นได้จากการเรียกร้องผลประโยชน์เพื่อแลกกับการออกเสียงให้

5. ด้วยเหตุปัจจัย 4 ประการข้างต้น การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย จึงล้มลุกคลุกคลานระหว่างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการ และที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

5.1 เมื่อนักการเมืองส่วนใหญ่เข้าสู่อำนาจรัฐเพื่อมุ่งปกป้องผลประโยชน์ และเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะนักการเมืองประเภทจ่ายหนัก ครั้นได้เป็นรัฐบาลก็ต้องถอนทุนโดยการแสวงหาในทางมิชอบ หรือที่เรียกว่า ทุจริต คอร์รัปชันในรูปแบบต่างๆ ทั้งตามน้ำและทวนน้ำ จนประชาชนทนไม่ไหวออกมาชุมนุมขับไล่เกิดความวุ่นวายในประเทศ จนเป็นเหตุให้กองทัพนำไปเป็นข้ออ้างทำการปฏิวัติรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งหลายหนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

5.2 เมื่อระบอบเผด็จการปกครองประเทศ และไม่ได้ทำให้ประเทศดีขึ้นตามที่ประชาชนต้องการให้เป็น ก็จะเกิดขบวนการขับไล่เผด็จการและเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ครั้นเลือกตั้งมาแล้วก็มีพฤติกรรมแบบเดิมๆ เกิดขึ้นวนเวียนอยู่เยี่ยงนี้

ด้วยเหตุปัจจัยทั้ง 5 ประการดังกล่าวข้างต้น ทำให้ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรจะเป็น

จากวันนี้ไปอีกไม่นาน รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะครบเทอมและเลือกตั้งกันใหม่

ดังนั้น นักการเมืองจึงมีการเคลื่อนไหว ทั้งมีการตั้งพรรคใหม่ และย้ายพรรคจากพรรคโน้นไปอยู่พรรคนี้ ด้วยวัตถุประสงค์เดียวคือผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง เริ่มตั้งแต่ได้รับข้อเสนอที่ดีในส่วนที่เกี่ยวกับเงินทุนในการเลือกตั้ง และโอกาสที่จะมีความก้าวหน้าทางการเมืองจากพรรคที่ต้องการจะย้ายไปอยู่ด้วยไปจนถึงการกลัวสอบตกถ้าอยู่กับพรรคเดิม

นอกจากการย้ายพรรคแล้ว พฤติกรรมทางการเมืองที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งในขณะนี้ก็คือ การแก้กฎหมายเลือกตั้งในประเด็นการคิดหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยใช้ 100 หรือ 500 หาร ซึ่งสับสนวุ่นวายกลับไปกลับมา ด้วยเหตุผลเดียวคือกลัวฝ่ายตรงข้ามจะได้เปรียบการเลือกตั้ง มิใช่เหตุผลว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็น ประชาชนได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์

อันที่จริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในความคิดเห็นส่วนตัว ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะใช้บัตร 2 ใบ และใช้ 100 หาร โดยใช้วิธีนำคะแนนเลือกพรรคของทุกพรรคมารวมกันแล้วหารด้วย 100 และนำผลลัพธ์ที่ได้มาหารจำนวนคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับ ก็จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค ส่วนพรรคที่ได้คะแนนต่ำกว่าผลลัพธ์ที่ได้รับเป็นอันตกไปไม่ต้องนำมาคิด


กำลังโหลดความคิดเห็น