xs
xsm
sm
md
lg

การท้าทายระบอบของรัฐ กับนายกรัฐมนตรีแบบประยุทธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

มีขบวนการออกมารุกไล่ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งด้วยการอ้างเหตุผลว่า รัฐธรรมนูญไม่ให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งเกิน 8 ปี แม้ผมเองจะมองจากแง่มุมทางกฎหมายและเขียนบทความมาตลอดมีความเห็นโดยส่วนตัวว่า พล.อ.ประยุทธ์น่าจะเข้าเงื่อน 8 ปีต้องห้ามของรัฐธรรมนูญต้องพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ แต่ผมกลับไม่เห็นด้วยกับการที่ออกมาใช้เงื่อนไขนี้รุกไล่ เพราะเห็นว่า มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ตีความกฎหมายมาตรานี้ต่างออกไป

อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่าตอนนี้มีความเห็นแตกต่างกันออกไป 3 ทาง ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การนับตำแหน่ง 8 ปีนับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกหลังการทำรัฐประหาร ก็อยู่ได้แค่ 23 สิงหาคม 2565

ขณะที่บางคนเห็นว่า การนับระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ. ประยุทธ์ ควรเริ่มนับแต่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 และมาตรา 158 เพิ่งประกาศใช้ นั่นหมายความว่าเขาจะครบวาระ 8 ปีในวันที่ 5 เมษายน 2568 คนที่เห็นด้วยกับแนวทางนี้คือ ศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักกฎหมายมหาชน

แต่ก็มีหลายคนเห็นว่าควรเริ่มนับหนึ่งตอน พล.อ. ประยุทธ์เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 คือ วันที่ 9 มิถุนายน 2562 ก็จะสามารถดำรงตำแหน่งได้ถึง 8 มิถุนายน 2570 คือสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก 1 สมัยถ้าสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า

ทั้ง 3 ทางของคนที่อ้างว่าอยู่ได้แค่ถึงวันที่ 23 สิงหาคมนี้ กับคนที่อ้างว่าอยู่ได้ถึง 5 เมษายน 2568 และที่อ้างว่าอยู่ได้ถึง 8 มิถุนายน 2570 ต่างก็อ้างมุมมองทางกฎหมายของตน ซึ่งทางออกที่ดีที่สุดก็คือ รอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมากกว่าจะใช้ศาลเตี้ยเป็นเครื่องมือชี้ขาด เพราะจะมีเพียง 1 ทางที่ถูกและ 2 ทางที่ผิด

แต่ผมยอมรับนะครับว่า ในระบอบประชาธิปไตยนั้นถ้าเราเห็นว่า นายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศแล้วทำให้เกิดความเสียหายไร้ความสามารถหรือไม่ได้บริหารประเทศด้วยหลักธรรมาภิบาลหรือใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลประชาชนก็มีสิทธิ์ที่จะออกมาขับไล่ แต่การอ้างเหตุผลเรื่องวาระ 8 ปีซึ่งเป็นแง่มุมทางกฎหมายนั้นก็ควรจะใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนวินิจฉัย

ผมจึงเห็นว่าคน 99 คนที่ร่วมกันลงชื่อขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ให้ลาออกนั้นควรจะหาเหตุผลความไม่ชอบธรรมอื่นมาอ้างถ้าจะออกมาขับไล่พล.อ.ประยุทธ์มากกว่าจะอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ในเรื่องการดำรงตำแหน่งครบวาระ 8 ปี เพราะนี่เป็นเรื่องของมุมมองทางกฎหมายที่มีความเห็นต่างกันได้และเรามีศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาดตามครรลองของกฎหมายอยู่แล้ว

แน่นอนว่ามีทั้งคนที่ชอบพล.อ.ประยุทธ์และไม่ชอบพล.อ.ประยุทธ์ คนที่ชอบก็อยากให้พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อไป ในขณะที่คนที่ไม่ชอบก็อยากให้ออกไปเร็วๆ แต่การที่พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่หรือไปนอกจากใช้ความชอบและไม่ชอบแล้วก็ควรจะความชอบธรรมในทางกฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการตัดสินด้วย

ส่วนข้อเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ ทำแบบที่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์เคยลาออกจากตำแหน่งหลังจากที่อยู่ 8 ปีเพราะบอกว่า พอแล้ว นั้น คงจะไปกะเกณฑ์ให้พล.อ.ประยุทธ์ไปทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องความรู้สึกส่วนตัวของแต่ละคนที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แม้อาจจะมีคนจำนวนมากอยากให้พล.อ.ประยุทธ์ทำแบบเดียวกับพล.อ.เปรมก็ตาม หรือไม่พล.อ.ประยุทธ์ก็อยากจะบอกว่าพอแล้ว แต่อาจจะมีเงื่อนไขที่พล.อ.ประยุทธ์ไม่อาจปฏิเสธที่จะดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไป

ผมคิดว่าในระบอบประชาธิปไตยนั้นเราจะสนับสนุนหรือขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ได้ด้วยเหตุผลความชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม แต่เราจะสนับสนุนหรือขับไล่ด้วยความชอบหรือไม่ชอบส่วนตัวไม่ได้

“ความชอบธรรม”กับ”ความชอบ” นั้นแตกต่างกัน ถ้าผู้บริหารประเทศไม่มีความชอบธรรมแล้วก็ไม่ควรอยู่ในตำแหน่งต่อไปต้องออกมาขับไล่ แต่ถ้าเราไม่ชอบผู้บริหารประเทศ เราก็ควรจะใช้ครรลองของกฎหมายนั่นคือ ปล่อยให้เขาอยู่จนหมดวาระแล้วเราไปเลือกผู้สมัครคนอื่นที่เราชอบแล้วตัดสินกันด้วยเสียงข้างมาก

ผมเองก็เชื่อนะครับว่า ความนิยมของพล.อ.ประยุทธ์ตกต่ำลงไปจากการเลือกตั้งครั้งก่อนมาก และเมื่อผสมกับความเบื่อของคนไทยที่พล.อ.ประยุทธ์อยู่มานานเกือบจะ 8 ปีนั้นย่อมมีคนจำนวนมากที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้คนอื่นเข้ามาบริหารประเทศบ้าง ดังนั้นถ้าพล.อ.ประยุทธ์ผ่านศาลรัฐธรรมนูญไปได้ ผมก็คิดว่าจะถูกตัดสินด้วยเสียงของประชาชนอยู่ดี

ส่วนตัวก็ค่อนข้างเชื่อว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์จะได้รับความนิยมลดน้อยลง ในขณะที่พรรคของทักษิณน่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นซึ่งสอดคล้องกับโพลหลายโพลที่ออกมาในทิศทางเดียวกัน ยกเว้นซูเปอร์โพลที่ทุกการสำรวจจะออกมาเป็นบวกต่อรัฐบาลประยุทธ์เสมอ

แต่มุมมองความเชื่อของผมเรื่องความนิยมของพล.อ.ประยุทธ์ที่คิดว่าตกต่ำลงไปแล้วอาจจะผิดก็ได้ ดังนั้นถ้าพรรคที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีสามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาได้อีกในการเลือกตั้งครั้งหน้าเราก็ต้องยอมรับการตัดสินของประชาชนเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามเราต้องยอมรับว่าโดยสถานการณ์ของประเทศในขณะนี้ ก็มีความจำเป็นที่ต้องการนายกรัฐมนตรีแบบพล.อ.ประยุทธ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเพื่อรองรับกับความท้าทายของยุคสมัยเพื่อรักษาความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ

ทั้งนี้เพราะเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา ความคิดเห็นเรื่องการเมืองของคนในชาตินั้นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมีแนวคิดไปทางอนุรักษนิยมที่เชื่อมั่นในหลักการของชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ ในขณะที่อีกฝ่ายเชื่อมั่นในเรื่องของคนเท่าเทียมกันโดยอ้างว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย และในฝ่ายที่อ้างว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตยนี้ก็มีบางคนมีแนวคิดไปทางปฏิกษัตริย์นิยมหรือแปลเป็นภาษาง่ายๆว่า ไม่ศรัทธาในระบอบกษัตริย์

ผมเรียกอีกฝ่ายว่าเป็น“ฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย” ก็เพราะผมเชื่อว่าฝ่ายอนุรักษนิยมก็เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน เพียงแต่ฝ่ายอนุรักษนิยมมีความเคารพและศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นคือเชื่อในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ต้องยอมรับว่า แนวทางความคิดของคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ไม่ยึดมั่นกับชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันหลักของชาติ แต่คิดในแง่ว่า ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของพลเรือนโลกที่มีสิทธิ์และเสรีภาพเท่าเทียมกัน ไม่ยึดมั่นกับรากเหง้าและประวัติศาสตร์ของชาติตัวเอง คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งจึงไม่ยอมรับใน "ความเป็นไทย"

ความคิดที่ท้าทายและเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเกิดขึ้นพร้อมกับพรรคการเมืองที่สนับสนุนแนวทางนี้อย่างพรรคก้าวไกล ในขณะที่ฝ่ายกษัตริย์นิยมเชื่อว่า การเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็นเพียงบันไดขั้นแรกที่ต้องการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

ด้วยสถานการณ์เช่นนี้การดำรงอยู่ของพล.อ.ประยุทธ์จึงมีปัจจัยที่มากกว่าการได้รับการสนับสนุนหรือการต่อต้านจากประชาชนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะหากมีความเคลื่อนไหวที่ท้าทายต่อสถาบันหลักของชาติมากเท่าใด กองทัพและฝ่ายความมั่นคงก็ย่อมมีความชอบธรรมที่จะปกป้องสถาบันหลักของชาติเช่นเดียวกัน

ถ้าหากว่าคนในชาติมีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันเพียงแค่ความนิยมในตัวบุคคลชอบทักษิณไม่ชอบทักษิณหรือชอบประยุทธ์ไม่ชอบประยุทธ์โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมเชื่อว่าเงื่อนไขในการขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีจะเปิดกว้างมากกว่านี้ แต่เมื่อมีการเคลื่อนไหวที่ท้าทายต่อระบอบของรัฐก็จำเป็นอยู่ดีที่ฝ่ายถืออำนาจของรัฐจะต้องเข้ามาปกป้องระบอบของรัฐ และกลายเป็นความชอบธรรมของกองทัพที่จะเข้ามาปกป้องระบอบของรัฐเช่นเดียวกัน

ด้านหนึ่งการเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์จึงถูกผูกโยงกับความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติด้วย และเห็นอย่างชัดเจนว่า ในฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยก็พยายามใช้คนรุ่นใหม่ออกมาขับเคลื่อนด้วยการท้าทายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยิ่งทำให้พล.อ.ประยุทธ์มีความมั่นคงในตำแหน่งมากขึ้น

ไม่ว่าพล.อ.ประยุทธ์จะอยู่รอดในเงื่อนไข 8 ปีหรือไม่ แต่ถ้าการเคลื่อนไหวที่ท้าทายระบอบของรัฐยังดำรงอยู่ก็จะมีปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้ต้องการนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ไม่ต่างกับพล.อ.ประยุทธ์เพราะฝ่ายที่ออกมาปกป้องระบอบของรัฐย่อมคิดว่าระบอบของรัฐอยู่เหนือหลักการของระบอบประชาธิปไตย

ติดตามผู้เขียนได้ที่

https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น